posttoday

อาเซียน-อินเดียลุยค้าเสรีถ่วงดุลจีน ดัน ศก.ฟุ้ง

20 ธันวาคม 2555

เคาะและคลอดกันออกมาได้ในที่สุด สำหรับข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ)

เคาะและคลอดกันออกมาได้ในที่สุด สำหรับข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ)

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

ระหว่างอินเดียกับ 10 ชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ในภาคการบริการและการลงทุน เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยมีกำหนดประกาศอย่างเป็นทางการในวันนี้ หลังจากที่พูดคุยหารือกันมาอย่างยาวนาน

นับเป็นข่าวดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการค้าการลงทุนภายในภูมิภาค เนื่องจากข้อตกลงดังกล่าวมีเป้าหมายสำคัญที่จะช่วยให้มูลค่าการค้าการลงทุนของอินเดียและกลุ่มอาเซียนเพิ่มสูงขึ้นถึง 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2558 จากเดิมในปัจจุบันอยู่ที่ 8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.4 ล้านล้านบาท)

ขณะเดียวกัน ข้อตกลงเอฟทีเอล่าสุดจะยังเป็นการกรุยทางเพื่อให้มีการเจรจาภายใต้กรอบ “ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคของอาเซียน” หรืออาร์เซ็ป (RCEP : Regional Comprehensive Economic Partnership) ซึ่งจะเป็นการยกระดับกระชับความสัมพันธ์ของตลาดที่มีจำนวนประชากรรวมกันแล้วมากกว่า 50% ของประชากรโลก และมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ร่วมกันกว่า 30%

และยังหมายรวมถึงการร่วมมือพัฒนาระบบโครงข่ายสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น ถนน ทางรถไฟ เพื่อเชื่อมโยงถึงกัน และทำให้การเคลื่อนย้ายสินค้าแรงงานเป็นไปอย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งเห็นตรงกันว่า การบรรลุข้อตกลงเอฟทีเอระหว่างอินเดียกับอาเซียนครั้งนี้ ยังเป็นเสมือนสัญญาณบ่งชี้ที่สะท้อนท่าทีล่าสุดของอาเซียนที่จะโน้มเอียงเข้าหาประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 3 ของภูมิภาคเอเชียมากยิ่งขึ้น

เหตุผลแรกสุด เพราะการที่คู่ค้าอันดับ 1 ของอาเซียนอย่างประเทศจีน มีประเด็นตึงเครียดกับบางชาติสมาชิกอาเซียน ในเรื่องข้อพิพาทอาณาเขตทางทะเลบริเวณหมู่เกาะทะเลจีนใต้ โดยที่ ซาลมาน คูร์ชิด รัฐมนตรีต่างประเทศอินเดีย ยังยอมรับว่า การที่อินเดียและอาเซียนสามารถเจรจากันได้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอาเซียนต้องการดึงให้อินเดียเข้ามามีบทบาทและคานอำนาจกับจีนในประเด็นพิพาทดังกล่าว

ขณะเดียวกัน ก็เป็นความต้องการของอินเดียเองที่ต้องการจะเปิดประตูเชื่อมโยง เพื่อเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างร้อนแรงที่สุดในปัจจุบัน เห็นได้จากการปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตปีหน้าของเวิลด์แบงก์สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออก จากเดิมที่ 7.6% เป็น 7.9%

เหตุผลประการต่อมาที่ทำให้อาเซียนหันมองอินเดียมากขึ้น เป็นเพราะบทเรียนจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกช่วงที่ผ่านมา ที่ทำให้ต้องกระจายการลงทุนเพื่อลดทอนความเสี่ยง และอินเดียก็กลายเป็นทางเลือกที่นับได้ว่าโดดเด่น เมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจภายในของประเทศอินเดียเองที่ฉายแววกระเตื้องเฟื่องฟูขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เห็นได้จากตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาอยู่ในสภาวะมั่นคง และกระเตื้องขึ้นมากอีกครั้ง เช่นเดียวกันกับตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดที่ลดลงเหลือ 7.24% จาก 7.45% และความเชื่อมั่นในการบริโภคของประชาชนเพิ่มขึ้นจาก 81.2% เป็น 82.1%

นอกจากนี้ ยังหมายรวมถึงปัจจัยที่เอื้อต่อแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น จำนวนแรงงานวัยหนุ่มสาวที่มีทักษะความสามารถ และสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ดีเยี่ยม เป็นต้น

เหตุผลต่อมา เพราะท่าทีของรัฐบาลอินเดียที่เดินหน้าประกาศปฏิรูประบบการค้าการลงทุนของประเทศ ที่เริ่มตั้งแต่การเปิดทางให้กิจการต่างชาติเข้ามาลงทุนเปิดสาขา และสามารถเป็นเจ้าของในกิจการนั้นๆ ได้

เหตุผลสุดท้ายและเป็นเหตุผลล่าสุด มาจากการประกาศปฏิรูปปรับปรุงกฎหมายภาคการธนาคารที่ให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นในธนาคารเอกชนได้จากเดิมที่ 10% เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 26%

ทั้งนี้ ลิปเปอร์ ดาตา ข้อมูลด้านการลงทุนในตลาดทุนของรอยเตอร์ส พบว่าตั้งแต่ช่วงเดือน ต.ค.ปีนี้เป็นต้นมา เหล่าผู้จัดการกองทุนทั้งหลายต่างเริ่มเคลื่อนย้ายเงินออกจากตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ไปยังจีนและอินเดียมากขึ้นเรื่อยๆ

เฉพาะแค่เดือน ต.ค. เพียงเดือนเดียว มีเงินทุนต่างชาติซึ่งเข้ามาลงทุนในกองทุนรวมตราสารทุนไหลออกจากอาเซียนแล้วรวม 505 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.52 หมื่นล้านบาท) ขณะที่ 2 เดือนก่อนหน้ามีเงินไหลออกถึง 1 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 2 ล้านเหรียญสหรัฐตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม แม้อินเดียจะมีโอกาสและศักยภาพเพียงพอสำหรับการค้าการลงทุนอยู่สูง ขณะเดียวกันก็เพียบพร้อมด้วยจำนวนประชากร ซึ่งเป็นทั้งผู้บริโภครายใหญ่ของตลาด และแรงงานมีทักษะฝีมืออยู่มาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่

แต่กระนั้นนักวิเคราะห์จากหลายสำนักยังคงมองว่า หนทางที่เศรษฐกิจของดินแดนแห่งโรตีและเพลงภารตนี้ จะผงาดเติบโตทัดเทียมมหาอำนาจของภูมิภาคเอเชียอย่างประเทศจีน ยังเป็นทางที่ยาวไกลและค่อนข้างขรุขระไม่น้อย

หรืออาจกล่าวได้ว่า อินเดียมีปมปัญหาต้องสะสางแก้ไขอย่างเร่งด่วน ก่อนที่จะสามารถเดินต่อไปข้างหน้าในลักษณะที่พร้อมรับมือกับความสัมพันธ์ การลงทุน หรือการค้าจากต่างชาติ ซึ่งมีแนวโน้มจะหลั่งไหลเข้ามาเรื่อยๆ

ประเด็นที่จะต้องจัดการให้ได้แรกสุด คือ การเดินหน้าปฏิรูปภาคการเงินการธนาคารของประเทศ ซึ่งจะต้องเปิดให้ธนาคารแต่ละแห่งมีอิสระมากขึ้น และปล่อยให้ธนาคารกลางของประเทศ (อาร์บีไอ) เข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบควบคุมดูแลเอง

ขณะเดียวกัน สิ่งที่ต้องทำด้วยเช่นกัน คือ การเดินหน้าแก้ไขปรับปรุงกฎหมายการควบคุมดูแลธนาคารต่างชาติที่เข้าไปทำกิจการภายในประเทศอินเดีย โดยเฉพาะระบบจัดเก็บภาษีและอากรแสตมป์ให้เป็นธรรมและเอื้อต่อการเข้ามาลงทุน โดยในขณะนี้ธนาคารต่างชาติ เช่น ซิตี้แบงก์ และสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ต้องจ่ายภาษีให้กับภาครัฐสูงถึง 2030% อีกทั้งยังต้องจ่ายอากรแสตมป์เมื่อทำการโอนเงินต่างสาขาอีก

ทั้งนี้ การปรับปรุงกฎระเบียบนโยบายนี้ ไม่ได้หมายรวมเฉพาะแค่สำหรับภาคธุรกิจธนาคารเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วย เช่น ภาคธุรกิจค้าปลีกที่รัฐบาลอินเดียเพิ่งจะยอมเปิดทางให้ต่างชาติเข้าไปลงทุนเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ภาคพลังงาน ภาคการผลิต หรือกระทั่งภาคบริการที่ล่าสุดอินเดียได้ร่วมลงนามข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับ 10 ชาติสมาชิกอาเซียน

เอียน สตอเรย์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสจากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำประเทศสิงคโปร์ กล่าวกับรอยเตอร์สว่า แม้อินเดียจะมีความสัมพันธ์อันดีกับบรรดานานาประเทศไม่ว่าจะไกลหรือใกล้ เมื่อเทียบกับความสัมพันธ์กับต่างประเทศของจีน แต่หากพูดถึงบทบาทและสถานะของคู่ค้าคนสำคัญสำหรับประเทศต่างๆ แล้ว อินเดียคือประเทศที่น่าสนใจ ทว่ายังคงไม่ใช่ตัวเลือกแรกหรือตัวเลือกหลักของประเทศเหล่านั้นอยู่ดี

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างเห็นตรงกันว่า สิ่งที่อินเดียต้องจัดการมากที่สุดก็คือ การหาขั้นตอนการดำเนินงาน และวิธีการที่จะต้องลงมือทำเสียที มากกว่าจะมัวพะวงแต่การพูดคุยหารือโต้แย้งบนแผ่นกระดาษ ซึ่งยากจะจบสิ้น

จนท้ายที่สุด ไม่ใช่ใครที่ไหน นอกจากประเทศอินเดียที่ทำลายโอกาสทางเศรษฐกิจของตนเอง