posttoday

คนตกงานแต่แรงงานขาดแคลนปมขัดแย้งที่รัฐบาลต้องแก้ไข

09 มกราคม 2556

เกิดภาวะผิดปกติขึ้นในตลาดแรงงานของไทยมาช่วงเวลาหนึ่งแล้ว คือ เกิดภาวะตกงานและภาวะการขาดแคลนแรงงานขึ้นในเวลาเดียวกัน

เกิดภาวะผิดปกติขึ้นในตลาดแรงงานของไทยมาช่วงเวลาหนึ่งแล้ว คือ เกิดภาวะตกงานและภาวะการขาดแคลนแรงงานขึ้นในเวลาเดียวกัน

โดย...ชลลดา อิงศรีสว่าง

ด้านแรงงานที่ตกงานนั้น มีทั้งว่างงานจริงกับว่างงานแอบแฝง ว่างงานจริง คือ โรงงานปิดโดนเลิกจ้าง แล้วไปขึ้นทะเบียนกับกระทรวงแรงงาน หรือกระทรวงแรงงานเก็บข้อมูลจากการปิดกิจการของนายจ้าง

ส่วนการว่างงานแอบแฝง คือ ไม่มีงานทำแต่อยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ของครอบครัว ไม่อยู่ในระบบสำรวจของทางการ ซึ่งในส่วนนี้ไม่มีจำนวนที่ชัดเจนมายืนยัน

สำหรับภาวะการขาดแคลนแรงงาน ก็เป็นการขาดแคลนแรงงานบางอุตสาหกรรม เช่น ภาคก่อสร้างและแรงงานมีฝีมือ ซึ่งสถานการณ์รุนแรงไม่แพ้การว่างงาน ภาคก่อสร้างระบุว่าต้องการแรงงานไม่ต่ำกว่า 3 แสนคน

แต่หลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศใช้มาตรการค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาททั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2556 เป็นต้นไป ก็ทำให้แนวโน้มคนตกงานจะเยอะขึ้นเรื่อยๆ

ประมาณกันว่า นโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนี้อาจจะออกผลชัดเจนว่าจะมีผู้ประกอบการออกอาการทนไม่ไหว ต้องปิดกิจการหรือปรับตัวลดการจ้างงานลง เพื่อลดต้นทุนชัดๆ ใน 3 เดือน หรือ 6 เดือนข้างหน้า

แต่เพียงแค่ 4 วันของการดำเนินนโยบายค่าจ้างใหม่ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 14 ม.ค. 2556 มีสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท 4 แห่ง เลิกจ้างลูกจ้าง 275 คน

ยังมีสถานประกอบการที่แนวโน้มการเลิกจ้างอันเนื่องมาจากการปรับค่าจ้างจำนวน 2 แห่ง ลูกจ้างเกี่ยวข้อง 480 คน

และมีอีก 5 แห่งที่ส่งสัญญาณการขาดสภาพคล่องและหมดสัญญาเช่าที่ ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 999 คน

นอกจากนี้ กสร.ยังรายงานสถานการณ์ด้านแรงงานก่อนวันที่ 1 ม.ค. 2556 (10 ก.ค.-31 ธ.ค. 2555) มีสถานประกอบการ 76 แห่ง เลิกจ้างลูกจ้างรวม 10,696 คน และแนวโน้มการเลิกจ้าง 39 แห่ง ลูกจ้างเกี่ยวข้อง 33,655 คน

ในจำนวนนี้ แบ่งเป็น ปิดกิจการเพราะการปรับค่าจ้าง 6 แห่ง ลูกจ้าง 1,002 คน เลิกจ้างบางส่วน 3 แห่ง ลูกจ้าง 2,159 คน

เลิกจ้างเพราะวิกฤตเศรษฐกิจยุโรป 13 แห่ง ลูกจ้าง 3,159 คน แบ่งเป็น ปิดกิจการ 8 แห่ง ลูกจ้าง 2,250 คน เลิกจ้างบางส่วน 5 แห่ง ลูกจ้าง 909 คน และการเลิกจ้างเนื่องจากสาเหตุอื่นๆ จำนวน 54 แห่ง ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง 5,378 คน แบ่งเป็น ปิดกิจการ 17 แห่ง ลูกจ้าง 2,845 คน เลิกจ้างบางส่วน 37 แห่ง ลูกจ้าง 625 คน

ส่วนจำนวนสถานประกอบการแนวโน้มการเลิกจ้างอันเนื่องมาจากการปรับค่าจ้าง วิกฤตเศรษฐกิจยุโรป และกรณีอื่นๆ จำนวน 39 แห่ง ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 33,655 คน

ตัวเลขที่กระทรวงแรงงานเปิดเผยออกมา น่าจะอ้างอิงได้ว่า มีสถานประกอบการได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาลจริงๆ แม้ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว.คลัง จะยอมรับว่ามีบริษัทปิดกิจการจำนวนมากนั้น เป็นเรื่องจริง แต่ถือเป็นภาวะปกติที่เกิดขึ้นตลอดเวลา และยังไม่มีเหตุผลที่เชื่อมโยงมาจากการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาท เพราะการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนำร่อง 7 จังหวัด เมื่อเดือน เม.ย. 2555 มีกิจการเกินครึ่งที่มีภาพรวมเป็นบวก

ซึ่งเรื่องผลกระทบนั้นในมุมของ ธนิต โสรัตน์ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ยืนยันว่า มาตรการของรัฐส่งผลกระทบอุตสาหกรรมทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กที่ใช้แรงงานเข้มข้น โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)

นอกจากนี้ การปิดกิจการจะไม่เห็นตัวเลขที่ชัดเจน เพราะโรงงานที่ปิดกิจการไปแล้วเกือบทั้งหมดไม่ได้ไปจดทะเบียนเลิกกิจการ เพราะมีความยุ่งยาก ต้องมีกระบวนการชำระบัญชีและขั้นตอนอื่นๆ

ดังนั้น เป็นไปได้หรือไม่ว่า ภาพของการปิดกิจการของสถานประกอบการทั้งหลายเป็นตัวเลขลวงตา ในความเป็นจริงแล้วมีการปิดกิจการมากกว่านั้น และแรงงานที่ถูกลอยแพก็มากกว่าที่ทำการสำรวจ แต่ไปเป็นผู้ว่างงานแอบแฝงและไปทำอาชีพอิสระ จึงตรวจสอบไม่ได้ว่าเบ็ดเสร็จแล้ว คนว่างงานในประเทศนี้มีจำนวนเท่าใดแน่

แน่นอนว่า ผลกระทบผู้ประกอบการที่ได้รับจากมาตรการของรัฐไม่เท่ากัน ระดับความรุนแรงและความทนต่อปัญหาแตกต่างกัน

ผู้ประกอบการที่จำหน่ายสินค้าในประเทศได้รับผลกระทบน้อยกว่าผู้ประกอบการที่ส่งออก เนื่องจากผู้ประกอบการในประเทศอาจผลักภาระด้วยการปรับราคาสินค้าได้ ขณะที่ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ส่งออกส่วนใหญ่ไม่สามารถปรับราคาได้ เนื่องจากสินค้าที่ผลิตจะเป็นการรับจ้างการผลิต หรือเป็นแบรนด์ของผู้สั่งซื้อ

ขณะเดียวกันคู่แข่งก็จะเป็นประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีค่าจ้างต่ำกว่า 2-2.5 เท่า และยังไม่มีการปรับราคา ทำให้ผู้ส่งออกไทยไม่สามารถปรับราคาได้ทั้งที่ราคาต้นทุนสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 10-12% ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ส่งออกบางรายต้องหยุดกิจการเพราะไม่มีคำสั่งซื้อ

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า หลังจากขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแล้ว อัตราค่าจ้างของไทยสูงเป็นลำดับที่ 3 ในอาเซียน รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย ดังนั้นในระยะยาวอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมาก ก็จะย้ายฐานการผลิตไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าแรงงานต่ำกว่า อย่าง เวียดนาม ลาว และกัมพูชา

นั่นคือด้านที่แรงงานต้องตกงานจากหลายสาเหตุ

แต่ในด้านการขาดแคลนแรงงานนั้น สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ระบุว่า การว่างงานในระดับปริญญาตรีในปี 2556 จะกระจุกในกลุ่มแรงงานที่จบการศึกษาใหม่ เนื่องจากนายจ้างเลือกจ้างแรงงานที่มีประสบการณ์และคุณสมบัติสาขาตรงกับตำแหน่งงาน

นอกจากนี้ นายจ้างจะชะลอการจ้างงานใหม่ เป็นผลจากการปรับฐานเงินเดือนของข้าราชการในระดับปริญญาตรีเป็น 1.5 หมื่นบาท ทำให้ภาคเอกชนต้องปรับเงินเดือนตามไปด้วย และปัจจัยจากตัวแรงงานใหม่ที่หางานไม่ได้จึงหันไปประกอบธุรกิจส่วนตัวแบบแรงงานนอกระบบที่ให้ค่าตอบแทนที่สูงกว่า อาทิ ขายของหาบเร่ แผงลอย ขายตรง จึงทำให้เกิดทั้งสภาพว่างงานและสภาพตลาดขาดแคลนแรงงานรุนแรงขึ้น

ชัดเจนมากสำหรับเหตุผลของปลัดกระทรวงแรงงาน ว่าการขาดแคลนแรงงานส่วนหนึ่งมาจากผลกระทบนโยบายของรัฐ และการเปลี่ยนแปลงค่านิยมของคนที่อยากทำอาชีพอิสระมากกว่าเป็นมนุษย์เงินเดือน

ส่วนแนวโน้มการขาดแคลนแรงงานในปัจจุบัน รวมถึงแนวโน้มตั้งแต่ปี 2555-2559 นั้น ปลัดกระทรวงแรงงาน ระบุว่า คาดว่าประเทศไทยมีการผลิตกำลังคนไม่เพียงพอต่อความต้องการแรงงาน โดยมีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น จำแนกเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนต้นหรือต่ำกว่า จำนวน 689,841 คน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 98,113 คน และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จำนวน 21,750 คน

สำหรับการผลิตกำลังคนเกินกว่าความต้องการแรงงานในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จำนวน 31,366 คน และระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่า จำนวน 47,256 คน แสดงให้เห็นว่าในปี 2555-2559 ประเทศไทยมีแนวโน้มจะขาดแคลนแรงงานที่มีการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นหรือต่ำกว่า มัธยมศึกษาตอนปลาย และประกาศนียบัตรวิชาชีพ

ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะจะเป็นปัญหาระยะยาวระดับโครงสร้างของประเทศ ซึ่งรัฐบาลจะต้องยื่นมือเข้ามาแก้ไข นี่ไม่ใช่การประชานิยม แต่นี่คือความจริงของภาวะการจ้างงานของประเทศ ที่เมื่อค่าจ้างสูงขึ้นแล้ว ก็ควรจะต้องปรับเพิ่มฝีมือแรงงานให้ทัดเทียมกันเพื่อความอยู่รอด

นโยบายปฏิรูปการศึกษารัฐบาลก็ยังไม่ได้เข้าไปแตะ การผลิตบัณฑิตของไทยยังคงสวนทางกับความต้องการแรงงาน มีความต้องการแรงงานด้านอาชีวะและสายวิทยาศาสตร์มากขึ้น แต่ระบบการศึกษาไทยกลับผลิตบัณฑิตสายสังคมศาสตร์และศึกษาศาสตร์มากเกินไป

การแก้ไขปัญหานี้ยิ่งช้ายิ่งแย่ เพราะหากเปิดเสรีการค้าอาเซียน (เออีซี) แล้ว การเคลื่อนย้ายการลงทุนและแรงงานจะทำให้ไทยกลายเป็นเสือลำบาก