posttoday

2013 ทุนร้อนทะลักเอเชียเหตุ 3 ยักษ์อัดฉีดหนัก

19 ธันวาคม 2555

แม้ว่าบรรดาองค์กรเศรษฐกิจระดับโลกจะทยอยกันออกมาปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจในเอเชียปีหน้าลง

แม้ว่าบรรดาองค์กรเศรษฐกิจระดับโลกจะทยอยกันออกมาปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจในเอเชียปีหน้าลง

โดย...พันธสิทธิ เจริญพาณิชย์พันธ์

ไม่ว่าจะเป็น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่คาดการณ์ว่าจะโตได้ที่ 7.2% ลดลงจากเดิมที่ 7.5% และล่าสุดก็คือคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียแปซิฟิกของสหประชาชาติ (เอสเคป) ที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ที่ 6.3% ลดลงจากเดิมที่ 6.5% แต่ว่าตัวเลขที่ปรับลดลงมานั้นแทบจะไม่สามารถสะเทือนต่อหนทางการขยายตัวอย่างร้อนแรงของเอเชียในอนาคตได้เลยแม้แต่น้อย

เพราะระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับที่ 6-7% ในเอเชียแปซิฟิกนั้นเป็นตัวเลขที่สูงมาก เมื่อเทียบกับระดับการขยายตัวของภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลกที่กำลังดำเนินไปอย่างซบเซา ดังนั้น เอเชียจึงเต็มไปด้วยความหวังที่แสนสดใส

อย่างไรก็ตาม ในอีกมุมหนึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดำเนินไปอย่างร้อนแรงของเอเชียนั้น กลับต้องเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับความเสี่ยงที่จะเกิดจากภาวะการหลั่งไหลเข้ามาของเงินทุนของซีกโลกตะวันตกที่มีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

เพราะปัจจุบันการเติบโตที่ร้อนแรงของเอเชียได้กลายเป็นแรงดึงดูดชั้นดีให้เหล่านักลงทุนตะวันตกต่างพากันย้ายเงินเข้ามาลงทุนในเอเชีย เพื่อหาส่วนต่างจากอัตราค่าตอบแทนในตลาดที่เอเชียมีสูงกว่ามาก สวนทางกับอัตราผลตอบแทนของดอกเบี้ยในซีกโลกตะวันตกที่กำลังอยู่ในอัตราที่ต่ำมาก ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการที่สหรัฐและยุโรปต่างพากันมาออกมาตรการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนเพื่อหวังกอบกู้เศรษฐกิจที่กำลังย่ำแย่อย่างหนัก

เช่น การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ประกาศเมื่อสัปดาห์ก่อนว่าจะเพิ่มวงเงินที่ใช้ในมาตรการผ่อนปรนเชิงปริมาณรอบที่ 3 (คิวอี 3) เพิ่มเติมอีก 4.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมกับตรึงอัตราดอกเบี้ยต่ำ 0-0.25% ไปจนกว่าการว่างงานในประเทศจะต่ำกว่า 6.5% หรืออัตราเงินเฟ้อไม่เกินที่ 2.5% ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ก็ยังคงกดอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ต่อไปที่ 0.75% เอาไว้เช่นเดิม

ไม่เพียงแต่ในตะวันตกเท่านั้น ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ก็มีแนวโน้มว่าจะออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในเชิงรุกมากขึ้นในเร็วๆ นี้ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มการเข้าซื้อสินทรัพย์เพิ่มเติม การปล่อยสินเชื่อให้ธนาคารพาณิชย์มากขึ้น และตั้งเป้าเงินเฟ้อไปที่ระดับไม่เกิน 2% เนื่องจากกำลังถูกพรรคเสรีประชาธิปไตย (แอลดีพี) ของว่าที่นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ที่เพิ่งได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งกดดันอย่างหนักในตลอดหลายวันที่ผ่านมา

ด้วยเหตุนี้จึงนำไปสู่ความหวั่นเกรงกันว่าการเร่งระดมอัดฉีดเศรษฐกิจจาก 3 เขตเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ที่พร้อมใจระดมออกมาในระยะเวลาไล่เลี่ยกันจะกลายเป็นปัจจัยขับดันให้ทุนจากตะวันตกแห่แหนกันเข้ามาในเอเชีย และนำไปสู่การก่อให้เกิดภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์

รวมไปถึงปัญหาค่าเงินที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะนำไปสู่การกระตุ้นให้เกิดภาวะสงครามค่าเงินในเอเชียของเหล่าบรรดาธนาคารกลางมากขึ้น เพราะแต่ละประเทศต่างก็มุ่งหวังที่จะรักษาระดับเสถียรภาพค่าเงินไว้ไม่ให้แข็งค่าเกินไปเพื่อป้องกันผลกระทบที่จะมีต่อภาคการส่งออกในประเทศตนเอง ซึ่งเหตุการณ์นี้จะทำให้กลายเป็นเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วเมื่อต้นปี 2009 และกลางปี 2010 ที่เฟดได้ออกมาตรการคิวอี 1 และ 2 ออกมา

ทั้งนี้ เพียงแค่การที่เฟดได้ออกมาตรการคิวอี 3 มาเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ก็ทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ในเอเชียในหลายประเทศพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในฮ่องกงที่ราคาพุ่งไปกว่า 20% แล้วในปีนี้ จนทำให้ไอเอ็มเอฟต้องออกมาสั่นระฆังเตือนให้เร่งหาวิธีจัดการ เนื่องจากเศรษฐกิจฮ่องกงเสี่ยงจะได้รับผลกระทบอย่างหนักหากเกิดภาวะราคาดิ่งลงอย่างหนัก เหมือนเมื่อครั้งที่เกิดวิกฤตการเงินโลกในปี 2008

2013 ทุนร้อนทะลักเอเชียเหตุ 3 ยักษ์อัดฉีดหนัก

 

ขณะที่ค่าเงินวอนของเกาหลีใต้ต่อเงินเหรียญสหรัฐก็แข็งค่าขึ้นมากกว่า 5% ขณะที่ค่าเงินเปโซของฟิลิปปินส์แข็งค่าขึ้นมากกว่า 4% ทำสถิติสูงสุดในรอบเกือบ 4 ปี ด้านค่าเงินบาทของไทย เงินเหรียญของไต้หวัน และริงกิตของมาเลเซีย ต่างก็มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนทางด้านเงินทุนที่ไหลเข้ามาในฟิลิปปินส์ในเดือน ก.ย.-ต.ค.ที่ผ่านมาก็พุ่งสูงขึ้นเกือบ 3 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ยอดเงินทุนไหลเข้าของอินโดนีเซียและเกาหลีใต้ในเดือน ก.ย.อยู่ที่ 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 1,400 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ

ฉะนั้น การที่เฟดออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มอีก และคาดว่าบีโอเจจะออกมาตรการกระตุ้นตามออกมาในเร็วๆ นี้ จึงน่าจะกลายเป็นปัจจัยที่เข้ามาเพิ่มการไหลเวียนของเงินทุนในประเทศต่างๆ ในเอเชียมากขึ้น

“เอเชียกำลังหวนกลับไปสู่เหตุการณ์เหมือนในปี 2010 ซึ่งปัจจุบันเงินทุนกำลังหลั่งไหลเข้ามาสู่ตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย” เฟดเดริก นูแมน นักเศรษฐศาสตร์ภูมิภาคเอเชียของธนาคารเอชเอสบีซี สาขาฮ่องกง กล่าว

ความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารเอชเอสบีซีสอดรับกับทัศนะของ ร็อบ ซับเบอราแมน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทหลักทรัพย์โนมูระ สาขาฮ่องกง ที่กล่าวว่า ในปีหน้าเงินทุนจะหลั่งไหลเข้ามาในเอเชียอย่างเต็มที่ พร้อมชี้ว่าสาเหตุเป็นเพราะ 3 ธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น พร้อมใจกันออกมาตรการกระตุ้นและอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบออกมา

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามีผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายจะออกมาคาดการณ์ว่าปริมาณเงินที่หลั่งไหลจากการกระตุ้นรอบล่าสุดจะมีปริมาณเงินทุนไหลเข้ามาน้อยกว่าเมื่อครั้งต้นปี 2009 จนถึงกลางปี 2010 ซึ่งเป็นช่วงที่เฟดออกมาตรการคิวอี 1 และ 2 ส่งผลให้มีเงินทุนไหลทะลักเข้าในเอเชีย ยกเว้นญี่ปุ่น ถึง 7.83 แสนเหรียญสหรัฐ

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเงินทุนที่หลั่งไหลเข้ามานั้น ได้ก่อให้เกิดความกังวลและความเสี่ยงในด้านอื่นๆ ตามมาที่นอกเหนือไปจากเรื่องของฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์และค่าเงิน นั่นคือปัญหาหนี้ในภาคเอกชนที่มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นในปีนี้ ซึ่งเป็นผลพวงจากการออกขายหุ้นกู้ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

เพราะเงินทุนที่ไหลจากนอกภูมิภาคที่เข้ามามาก ได้ส่งผลให้การออกขายหุ้นกู้ของบริษัทเอกชนต่างได้ง่ายขึ้นตามไปด้วย ทว่าในทางกลับกันได้กลายเป็นการสะสมความเสี่ยงไปในตัว

ด้วยเหตุนี้ กาย สเตียร์ หัวหน้านักวิจัยด้านเอเชียแปซิฟิกของโซซิโอเต เจเนอราล สาขาฮ่องกง จึงออกมาเตือนว่า ในปีนี้เอเชียมีการก่อหนี้มากขึ้น และกำลังกลายเป็นการสร้างปัญหาที่จะผลิดอกออกผลในอีก 2-4 ปีข้างหน้า ซึ่งในอนาคตจะต้องกลายเป็นปัญหาใหม่ที่ต้องจับตามองและระมัดระวัง

ขณะที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) ได้กล่าวเตือนเมื่อเดือนที่ผ่านมาว่า การเพิ่มขึ้นของเงินทุนที่หลั่งไหลเข้ามาร้อนแรงเกินไปกำลังเป็นความเสี่ยงต่อตลาดพันธบัตรในภูมิภาค

นอกจากนั้น แม้ว่าเหล่าบรรดาธนาคารกลางประเทศต่างๆ จะหันมาปรับเปลี่ยนวิธีรับมือกับปัญหาการไหลเวียนของเงินทุนจากนอกภูมิภาคในรูปแบบใหม่ๆ มากขึ้น อาทิ การที่ธนาคารกลางเกาหลีใต้ออกมาตรการจำกัดการถือครองพันธบัตรสกุลเงินต่างชาติของธนาคารในประเทศเพื่อลดความเสี่ยง หากเกิดกรณีต่างชาติแห่ถอนทุนกลับ ขณะที่ธนาคารกลางฮ่องกงได้ออกมาตรการเก็บภาษี 15% ของผู้ที่ไม่มีที่อยู่อาศัยถาวรในฮ่องกงเพื่อป้องกันการเก็งกำไรและลดปัญหาฟองสบู่ แต่ต้องยอมรับว่าแนวทางเหล่านี้ก็ไม่ใช่ว่าจะได้ผลเสมอไป

เพราะเมื่อลองนำมาใช้จริงพบว่ามาตรการเหล่านี้ยังมีช่องโหว่อยู่มาก และดูจะไม่เท่าทันกับปัญหาที่จะลุกลามออกไปเกินกว่าจะหามาตรการป้องกันแล้ว เห็นได้จากกรณีฮ่องกงที่แม้จะออกมาตรการป้องกันการเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์ออกมา แต่นักลงทุนก็เลี่ยงหันไปลงทุนในที่จอดรถแทน จนทำให้ราคาที่จอดรถในฮ่องกงในเวลานี้สูงติดอันดับต้นๆ ของโลก และกลายเป็นปัญหาฟองสบู่อันใหม่โผล่ขึ้นอีกปัญหาหนึ่ง โดยเฉลี่ยราคาค่าเช่าอยู่ที่เดือนละ 3,800-4,700 เหรียญฮ่องกง (ราว 1.5-1.8 หมื่นบาท) ราคาที่จอดรถในอาคารหรูอยู่ที่ 6.4 แสนเหรียญฮ่องกงต่อเดือน (ราว 2.56 ล้านบาท)

“ความน่ากลัวก็คือธนาคารกลางเหล่านี้ดูเหมือนจะพบว่าตนเองไม่สามารถหาวิธีการจัดการปัญหาการเติบโตของสินเชื่อ ฟองสบู่ในสินทรัพย์ต่างๆ รวมถึงเงินเฟ้อ” ซับเบอราแมน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทหลักทรัพย์โนมูระ กล่าว

ฉะนั้น จึงต้องจับตาและเฝ้าลุ้นกันว่าในปีหน้า เหล่าบรรดารัฐบาลและธนาคารกลางของเอเชียจะรับมือกับภาวะปัญหาเงินทุนร้อนที่ไหลทะลักเข้ามาจากนอกภูมิภาคอย่างไร