posttoday

2556 น่านน้ำเอเชียระอุ สกัดดาวรุ่ง รั้งมหาอำนาจศก.โลก

04 มกราคม 2556

ก้าวขึ้นศักราชใหม่ด้วยแนวโน้มที่ไม่ค่อยสู้ดีนัก สำหรับกระแสความกังวลเกี่ยวกับภาวะทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียในปี 2556

ก้าวขึ้นศักราชใหม่ด้วยแนวโน้มที่ไม่ค่อยสู้ดีนัก สำหรับกระแสความกังวลเกี่ยวกับภาวะทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียในปี 2556

โดย...ลภัสรดา ภูศรี

เหตุเพราะถึงแม้ว่าแนวโน้มการคาดการณ์ของสถาบันการเงินระหว่างประเทศหลายสำนัก และบรรดานักวิเคราะห์ตลอดช่วงปีที่ผ่านมา จะมีทิศทางไปในเชิงบวกทั้งสิ้น

ไม่ว่าจะเป็นการปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกในปี 2556 ครั้งล่าสุดของธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ที่ดีขึ้นกันถ้วนหน้า โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน

หรือแม้แต่รายงานชิ้นล่าสุดของสภาข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐ (เอ็นไอซี) ที่ระบุชัดว่า ภายในปี 2030 หรือในอีก 18 ปีข้างหน้านี้ เอเชียจะมีพลังในภาพรวมทั้งหมดเหนือกว่าสหรัฐและยุโรปเสียอีก

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาดูจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ แล้ว ดูเหมือนว่าแนวโน้มสภาพเศรษฐกิจ “เอเชีย” ในปี 2556 อาจจะพลาดท่าไปไม่ถึงฝั่งฝันตามคาดการณ์เสียแล้ว

เพราะนอกเหนือจากปัจจัยเสี่ยงภายนอกอย่างวิกฤตเศรษฐกิจโลก ที่ยังไม่มีวี่แววว่าจะกระเตื้องขึ้นนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเอเชียเข้าอย่างจัง เนื่องจากส่วนใหญ่ยังคงต้องพึ่งพาภาคส่งออก เป็นฟันเฟืองหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ดังนั้น ตราบใดที่ตลาดใหญ่อย่างสหรัฐและยุโรปยังลุ่มๆ ดอนๆ กับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและวิกฤตหนี้สาธารณะอยู่อย่างเช่นในปัจจุบัน และยังไม่มีตลาดไหนมาทดแทนได้อย่างเต็มที่ เศรษฐกิจเอเชียในปี 2556 ก็คงยังกระท่อนกระแท่นไม่ต่างกัน

นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่จะกลายเป็นศัตรูตัวฉกาจต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียในศักราชใหม่นี้ คงหนีไม่พ้นปัญหาภายในภูมิภาคอย่าง “ข้อพิพาทดินแดน” ที่นับวันมีแต่จะทวีความรุนแรงขึ้น

เห็นได้จากกระแสความกังวลจากบรรดานักวิเคราะห์หลายสำนัก ที่เริ่มออกโรงเตือนแล้วว่า ในปี 2556 นี้ปัญหาหมู่เกาะพิพาทดินแดนทั้งในทะเลจีนตะวันออก หรือทะเลจีนใต้ระหว่างประเทศมหาอำนาจเอเชียหลายชาติ ไม่ว่าจะเป็น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอีก 4 ชาติอาเซียน มีแนวโน้มร้อนระอุขึ้นเป็นทวีคูณ

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้สถานการณ์ความขัดแย้ง มีแนวโน้มว่าจะดุเดือดขึ้นอย่างต่อเนื่องนั่นก็คือ การเปลี่ยนโฉมผู้นำคนใหม่ ที่เกิดขึ้นประจวบเหมาะพร้อมกันทั้ง 3 ชาติมหาอำนาจแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออก

ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายโอนเลือดผู้นำรุ่นที่ 5 ของแดนมังกรอย่าง สีจิ้นผิง บุตรชายของอดีตรองนายกรัฐมนตรี สีจงสุน อย่างเต็มตัวในปีนี้ ตลอดจนถึงการหวนกลับมานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นอีกครั้งของ ชินโสะ อาเบะ จากพรรคเสรีประชาธิปไตย (แอลดีพี) หรือแม้แต่การก้าวขึ้นมาครองอำนาจเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ของเกาหลีใต้อย่าง ปาร์กกึนเฮ บุตรสาวอดีตผู้นำเผด็จการโสมขาว

เหตุเพราะการขึ้นมาเรืองอำนาจของนักการเมืองและผู้นำเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นฝ่ายอนุรักษนิยม และมีความเป็นชาตินิยมอยู่อย่างเต็มเปี่ยมทั้งสิ้น เป็นเหตุให้บรรดานักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญ อดกังขาไม่ได้ว่าท่าทีและนโยบายของเหล่าผู้นำคนใหม่ทั้ง 3 ชาติ ที่ล้วนดุดันและเด็ดขาดต่อประเทศคู่พิพาท อาจเป็นกระตุ้นให้ความขัดแย้งที่คุกรุ่นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ให้ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก

เห็นได้จากความเคลื่อนไหวล่าสุดของคู่พิพาทคู่ที่ 1 ที่ร้อนแรงข้ามปี นั่นก็คือ ปัญหาข้อพิพาทเขตแดนหมู่เกาะในทะเลจีนตะวันออก ที่มีชื่อว่า เตียวหยู หรือเซนกากุ ระหว่างจีนและญี่ปุ่น เพราะถึงแม้ว่าที่ผ่านมา ภายหลังจากการเผชิญหน้าหลายต่อหลายครั้ง ได้ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศอย่างสาหัส

ไม่ว่าจะเป็นกรณีของญี่ปุ่นที่มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหม่ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาคส่งออกที่หดตัวลงอย่างหนัก ภายหลังความต้องการสินค้าลดลง เนื่องจากกระแสต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นในจีนที่ทวีความรุนแรงขึ้น จนผู้ประกอบการหลายแห่งต้องจำใจระงับสายการผลิตเป็นการชั่วคราว

ดังกรณีของ พานาโซนิค คอร์ปอเรชั่น บริษัทผู้ผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ที่ประกาศระงับสายการผลิตที่โรงงานผลิตชิ้นส่วน 2 แห่งในเมืองมณฑลชานตง เป็นการชั่วคราว ภายหลังมีกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้าน บุกเข้าไปเผาทำลายอุปกรณ์ภายในโรงงานได้รับความเสียหายอย่างหนัก

ขณะเดียวกัน จีน ก็ต้องเผชิญความเสียหายทางเศรษฐกิจไม่ต่างกัน อันเป็นผลพวงมาจากการปิดตัวลงของโรงงานและบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นในจีน จนกลายเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้แรงงานจีนต้องตกงานจำนวนมาก เป็นเหตุให้อัตราว่างงานแดนมังกรปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากประเด็นข้อพิพาทดังกล่าว ไม่ได้ส่งผลให้การเผชิญหน้าระหว่างทั้งสอง ชาติ ลดน้อยถอยลงไปแต่อย่างใด

พิสูจน์ได้จากความเคลื่อนไหวล่าสุดของ ชินโสะ นายกรัฐมนตรีคนใหม่แดนปลาดิบ ที่ประกาศลั่นหัวชนฝาเลยว่า จะไม่อ่อนข้อเปิดเจรจาพูดคุยกับจีน ในกรณีพิพาทเพื่อรักษาเกียรติภูมิของประเทศจนถึงที่สุด

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีคนใหม่แดนปลาดิบผู้นี้ ยังเตรียมเดินหน้าแก้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญในบางมาตรา ที่เปิดทางให้ญี่ปุ่นสามารถเพิ่มการอัดฉีดงบประมาณด้านกลาโหม ควบคู่ไปกับการประกาศลุยกระชับความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงกับสหรัฐให้แน่นแฟ้นมากขึ้น เพื่อเสริมเขี้ยวกองทัพอย่างเต็มที่อีกด้วย

เช่นเดียวกับ จีน ที่เดินหน้าตอบโต้ด้วยการส่งเรือตรวจการณ์ทางทะเลเข้าไปในน่านน้ำใกล้บริเวณพิพาทอย่างต่อเนื่องรวมแล้วถึง 19 ครั้ง นับตั้งแต่ที่รัฐบาลกรุงโตเกียวประกาศซื้อหมู่เกาะดังกล่าวเป็นสมบัติของชาติ ในเดือน ก.ย.ปีที่แล้ว ซึ่งนักวิเคราะห์ชี้ว่าเป็นความพยายามแสดงอำนาจของจีนเพื่อประกาศให้รู้ว่า จีนยังคงสามารถเข้าออกพื้นที่ดังกล่าวได้ตามความพอใจ เนื่องจากกรุงปักกิ่งอ้างสิทธิเหนือดินแดนดังกล่าวเช่นเดียวกัน

ท่าทีที่แข็งกร้าวและพร้อมตอบโต้จากผู้นำคนใหม่ทั้งสองชาตินี้ สะท้อนให้เห็นถึงกระแสชาตินิยมที่ปรากฏเด่นชัดมากขึ้นในเอเชีย โดยนักวิเคราะห์ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า อาจเป็นการ “แพ้ภัยตัวเอง” ของเอเชียก็เป็นได้

“ปมความขัดแย้ง ซึ่งเป็นตัวการจุดชนวนให้เกิดการเผชิญหน้า ดังเช่นที่ผ่านมา ยังคงไม่ได้รับการแก้ไข และการขึ้นมามีอำนาจของรัฐบาลที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมและชาตินิยมในหลายประเทศในภูมิภาค ก็จะยิ่งเท่ากับเป็นการโหมไฟให้ปมความขัดแย้งเหล่านี้รุนแรงขึ้นไปอีก” ชาร์ลส์ เค อาร์มสตรอง ผู้เชี่ยวชาญด้านเกาหลีศึกษาประจำมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในสหรัฐ กล่าว

นอกเหนือจากประเด็นปัญหาพิพาทน่านน้ำในทะเลตะวันออก อีกหนึ่งกระแสความขัดแย้งที่ต้องจับตาในปี 2556 ไม่แพ้กัน ก็คือ กรณีพิพาทน่านน้ำบริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์ หรือหมู่เกาะพาราเซลในทะเลจีนใต้ ระหว่างจีนกับ 4 ประเทศสมาชิกอาเซียน ไล่ตั้งแต่ฟิลิปปินส์ เวียดนาม บรูไน มาเลเซีย และไต้หวัน เพื่อแย่งชิงถือครองกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำที่ได้ชื่อว่า เป็นเส้นทางลัดที่สุดในการเดินทางขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก และเป็นเส้นทางเดินเรือที่มีการขนส่งน้ำมันดิบผ่านไปมามีปริมาณมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก

ประเด็นข้อพิพาทน่านน้ำนี้ กลายเป็นชนวนของการเผชิญหน้าที่ต่างฝ่ายต่างแสดงท่าทีที่แข็งกร้าวมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการระดมส่งเดินตรวจการณ์เข้ามาป้วนเปี้ยนเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของกันอย่างต่อเนื่อง และไม่มีทีท่าว่า แต่ละฝ่ายจะยินยอมหาแนวทางรอมชอมกันแต่อย่างใด

เห็นได้จากในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของ 10 ชาติอาเซียนที่กรุงพนมเปญของกัมพูชา เมื่อเดือน ก.ค. 2555 ซึ่งสุดท้ายแล้วที่ประชุมก็ไม่อาจจะตกลงกันที่จะออกแถลงการณ์ร่วมกันในประเด็นยุติข้อพิพาททะเลจีนใต้ได้ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 45 ปีที่ที่ประชุมอาเซียนเกิดเสียงแตกกันเช่นนี้ทีเดียว

การเผชิญหน้าดังกล่าว จุดกระแสความกังวลอีกว่า นอกจากจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มทางเศรษฐกิจของประเทศคู่พิพาทแล้ว อาจสร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอาเซียนอย่างรุนแรง และอาจเป็นภัยต่อความน่าเชื่อถือของการประกาศเป็น “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” หรือเออีซี ในปี 2558 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าแนวโน้มคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ซึ่งหมายรวมถึงนักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงประจำบริษัท ไอเอชเอส โกลบอลอินไซต์ บริษัทวิจัยทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์จาการ์ตาโพสต์ มองว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ข้อพิพาทน่านน้ำทะเลจีนใต้จะไม่ปะทุขึ้นอย่างรุนแรง ถึงขั้นมีการเผชิญหน้าทางทหารเต็มรูปแบบในอนาคตอันใกล้นี้

กระนั้นก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ในช่วงอีก 10 ปีข้างหน้านี้ ประเทศต่างๆ ที่อ้างสิทธิถือครองน่านน้ำเจ้าปัญหาจะเดินหน้าเสริมเขี้ยวกองทัพของตัวเองให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น โดยมีการคาดการณ์ว่ายอดใช้จ่ายด้านกลาโหมของประเทศคู่พิพาททั้งหมดรวมกันจะพุ่งสูงขึ้นแตะระดับ 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2559 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเมื่อปี 2555 เกือบเท่าตัวเพียง 2.45 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐทีเดียว

“แม้ประเทศที่อ้างสิทธิเหนือน่านน้ำทะเลจีนใต้ ปรารถนาที่จะรักษาเสถียรภาพและสันติภาพในภูมิภาค แต่นั่นไม่อาจการันตีเสถียรภาพในอนาคตที่ต่างฝ่ายต่างเสริมกำลังทางทหารอย่างเต็มที่ได้เลย” อักกันตาริ ซี ซารี อาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัยปาราห์ยังกันคาทอลิกในอินโดนีเซีย กล่าว

ดังนั้น ตราบใดที่บรรดาชาติมหาอำนาจแห่งเอเชีย ยังคงเผชิญหน้าแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน โดยไม่เร่งหาทางยุติความขัดแย้งและสานสัมพันธ์เพื่อร่วมกันฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กัน คงอาจเร็วเกินไปที่กล่าวว่าปี 2556 คือปีทองของเอเชีย