posttoday

เทกโอเวอร์..."ทวายโปรเจกต์" สมประโยชน์ทุน-การเมือง

14 มกราคม 2556

เรียกได้ว่าทวายโปรเจกต์ หรือโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย มูลค่า 3 แสนล้านบาท

โดย...จตุพล สันตะกิจ


เรียกได้ว่าทวายโปรเจกต์ หรือโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย มูลค่า 3 แสนล้านบาท เป็นโครงการลงทุนใหญ่ติดอันดับโลกในทศวรรษนี้ ทั้งเป็นที่หมายตาของชาติมหาอำนาจเศรษฐกิจเอเชีย คือ จีนและญี่ปุ่น ที่ต่างต้องการกระโจนเข้าร่วมโครงการยุทธศาสตร์ที่มีการพลิกโฉมหน้าการค้าและการลงทุนของโลกเลยก็ว่าได้

ล่าสุด ชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น มีกำหนดการเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 1718 ม.ค.นี้ และจะเข้าพบนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งนอกจากกระชับความสัมพันธ์ของสองชาติที่มีมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ ซึ่งไทยเป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นในเอเชียอาคเนย์ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์

ภารกิจที่สำคัญทริปนี้หนีไม่พ้นความร่วมมือเร่งรัดผลักดันโครงการทวาย

โดยเฉพาะการต่อท่อน้ำเลี้ยง หาแหล่งเงินลงทุนจากญี่ปุ่นในอัตราเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ผ่านองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือไจกา ไม่นับรวมสถาบันการเงินอื่นๆ ที่จะกระโดดเข้าร่วมวงการปล่อยกู้ให้กับโครงการในภายหลัง ไม่ว่าจะเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ธนาคารโลก และสถาบันการเงินต่างๆ ทั้งไทยและเทศ

เมื่อไม่กี่วันมานี้ นายกฯ ชินโสะ อาเบะ ส่ง ทาโระ อาโสะ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจและรัฐมนตรีคลัง พร้อมด้วยทีมข้าราชการและนักธุรกิจยักษ์ใหญ่ไปเยือนเมียนมาร์ ภารกิจหลัก คือ การเจรจายกหนี้ก้อนโตที่เมียนมาร์ติดหนี้ญี่ปุ่นกว่า 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยญี่ปุ่นมีแผนล้างหนี้มากกว่าครึ่งหนึ่งของหนี้ที่มีอยู่

จากที่ก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นได้ยกหนี้บางส่วนให้รัฐบาลเมียนมาร์เมื่อคราวเปิดประเทศใหม่ๆ พร้อมเสนอวงเงินกู้ก้อนใหญ่ให้เมียนมาร์ ขณะที่รัฐบาลเมียนมาร์ให้สิทธิญี่ปุ่นในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือที่ติละวา นิคมฯ สำคัญตอนใต้กรุงย่างกุ้ง

และเช่นกันการเยือนเมียนมาร์ของรองนายกฯ และรัฐมนตรีคลังญี่ปุ่น มีการนำทีมนักธุรกิจญี่ปุ่นลงพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายด้วย

นั่นเป็นเพราะญี่ปุ่นให้ความสนใจพื้นที่ทวายเป็นพิเศษ สำหรับเป็นที่ตั้งโรงงานผลิตเหล็กต้นน้ำ เพื่อส่งวัตถุดิบป้อนอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ตั้งฐานผลิตในไทย หลังจากบริษัท นิปปอน สตีล และบริษัท เจเอฟอี ผู้ผลิตเหล็กจากญี่ปุ่นไม่ประสบความสำเร็จในการหาพื้นที่ตั้งในไทยได้ และนิคมฯ ทวายยังเป็นแหล่งที่ตั้งโรงงานอิเล็กทรอนิกส์ของทุนญี่ปุ่นในอนาคตอีกด้วย

เหล่านี้บ่งชี้ให้เห็นความสำคัญยิ่งของโครงการทวายในสายตาญี่ปุ่น

ขณะที่วันนี้ฝ่ายเมียนมาร์เองอ้าแขนเปิดรับทุนต่างประเทศ ทั้งญี่ปุ่น สหรัฐ ยุโรป เข้ามาลงทุนหลังเปิดประเทศ ไม่นับอาเซียนที่กรุยทางลงทุนในเมียนมาร์มานานแล้ว ทั้งสิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย โดยเฉพาะการสนับสนุนนักลงทุนญี่ปุ่นของเมียนมาร์ ยังแฝงวัตถุประสงค์ทางการเมืองระหว่างประเทศอีกด้วย

เพราะต้องไม่ลืมว่า ห้วงเวลาที่เมียนมาร์ปิดประเทศและถูกแซงก์ชันจากชาติตะวันตก จีนเข้ามามีบทบาทอย่างสูงในเมียนมาร์ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน แม้แต่ในขณะนี้เอง จีนก็หวังสร้างเส้นทางขนส่งสินค้าจากจีนตอนใต้ออกสู่ทะเลตอนล่าง ซึ่งหมายถึงท่าเรือน้ำลึกทวายของเมียนมาร์นั่นเอง

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม ระบุว่า จีนสนใจร่วมลงทุนรถไฟความเร็วสูงในไทย โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟที่เชื่อมจากจีนผ่านประเทศไทยและออกทะเลได้ เช่น ท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือทวาย โดยเฉพาะการสร้างรถไฟความเร็วเชื่อมไปยังท่าเรือทวายที่จะย่นระยะเวลาขนส่งสินค้าจากไปยังอินเดียและยุโรปจากปกติ 6 วัน เหลือ 3 วัน

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ผ่านมา 2 ปีนับแต่บริษัท อิตาเลียนไทยฯ คว้าสัญญาทวายมาได้ โครงการยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร

“เป็นไปได้ว่าวันนี้เมียนมาร์ไม่อยากเห็นจีนเข้ามามีบทบาทในโครงการทวาย จึงทำให้โครงการเกิดช้า เพราะอย่างที่รู้กันจีนมีเงินทุนมหาศาลและพร้อมลงทุนในโครงการนี้ และอิตาเลียนไทยฯ ซึ่งถือสัญญาทวายก็เชิญจีนเข้าลงทุน แต่โครงการก็ยังไม่ไปไหน เพราะเมียนมาร์เขาต้องสร้างสมดุล ไม่ให้จีนมีบทบาทมากไปก็ได้” นักวิเคราะห์จากคณะทำงานโครงการทวายฝ่ายไทยประเมิน

ไม่เพียงเท่านั้น การลงทุนโครงการนี้รัฐบาลเมียนมาร์ให้ความสำคัญกับที่ปรึกษาฝ่ายญี่ปุ่น ไทย และเอดีบี มากกว่าจะขอความช่วยเหลือจากจีน

“เมียนมาร์คุยกับเรา ญี่ปุ่น เอดีบี โดยรูปแบบที่ญี่ปุ่นเสนอ คือ มีบริษัทใหญ่จัดการวางแผนโครงการทวาย และบริษัทลูกหรือบริษัทเล็กที่เป็น SPV ในรูปบริษัทจำกัด บริษัทมหาชน ทำแต่ละเรื่อง ส่วนการตั้งโฮลดิงเขาอยากให้เป็นการร่วมทุนระหว่างรัฐบาลไทย เมียนมาร์” อาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุ

ดังนั้น แม้ว่าเมียนมาร์ต้องการให้โครงการทวายเกิดขึ้นก็จริง แต่ก็ต้องการพันธมิตรใหม่ไปพร้อมๆ กัน เช่น ญี่ปุ่น โดยมีรัฐบาลไทยเป็นตัวเชื่อม

จึงเป็นที่มาของการลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ระหว่างรัฐบาลไทยกับเมียนมาร์ว่าด้วยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง เมื่อเดือน ก.ย. 2555 และการจัดตั้งคณะกรรมการ 3 ระดับเพื่อขับเคลื่อนโครงการทวาย โดยคณะกรรมการระดับสูงมี กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว.คลัง เป็นประธานร่วมฝ่ายไทย ก็ว่าได้

ขณะที่ผู้นำทั้งสองฝ่ายเห็นว่าการตอกเสาเข็ม 8 โครงการ เร่งด่วนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายจะเริ่มเดือน เม.ย. 2556

ย้อนกลับมามองความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลเพื่อไทยและบริษัทที่ถือสัญญาสัมปทานทวาย คือ บริษัท อิตาเลียนไทยฯ ก็ต้องยอมรับว่าอิตาเลียนไทยฯ เป็น “กลุ่มทุน” ที่ใกล้ชิดสนิทสนมแนบแน่นกับคนในรัฐบาล การที่บริษัท อิตาเลียนไทยฯ ได้รัฐบาลไทยเข้ามาหนุนหลังอย่างนี้ เป็นผลดีกับอิตาเลียนไทยฯ เพราะที่ผ่านมาเงินของบริษัท “จม” ไปกับโครงการนี้จำนวนมาก

แม้มีการตีความจากบางฝ่ายว่า รัฐบาลไทยใต้เงาของ “อดีตผู้นำ” ต้องการ “เทกโอเวอร์” โครงการทวายเพื่อรุกเข้าสู่ผลประโยชน์ทับซ้อนอื่นๆ ในดินแดนเมียนมาร์ เช่น กรณีการปล่อยกู้ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือเอ็กซิมแบงก์ ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับรัฐบาลเมียนมาร์จำนวน 4,000 ล้านบาท ในการพัฒนาโครงการโทรคมนาคมของเมียนมาร์

แต่ดูเหมือนว่าฝ่ายอิตาเลียนไทยฯ จะเห็นดีเห็นงามกับแนวทางของรัฐบาลไทยและเมียนมาร์

อนันต์ อัมระปาล รองประธานบริหาร บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ หรือไอทีดี เปิดเผยว่า การประชุมร่วมระหว่างรัฐบาลไทยกับเมียนมาร์ครั้งล่าสุด มีการตกลงกันอย่างชัดเจนถึงสัดส่วนการหานักลงทุนมาร่วมลงทุนในโครงการทวาย ระหว่างรัฐบาลไทยเมียนมาร์ และบริษัท อิตาเลียนไทยฯ

โดยรัฐบาลไทยและรัฐบาลเมียนมาร์จะเป็นผู้หานักลงทุนมาร่วมลงทุนในโครงการนี้ฝ่ายละ 37.5% รวม 75% ที่เหลืออีก 25% เป็นความรับผิดชอบของบริษัท อิตาเลียนไทยฯ ที่ต้องหานักลงทุนมาร่วมโครงการ และอิตาเลียนไทยฯ ยังมีบทบาทในฐานะผู้พัฒนาโครงการของโครงการทวาย 100%

“นักลงทุนต่างชาติที่รัฐบาลทั้งสองประเทศเชิญเข้ามาเป็นผู้ร่วมทุน อาจมีเงินทุนจำนวนมาก แต่ไม่มีประสบการณ์ในการบริหารโครงการนี้เท่ากับอิตาเลียนไทยฯ ที่เป็นผู้พัฒนาโครงการมาตั้งแต่ต้น” อนันต์ กล่าว

ขณะที่ วรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า โครงการท่าเรือน้ำลึกทวายมีหลายส่วน อาทิ ท่าเรือน้ำลึก นิคมอุตสาหกรรม ที่ใช้เงินลงทุนสูงมาก เอกชนไม่สามารถลงทุนได้เพียงรายเดียว เพราะจะติดปัญหาการขอสินเชื่อ เนื่องจากปัจจุบันธนาคารพาณิชย์จะให้สินเชื่อโดยพิจารณาสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (ดีอี) ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 2 ต่อ 1

หากโครงการลงทุนทวายหลังการทบทวนใหม่ที่มีมูลค่า 3.24 แสนล้านบาท ตามตัวเลขที่ ชาญวิทย์ อมตะมาทุชาติ รองเลขาฯ สศช. ได้ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร นั่นหมายความว่า บริษัทร่วมทุนหรือโฮลดิงคอมพานีต้องมีทุนไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านบาท

แม้ว่ารัฐบาลไทยยืนยันว่าจะไม่จัดสรรเงินไปร่วมลงทุนในโครงการทวาย และจะให้รัฐวิสาหกิจไทยเข้าร่วมลงทุนหรือหาผู้ร่วมทุนให้แทน ทว่าเบื้องแรกรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง “ปฏิเสธ” ไม่เข้าร่วมลงทุน เพราะโครงการมีความเสี่ยงและไม่คุ้มค่า เช่น บริษัท ปตท. ที่ระบุว่าก๊าซธรรมชาติฝั่งพม่าไม่มีคุณภาพเพียงพอที่จะใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพราะมีคาร์บอนต่ำ

แต่เมื่อถูกบีบหนักเข้า รัฐวิสาหกิจหลายแห่งต้องโอนอ่อน อาทิ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะร่วมกับบริษัท ปตท. ศึกษาความเหมาะสมการใช้เชื้อเพลิงจากแหล่งก๊าซของเมียนมาร์ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ที่กำลังศึกษาแนวทางตั้งบริษัท กนอ.อินเตอร์ โฮลดิ้ง เพื่อลงทุนพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในต่างประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าหมายถึงโครงการทวาย

กระทั่งแผนการลงทุนล่าสุด สศช.กำหนดรายชื่อรัฐวิสาหกิจไทยที่จะเข้าร่วมลงทุน 8 โครงการเร่งด่วน ได้แก่ กนอ.ร่วมลงทุนโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมพื้นที่ 200 ตารางกิโลเมตร บริษัท ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม ร่วมลงทุนระบบโทรคมนาคม รัฐวิสาหกิจกระทรวงคมนาคมร่วมลงทุนโครงการรถไฟรางคู่ และถนนจากบ้านพุน้ำร้อนเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย

กฟผ.และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง หรือ RATCH ร่วมลงทุนโรงไฟฟ้าและสายส่งระยะเริ่มแรก กรมชลประทานและการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ร่วมลงทุนระบบน้ำและระบบบำบัดน้ำเสีย และการท่าเรือแห่งประเทศไทย ร่วมลงทุนโครงการท่าเรือน้ำลึกระยะแรก เป็นต้น

ด้าน สมเจตน์ ทิณพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทวาย ดีเวล๊อปเมนต์ (ดีดีซี) ที่สั่งปรับพื้นที่ทวายได้สิทธิให้ดำเนินการจากรัฐบาลเมียนมาร์ 1 แสนไร่ และก่อสร้างถนนจากฝั่งชายแดนไทยไปยังโครงการรอท่านักลงทุนใหม่ที่จะใส่เงินเข้ามา

แม้โครงการทวายจะยังต้องใช้เวลา 3 ‌เดือนในการสรุปกลไกระดมทุน ตกผลึก‌โครงการลงทุน รอกฎหมายการลงทุนใหม่‌ของเมียนมาร์ รูปแบบที่จูงใจให้ผู้พัฒนา‌โครงการ นักลงทุนในนิคมฯ และการใช้‌ท่าเรือทวายเป็นทางออกทะเลฝั่งตะวันตก‌ที่มีต้นทุนถูกกว่าขนผ่านแหลมมลายู

หากตกลงกันสมประโยชน์ทุกฝ่ายตั้งแต่ต้น โครงการก็ไปได้สวย

รัฐบาลไทยได้หน้า เมียนมาร์ได้เงิน‌ลงทุนเข้าประเทศ ส่วนอิตาเลียนไทยฯ ยัง‌คงเป็นผู้พัฒนาโครงการเช่นเดิม