posttoday

แนวต้านรวมพลัง 11 ล้านคว่ำประชามติ

18 ธันวาคม 2555

น่าสนใจไม่น้อยกับท่าทีล่าสุดจาก “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

น่าสนใจไม่น้อยกับท่าทีล่าสุดจาก “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

ที่ออกมาประกาศเจตนารมณ์ให้ประชาชนร่วมกันไม่สนับสนุนการทำประชามติรัฐธรรมนูญ 2550 ของรัฐบาล เสมือนหนึ่งเป็นการปลุกกระแสต่อต้านรัฐบาล

“มาร่วมกันคว่ำประชามติแก้รัฐธรรมนูญเพื่อนักโทษ ก้าวข้าม พ.ต.ท.ทักษิณ นำพาประเทศเดินไปข้างหน้า ผมและพรรคประชาธิปัตย์พร้อมร่วมสุขทุกข์กับพี่น้อง เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสอย่างราบรื่น ไร้ความรุนแรง เพื่ออนาคตที่มั่นคงของประเทศของเราสืบไป” ข้อความส่วนหนึ่งในเว็บไซต์เฟซบุ๊ก

การประกาศเจตนารมณ์ดังกล่าวเป็นสัญญาณให้เห็นว่าการทำประชามติที่กำลังจะเกิดขึ้นไม่ง่ายอย่างที่คิด เพียงแค่จะเข็นเสียงประชามติให้ได้ประมาณ 23 ล้านเสียงจากผู้มีสิทธิออกเสียงประมาณ 46 ล้านคนก็ยากอยู่แล้ว แถมยังต้องมาเจอกับแรงต้านที่ส่งมาจากผู้นำฝ่ายค้านอีก ยิ่งทำให้เส้นทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญยากลำบากขึ้น

จะว่าไปการเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์มีความคล้ายคลึงกับ “กลุ่มไทยรักไทย” เมื่อปี 2550 นำโดย “จาตุรนต์ ฉายแสง” อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ซึ่งครั้งนั้นรณรงค์ให้ประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ตามที่สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ได้ดำเนินการยกร่างเสร็จแล้ว เพื่อแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านการรัฐประหารของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ

ทว่าการขับเคลื่อนของพรรคประชาธิปัตย์เวลานี้มีความแตกต่างเล็กน้อยตรงที่ได้เคลื่อนไหวต่อต้านไม่ให้เกิดการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่มีเจตนารมณ์แฝงช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทั้งทางตรงและทางอ้อม

แน่นอนว่าการนำอดีตนายกฯ ทักษิณ มาเป็นหนึ่งในเงื่อนไขย่อมก่อให้เกิดแนวร่วมมากมาย แนวร่วมลักษณะนี้เองจะเป็นกระดูกชิ้นโตขวางรัฐบาลไม่ให้ไปถึงจุดหมายการตั้ง ส.ส.ร.ที่หวังเอาไว้ได้

พรรคประชาธิปัตย์ที่มีต้นทุนของตัวเองประมาณ 11 ล้านเสียงจากคะแนนเลือกตั้ง สส.บัญชีรายชื่อในการเลือกตั้งวันที่ 3 ก.ค. 2554 ย่อมเป็นฐานสำคัญในการเคลื่อนไหวไม่ให้รับการทำประชามติของรัฐบาล

ที่สำคัญ ขณะนี้ฐานมวลชนของพรรคยังขยายเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย เป็นผลมาจาก “บลูสกายชาแนล” ที่ช่วยให้ข่าวสารตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล

กลายเป็นช่องทางสำคัญที่จะช่วยผลิตซ้ำความคิดให้กับประชาชนเห็นถึงผลเสียของการรื้อรัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่สังคมโดยรวมไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลย

ขณะเดียวกัน “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” โดย สนธิ ลิ้มทองกุล และ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ก็เริ่มแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญรอบนี้ หากแก้เพื่อช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ยังไม่ประกาศชัดว่าจะร่วมเป็นแนวร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ถ้ามองกันลึกๆ แล้วกลุ่มคนเสื้อเหลืองยินดีจะร่วมเป็นแนวรบต้านรัฐบาลเช่นกัน ในฐานะมีจุดหมายเดียวกัน คือ “การล้มระบอบทักษิณ”

ข้อได้เปรียบในการเคลื่อนไหวของฝ่ายค้านอยู่ที่บทบัญญัติของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552 ไม่ได้มาเป็นอุปสรรคได้มากนัก แม้ว่าจะมีมาตรา 43 ที่ระบุข้อห้ามไม่ให้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อไม่ให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิก็ตาม

เนื่องจากเคยมีกรณี ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ที่เคยเคลื่อนไหวต้านการทำประชามติรัฐธรรมนูญ 2550 มาแล้ว โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เวลานั้นให้ความเห็นว่าการรณรงค์ลักษณะนี้ไม่ขัด พ.ร.บ.ว่าด้วยความเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 จนกว่าจะมีการเสนอผลประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อแลกเปลี่ยนกับการออกเสียง

เมื่อมีข้อได้เปรียบทางกฎหมายอยู่ในมือแบบนี้แล้ว ทั้งหมดจึงเหลือเพียงการรอว่ารัฐบาลจะกำหนดประเด็นคำถามในการทำประชามติอย่างไร จากนั้นแต่ละกลุ่มต้านรัฐบาลจะต่างฝ่ายต่างไปกำหนดการเคลื่อนไหวว่าการคว่ำประชามติจะดำเนินการในรูปแบบใดถึงจะได้ประสิทธิภาพมากที่สุดต่อไป

ขณะที่รัฐบาลเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับการต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเตรียมขอให้พรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคสั่ง สส.ลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนเพื่อให้เห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะช่วยสร้างระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงเหมือนรัฐธรรมนูญ 2540 ที่เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน ต่างกับรัฐธรรมนูญ 2550 ที่มาจากคณะรัฐประหาร

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีเครือข่ายกลุ่มเสื้อแดงช่วยงานมวลชนอีกแรง เพื่อตีกันไม่ให้มวลชนฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทำงานในพื้นที่ได้ราบรื่น

อย่าลืมว่ารัฐบาลคาดหวังสูงกับการรื้อรัฐธรรมนูญ 2550 แม้ว่าต่อให้ประชามติไม่ผ่าน ก็สามารถใช้ช่องทางการแก้ไขเป็นรายมาตราได้แทนก็จริง แต่การยกร่างทั้งฉบับผ่านกระบวนการ ส.ส.ร.ย่อมจะเป็นผลดีในการรื้อใหญ่ทั้งฉบับและเป็นประโยชน์กับรัฐบาล

อย่างน้อยรัฐบาลจะได้มีข้ออ้างว่า “ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแก้รัฐธรรมนูญ” เพราะมอบอำนาจและสิทธิ์ขาดทั้งหมดให้กับ ส.ส.ร.ไปแล้ว และหากในอนาคตฝ่ายตรงข้ามนำประเด็นนี้มาเคลื่อนไหว รัฐบาลจะได้มีข้ออ้างไปหักล้างได้

ในทางกลับกัน ถ้าการทำประชามติไม่ผ่าน ก็ต้องไปถอนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ออกจากรัฐสภา เพื่อนับหนึ่งการแก้ไขเป็นรายมาตราแทน

ความเสียหายย่อมเกิดกับรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

กล่าวคือ จะไม่สามารถควบคุมได้ว่าจะใช้เวลาพิจารณาแต่ละมาตรานานเท่าไร เนื่องจากทุกขั้นตอนตั้งแต่วาระที่ 13 ต้องเจอกับด่านหินที่มีชื่อว่า “พรรคประชาธิปัตย์”

เอาแค่ในขั้นตอนที่ต้องตั้งคณะกรรมาธิการของรัฐสภาพิจารณาเป็นรายมาตรา ก็ต้องเจอกับเกมเขี้ยวลากดินของฝ่ายค้านที่ไม่ยอมให้แต่ละมาตราผ่านไปได้ง่ายๆ ครั้นพรรคเพื่อไทยจะใช้เสียงข้างมากหักเอาดื้อๆ ก็ต้องเจอกับแรงเสียดทานจากนอกสภา

การแก้เป็นรายมาตราจึงเป็นเส้นทางโหดกว่าเมื่อเทียบกับการให้ ส.ส.ร.มาดำเนินการที่มีการขีดเส้นชัดเจนว่าต้องจัดทำให้เสร็จภายใน 240 วันตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่คาอยู่ในรัฐสภา

ดังนั้น รัฐบาลไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากทำทุกวิถีทางเพื่อให้การทำประชามติผ่าน จะได้ไม่ต้องเจอถนนสายหินที่ยากต่อการคาดเดา