posttoday

ใกล้ศึกผู้ว่าฯไร้นโยบายคนกรุง

31 ธันวาคม 2555

ผ่านไปแล้วสำหรับการเปิดตัว ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) คนปัจจุบัน

ผ่านไปแล้วสำหรับการเปิดตัว ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) คนปัจจุบัน

โดย...สุภชาติ เล็บนาค

ให้ลงชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. อีกหนึ่งสมัย ในนามพรรคประชาธิปัตย์ หลังยืดเยื้อหาตัวผู้สมัครกันมายาวนาน และมีรายชื่อใหม่ให้คุณชายเสียวเล่นๆ ออกมาหลายคน

แม้จะได้คุณชายสุขุมพันธุ์ เป็นตัวแทนพรรคร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว แต่กว่าจะได้มา ภายในพรรคประชาธิปัตย์ก็แทงกันไปมาหนักพอสมควร เริ่มจากการส่งเสียงของ กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และหนึ่งในผู้สมัครคัดเลือก ที่โพสต์ลงเฟซบุ๊กส่วนตัวตั้งคำถามกลับไปยังกรรมการคัดเลือกว่าได้เคยส่องกระจกดูตัวเองหรือไม่ เล่นเอากองเชียร์แต่ละฝ่ายตกอกตกใจกันเป็นแถว

เหตุที่ได้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เป็นตัวแทนพรรคนั้น ว่ากันว่าเกิดจากความขัดแย้งกันระหว่างแกนนำพรรคสาย เฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคคนปัจจุบัน และสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ เพราะ เฉลิมชัย ต้องการให้ส่ง กรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง ที่ภาพดีกว่า เป็นตัวแทนพรรค หากแต่ สุเทพ ต้องการที่จะหักหน้า เฉลิมชัย ด้วยการส่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ลงในที่สุด

เพราะ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เองก็มีแผลจำนวนมาก ตั้งแต่เรื่องกล้องวงจรปิดทั่ว กทม.ที่ใช้การไม่ได้ การแก้ปัญหาน้ำท่วม และที่สำคัญที่สุดคงหนีไม่พ้น สนามฟุตซอล บางกอก อารีน่า ที่ก่อสร้างเสร็จไม่ทัน การแข่งขันกีฬาฟุตซอลโลก เมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ทำให้ประชาธิปัตย์หวานอมขมกลืน ที่จะส่งคุณชายลงอีกหนึ่งสมัย

แต่เดอะโชว์มัสต์โกออน เมื่อพรรคตัดสินใจเลือกคุณชายแล้ว กระบวนการหาเสียงก็ต้องเริ่มกันต่อไป ล่าสุดคุณชายเริ่มประกาศนโยบายบางส่วนแล้ว ตั้งแต่การลดราคารถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย การสร้างสกายวอล์กเพิ่ม รวมถึงการแก้ปัญหาจราจรซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ของคนกรุง ขณะที่รองผู้ว่าฯ คู่ใจอย่าง ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ ก็สร้างความมั่นใจให้กับคนกรุงด้วยการระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์มีตัวแทนอดีตผู้ว่าฯ กทม.ถึง 2 คน ได้แก่ พิจิตต รัตตกุล และ อภิรักษ์ โกษะโยธิน มาเป็นทีมงานช่วย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ดูแลนโยบาย

ขณะที่ฟากเพื่อไทย แม้จะยังหยั่งเชิง ไม่ประกาศตัวผู้สมัคร จนกว่าจะถึงวันที่ 10 ม.ค. แต่ถามใครในพรรค ก็รู้ว่าแคนดิเดต คือ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) แต่เจ้าตัวก็ยังรูดซิบปาก ไม่ได้พูดอะไรถึงการเตรียมทำหน้าที่ใหม่ จะผิดสังเกตอยู่บ้างก็ตรงที่ว่า ช่วงนี้ออกงานเปิดตัวโครงการต่างๆ ในนาม ป.ป.ส. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งโครงการบ้านอุ่นใจ หรือโครงการฝากบ้านไว้กับตำรวจ บ่อยกว่าปกติไปสักนิดเท่านั้น

ส่วนนโยบายและทีมงานยังไม่ต้องพูดถึง เพราะแค่จะส่งใครลงสมัคร ยังวิวาทะกันลั่นพรรคว่าเพราะเหตุใดจึงไม่ส่ง คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทยเป็นตัวแทน ถึงขนาดว่ากลุ่มสมาชิกสภา กทม. (สก.) และสมาชิกสภาเขต (สข.) ทั้งที่ดำรงตำแหน่งอยู่ และกำลังจะลงสมัคร กว่า 400 คน ได้เดินทางมายังพรรคเพื่อไทย เพื่อทวงถามกับ ภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรค ว่าเพราะเหตุใดจึงไม่ส่งคุณหญิงหน่อยลง แต่สุดท้ายก็ดันไม่สำเร็จ และสุดท้ายคุณหญิงหน่อยก็ต้องประกาศผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าขอถอนตัวจากการเข้าชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.ที่ผ่านมานั้น กลายเป็นชื่อของ พล.ต.อ.พงศพัศ ในที่สุด

เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้มีอำนาจตัดสินใจตัวจริง มองว่า หากส่งบิ๊กเนมอย่างคุณหญิงหน่อยลงสมัครแล้วแพ้ อาจเจ็บตัวหนัก เนื่องจากคุณหญิงหน่อยถือเป็นบิ๊กเนมที่ส่งแล้วแพ้ไม่ได้ ขณะเดียวกัน ในระยะ 5 ปีให้หลัง ชื่อเสียงของคุณหญิงหน่อยก็ถือว่าแผ่วเบา ต่างจาก พล.ต.อ.พงศพัศ ที่ยังมีกระแสดังบ้าง เบาบ้างอยู่ตลอด

ถึงกระนั้นเอง พรรคเพื่อไทย ก็ยังไม่มีใครที่รับผิดชอบทั้งเรื่องการเตรียมความพร้อมให้ พล.ต.อ.พงศพัศ หรือเตรียมนโยบาย กทม. แม้จะมีชื่อคนดังอย่าง ปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี และ ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ อดีตปลัด กทม. ถูกทาบทามเข้าร่วมทีมงานแล้วก็ตาม แต่ทั้งหมดก็ยังเป็นเพียงแค่กระแสข่าว เพราะคนในพรรคทั้งสาย กทม. สายนายใหญ่ หรือสายคนเสื้อแดง ก็อยากเข้ามาแบ่งเค้กใน กทม.เช่นกัน

ปฏิกิริยาที่เห็นได้ชัดในพรรคเพื่อไทย มีเพียงเสียงถากถางคุณชายสุขุมพันธุ์ จากหลายๆ คน เช่น จิรายุ ห่วงทรัพย์ รองโฆษกพรรคฯ และ พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรค ที่ออกมาโจมตีความผิดพลาดเดิมของคุณชายสุขุมพันธุ์ พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตไปอีกว่า เหตุที่ต้องส่งคุณชายสุขุมพันธุ์ลงต่อ เพราะคุณชายสุขุมพันธุ์กุมความลับของการต่อสัญญาเดินรถไฟฟ้าบีทีเอส ของ กทม.กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ออกไปอีก 17 ปี

กลายเป็นว่าตัวแทนของทั้งสองพรรคไม่ใช่ตัวจริง แต่เป็น “ตาอยู่” ที่เลือกมาเพื่อลดความขัดแย้งในพรรค ยิ่งไปกว่านั้น ก็ยังใช้การเมืองแบบเดิม ที่มุ่งโจมตีขั้วตรงข้าม มาห้ำหั่นกัน เพราะผู้สมัครอิสระที่ประกาศตัวแล้ว อย่าง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) โฆสิต สุวินิจจิต อดีตผู้บริหารสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ และสุหฤท สยามวาลา อดีตกรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีเอชเอ สยามวาลา ก็ยังไม่ได้เสนอนโยบายอะไรที่โดดเด่น มากไปกว่าต้องการขายความคิดเพื่อออกพื้นที่สื่อเท่านั้น

ทั้งที่ กทม.ยังมีปัญหามากมายรอให้ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่เข้ามาแก้ ตั้งแต่เรื่องเล็ก อย่างแผงลอย คนเร่ร่อน ไปจนถึงเรื่องใหญ่อย่างการแก้ปัญหาน้ำท่วม การวางผังเมือง การจัดการระบบรถไฟฟ้า หรือการแก้ปัญหาจราจร ที่นับวันจะยิ่งสาหัสมากขึ้นทุกวัน และผู้ว่าฯ กทม.คนก่อน ก็ไม่ได้ตอบโจทย์การทำงานเพื่อแก้ปัญหาทุกข์คนกรุง มากไปกว่าการประคองตัวเองให้อยู่ได้ครบ 4 ปี และเตรียมขยายฐานเข้าสู่สมัยที่ 2 เมื่อใกล้ครบเทอม เพราะฉะนั้นไม่ว่าใครจะเข้ามาสวมหมวกผู้ว่าฯ กทม.ต่อ ภาระก็ยังคงหนักอึ้งอยู่เหมือนเดิม

เหลือเวลาอีกเพียง 10 กว่าวัน วาระของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ก็จะหมดลง แต่พรรคเพื่อไทยยังคงสงวนท่าที ไม่เปิดตัวผู้สมัครอย่างเป็นทางการ ส่วนนโยบายการบริหารจัดการ กทม.ที่ชัดเจนนั้น ไม่ต้องพูดถึง เพราะทุกคนเน้นฉายภาพลักษณ์ของตัวเอง ในฐานะผู้นำ มากกว่าจะพูดถึงนโยบายการแก้ปัญหาคนกรุงที่มีตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ โอกาสในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เพื่อเปลี่ยนมหานครแห่งนี้ให้เป็นมหานครที่ตอบโจทย์คนทุกกลุ่มจึงหายไปอย่างน่าเสียหาย

เพราะดูท่าทีแล้ว ทั้งสองพรรคการเมืองใหญ่ ที่มีโอกาสจะได้รับเลือกตั้งมากที่สุด ยังหนีไม่พ้นรูปแบบความขัดแย้งแบบเดิมๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมา มิหนำซ้ำ ตัวเลือกที่ทั้งสองพรรคเลือก ก็ถูกวิจารณ์ว่า ไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุด ที่พรรคจะคัดเลือกมาเป็นตัวแทนคนกรุงได้ คน กทม.จึงต้องอยู่ในสภาวะจำยอม