posttoday

ปัจจัยภายใน ไม่ลงรอยกันเองบริกส์อ่วม หมดแรงดันศก.โลก

08 มกราคม 2556

หลังตัวเลขมูลค่าทางการค้าและการเติบโตทางเศรษฐกิจพุ่งทะยานสดใสในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

หลังตัวเลขมูลค่าทางการค้าและการเติบโตทางเศรษฐกิจพุ่งทะยานสดใสในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

จนนักลงทุนเกือบทุกสารทิศต่างคาดหวังให้เป็นเสาหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจแทนที่สหรัฐและยุโรป ซึ่งมีแรงแผ่วลงเรื่อยๆ เพราะเจอพิษวิกฤตการเงินและหนี้สาธารณะ

กระนั้น ดูท่าว่าสิ่งที่นักลงทุนค่อนโลกฝากความหวังไว้กับ “บริกส์” สุดยอดดาวเด่นในหมู่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ซึ่งประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ จะเป็นสิ่งที่รางเลือนและน่าจะเป็นไปได้ยากเสียแล้วสำหรับปี 2556 นี้

เพราะแม้ในช่วง 45 ปีที่ได้รับการยอมรับในศักยภาพทางเศรษฐกิจที่มีกำลังการบริโภคของประชากรโลกรวมกันถึง 40% แต่สิ่งที่บริกส์กำลังแสดงให้โลกเห็นในขณะนี้ กลับเต็มไปด้วยปัญหาคุกคามความสามารถของบริกส์ไม่น้อย

ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญหลักๆ ที่คุกคามบริกส์ จนนักวิเคราะห์เกือบทุกสำนักเห็นตรงกันว่าทำให้บริกส์หมดแรงแน่ คือ 1) ปัญหาเศรษฐกิจภายในเฉพาะของแต่ละประเทศ ไล่เรียงตั้งแต่ เศรษฐกิจซบเซา เงินเฟ้อ ขาดเงินลงทุนจากต่างชาติ และแรงงาน และ 2) ความร่วมมือระหว่างกันของ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ออกแนวเพื่อนคอยขัด มากกว่าเพื่อนพร้อมช่วย

ก่อนอื่นต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศบริกส์นี้มีความเกี่ยวพันกับบรรดาประเทศเสาหลักเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะกับ 7 ประเทศอุตสาหกรรมหลัก (จี7) อย่าง สหรัฐ แคนาดา ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น ดังนั้น เมื่อประเทศเหล่านี้ประสบปัญหา เศรษฐกิจของบริกส์ย่อมต้องซึมตามไปด้วย เพราะประเทศ จี7 เป็นทั้งตลาดส่งออกและแหล่งเงินลงทุนหลักของบริกส์

ผลลัพธ์ในปัจจุบัน คือ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ต่างรุมเร้าด้วยปัญหาเศรษฐกิจภายใน โดย อาร์วินด์ สุภรามาเนียน อดีตนักวิเคราะห์อาวุโสจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ซึ่งปัจจุบันทำงานให้กับสถาบันเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ปีเตอร์สัน ในกรุงวอชิงตัน กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลที่สุดก็คือ ปัญหาภายในเหล่านั้นส่งผลกระทบมาถึงสมาชิกบริกส์อื่นๆ ด้วย

ยกตัวอย่างเช่น เศรษฐกิจที่ชะลอตัวของจีนและอินเดีย ได้ฉุดราคาสินค้าโภคภัณฑ์ให้ตกต่ำจนกระเทือนต่อการส่งออกแร่ธาตุของแอฟริกาใต้และอินเดีย น้ำมันและก๊าซธรรมชาติของรัสเซีย และแร่เหล็กและสินค้าเกษตรของบราซิล

ทั้งนี้ เจพี มอร์แกน คาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของบรรดาบริกส์ในปี 2555 ตลอดทั้งปีที่ผ่านมาจะน้อยกว่าปีก่อนหน้า ขณะที่แนวโน้มการเติบโตในปี 2556 นี้ก็น่าจะลดต่ำลงไปอีก ยกเว้นประเทศรัสเซีย ที่ความต้องการใช้พลังงานโลกอาจช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจของหมีขาวยังคงเดินหน้าต่อไปได้

นักวิเคราะห์ระบุว่า สิ่งที่จีนต้องจัดการก็คือ การเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มการใช้จ่ายและสร้างความเชื่อมั่นในภาคการเงินการธนาคาร และการควบคุมหนี้สาธารณะ สำหรับอินเดีย สิ่งที่น่าวิตกมากที่สุดไม่ใช่อัตราการเติบโต แต่เป็นอัตราเงินเฟ้อซึ่งสูงถึง 7% และการขาดดุลงบประมาณมหาศาล ที่ต้องพึ่งการปฏิรูประบบการคลังประเทศเพื่อดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติ

ด้านบราซิล นอกจากประเด็นเรื่องเงินเฟ้อที่ต้องระมัดระวังจนไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เต็มที่แล้ว แดนแซมบาแห่งนี้ยังมีปัญหาเรื่องอัตราภาษีที่ค่อนข้างสูง โครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ยังคงแย่ รวมถึงมีแนวโน้มการแทรกแซงจากรัฐในภาคอุตสาหกรรมมาก

เดวิด เบเกอร์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากแบงก์ ออฟ อเมริกา ประจำเมืองเซาเปาโล กล่าวว่า ด้วยสภาพที่เต็มไปด้วยคอขวดทางเศรษฐกิจมากมาย ทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของบราซิลจำกัดอยู่เพียงแค่ 3.5% โดยหากเร่งให้เร็วกว่านั้นจะเป็นการเร่งอัตราเงินเฟ้อของประเทศด้วยเช่นกัน

ในส่วนของรัสเซีย ประเด็นที่ยังน่าวิตกไม่เปลี่ยนก็คือ ปัญหาวิกฤตหนี้ของสหภาพยุโรป (อียู) เนื่องจากเมื่อเทียบกับสมาชิกบริกส์ชาติอื่นๆ แล้ว อียูนับเป็นพันธมิตรสำคัญทางการค้าการลงทุนรายใหญ่ของประเทศ สำหรับแอฟริกาใต้ ปัญหาหนักอกที่สุดก็คือ เหตุความรุนแรงและความไม่สงบถึงขั้นนองเลือดจากการที่บรรดาแรงงานเหมืองลุกขึ้นมาเรียกร้องความเป็นธรรมในเรื่องของค่าจ้างและคุณภาพชีวิต จนทำให้อุตสาหกรรมเหมืองและสายการผลิตที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนับเป็นสายเลือดหล่อเลี้ยงประเทศต้องหยุดชะงัก

ทั้งนี้ ในช่วง 3 เดือนให้หลังที่ผ่านมา สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (เอสแอนด์พี) และมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือในหนี้สาธารณะของแอฟริกาใต้ลง โดยให้เหตุผลว่า รัฐบาลอาจไม่สามารถยุติปัญหาแรงงานที่เกิดขึ้น จนความไม่พอใจลุกลามทั่วสังคม และบานปลายความรุนแรงหนัก

บรรดานักวิเคราะห์แทบทุกสำนักระบุชัดว่า การที่สมาชิกบริกส์แต่ละประเทศมีปัญหาภายในที่ต่างคนต่างต้องเร่งจัดการโดยด่วน ทำให้ทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้มีแนวโน้มเป็นอื่นได้ยาก นอกจากจะชะลอตัวช้าลงและไม่อาจคาดหวังได้มากนัก เหมือนในช่วงเริ่มต้นที่เศรษฐกิจอู้ฟู่ไม่ได้

สำหรับประเด็นเรื่องความร่วมมือระหว่างกัน นับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งระบุชัดว่า ส่งผลต่อศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจและอิทธิพลของบริกส์ไม่น้อย

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์รวมถึงเจ้าหน้าที่จากกลุ่มประเทศบริกส์ กล่าวว่า นับตั้งแต่ที่มีการรวมกลุ่มจริงจังในปี 2552 ทว่าทุกวันนี้ความหวังที่จะเห็นประเทศสมาชิกช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อส่งเสริม สนับสนุนด้านการค้า การลงทุน และการเมือง กลับไม่มีทีท่าว่าจะกระเตื้องขึ้นแม้แต่น้อย

ตรงกันข้าม ความสัมพันธ์ระหว่างกันดูจะเป็นไปในทางที่ไม่ลงรอยและขัดแย้งกันอยู่เนืองๆ โดย เฟียวดอร์ ลุคยานอฟ นักวิเคราะห์จากคณะที่ปรึกษานโยบายต่างประเทศ เครมลิน กล่าวว่า แม้กลุ่มบริกส์จะวางสถานะตนเองให้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกนอกเหนือจากฝั่งตะวันตก แต่เมื่อเอ่ยถึงประเด็นด้านเศรษฐกิจ บริกส์กลับมีผลประโยชน์ที่ขัดแย้งจนน่าหนักใจ

จีนบ่นเสมอว่าประเทศอื่นๆ ในกลุ่มบริกส์มักพุ่งเป้าโจมตีการทุ่มตลาด ด้านบราซิลก็เดินหน้าคัดค้านกฎข้อบังคับการนำเข้าสินค้าเกษตรของรัสเซีย เนื่องจากแดนหมีขาวแห่งนี้พยายามอย่างหนักที่จะเปลี่ยนสถานะตนเองให้เป็นผู้ส่งออกหลักในตลาดสินค้าเกษตร ซึ่งแน่นอนว่า ทำให้บราซิลกับรัสเซียเป็นคู่แข่งที่ต้องขับเคี่ยวแย่งชิงตลาดกัน

ขณะเดียวกันแม้บริกส์จะพยายามยกระดับความร่วมมือ ด้วยการเสนอให้มีการสร้างธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งบริกส์ เพื่อทำหน้าที่เป็นแหล่งเงินทุนสำคัญเทียบเท่าไอเอ็มเอฟหรือเวิลด์แบงก์ แต่สุดท้ายข้อเสนอดังกล่าวกลับกลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่แสดงให้เห็นความแตกแยกภายในบริกส์

หลักฐานยืนยันก็คือ ผลการประชุมนักวิชาการในกลุ่มประเทศบริกส์เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ในเมืองฉงชิ่ง ประเทศจีน เพื่อร่างรายละเอียดข้อเสนอของธนาคาร ที่จีนต้องการให้ธนาคารทำหน้าที่ปล่อยสินเชื่อเฉพาะประเทศสมาชิกในโครงการพัฒนาก่อสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่เท่านั้น แอฟริกาใต้กลับต้องการให้ธนาคารให้ความช่วยเหลือกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ

ขณะที่อินเดียแม้จะมีความเห็นคล้ายคลึงจีนในแง่ของการปล่อยกู้ให้โครงการขนาดใหญ่ แต่แดนภารตแห่งนี้กลับวางใจสนับสนุนจีนได้ไม่เต็มที่ เพราะเกรงว่าจีนจะผูกขาดอำนาจคุมธนาคารและเปลี่ยนให้เป็นแหล่งปล่อยกู้เงินหยวน หรือเป็นฐานให้สกุลเงินหยวนมีการใช้อย่างแพร่หลายในเวทีโลก

“ประเทศเดียวต้องการครองอำนาจดูแลธนาคาร เนื่องจากค่าเงินของตนเองโดดเด่นที่สุด เป็นเรื่องสมาชิกบริกส์อื่นๆ ยอมรับไม่ได้” พรหมมา เชลลานีย์ นักวิเคราะห์จากศูนย์วิจัยนโยบายแห่งอินเดีย แสดงความเห็นภายหลังเข้าร่วมการประชุม

นอกจากนี้ ปัญหาเรื่องที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของธนาคาร ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นแตกแยกที่ยังโต้เถียงอย่างดุเดือด

หลิวโยวฟา รองประธานสถาบันนานาชาติศึกษาของจีน ซึ่งเข้าร่วมการประชุมครั้งล่าสุดนี้ ยอมรับว่า ขณะที่อินเดียต้องการให้สำนักงานใหญ่ของธนาคารตั้งอยู่ในประเทศของตน จีนเองจะยินดีกว่านี้มาก หากสำนักงานหลักของธนาคารจะตั้งอยู่ในกรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ หรือเมืองฉงชิ่ง ด้วยเหตุผลด้านความสะดวกที่จีนเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนรายใหญ่ของธนาคาร

ทั้งนี้ แม้นักวิชาการส่วนใหญ่ต่างเห็นพ้องตรงกันว่า สมาชิกบริกส์น่าจะสามารถรับมือและหาทางจัดการกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้น จนสามารถตั้งธนาคารได้สำเร็จ

แต่ตราบใดที่บริกส์ยังไม่สามารถตกลงกันในรายละเอียดแน่ชัด และไม่สามารถจัดการหาแนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจภายในของแต่ละประเทศ พร้อมคำนึงถึงผลกระทบที่จะมีต่อประเทศบริกส์อื่นๆ ตราบนั้นความหวังที่จะให้บริกส์มีอิทธิพลแข็งแกร่งมีอำนาจเพียงพอในการเป็นเสาหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ย่อมเป็นเส้นชัยที่ห่างไกลและเลือนราง