posttoday

ลงทุนโครงการน้ำชี้ชะตาเศรษฐกิจปี'56

17 ธันวาคม 2555

เป็นความตั้งใจอย่างแรงกล้าของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

เป็นความตั้งใจอย่างแรงกล้าของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

โดย...จตุพล สันตะกิจ

ที่จะเร่งรัดขับเคลื่อนโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำลึกทวาย ประเทศเมียนมาร์ บนพื้นที่ 2 แสนไร่ ซึ่งบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ หรือ “ไอทีดี” ได้รับสัมปทานจากการท่าเรือเมียนมาร์ (Myanma Port Authority) หรือ MPA ให้ลุล่วง

แม้หนทางขับเคลื่อนโครงการที่มีความสำคัญในระดับที่ “พลิกโฉม” หน้าประเทศไทยจะไม่สดใสอย่างที่คาดคิด

โดยวันที่ 17 ธ.ค.นี้ นายกฯ ยิ่งลักษณ์ จะลงพื้นที่ “ไซต์งาน” เขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกทวายด้วยตัวเองและมีกำหนดพบปะหารือกับประธานาธิบดี เต็งเส่ง แห่งเมียนมาร์ หวังสร้างความเชื่อมั่นและตอกย้ำให้นักลงทุนไทยและต่างประเทศได้มั่นใจว่ารัฐบาลไทยและเมียนมาร์ “เอาจริง” กับโครงการนี้

ส่วนอีกสายหนึ่งนำโดย กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว.คลัง ประธานคณะกรรมการร่วมระดับสูงไทยเมียนมาร์ เพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง (JHC) จะนำคณะเดินทางไปเยือนกรุงเนย์ปิดอว์ เพื่อหารือกับคณะกรรมการฯ ฝ่ายเมียนมาร์ “ตกผลึก” โครงการ ก่อนเริ่มลงทุนจริงในเดือน เม.ย. 2556

นั่นคือการลงทุน 8 โครงการเร่งด่วน ได้แก่ 1.ถนน 2.ท่าเรือน้ำลึก 3.นิคมอุตสาหกรรม 4.โรงไฟฟ้าระยะเริ่มแรก 5.น้ำและระบบบำบัดน้ำเสีย 6.ระบบโทรคมนาคม 7.การพัฒนาชุมชนและการย้ายถิ่นฐาน และ 8.รถไฟความเร็วสูง

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2551 บริษัท อิตาเลียนไทยฯ ได้สัมปทานโครงการทวาย มีการโรดโชว์เชิญชวนนักลงทุนทั่วทุกทวีปมาลงทุนในนิคมฯ แห่งนี้ แต่ผ่านมา 4 ปี การลงทุนโครงการนี้ไม่เป็นรูปเป็นร่างนัก เนื่องด้วยโครงการมีขนาดใหญ่เกินกว่าศักยภาพที่เอกชนเพียงไม่กี่รายจะรับไหว

ส่งผลให้การสร้างท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ที่จะเป็นประตูขนส่งสินค้าทางฝั่งตะวันออกของไทยและประเทศต่างๆ เอเชียตะวันออกไปยังอินเดียและยุโรป ลดเวลาการขนส่งสินค้าจาก 6 วัน เหลือ 3 วัน

หรือการสร้างนิคมอุตสาหกรรมทวายที่จะเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบต้นน้ำและกลางน้ำ เช่น เหล็กและเหล็กกล้า ปิโตรเคมี สนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศ ท่ามกลาง “ข้อจำกัด” ของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังที่เพิ่มขึ้นทุกวัน จึงยังไม่เห็นอนาคตในระยะเวลาอันใกล้นี้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับความ “เชื่อมั่น” ของนักลงทุนทั่วโลก และองค์กรสนับสนุนทางการเงินระหว่างประเทศ อาทิ ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) องค์การเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (ไจกา) ที่มีต่อบริษัท อิตาเลียนไทยฯ เจ้าของสัมปทานอยู่ในระดับ “น่ากังขา”

อีกทั้งหากเปรียบเทียบกับการลงทุนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือติละวา (Thilawa Port) ท่าเรือขนาดใหญ่อันดับ 2 ของเมียนมาร์ รองจากท่าเรือย่างกุ้ง

แม้ท่าเรือติละวาจะไม่ใช่ท่าเรือน้ำลึกที่มีศักยภาพเท่าได้กับท่าเรือทวายที่กินน้ำลึกได้อย่างน้อย 25 เมตร รองรับเรือที่มีขนาด 1 แสนตัน แต่ท่าเรือติละวามีผลกระทบเศรษฐกิจภายในของเมียนมาร์ ทั้งเมืองย่างกุ้งและเนย์ปิดอว์โดยตรง ในฐานะท่าเรือขนส่งสินค้าที่เทียบได้กับ “ท่าเรือคลองเตย” ในประเทศไทย

และเมื่อเร็วๆ นี้ ญี่ปุ่นประกาศสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำก้อนใหม่ในวงเงิน 5 หมื่นล้านเยน หรือประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท เพื่อพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือติละวาที่มีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่พร้อมกว่าทวาย และมีตลาดภายในเมียนมาร์รองรับสินค้าที่ผลิตได้จากเขตเศรษฐกิจแห่งนี้

ในขณะที่เขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกทวายที่บริษัท อิตาเลียนไทยฯ ได้สัมปทาน ยังเป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่าและมีชุมชนตั้งอยู่ จึงได้รับความสำคัญในระดับรองลงมา

“เท่าที่ผมทราบและสามารถกล่าวได้ในขณะนี้คือ ไจกายังไม่ได้รับปากหรือตัดสินใจที่จะให้เงินกู้แก่โครงการนี้ และเราก็ไม่ทราบว่าทางเจบิกมีท่าทีต่อโครงการที่ทวายอย่างไรบ้าง” โทโมยุคิ คาวาบาตะ ผู้แทนอาวุโสไจกา ให้สัมภาษณ์เมื่อกลางเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา

แต่เมื่อโครงการทวายเป็นโครงการยุทธศาสตร์ของประเทศไทย

ทั้งมีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตในระยะยาว โดยเฉพาะในฐานะศูนย์กลางโครงข่ายขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ หลังจากไทยลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท เชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมในประเทศแล้วเสร็จใน 67 ปี ท่าเรือน้ำลึกทวายในฐานะปากประตูทะเลตะวันตก จึงมีความสำคัญยิ่งยวด

“โครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาท ไม่ใช่การกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่เป็นการปรับโครงสร้างพื้นฐานเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่ผ่านมาเขากลัวว่าเราจะเอาเงินไปหว่าน แต่ตรงนี้เป็นเรื่องของการลงทุนเพื่ออนาคต” ชัชชาติ สุทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม กล่าว

นั่นทำให้รัฐบาลไทยจำเป็นต้องออกหน้า “อุ้ม” โครงการลงทุนของเอกชนนอกประเทศครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รมต.ประจำสำนักนายกฯ ประธานคณะกรรมการประสานงานระหว่างไทยเมียนมาร์ เพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง (JCC) ย้ำอย่างหนักแน่นว่า รัฐบาลไทยจะไม่มีการลงทุนโดยตรงในโครงการ แต่จะประสานและสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนทั่วโลกมาลงทุนในโครงการนี้

สอดคล้องกับ ชัชชาติ ในฐานะกรรมการ JHC และประธานอนุกรรมการฝ่ายไทยด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระบุ รัฐบาลไทยจะสนับสนุนทุกทางให้โครงการเกิดขึ้น แต่รัฐบาลจะไม่ใส่เงินลงทุนโดยตรง โดยส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจไทยและเชิญชวนให้นักลงทุนทั่วโลกไปลงทุน ซึ่งรัฐบาลไทยจะต้องตกลงกับรัฐบาลเมียนมาร์เกี่ยวกับแผนลงทุนที่ชัดเจนก่อน

พร้อมกันนั้นรัฐบาลได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ศึกษาการให้สิทธิพิเศษทางภาษีกับนักลงทุนที่ลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เช่น การรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี หรือการส่งสินค้าผ่านประเทศไทยโดยไม่ต้องเสียภาษี เป็นต้น

ในขณะที่ สมเจตน์ ทิณพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทวาย ดีเวลลอปเม้นท์ (DCD) ผู้บริหารโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำลึกทวาย ที่บอกว่า หากการลงทุนโครงการทวายได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนให้รัฐวิสาหกิจมาร่วมลงทุน หรือสร้างความมั่นใจให้เอกชนทั่วโลกมาลงทุนก็มั่นใจว่าโครงการนี้ไปได้แน่

สมเจตน์ ตั้งคำถามว่า การให้รัฐวิสาหกิจไทยมาลงทุนนอกประเทศ เช่น ที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายนั้น มีกฎหมายของรัฐวิสาหกิจแห่งนั้นๆ รองรับหรือไม่ เช่น การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ชื่อก็บอกอยู่แล้วเป็นการทางพิเศษแห่ง “ประเทศไทย” ระเบียบและกฎหมายไทยจะเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนหรือไม่

สมเจตน์ เสนอว่า รัฐบาลน่าจะจัดตั้งบริษัทร่วมทุน มาร่วมลงทุนโครงการนี้ เช่น การลงทุนระบบสาธารณูปโภค โดยเฉพาะระบบขนส่งคมนาคมจากชายแดนไทยท่าเรือทวาย ที่มีต้นทุนและผลตอบแทนต่ำ ตนเห็นว่ารัฐบาลน่าจะเข้ามาช่วยเหลือส่วนนี้ เช่น ที่ผ่านมารัฐบาลไทยมีการให้เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าในการสร้างถนนในประเทศเพื่อนบ้าน

แต่การสนับสนุนของรัฐบาลไทยในแง่การสร้างความเชื่อมั่นและส่งเสริมรัฐวิสาหกิจ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กพท.) ไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจทวายเป็นสิ่งที่ยังต้องตั้งคำถามว่าจะทำให้โครงการนี้เกิดขึ้นได้จริงหรือไม่

เพราะรัฐวิสาหกิจไทยหลายๆ แห่งไม่มีประสบการณ์ในการลงทุนในต่างประเทศ การลงบัญชีทรัพย์สินที่ลงทุนในต่างประเทศ ผลตอบแทนการลงทุนมีความคุ้มค่าหรือไม่ เพราะล่าสุดรัฐวิสาหกิจใหญ่ของไทยหลายแห่งปฏิเสธที่จะลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือแม้แต่บริษัท ปตท.รัฐวิสาหกิจระดับโลกของไทย

นี่ยังไม่นับประเด็นปัญหาชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ กฎหมายลงทุนของเมียนมาร์ที่จะให้สิทธิการถือครองทรัพย์สินและที่ดินของนักลงทุนว่าอย่างไร รวมถึงความเสี่ยงทางการเมืองของเมียนมาร์ที่ดูจะสงบนิ่งในเวลานี้ ขณะที่แหล่งเงินลงทุนถือได้ว่าไม่ใช่ปัญหาใหญ่ในขณะนี้ เพราะวันนี้มีเงินล้นอยู่ทั่วโลก

นอกจากนี้ หากพลิกไปดูเนื้อหา “สัญญาสัมปทาน” ที่บริษัท อิตาเลียนไทยฯ ทำไว้กับการท่าเรือเมียนมาร์ (MPA) ซึ่งไม่ใช่เป็นสัญญาสัมปทานที่บริษัท อิตาเลียนไทยฯ ได้รับสัมปทานโดยตรงจากรัฐบาลเมียนมาร์จะมีปัญหาในแง่ปฏิบัติหรือการดำเนินงานในนิคมฯ และพื้นที่รอบนอกหรือไม่

เหล่านี้ต้องอาศัยอำนาจรัฐบาลกลางของเมียนมาร์ทั้งสิ้น

จึงอาจมีความจำเป็นที่รัฐบาลไทยต้องตั้งบริษัทนิติบุคคลเฉพาะกิจ (เอสพีวี) ที่ถือหุ้นโดยรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจ เอกชนไทยและต่างชาติ รวมถึงบริษัท อิตาเลียนไทยฯ ไปเป็นคู่ “สัญญาสัมปทาน” กับรัฐบาลเมียนมาร์โดยตรง ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนได้อย่างมาก แต่ก็ต้องตอบคำถามประชาชนให้ได้

นั่นจะทำให้โครงการมีโอกาสเกิดได้สูงและเร็วที่สุด

ส่วนฟากฝั่งบริษัทที่บริษัท อิตาเลียนไทยฯ ที่ลงทุนลงแรงมหาศาลและคว้าสัมปทานโครงการนี้มาได้อย่างยากเย็น แต่ถูกรัฐบาลชุบมือเปิบไป จะมองว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมและนำไปสู่การฟ้องร้องได้ ซึ่งทั้งรัฐบาลไทยและเมียนมาร์ไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์นี้ โดยเฉพาะเมียนมาร์ที่อยู่ในช่วงเปิดรับการลงทุน

การตกลงเจรจา 3 ฝ่าย และการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เป็นธรรม น่าจะเป็นคำตอบที่ทำให้โครงการทวายประสบความสำเร็จ ซึ่งหมายความว่าบางฝ่ายต้องยอมถอยหนึ่งก้าว เพื่อประโยชน์ของประเทศไทยโดยรวม