posttoday

บ้อท่าเยียวยาค่าแรงวิบากกรรมนายจ้างลูกจ้างไทย

07 มกราคม 2556

ค่าแรง 300 บาท ดีเดย์ทั่วไทยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2556 ผ่านมาได้ไม่กี่วัน ก็ออกฤทธิ์พ่นพิษผู้ประกอบการกันทั่วหน้า

ค่าแรง 300 บาท ดีเดย์ทั่วไทยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2556 ผ่านมาได้ไม่กี่วัน ก็ออกฤทธิ์พ่นพิษผู้ประกอบการกันทั่วหน้า

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

ปรับตัวไม่ได้ตั้งรับไม่ทัน มีทั้งเลิกจ้างแรงงานบางส่วนลดต้นทุนหนีตาย และมีที่อาการหนักปิดกิจการอวสานตัวเองจากวงการธุรกิจ

นโยบายการขึ้นค่าแรงพรวดเดียว 40% ของรัฐบาลเพื่อไทย เป็นเหมือนการให้ยาแรง ทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการขึ้นสูง ขณะที่กำไรโตไม่ทันทำให้ขาดทุนทั้งยืน ผสมโรงกับเศรษฐกิจโลกไม่ดี การส่งออกทรุด ทำให้ผู้ประกอบการกลายเป็นคนอมโรคร้ายรักษาไม่ได้รอวันสิ้นใจ

ผู้ประกอบการที่โดนผลกระทบหนักที่สุด คือ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสายป่านสั้น 3 ล้านราย ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมใช้แรงงาน ที่ต้องดิ้นหนีตายเอาตัวรอดจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นก้าวกระโดด แต่กำไรที่จะได้มีแต่ทรงกับทรุด

ผลกระทบค่าแรง 300 บาท ไม่กระทบกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเท่านั้น แม้แต่ชาวนาปลูกข้าวยังเจอหางเลข เพราะต้องใช้แรงงานต้องดำต้องหว่านต้องฉีดยาต้นข้าว ทำให้ต้นทุนเพิ่ม เงินที่ได้จากจำนำตันละ 1.5 หมื่นบาท ที่เคยคิดว่าได้มากก็น้อยลงไปถนัดใจ

โดยตั้งแต่ปีใหม่เป็นต้นมา ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดต่างๆ ออกมารายงานผลกระทบค่าแรง 300 บาท อย่างต่อเนื่อง เช่น จ.ตาก ผู้ประกอบการเลิกจ้างงานนับพันราย หรือจะเป็นผู้ประกอบการ จ.ระนอง ก็เตรียมโละพนักงาน เอาเครื่องจักรมาทำงานแทน และในอนาคตก็พร้อมพาเหรดย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านที่ต้นทุนค่าแรงที่ต่ำกว่า

สำหรับการขึ้นค่าแรง 300 บาท ของรัฐบาล มีหลายฝ่ายแสดงความไม่เห็นด้วยตั้งแต่หาเสียงเลือกตั้ง แต่รัฐบาลใช้นโยบายนี้เป็นไม้เด็ดทางการตลาดหาเสียงเลือกตั้งจนได้คะแนนถล่มทลาย ทำให้เดินหน้านโยบายนี้ไม่ยอมถอย

แม้ว่าจะเลื่อนค่าแรงทั่วไทยมา 1 ปี โดยวันที่ 1 ม.ค. 2555 ที่ผ่านมานำร่องใน 7 จังหวัด และสุดท้ายเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2556

ลำพังที่ผ่านมานำร่อง 7 จังหวัด กรุงเทพฯ และปริมณฑล ผู้ประกอบการก็อยู่ในอาการสะบักสะบอม และพยายามเรียกร้องรัฐบาลให้เลื่อนการใช้ค่าแรง 300 บาท ออกไปก่อน แต่รัฐบาลเมินเสียงร้องดังกล่าว

ซึ่งรัฐบาลได้ออกมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ 11 มาตรการ ทั้งด้านสินเชื่อและลดต้นทุนผู้ประกอบการ จนการลดเงินส่งสมทบกองทุนประกันสังคม และการหักภาษีค่าเสื่อมเครื่องจักรมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม มาตรการเยียวยาที่ออกมากลับแก้ไขปัญหาไม่ได้ผล ผู้ประกอบการจำนวนมากเข้าไม่ถึงไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการที่ออกมา

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPURC) เปิดเผยผลการวิจัยเรื่องค่าแรงขั้นต่ำของไทยว่า หากค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นจนเกินกว่า 40% ของค่าแรงเฉลี่ยจะเกิดปัญหาเลิกจ้างอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะการเลิกจ้างแรงงานที่เป็นเยาวชนและแรงงานของธุรกิจเอสเอ็มอี

ในกรณีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทนั้น DPURC ระบุว่า ทำให้ค่าแรงใหม่คิดเป็นประมาณ 75% ของค่าแรงเฉลี่ยของประเทศ ซึ่งถือว่าอยู่ระดับสูงมากส่งผลให้มีการเลิกจ้างเพิ่มขึ้น ภายในเวลา 1218 เดือนข้างหน้า จำนวน 8 หมื่น1.3 แสนราย

DPURC ยังรายงานผลสำรวจมาตรการบรรเทาผลกระทบ 11 มาตรการ กับผู้ประกอบการ 7 จังหวัดนำร่อง 435 ราย พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 21.1% สนใจมาตรการสินเชื่อเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิต 78.9% ไม่สนใจ โดยสาเหตุที่ไม่สนใจพบว่า 42.4% ไม่มั่นใจว่าจะชำระหนี้คืนได้ 22.3% ดอกเบี้ยสูงเกินไป และอีก 14.2% ยังไม่ต้องการกู้เงิน

ขณะที่กลุ่มตัวอย่าง 71.6% สนใจมาตรการกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน กลุ่มตัวอย่าง 28.4% ไม่สนใจ โดยกลุ่มตัวอย่างที่สนใจมาตรการนี้ได้ให้ข้อสังเกตว่า วงเงิน 4.2 หมื่นบาทต่อสถานประกอบการอาจไม่เพียงพอสำหรับการฝึกอบรมในเรื่องที่ต้องการ

ด้านมาตรการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน (ผ่านกองทุนประกันสังคม) กลุ่มตัวอย่าง 14.7% สนใจ 85.3% ไม่สนใจ โดยในกลุ่มที่ไม่สนใจ 71.1% ไม่มั่นใจว่าจะชำระคืนได้ 14.2% ยังไม่ต้องการกู้เงิน

เมื่อสอบถามถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากมาตรการด้านภาษี 3 มาตรการ กลุ่มตัวอย่าง 19.2% ระบุว่า ได้รับประโยชน์จากมาตรการยกเว้นภาษีจากการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 11.1% ได้รับประโยชน์จากการหักค่าเสื่อมราคาของเครื่องจักรใหม่ได้ 100% ในปีแรก 34.9% ได้รับประโยชน์จากการหักค่าใช้จ่าย 1.5 เท่าของส่วนต่างค่าแรงที่เพิ่มขึ้นจากเดิมเป็น 300 บาทต่อวัน

ผลสำรวจของ DPURC ชี้ให้เห็นว่ามาตรการเยียวยาผลกระทบที่ออกมามีส่วนน้อยที่ได้ประโยชน์ และคนส่วนใหญ่ไม่ได้รับประโยชน์ ทำให้การแก้ผลกระทบออกมาล้มเหลว

ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหลังจากขึ้นค่าแรง 300 บาท ทั่วประเทศ ผลกระทบจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ขณะที่ภาครัฐยังใช้มาตรการเดิม 11 มาตรการ ที่ไม่ได้ผลเท่าที่ควร เป็นตัวแก้ปัญหา ทำให้ผู้ประกอบการและแรงงานถูกปล่อยเคว้งหาทางหนีตายกันเอง

ขณะที่มาตรการเสริมที่ออกมาช่วยต่อลมหายใจผู้ประกอบการ และแรงงานที่จะถูกเขี่ยตกงานก็ยังเชื่องช้าไม่เป็นรูปธรรม เพราะรัฐบาลเดินนโยบายผิดมาตั้งแต่ต้นที่ขึ้นค่าแรงแบบก้าวกระโดด ทำให้การคิดแก้ไขปัญหาทำได้ยากวิ่งไล่ตามปัญหาไม่ทัน

นอกจากนี้ มาตรการที่รัฐบาลแพลมออกมาที่ดันมาเสริม 11 มาตรการ อีก 5 มาตรการ ได้แก่

1.การลดค่าธรรมเนียมห้องพักโรงแรม

2.ตั้งคลินิกยกระดับฝีมือแรงงาน

3.เพิ่มอัตราค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมสัมมนาของส่วนราชการ

4.จัดคาราวานสินค้าราคาถูกไปจำหน่ายให้ลูกจ้าง

5.ลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายจาก 3% เหลือ 2%

ทั้งหมดก็ถูกมองว่าเป็นมาตรการยิบย่อย แก้ปัญหาไม่ตรงจุด ผู้ประกอบการส่วนน้อยได้ประโยชน์ ส่วนใหญ่ไม่ได้อะไรเลยเหมือนกับ 11 มาตรการแรกที่รัฐบาลออกมาลดผลกระทบ

ขณะที่มาตรการที่ภาคเอกชนเสนอ ทั้งการตั้งกองทุน 5 หมื่นล้านบาท มาอุ้มผู้ประกอบการจ่ายส่วนต่างค่าแรงที่เพิ่มขึ้น หรือว่าการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ที่รัฐบาลก็ปิดประตูปฏิเสธทันที เพราะจะเป็นการพอกหนี้ให้กับรัฐบาล และทำให้รายได้ของประเทศมีปัญหา

กรณ์ จาติกวณิช สส.พรรคประชาธิปัตย์ อดีต รมว.คลัง ออกมาระบุว่า “สนับสนุนให้มีการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ” ไม่สนับสนุนการขึ้นทีเดียว 300 บาท เพราะมันเป็นแอปเปิลอาบยาพิษ เพราะทุกคนอยากทาน แต่ภูมิคุ้มกันต่อยาพิษที่อาบมากับแอปเปิลทุกคนมีไม่เท่ากัน

กรณ์ แจงว่า การขึ้นค่าแรง 300 บาท ผลดีทำให้รายได้เพิ่มขึ้นเยอะจริง แต่ส่งผลกระทบมากมายตามมา

ด้านแรกทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาสินค้าแพง ค่าครองชีพสูงขึ้นไม่ใช่แต่กลุ่มแรงงานที่ได้ค่าแรงเพิ่ม แต่เป็นทุกคนในประเทศ รวมทั้งคนที่ไม่ได้รายได้เพิ่มจากการขึ้นค่าแรงครั้งนี้ด้วย

ด้านที่สอง นายจ้าง เจ้าของธุรกิจ แบกรับต้นทุนสูงขึ้น ต้องปรับลดจำนวนคน เลิกจ้าง ลดสวัสดิการ ใช้แรงงานที่เหลือหนักกว่าเดิม หรือปิดกิจการชั่วคราว หรือปิดถาวรในที่สุด

ด้านที่สาม ลูกจ้าง ค่าแรง เพิ่มขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น สรุปไม่มีอะไรดีขึ้น

ด้านที่สี่ ภาพรวมประเทศ เกิดการสังคมกระจุกตัว เกิดปัญหาสังคม ชุมชนแออัดมากขึ้น เพราะกิจการต่างๆ ต้องการตั้งอยู่ในพื้นที่ที่สะดวกต่อการขนส่ง เช่น จังหวัดที่มีท่าเรือ หรือใกล้เมืองหลวง จากเดิมที่ยอมไปอยู่ไกล เพราะค่าแรงถูกกว่า แต่เมื่อค่าแรงเท่ากัน มาอยู่ใกล้ๆ ท่าเรือ ประหยัดส่วนอื่นแทนจะคุ้มค่ากว่า

ด้านสุดท้าย โครงสร้างสังคมได้รับผลกระทบในทุกระดับ การเคลื่อนย้ายแรงงาน ประชากรแฝง ทั้งจากในประเทศและเพื่อนบ้าน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทั้งสำนักวิจัย และอดีต รมว.คลัง จะมีความเห็นทิศทางเดียวกัน ถึงผลกระทบจากการขึ้นค่าแรง 300 บาท จะส่งผลเสียมากกว่าผลดี แต่รัฐบาลก็ยังออกมายืนยันว่า นโยบายนี้มาถูกทางเพิ่มรายได้แรงงาน แต่ก็ไม่แจงผลกระทบในด้านอื่นที่ถูกตั้งข้อสังเกตอีกจำนวนมาก

ส่งผลให้นโยบายขึ้นค่าแรงของรัฐบาลส่งผลกระทบวงกว้าง นอกจากทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ต้องอวสานปิดฉากตัวเอง และแรงงานจำนวนมากต้องตกงาน ไม่ได้ค่าแรงเพิ่มแล้ว ยังไม่มีรายได้เลี้ยงตัวเองอีกด้วย เป็นการฟ้องว่ามาตรการที่ออกมาเยียวยาล้มเหลว และการแก้ปัญหาของรัฐบาลไร้ประสิทธิภาพ