posttoday

พระวิหาร ไม่พ้นคอ เพื่อไทยเจ๊งกับเจ๊ง

07 มกราคม 2556

เวลาที่เหลืออีกประมาณ 1 ปี ก่อนที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะมีข้อสรุปกรณีกัมพูชายื่นคำร้องให้ตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร

เวลาที่เหลืออีกประมาณ 1 ปี ก่อนที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะมีข้อสรุปกรณีกัมพูชายื่นคำร้องให้ตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร

โดย...อภิวัจ สุปรีชาวุฒิพงศ์

เมื่อปี 2505 ใช่เพียงช่วงเวลาที่คนไทยทั้งชาติจะลุ้นระทึก แต่สำหรับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ก็เป็นช่วงเวลาที่จะต้องฟันฝ่ามรสุมข้อกล่าวหา ผลพวงจากที่รัฐบาลพรรคพลังประชาชนได้ทำไว้ในอดีต

เพียงแค่เริ่มต้นจากคำให้สัมภาษณ์ของ สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ ที่ประเมินแนวทางตัดสินของศาลว่า อาจแพ้หรือแค่เสมอตัว ก็ทำให้ต้องตั้งรับกับข้อกล่าวหายอมแพ้เสียตั้งแต่ไม่ทันครบยก ทั้งที่ในเดือน เม.ย.นี้ จะถึงกำหนดชี้แจงด้วยวาจาต่อหน้าบัลลังก์คณะตุลาการศาลโลกอีกรอบ

อันที่จริงรัฐบาลได้ประเมินแล้วว่า กรณีปราสาทพระวิหารจะเป็นมรสุมลูกใหญ่สำหรับรัฐบาล กระทรวงการต่างประเทศได้เตรียมแผนงานประชาสัมพันธ์เรื่องนี้ให้ประชาชนได้รับทราบไว้แล้ว แต่ดูเหมือนคำให้สัมภาษณ์ของ สุรพงษ์ จะทำให้แผนที่เตรียมไว้ต้องปรับใหม่ทั้งกระบวน โดยเฉพาะการประกาศเคลื่อนไหวของแนวร่วมคนไทยรักชาติรักษาแผ่นดิน ซึ่งแนบแน่นกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

ประสานกับฝ่ายค้านพรรคประชาธิปัตย์ที่พุ่งเป้าโจมตีไปยังจุดอ่อนที่สุดของรัฐบาล นั่นคือความผิดพลาดในการออกแถลงการณ์ร่วมสนับสนุนกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ในสมัยรัฐบาลพรรคพลังประชาชนที่มี สมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี และนพดล ปัทมะ เป็น รมว.ต่างประเทศ

แม้ นพดล จะยืนยันเสียงแข็งปฏิเสธว่าแถลงการณ์ร่วมไม่ใช่ต้นเหตุ เพราะมีการยกเลิกไปแล้ว แต่ข้อเท็จจริงของกรณีแถลงการณ์ร่วม กำลังจะย้อนกลับมาขย่มรัฐบาลอีกครั้ง

ย้อนไปยังที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัย 31 ณ เมืองไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ เมื่อเดือน มิ.ย. 2550 มีมติที่ 8B.24 ระบุว่า “กัมพูชาและไทยเห็นพ้องกันว่า กัมพูชาจะเสนอเพื่อขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกอย่างเป็นทางการ ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยที่ 32 ด้วยการสนับสนุนอย่างแข็งขัน (Active Support) จากไทย”

ตัวแทนรัฐบาลไทยในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ถึงขั้นวอล์กเอาต์ออกจากที่ประชุมจัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารของฝ่ายกัมพูชา เนื่องจากกระทบต่อพื้นที่รอบปราสาทซึ่งเป็นของไทย กัมพูชาจึงไม่อาจได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากไทย ซึ่งทำให้ยังไม่สามารถยื่นเอกสารเข้าสู่วาระการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกในปี 2551 ได้

แต่แล้วจู่ๆ วันที่ 22 พ.ค. 2551 ช่วงเวลา 6 สัปดาห์ก่อนจะมีการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่เมืองควิเบก ประเทศแคนาดา นพดล ก็ได้เจรจาและลงนามย่อในร่างแถลงการณ์ร่วมไทยกัมพูชา สนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร

เป็นช่วงเวลา 6 สัปดาห์ ตามข้อบังคับการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ข้อที่ 45 ระบุว่า “การแจกจ่ายเอกสารเพื่อให้คณะกรรมการในประเทศภาคีพิจารณานั้น จะต้องส่งถึงคณะกรรมการก่อนการประชุมอย่างน้อย 6 สัปดาห์”

ซึ่งปรากฏว่าฝ่ายกัมพูชานำร่างแถลงการณ์ที่มีลายเซ็นของ นพดล ไปใช้ประกอบเอกสารยื่นต่อคณะกรรมการ เพื่อให้เห็นว่าไทยมีการแสดงออกถึงการสนับสนุนอย่างแข็งขัน

เชลดอน เชฟเฟอร์ ผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโกกรุงเทพฯ มีหนังสือตอบ ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต สมาชิกวุฒิสภา ที่รวบรวมรายชื่อบุคคลที่มีชื่อเสียงในประเทศไทย 300 คน คัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร ตอนหนึ่งระบุว่า

“พันธะในอันที่จะให้ความร่วมมือเพื่อบริหารจัดการและให้ความคุ้มครองปราสาทพระวิหารดังกล่าว ได้รับการเน้นย้ำและแสดงออกอย่างเป็นทางการแล้ว โดยแถลงการณ์ร่วมซึ่งลงนามโดย รมว.ต่างประเทศของไทย และรองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่กรุงปารีส เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2551 แถลงการณ์ร่วมดังกล่าวถูกนำเสนอเพื่อรับการพิจารณาจากคณะกรรมการมรดกโลก ในฐานะเป็นส่วนประกอบหนึ่งของแฟ้มนำเสนอเพื่อการขอขึ้นทะเบียน”

ภายหลัง นพดล เชิญ เชฟเฟอร์ เข้าพบเพื่อท้วงติงจดหมายชี้แจงดังกล่าว แต่ เชฟเฟอร์ ก็ยืนยันว่า “ยูเนสโกไม่มีสิทธิตัดสินว่าเอกสารใดชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย”

แถลงการณ์ร่วมอาจไม่ใช่สิ่งที่ทำให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนมรดกโลกได้โดยตรง แต่ร่างแถลงการณ์ร่วมฉบับที่ นพดล ลงชื่อย่อกำกับไว้ ช่วยให้กัมพูชายื่นเอกสารทันเส้นตายก่อนการประชุม 6 สัปดาห์ กระทั่งที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกมีมติให้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ซึ่งนำมาสู่ประเด็นใหม่ในด้านความขัดแย้งด้วยกำลังทหาร ซึ่งนำมาสู่การร้องขอตีความในขณะนี้

ไม่ว่าอย่างไร สิ่งที่รัฐบาลพลังประชาชนก่อขึ้นในอดีต ย่อมส่งผลสะเทือนมาถึงรัฐบาลพรรคเพื่อไทยในปัจจุบันอย่างเลี่ยงไม่พ้น

ไม่ว่าทางใด พรรคเพื่อไทยดูเหมือนจะมีแต่เจ๊ง หากพ่ายแพ้คดีก็ไม่พ้นข้อกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุ หรือหากชนะคดี ศาลไม่ตีความ รัฐบาลเพื่อไทยก็ไม่อาจรับชอบจากกรณีนี้ได้ จากการที่ไม่เคยแสดงบทบาทนำในการต่อสู้คดี

ยิ่งความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างนายกรัฐมนตรีฮุนเซนแห่งกัมพูชา กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และล่าสุดการเกี่ยวดองเตรียมพิธีวิวาห์ระหว่างบุตรสาว สมชาย วงศ์สวัสดิ์ กับบุตรชายนักการเมืองใหญ่ในกัมพูชา ก็ยิ่งทำให้ข้อหานิ่งเฉยต่อการต่อสู้คดีพระวิหาร เนื่องจากสายสัมพันธ์ส่วนตัวกับกัมพูชาของแกนนำในกลุ่มรัฐบาล ยิ่งถูกขยายมากขึ้น

ช่วงเวลาหลังจากนี้ไป ประเด็นเขาพระวิหารที่เกี่ยวพันกับเกียรติภูมิและอธิปไตยของชาติ จะเข้าสู่การโหมโรงโจมตีรัฐบาลอย่างหนักหน่วง ซึ่งเมื่อผสมเข้ากับประเด็นร้อนอื่นๆ อาทิ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผลกระทบการขึ้นค่าจ้าง 300 บาท และนโยบายจำนำข้าว สถานการณ์ของรัฐบาลอาจถึงขั้นเมาหมัด