posttoday

ดีเอสไออาวุธหนักรัฐบาล

03 มกราคม 2556

เปิดรับศักราชใหม่ 2556 แต่บรรยากาศการเมืองไทยกลับคงวนเวียนอยู่เพียงจ้อง “เอาคืน”

เปิดรับศักราชใหม่ 2556 แต่บรรยากาศการเมืองไทยกลับคงวนเวียนอยู่เพียงจ้อง “เอาคืน”

โดย...ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์

ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งหนึ่งในกลไกที่ถูกโยงว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเช็กบิล คือ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)

ดีเอสไอภายใต้การกุมบังเหียนของ ธาริต เพ็งดิษฐ์ เจ้ากรมคนปัจจุบันกำลังได้รับการจับจ้องเป็นอย่างมาก ว่ากำลังมีปัญหาเรื่องความเป็นกลางในการทำงาน หลังจากดีเอสไอมีผลงานต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2555 ด้วยการให้ความสำคัญกับคดีที่ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์เป็นพิเศษ ไม่ต่างอะไรกับการเป็นอาวุธให้รัฐบาล

เห็นได้จากช่วงก่อนศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อเดือน พ.ย. 2555 ซึ่งฝ่ายค้านมีแผนปล่อยหมัดเด็ดน็อกรัฐบาลกลางสภาผู้แทนราษฎร ปรากฏว่าต้องมาถูกเตะตัดขาเมื่อดีเอสไอส่งสำนวนให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สอบสวนคดีทุจริตโครงการจัดซื้อครุภัณฑ์อาชีวศึกษา (เอสพี 2) ภายใต้โครงการแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง วงเงิน 5,300 ล้านบาท ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สอบสวนแล้ว

ควบคู่กับการแจ้งให้ ชินวรณ์ บุณยเกียรติ เมื่อเป็น รมว.ศึกษาธิการ ของพรรคประชาธิปัตย์ เข้ามาให้ปากคำกับดีเอสไอ ทั้งที่ดีเอสไอได้ส่งคดีไปให้ ป.ป.ช.แล้ว กลายเป็นที่มาของการวิพากษ์วิจารณ์ดีเอสไออย่างใหญ่โต

แต่ความเป็นรูปธรรมถึงปัญหาความเป็นกลางที่ชัดเจนที่สุดของดีเอสไอ หนีไม่พ้นการทำคดีสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติเมื่อปี 2553 ที่มีผู้เสียชีวิตรวม 90 ศพ

สังเกตได้จากอธิบดีดีเอสไอที่ชื่อ “ธาริต” เข้ามาทำหน้าที่เป็นหัวหน้าสอบสวนคดีนี้ด้วยตัวเองแทน พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข หัวหน้าคณะทำงานคนเดิม ที่ถูกเด้งไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม

แถมยังเตรียมทำสำนวนคดีแบบแยกเป็นรายกรณี พร้อมกับตั้งศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์เกี่ยวกับการเสียชีวิตของคนเสื้อแดงโดยตรง

ทั้งนี้ ด้วยการอาศัยอานิสงส์นับตั้งแต่ศาลอาญามีคำสั่งตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา ว่าการเสียชีวิตของ “พัน คำกอง” มาจากการปฏิบัติหน้าที่ของทหาร

ผนวกกับแจ้งข้อหา “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตนายกรัฐมนตรี และ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” อดีตรองนายกรัฐมนตรี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ฐาน “ร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59, 83, 84 และ 288

ส่งผลให้เกิดการคาดการณ์ว่าจะมีคดีคนเสื้อแดงที่หวังผลต่อพรรคประชาธิปัตย์โดยตรงไม่น้อยกว่า 2,000 คดี ซึ่งตลอดปี 2556 อาจเห็นการฟ้องคดีเข้าสู่กระบวนการทางศาลมากขึ้น และจะมีผลในทางการเมืองแก่ฝ่ายค้านทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะกับ “อภิสิทธิ์” ซึ่งตั้งความหวังไว้ลึกๆ ว่าจะขอกลับมาท้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

แรงเหวี่ยงของดีเอสไอที่พุ่งมายังพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้มีเฉพาะกรณีคนเสื้อแดง เพราะบาดแผลจากผลงานงานของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ก็ได้รับการขยายโดยดีเอสไอด้วย ในช่วงที่กำลังจะเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เร็วๆ นี้เช่นกัน

ล่าสุดได้แจ้งข้อหาผู้ว่าฯ กทม. ผู้บริหาร กทม. ผู้บริหารบริษัท กรุงเทพธนาคม และผู้บริหารบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ รวม 11 ราย

บนฐานความผิดร่วมกันประกอบกิจการรถรางโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือได้รับสัมปทานจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 กรณีต่อสัญญาขยายระยะเวลาสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอสออกไปอีก 13 ปี จากระยะเวลาสัมปทานที่เหลืออยู่ 17 ปี รวม 30 ปี

โดยดีเอสไอมีคำสั่งให้ผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบันมารับทราบข้อหาในวันที่ 9 ม.ค. ซึ่งเป็นหนึ่งวันก่อนที่จะหมดวาระพ่อเมือง กทม.อย่างเป็นทางการในวันที่ 10 ม.ค. ถึงแม้ดีเอสไอจะไม่คิดอะไรกับวันเวลาดังกล่าว แต่ในทางการเมืองสำหรับพรรคประชาธิปัตย์แล้ว มองเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากต้องการดิสเครดิต ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ผู้สมัครของพรรคที่เพิ่งเปิดตัวไปอย่างเป็นทางการในทางอ้อม

อันอาจกลายเป็นแรงบีบให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ตัดสินใจลาออกก่อนหมดวาระจากที่มีความตั้งใจเดิมว่าจะอยู่ให้ครบงวาระ เพื่อแสดงสัญลักษณ์ในมิติการเมือง

งานนี้จึงเล่นเอาคุณชายสุขุมพันธุ์ฟิวส์ขาดถึงกับประกาศเตรียมฟ้องกลับดีเอสไอพ่วงด้วย “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี เพราะเห็นว่าเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ

ขณะเดียวกันต้องจับตาดูด้วยว่า กรณีความล่าช้าของการสร้าง สนามกีฬาบางกอกฟุตซอล อารีนา หนองจอก จนไม่สามารถใช้เป็นสนามหลักในการแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลกช่วงปลายปี 2555 ได้ ตามที่พรรคเพื่อไทยซึ่งเตรียมส่ง พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร. และเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เป็นคู่แข่งคนสำคัญ ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อดีเอสไอเอาไว้ก่อนหน้านี้ อาจได้รับการขยายผลในช่วงหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ด้วย

ไม่เว้นแม้แต่คดีอื่นๆ ของพรรคประชาธิปัตย์ในดีเอสไอ ก็อาจมีการจุดพลุในช่วงนี้อย่างปมเงินบริจาคจากบริษัท อีสท์วอเตอร์ ผ่านพรรคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมเมื่อปลายปี 2554 เบื้องต้นดีเอสไอแจ้งข้อหากระทำผิดตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง ตามมาตรา 56, 60, 66 เป็นต้น

ปฏิเสธไม่ได้ว่าพรรคประชาธิปัตย์เองกำลังตกอยู่ในที่นั่งลำบากพอสมควร กับการปฏิบัติหน้าที่ของดีเอสไอในยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทย เพราะย่อมเป็นจุดอ่อนให้ฝ่ายตรงข้ามนำไปขยายผลได้ หรือเรียกว่าเข้าทางปืนแบบเต็มๆ

ทั้งหมดนี้ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ตราบใดที่พรรคเพื่อไทยยังเป็นรัฐบาลต่อไปเรื่อยๆ ก็จะได้ประโยชน์จากการมีดีเอสไอเป็นอาวุธหนักของตัวเอง ซึ่งนั่นหมายถึงความเข้มแข็งของเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่จะเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย