posttoday

เปิดสมัยนิติบัญญัติดัน ศก.ปิดแผลการเมือง

19 ธันวาคม 2555

การเมืองเริ่มกลับมาเปิดฉากอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ภายหลังสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ

การเมืองเริ่มกลับมาเปิดฉากอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ภายหลังสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

ได้เปิดขึ้นตามที่มีพระบรมราชโองการ โดยจะเริ่มตั้ง แต่วันที่ 21 ธ.ค. 2555 และไปสิ้นสุดในวันที่ 18 เม.ย. 2556

สมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ รัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดให้รัฐสภาพิจารณาได้เฉพาะร่างกฎหมายและหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญว่าด้วยพระมหากษัตริย์ จะไม่สามารถพิจารณาญัตติหรือยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่ได้เหมือนกับสมัยประชุมสามัญทั่วไป แต่ สส.และ สว.ยังสามารถยื่นกระทู้ถามได้เพื่อให้รัฐบาลชี้แจงข้อปัญหาการบริหารราชการแผ่นดิน

มองในมิติการเมืองแล้ว ความเข้มข้นของสมัยนิติบัญญัติไม่เท่ากับสมัยประชุมสามัญทั่วไป ด้านหนึ่งมาจากการที่รัฐธรรมนูญขีดเส้นให้ไม่สามารถเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ แต่ถึงกระนั้นใช่ว่าจะไม่มีประเด็นอะไรน่าสนใจเลยเสียทีเดียว เพราะอย่าลืมว่ารัฐบาลกำลังอยู่ในช่วงเร่งทำคะแนนเรียกความนิยมพอสมควร

นับตั้งแต่สิ้นสุดการอภิปรายไม่ไว้วางใจมีผลโพล หลายสำนักเห็นตรงกันว่ารัฐบาลต้องเร่งแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันเป็นการด่วน ประกอบกับล่าสุดคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เดินหน้าไต่สวนการทำงานของคณะรัฐมนตรีในหลายกรณี เช่น โครงการรับจำนำข้าว หรือการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งเป็นต้น

ทั้งผลโพล และ ป.ป.ช.ยิ่งตอกย้ำมากขึ้นในทางอ้อมว่ารัฐบาลกำลังมีปัญหาความโปร่งใส เมื่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลเริ่มไม่เข้าตา ส่งผลให้การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ที่เดิมวางเอาไว้จะขอลุยไฟอีกครั้งในสมัยประชุมที่กำลังจะเปิดขึ้นต้องพับเก็บไว้ในลิ้นชักก่อน ป้องกันไม่ให้เกิดเงื่อนไขปลุกกระแสต่อต้านรัฐบาลขึ้นมาได้อีก ถ้าเป็นแบบนั้นย่อมไม่เป็นผลดีต่อ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี

จากสถานการณ์เหล่านี้ได้กลายเป็นตัวกระตุ้นให้รัฐบาลกำลังใช้ห้วงเวลาในสมัยนิติบัญญัติเร่งปั้นผลงานเพื่อเรียกความนิยมกลับคืนมาผ่านการสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจด้วยการใช้กลไกทางกฎหมายงบประมาณเป็นเครื่องมือสำคัญ

ในสมัยประชุมนิติบัญญัติ รัฐบาลมีปฏิทินเสนอกฎหมายการเงินที่สำคัญด้วยกัน 2 ฉบับ คือ 1.ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 และ 2.ร่าง พ.ร.บ. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน พ.ศ. ... วงเงิน 2 ล้านล้านบาท สำหรับร่างกฎหมายงบประมาณ 2557 ถือว่าเป็นสภาพบังคับของรัฐบาลอยู่แล้วที่ต้องเสนอต่อสภา ซึ่งจะเป็นครั้งที่ 2 ของรัฐบาลชุดนี้ที่เสนอกฎหมายงบประมาณประจำปี

คณะรัฐมนตรีได้วางแนวทางการจัดทำงบประมาณไว้ว่า “เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการงบลงทุนให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล...” รัฐบาลคาดว่างบประมาณปี 2557 จะช่วยให้นโยบายเร่งด่วน 16 ข้อของรัฐบาลมีประสิทธิภาพและเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาประชาชนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการน้ำ การรับจำนำข้าว บัตรสินเชื่อเกษตรกร การดูแลประชาชนจากปัญหาเงินเฟ้อและราคาน้ำมัน เป็นต้น

ทั้งหมดก็เพื่อให้รัฐบาลลบข้อครหาตลอดกว่า 1 ปีที่ผ่านมา ว่าให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการเมืองเพื่อคนคนเดียวมากกว่าปัญหาเศรษฐกิจที่เป็นเรื่องปากท้องของประชาชน ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน พ.ศ. ... วงเงิน 2 ล้านล้านบาท น่าจะเข้าสภาได้ปี 2557 เช่นกันตามคำชี้แจงที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้เคยให้ไว้กับที่ประชุมคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน วุฒิสภา ก่อนหน้านี้

สาระสำคัญกฎหมายฉบับนี้เปิดโอกาสให้รัฐบาลกู้เงินมีระยะเวลาการกู้ 7 ปี เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานตามแผนยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กนอ.) ครอบคลุมทั้งด้านพลังงาน สื่อสารสาธารณูปโภค และการคมนาคมขนส่งทั้งทางบกทางอากาศ และทางน้ำ

กรอบวงเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2,274,359.09 ล้านบาท แบ่งเป็น 7 สาขา ได้แก่ 1.ระบบราง 1,201,948.80 ล้านบาท 2.ขนส่งทางบก 222,347.48 ล้านบาท 3.ขนส่งทางน้ำ 128,422.20 ล้านบาท 4.ขนส่งทางอากาศ 69,849.66 ล้านบาท 5.สาธารณูปการ 99,204.69 ล้านบาท 6.พลังงาน 515,689.26 ล้านบาท และ 7.สื่อสาร 36,897 ล้านบาท รัฐบาลประมาณการว่าหากกฎหมายนี้สามารถบังคับใช้จะช่วยให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมีการขยายตัวมากขึ้น เป็นผลมาจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ของรัฐบาล หลังจากภาครัฐห่างหายการลงทุนขนาดใหญ่มานานกว่า 15 ปี นับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540

แต่การจะผลักดันให้กฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท สามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลจะต้องพยายามให้วุฒิสภาให้เร่งผ่าน ร่าง พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ที่ค้างอยู่ในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญก่อน มิเช่นนั้นกฎหมายกู้เงินแทบจะไม่มีความหมาย

กฎหมายร่วมทุนเป็นกุญแจสำคัญที่เปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนกับภาครัฐภายใต้กฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ไม่ใช่ปล่อยให้รัฐรับภาระการลงทุนเพียงฝ่ายเดียว แต่เอกชนมีความเชี่ยวชาญการลงทุนในบางสาขามากกว่ารัฐ ซึ่งมีผลให้โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทั้ง 7 ด้านเป็นไปอย่างราบรื่น

ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวมีสาระสำคัญ คือ กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีหน้าที่ให้ความเห็นชอบหลักการโครงการที่จะให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน รวมไปถึงการพิจารณาเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เกี่ยวกับมาตรการหรือแนวทางด้านการเงินหรือการคลังในการสนับสนุนให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ

อย่างไรก็ตาม การเร่งผลักดันกฎหมายเศรษฐกิจของรัฐบาลรอบนี้ อาจเผชิญกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์พอสมควร ในเรื่อง “ตัวเลขหนี้สาธารณะ” ประเด็นนี้เคยมี สว.จำนวนมากเคยติงเอาไว้แล้วเมื่อครั้งวุฒิสภาพิจารณากฎหมายร่วมทุนในวาระที่ 1 เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ว่ากฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท อาจมีผลให้ตัวเลขหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 50% ต่อจีดีพี

ทว่ามาถึงจุดนี้รัฐบาลไม่มีทางเลือก นอกจากการเร่งกฎหมายให้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาให้เร็วที่สุด แม้ต้องเจอกับเสียงตำหนิ เนื่องจากมั่นใจว่ากระแสวิจารณ์เรื่องการก่อหนี้ไม่รุนแรงเท่ากับกระแสต่อต้านรัฐบาลในทางการเมือง รัฐบาลเชื่อว่าหากผ่านกฎหมายลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำเร็จ โครงการประชานิยมต่างๆ จะเดินหน้าได้อย่างมั่นคง ช่วยกลบกระแสด้านลบที่มีต่อรัฐบาลได้สนิท ไม่ก่อให้เกิดเงื่อนไขปลุกม็อบล้มรัฐบาลในอนาคต

เมื่อนั้นรัฐบาลอาจมีความชอบธรรมมากพอต่อการหาหนทางแก้ไขปัญหาการเมืองต่อไป แต่ถ้าทำไม่ได้ตามแผนคงถึงเวลาแล้วที่คนบางคนต้องทำใจว่าอาจไม่ได้กลับบ้านแบบเท่ๆ