posttoday

เปิดศักราชใหม่เครดิตไทยยังแย่

02 มกราคม 2556

แม้ว่าเพิ่งเริ่มต้นข้ามปีใหม่ 2556 ไม่กี่วัน แต่หลายฝ่ายก็ประเมินเป็นเสียงเดียวกันว่า

แม้ว่าเพิ่งเริ่มต้นข้ามปีใหม่ 2556 ไม่กี่วัน แต่หลายฝ่ายก็ประเมินเป็นเสียงเดียวกันว่า

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

ปีนี้จะเป็นปีร้อนระอุทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศ

ในด้านเศรษฐกิจปี 2556 หลายฝ่ายฟันธงว่า ยังมีความเสี่ยงผันผวนสูง การขยายตัวได้น้อยกว่าปี 2555 ที่ผ่านมา จากผลกระทบเศรษฐกิจโลกทำส่งออกไทยทรุด และนโยบายของรัฐบาลที่เหมือนเป็นขนมหวานเป็นพิษ ทั้งนโยบายรับจำนำข้าว รถคันแรก ที่เป็นภาระงบประมาณหลายแสนล้านบาท หรือจะเป็นนโยบายขึ้นค่าจ้าง 300 บาท ที่กระทบผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวนมากอยู่ไม่ได้

ขณะที่ด้านการเมือง ก็ยังร้อนข้ามปี เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ถูกมองว่าทำเพื่อผลประโยชน์คนบางคน จะเป็นชนวนร้อนการเมืองเกิดความวุ่นวายในประเทศอีกครั้งหนึ่ง

ถึง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะออกมายืนยันว่า เศรษฐกิจไทยปีใหม่จะโตได้ 4.5-5.5% แต่หลายฝ่ายก็ยังตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการตั้งเป้าที่สูงเกินจริงเหมือนปี 2555 รัฐบาลพยายามโหมโรงว่าเศรษฐกิจจะโตได้ 7-8% แต่สุดท้ายก็โตได้แค่ 5.5% เท่านั้น

ขณะที่เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรียืนยันไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนทำในปี 2556 ซึ่งสวนทางกับกลุ่มคนเสื้อแดงที่ใกล้ชิดรัฐบาล ประกาศเดินหน้าโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญทันที ทำให้หลายฝ่ายประเมินว่า รัฐบาลกับเสื้อแดงเสียงแตก ซึ่งจะเร่งไปสู่วิกฤตการเมืองให้แตกหักเร็วขึ้น

การที่เศรษฐกิจผันผวน ผสมโรงกับการเมืองร้อน ทำให้ประเทศตกอยู่ในมุมอับชนิดหลีกเลี่ยงได้ยาก

ภาวะดังกล่าวสอดคล้องกับความเป็นห่วงจากสถาบันจัดอันดับเครดิตชั้นนำของโลก ทั้ง บริษัท มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส บริษัท สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (เอสแอนด์พี) และบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ โดยหวังว่าจะให้ปรับเครดิตของไทยจากระดับ BBB

โดยช่วงโค้งท้ายของปีที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามเดินสายให้ข้อมูลยักษ์ใหญ่สถาบันจัดอันดับเครดิตดังกล่าวให้อัพเกรดประเทศขึ้นมาเป็น A ให้ได้

ซึ่ง กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ใช้เวทีการประชุมธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ที่ประเทศญี่ปุ่นต้นเดือน ต.ค. 2555 และในโอกาสไปโรดโชว์ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ จับเข่าชี้แจงข้อมูลทางเศรษฐกิจของไทยให้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือทั้ง 3 แห่ง ได้รับทราบและซักถามได้ทุกแง่มุม

อย่างไรก็ตาม ความพยายามของรัฐบาลก็ฝันสลาย เมื่อเอสแอนด์พีประกาศคงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไว้ที่ระดับเดิม BBB+ ซึ่งการไม่ปรับขึ้นนั้น ในทางตรงข้าม ก็มีโอกาสสูงที่จะถูกปรับลดลง

เพราะทั้งนี้เอสแอนด์พี ระบุในรายงานว่า อาจปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยลงหากฐานะการคลังและตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจลดลงอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากนโยบายประชานิยมของรัฐบาล และมีความไม่แน่นอนทางการเมือง

เอสแอนด์พี มองว่า เศรษฐกิจไทยของไทยมีปัญหาฝังใน แม้ว่าเศรษฐกิจยังขยายตัว แต่จีดีพีต่อหัว (Per capita GDP) ของประเทศไทยในปี 2555 เป็นข้อจำกัดของความน่าเชื่อถือของประเทศ โดยตัวชี้วัดทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณสุข และการศึกษาของประเทศไทยอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่า

ขณะที่ความไม่แน่นอนทางการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลลบต่อความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยตั้งแต่ปี 2549 ได้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหลายครั้ง ซึ่งส่งผลให้การปฏิรูปโครงสร้างของประเทศมีความล่าช้า ขัดขวางการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล และกดดันการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ การประท้วงพรรคผู้นำรัฐบาลบนท้องถนนที่ผ่านมาทำให้เกิดการขัดขวางทางเศรษฐกิจ

ความเห็นของเอสแอนด์พีเป็นการตอกย้ำความกังวลของหลายฝ่ายในประเทศที่เป็นห่วงเศรษฐกิจโตแบบกลวงใน เพราะโครงการประชานิยมเป็นการใช้เงินภาษีมัดใจฐานเสียงทางการเมืองมากกว่าทำให้เศรษฐกิจโตแบบยั่งยืน

โครงการประชานิยมหลายโครงการสร้างภาระการคลังพอกหนี้ก้อนใหญ่ให้กับประเทศ ทั้งโครงการรับจำนำข้าว ใช้เงินรอบแรกไป 3.5 แสนล้านบาท รอบใหม่ต้องใช้เงินอีก 4 แสนล้านบาท รวมกันเป็นหนี้ก้อนโต 67 แสนล้านบาท เพราะรัฐบาลมีปัญหาระบายข้าวที่รับจำนำเข้ามา ทำให้ไม่มีเงินมาหมุนซื้อข้าวรอบใหม่ ทำให้ต้องแบกหน้ากู้เงินก้อนโตมาอุ้มโครงการรับจำนำข้าวต่อไป

โครงการรถคันแรก ที่เดิมคาดว่าจะมีผู้มาใช้สิทธิ 5 แสนคัน เป็นเงินที่ต้องคืน 3 หมื่นล้านบาท แต่ปิดโครงการจริงมีผู้มาใช้สิทธิ 1.2 ล้านคัน เป็นเงินที่ต้องจ่ายคืน 9 หมื่นล้านบาท ทั้งหมดล้วนเป็นภาระการคลังของประเทศในอนาคต

การดำเนินนโยบายประชานิยมของรัฐบาล ทำให้หนี้ของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากปี 2555 อยู่ที่ 42% ของจีดีพี จะไปแตะ 50% ของจีดีพีในปีนี้

ทั้งหมดยังไม่รวมกับการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใน 7 ปี ซึ่งรัฐบาลออกมายืนยันนอนยันว่าหนี้ไม่เกิน 50% ของจีดีพี เพราะเศรษฐกิจยังโตได้ดี แต่ก็ยังมีคำถามจากนักวิชาการด้านเศรษฐกิจจำนวนไม่น้อยว่า หากเศรษฐกิจไทยเกิดสะดุดจากวิกฤตเศรษฐกิจต่างประเทศ หรือปัญหาการเมืองภายในประเทศที่พร้อมระเบิดได้ทุกเมื่อ หนี้ของไทยจะพุ่งไปจนเอาไม่อยู่

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย ยังออกมาระบุว่า หากเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ระดับ 5% ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ หนี้ของไทยไม่มีปัญหา แต่หากเศรษฐกิจมีปัญหาขยายตัวได้ 3.5% ต่อปี หนี้สาธารณะของไทยจะพุ่งไปอยู่ที่ 7080% ในปี 2562 ได้อย่างไม่ยากเย็น

ความเห็นของเอสแอนด์พีด้านปัญหาการเมืองก็สอดคล้องความเห็นความกังวลของคนในประเทศ เมื่อสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ สิ่งที่ประชาชนกังวลมากที่สุดว่าจะเป็นตัวเร่งให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงบานปลายในหมู่ประชาชนและเกิดการชุมนุมใหญ่ในปีใหม่นี้ พบว่า อันดับแรก ระบุคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

แม้แต่ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลัง ก็ออกมายอมรับว่า สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือของโลก ติดใจปัญหาการเมืองของไทยเป็นอันดับต้น และเป็นเรื่องที่อธิบายให้สถาบันจัดอันดับเข้าใจได้ยาก เพราะเป็นเรื่องที่ประเมินไม่ได้มีการเปลี่ยนตลอดเวลา

สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้เครดิตของประเทศไทยอยู่ในภาวะทรงกับทรุด เพราะเมื่อเอสแอนด์พีนำร่องคงเครดิต และส่งสัญญาณพร้อมลดเครดิตของไทยในอนาคต หากโครงการประชานิยมพ่นพิษและปัญหาการเมืองกระทบเศรษฐกิจ

ส่งผลให้มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส และฟิทช์ เรทติ้งส์ จะคงอันดับเครดิตของประเทศ หรือปรับลดเครดิตของไทยลดลง

โดยในส่วนของฟิทช์ เรทติ้งส์ ที่เดินสายเข้ามาเก็บข้อมูลไทยก่อนสิ้นปี 2555 ที่ผ่านมา และคาดว่าจะออกรายงานเครดิตของไทยในต้นปีนี้ จะตั้งข้อสังเกตเครดิตของประเทศไม่ต่างกับเอสแอนด์พี

แม้ว่าผู้บริหารกระทรวงการคลังจะออกมาเปิดเผยว่า บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ไม่ได้สอบถามเรื่องการเมืองเหมือนกับเอสแอนด์พี แต่นั่นก็ไม่ยืนยันว่า บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ไม่ได้เป็นห่วงปัญหาการเมืองไทยเหมือนกับเอสแอนด์พี

สำหรับมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ที่ยังคาดว่าจะมาเก็บข้อมูลในไทยต้นปีนี้ น่าเป็นห่วงที่สุด เพราะอาจจะมาตรงกับที่ปัญหาการเมืองไทยร้อนระอุ และผลกระทบจากนโยบายประชานิยมเริ่มเห็นผลกระทบชัดเจน ทำให้รัฐบาลต้องลุ้นเหนื่อยว่า เครดิตไทยจะถูกปรับลดลง เป็นแรงกระเพื่อมให้สถาบันจัดอันดับอื่นขยับลดตามไปด้วย

เมื่อเครดิตของประเทศถูกลด ปัญหาที่ตามมาก็คือ ต้นทุนของประเทศสูง ต้นทุนการเงินต่างประเทศของไทยไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชนสูงขึ้นไปด้วย

ปี 2556 จึงเป็นปีเครดิตของประเทศแขวนอยู่บนเส้นด้าย และเป็นระเบิดเวลาฉุดเศรษฐกิจไทย