posttoday

แก้ถดถอย ดันศก.โตยาว งานหนักรับนายกฯญี่ปุ่น

17 ธันวาคม 2555

แม้จะยังสามารถคงสถานะประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 3

แม้จะยังสามารถคงสถานะประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 3

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

ของโลกรองจากจีนและสหรัฐอเมริกาได้ในปัจจุบัน แต่ถึงกระนั้นแดนปลาดิบอย่างญี่ปุ่นก็ไม่อาจอยู่ในสภาวะที่เรียกว่าปลอดโปร่งโล่งสบายสักเท่าไรนัก

ยืนยันได้จากตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจประจำไตรมาสล่าสุด หรือไตรมาส 3 ของปีนี้ ซึ่งหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าอีก 0.9% ส่งผลให้ผลผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) รายปีหล่นฮวบไปแล้ว 3.5%

ขณะที่ผลของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่หดตัวสองไตรมาสต่อเนื่องกันก็นับเป็นปัจจัยบ่งชี้สำคัญในแวดวงนักวิเคราะห์ว่า ญี่ปุ่นเดินหน้าเข้าสู่ภาวะถดถอยเรียบร้อยแล้ว

ถือเป็นโจทย์ปัญหาหลักแรกสุด และหนักหนาสาหัสที่สุด สำหรับว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ พร้อมรัฐบาลชุดใหม่ แต่ไม่ใช่มือใหม่ของประเทศญี่ปุ่นที่จำเป็นต้องสะสางให้ลุล่วง ตอบสนองความต้องการของประชาชนภายในประเทศ เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะในด้านการเมืองของประเทศต้องวนเวียนอยู่กับการเปลี่ยนผู้นำ ซึ่งช่วง 6 ปีที่ผ่านมาก็ทำสถิติเปลี่ยนไปแล้วถึง 6 คน

และไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจแต่อย่างใดที่การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. จะเป็นครั้งสำคัญที่ได้รับการจับตามองมากที่สุด ไม่เพียงเฉพาะประชาชนชาวญี่ปุ่นทั่วประเทศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงนักวิเคราะห์ นักลงทุน และนักธุรกิจทั่วโลก

เพราะสำหรับประเทศที่นโยบายการบริหารทุกด้าน รวมถึงการเงินและการคลังขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาลอย่างเต็มที่ การก้าวขึ้นมาของรัฐบาลชุดใหม่ย่อมหมายรวมนโยบาย มาตรการและทิศทางการแก้ไขปัญหาใหม่ๆ ที่จะส่งผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและสังคมของญี่ปุ่นนับต่อจากนี้แน่นอน โดยนักวิเคราะห์หลายสำนักต่างเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ไม่ว่ารัฐบาลพรรคใดก้าวขึ้นมา ปัญหาแรกสุดที่จะต้องจัดการให้สำเร็จลุล่วงให้ได้ก็คือ การเร่งเครื่องเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจ แก้ภาวะถดถอย

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. ซึ่งเป็นไปตามการคาดการณ์ของผลสำรวจของสื่อท้องถิ่นหลายสำนัก ที่คะแนนเสียงส่วนใหญ่ล้วนเทให้กับพรรคเสรีประชาธิปไตยญี่ปุ่น หรือพรรคแอลดีพี ภายใต้การนำของ ชินโซ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองญี่ปุ่น บรรดานักเศรษฐศาสตร์ต่างยอมรับว่านโยบายเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในอีก 6 ปีข้างหน้าจะเป็นไปในลักษณะแข็งกร้าวมากกว่าช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

เนื่องจาก อาเบะ ได้ประกาศกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายผ่อนคลายมาตรการทางการเงินแบบไม่จำกัดวงเงิน เพื่อดึงให้ค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินเหรียญสหรัฐอ่อนตัวลง ซึ่งจะช่วยเหลือภาคการส่งออกที่กำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ พร้อมเพิ่มกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อให้อยู่ที่ระดับ 2%

นอกจากนี้ อาเบะ ยังให้คำมั่นที่จะเพิ่มการใช้จ่ายของภาครัฐให้มากขึ้นเพื่อกระตุ้นความต้องการบริโภคภายในประเทศ โดยการใช้จ่ายข้างต้นนี้ รวมถึงการให้เงินสนับสนุนโครงการก่อสร้างปรับปรุงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่างๆ

บรรดานักเศรษฐศาสตร์ต่างระบุตรงกันว่า ถ้า อาเบะ สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งสื่อท้องถิ่นตั้งชื่อเรียกว่า “อาเบะโนมิกส์” ที่ได้ลั่นวาจาให้คำมั่นไว้ เศรษฐกิจของญี่ปุ่นก็น่าจะเติบโตกระเตื้องขึ้นมาได้ และจะส่งผลช่วยให้รัฐบาลสามารถเดินหน้าเพิ่มภาษีการขายในปี 2557 ตามที่วางแผนไว้ในเบื้องต้น เพื่อจำกัดควบคุมหนี้สาธารณะของประเทศที่ขณะนี้มีขนาดใหญ่กว่าจีดีพีของประเทศถึง 2 เท่า หรือประมาณ 240% ของจีดีพี

อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์เหล่านี้ยังไม่วายมีเสียงท้วงติงว่า ใบสั่งยาจาก อาเบะ ในฐานะนายกรัฐมนตรีของประเทศจะส่งผลดีให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นดีขึ้นเพียงแค่ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น

หรือเรียกได้ว่า ไม่ได้ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างยั่งยืนตามที่ประชาชนทั่วประเทศวาดหวังเอาไว้

เนื่องจากมาตรการที่นำมาใช้ไม่ได้จัดการเยียวยารักษาต้นตอของโรคร้ายทางเศรษฐกิจของประเทศที่ป่วยเรื้อรังมาอย่างยาวนาน

แถมแผนการแก้ปัญหาเศรษฐกิจดังกล่าวของ อาเบะ ยังเสี่ยงที่จะจุดชนวนให้เสถียรภาพของตลาดสั่นคลอนอย่างรุนแรง หากนักลงทุนเริ่มรู้สึกได้ว่ารัฐบาลไม่สามารถควบคุมการเงินของประเทศได้อีกต่อไป

เหตุผลเพราะการประกาศใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินชนิดไม่มียั้ง ต้องได้รับความเห็นชอบจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับความเป็นอิสระค่อนข้างสูง

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ ไม่ยอมทำตามคำสั่ง โดยเฉพาะจากฝ่ายการเมืองเด็ดขาด ซึ่งนักวิเคราะห์เห็นว่าบีโอเจอาจจะยอมรับฟังแนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจจากรัฐบาล ส่วนจะลงมือทำตามหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบีโอเจเอง

เท่ากับว่าไม่มีสิ่งใดรับประกันได้ว่าแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของ อาเบะ จะสามารถดำเนินการได้ตามที่พูดไว้ เมื่อบีโอเจมีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะปฏิเสธหรือเมินเฉยต่อคำร้องขอของนายกรัฐมนตรี

กระนั้น แม้บีโอเจจะยอมทำตามแผนรัฐบาลอาเบะ นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งเห็นว่า รัฐบาลอาเบะ ก็ยังไม่วายเจอหินอยู่ดี เหตุเพราะการที่ประเทศอยู่ในสภาพติดหนี้มหาศาลติดอันดับต้นๆ ของโลก ทำให้ อาเบะ มีข้อจำกัดในการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ

ยิ่งเมื่อบวกกับกระบวนการตัดสินใจในเรื่องแผนงบประมาณของรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งขึ้นชื่อว่ายากเย็นแสนเข็ญ เมื่อเทียบกับมาตรฐานสากลทั่วไป ก็ยิ่งทำให้แผนงานกระตุ้นเศรษฐกิจที่ อาเบะ ประกาศกร้าวไว้มีแนวโน้มพลิกผันไม่เป็นดังหวังได้สูงมาก

ขณะเดียวกัน แผนกระตุ้นการส่งออกที่มุ่งจัดการกับค่าเงินเยน โดยปราศจากแผนการอื่นๆ เช่น การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้วยการสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมใหม่ และการปราศจากแผนจัดการสัดส่วนประชากรวัยหนุ่มสาวให้สมดุลกับผู้สูงอายุ ซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณความต้องการบริโภคและกำลังแรงงานการผลิตภายในประเทศ ก็ยิ่งทำให้นักวิเคราะห์มั่นใจว่าญี่ปุ่นยังคงเดินหน้าถดถอยซบเซาต่อไป

ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมถึงนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ อาเบะ ประกาศจุดยืนสายเหยี่ยวของตนเองอย่างชัดเจน จนทำให้นักลงทุนค่อนโลก รวมถึงภายในประเทศญี่ปุ่นเอง หวั่นใจว่าญี่ปุ่นจะไม่สามารถฟื้นสัมพันธ์ประสานรอยร้าวกับจีน ประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งในปัจจุบันของแดนอาทิตย์อุทัย จนส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นให้หนักหน่วงยิ่งขึ้นไปอีก

และยิ่งไม่นับรวมกับเสถียรภาพทางการเมืองของญี่ปุ่น ซึ่งยังมีทีท่าว่าจะไม่สงบลงง่ายๆ โดยล่าสุดกลุ่มทนายความเตรียมยื่นฟ้องศาลร้องเรียนให้การเลือกตั้งไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากสัดส่วนความหนาแน่นของประชากรเมืองกับประชากรในชนบทแตกต่างกันมากเกินไป ซึ่งแม้ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่จะเห็นตรงกันว่าไม่น่าจะส่งผลให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ แต่ก็ส่งผลต่อเสถียรภาพและความเชื่อมั่นทางการเมืองของญี่ปุ่นในระยะยาว

เรียกได้ว่า หากมองในช่วงระยะสั้น การกลับเข้ามารับตำแหน่งผู้นำประเทศของ อาเบะ น่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่นได้ในระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม หากนายกรัฐมนตรีคนใหม่ยังไม่มีแผนจัดการกับต้นตอรากเหง้าปัญหาเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ที่ยังไม่หลุดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจซบเซา ซึ่งโดนซ้ำเติมจากหายนภัย 3 ครั้งซ้อน ทั้งแผ่นดินไหว คลื่นสึนามิ และวิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

เมื่อนั้น ญี่ปุ่น อาจตกอยู่ในสภาพที่นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งคาดการณ์ไว้ว่า เป็นวิกฤตร้ายแรงยิ่งกว่าวิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบันได้