posttoday

เฟดเดิมพันหมดหน้าตัก ลุยฟื้นศก.มะกัน

14 ธันวาคม 2555

เป็นไปตามคาด เมื่อ “เบน เบอร์แนนคี” ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เดินหน้าลุยกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐต่อเนื่องส่งท้ายปลายปี 2555

เป็นไปตามคาด เมื่อ “เบน เบอร์แนนคี” ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เดินหน้าลุยกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐต่อเนื่องส่งท้ายปลายปี 2555

โดย...นันทิยา วรเพชรายุทธ

เป็นไปตามคาด เมื่อ “เบน เบอร์แนนคี” ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เดินหน้าลุยกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐต่อเนื่องส่งท้ายปลายปี 2555 แบบไม่ต้องกั๊ก ไม่อ้อมค้อม และไม่แคร์เสียงวิพากษ์วิจารณ์ของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย

ในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (เอฟโอเอ็มซี) เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. เฟดเห็นชอบให้ดำเนินการซื้อพันธบัตรระยะยาวเดือนละ 4.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อแทนที่โครงการโอเปอเรชันทวิสต์ หรือโครงการขายพันธบัตรระยะสั้น เพื่อซื้อคืนพันธบัตรระยะยาวที่กำลังจะหมดอายุลงในสิ้นปี 2555 นี้

เมื่อรวมกับมาตรการผ่อนปรนทางการเงินเชิงปริมาณ (คิวอี) ครั้งที่ 3 เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเปิดทางให้ซื้อตราสารหนี้ที่อิงกับสินเชื่อที่อยู่อาศัย (เอ็มบีเอส) เดือนละ 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยไม่จำกัดระยะเวลาที่ชัดเจน (ปลายเปิด) จะส่งผลให้เฟดเดินหน้าโครงการซื้อสินทรัพย์ตกเดือนละ 8.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งการเปลี่ยนจากโอเปอเรชันทวิสต์ ที่ใช้เงินจากการขายพันธบัตรระยะสั้นมาเป็นการพิมพ์เงินลุยซื้อสินทรัพย์เพิ่ม อาจทำให้งบดุลของเฟดขยายตัวไปถึง 4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว

ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ เฟดได้โยงอัตราดอกเบี้ยผูกติดกับอัตราว่างงานเป็นครั้งแรก โดยประกาศจะตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ0-0.25% ต่อไปอย่างน้อยจนกว่าอัตราการว่างงานสหรัฐจะปรับตัวลงมาต่ำกว่าระดับ 6.5% หรือระดับที่สะท้อนว่าเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งแล้ว ซึ่งเป็นที่คาดว่าอาจต้องใช้เวลาถึงปี 2558 หรือนานกว่าเดิม 1 ปี จากที่สหรัฐเคยคาดกรอบเวลาคงดอกเบี้ยคร่าวๆ ถึงปี 2557

หากดูผิวเผินท่าทีของเฟดครั้งนี้อาจเป็นเพียงแค่การขยายคิวอี 3 เพื่อเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐให้ฟื้นตัวเร็วขึ้นไปอีกในปี 2556 หลังอัตราว่างงานเดือน พ.ย. ลดลงมาอยู่ระดับ 7.7% ท่ามกลางตลาดที่อยู่อาศัยซึ่งปรับตัวดีขึ้น การเติมเงินเพิ่มครั้งนี้จึงน่าจะเป็นสัญญาณบวกของเศรษฐกิจสหรัฐที่เอื้อต่อเศรษฐกิจโลกในปีหน้าไปด้วย

ทว่าในมุมมองของนักวิเคราะห์บางสำนักนั้น มาตรการของเฟดครั้งนี้ยิ่งตอกย้ำถึงความ “หมดหนทาง” ของเศรษฐกิจสหรัฐหนักขึ้น จนเฟดต้องเข้าลุยกระตุ้นหนักกว่าเดิม

“พวกเขากำลังซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้า พันธบัตร ตราสารเอ็มบีเอส แถมยังเดินหน้ากดดอกเบี้ยต่ำไปอีกยาวจนกว่าคนอเมริกันจะมีงานทำ” คริส รัปคีย์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์การเงินจากธนาคารมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ในนิวยอร์ก ให้ความเห็นกับบลูมเบิร์ก

นักวิเคราะห์หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่า เฟดกำลังเดินหน้า “ลุย” ทุกวิถีทางเพื่อสกัดไม่ให้สหรัฐต้องเผชิญกับ “ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ” เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในทศวรรษที่ 30 หรือเกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นก่อนหน้านี้ และการลุยของสหรัฐก็คือการเดินหน้าอัดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องทั้งในปัจจุบันและอนาคต จนกว่าจะมั่นใจได้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐสามารถฟื้นตัวได้อย่างแท้จริง

บลูมเบิร์กรายงานว่า ก่อนหน้านี้ เบอร์แนนคีเคยเสนองานวิชาการชิ้นหนึ่งสมัยที่ยังสอนหนังสืออยู่ในมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน โดยยกกรณีตัวอย่างของปัญหาเศรษฐกิจญี่ปุ่นขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายนโยบายการเงินของญี่ปุ่นว่า ไม่กล้าเสี่ยงพอที่จะทำทุกอย่างเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งการจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจในระดับใหญ่จำเป็นต้องพร้อมที่จะดำเนินนโยบายเชิงรุกและกล้าลองทุกอย่าง เพื่อให้ประเทศสามารถก้าวไปข้างหน้าอีกครั้งได้

จึงไม่น่าแปลกใจที่เฟดจะใช้เงินเกินตัวมากกว่างบดุลถึง 3 เท่า ในการอัดโครงการซื้อสินทรัพย์ทั้งหลาย เพื่อหวังกดต้นทุนการกู้ยืมระยะยาวให้ถูกลง นำไปสู่การกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น การซื้อบ้าน รถยนต์ และการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งเงินจากการจับจ่ายใช้สอยภายในสหรัฐนั้นคิดเป็นสัดส่วนถึง 2 ใน 3 ของเศรษฐกิจสหรัฐเลยทีเดียว ซึ่งการเดิมพันของเบอร์แนนคีนั้น ยังเห็นได้จากการใช้คิวอี 3 แบบปลายเปิด ที่ไม่จำกัดระยะเวลาอีกด้วย

ขณะที่ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์บางสำนักนั้นเชื่อว่าเบอร์แนนคี รวมไปถึงกลุ่มผู้ว่าการแบงก์ชาติยักษ์ใหญ่ของโลกภายใต้ “เอ็มไอที คอนเน็กชัน” หรือเหล่าผู้ว่าการแบงก์ชาติที่เรียนจบจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที) อาทิ มาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และเมอร์วิน คิง ประธานธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) กำลังเดิมพันครั้งใหญ่ด้วยการทุ่มหมดหน้าตักกับการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไม่กี่ปีมานี้

วอลสตรีต เจอร์นัล รายงานว่า ในทุกๆ 2 เดือน กลุ่มผู้บริหารของแบงก์ชาติหลายประเทศจะมารวมตัวกันที่สวิตเซอร์แลนด์ เพื่อพูดคุยกันเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและการเงิน โดยเฉพาะการหารือเรื่องปัญหาเศรษฐกิจในช่วงหลังมานี้

นับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ธนาคารกลางทั่วโลกนำโดยเฟด ได้อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบการเงินแล้วถึงกว่า 11 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และยังเดินหน้าอัดฉีดต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน อาทิ อีซีบี ซึ่งมีมาตรการซื้อคืนพันธบัตรในตลาดรอง เพื่อลดต้นทุนกู้ยืมให้ประเทศที่ประสบปัญหาทางการเงิน ส่วนบีโออีเดินหน้ามาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์ 6.04 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ก็ดำเนินโครงการซื้อสินทรัพย์ 1.14 ล้านล้านเหรียญสหรัฐเช่นกัน

ทั้งที่ยุทธศาสตร์การโหมกระตุ้นทางการเงินเช่นนี้ไม่เคยมีอยู่ในตำราเล่มใดมาก่อน เพราะรายล้อมไปด้วยความเสี่ยงอยู่มาก อาทิ ความเสี่ยงต่อภาวะเงินเฟ้อ และจนถึงปัจจุบันการโหมกระตุ้นเช่นนี้ก็ยังไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นความสำเร็จได้ เห็นได้จากยุโรปซึ่งยังคงเผชิญวิกฤตการณ์หนี้สาธารณะ จนเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย ขณะที่สหรัฐก็ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เต็มที่เช่นกัน

ทว่าเมื่อพิจารณาถึงทางตันของมาตรการทางการคลัง ซึ่งรายล้อมไปด้วยหนี้สาธารณะและการขาดดุลงบประมาณมหาศาลแล้ว เฟดและแบงก์ชาติหลายแห่งจึงไม่มีทางเลือกนอกจากต้องเดินหน้าลุยต่อกับมาตรการทางการเงิน

ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าการกล้าเดิมพันของเฟดนั้น นอกจากเป็นเพราะสามารถพิมพ์เงินได้โดยไม่ต้องมีทองคำเป็นหลักประกันในการพิมพ์เงินแล้ว ยังเป็นเพราะความเสี่ยงต่อภาวะเงินเฟ้อที่หลายฝ่ายกลัวกัน ไม่ใช่ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของสหรัฐ หากแต่เป็นความเสี่ยงของโลกที่ถือครองทุนสำรองระหว่างประเทศในรูปของเงินเหรียญสหรัฐ และเป็นภาระของเจ้าหนี้ที่ถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ต้องไปหาทางบริหารความเสี่ยงเงินเฟ้อกันเองมากกว่า

การเดิมพันสุดตัวของสหรัฐจึงยังคงดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องสนใจว่า โลกจะต้องแบกรับความเสี่ยงเงินเฟ้อหรือเงินร้อนไหลท่วมแทน

ทั้งนี้ แม้เงินกระตุ้นรอบใหม่จะไม่ถือว่าสูงมากจากของเดิมในโครงการโอเปอเรชันทวิสต์ แต่สิ่งหนึ่งที่สร้างความประหลาดใจให้หลายฝ่ายได้ไม่น้อยก็คือ การที่เฟดยอมผูกพันตัวเองกับระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ด้วยการผูกโยงอัตราดอกเบี้ยว่ามีส่วนสำคัญกับอัตราการว่างงานในประเทศ โดยยอมให้อัตราเงินเฟ้อสูงเคลื่อนไหวไม่เกิน 2.5% จากปัจจุบันที่ 1.7%

ที่ผ่านมานั้น ปัญหาการว่างงานถือเป็นเรื่องความรับผิดชอบของรัฐบาลมาโดยตลอด จนกระทั่งชาร์ลส์ อีวาน ประธานเฟดสาขาชิคาโก ได้กระทุ้งบทบาทของเฟดเมื่อปลายปีที่แล้วว่า ออกจะลอยตัวในปัญหาการว่างงานไปสักหน่อย ทั้งที่เรื่องของอัตราดอกเบี้ยและภาวะเงินเฟ้อนั้นเกี่ยวข้องโดยตรงกับการจับจ่ายใช้สอย ระบบเศรษฐกิจ และการว่างงานในประเทศ

เมื่อพิจารณาถึงความไร้ศักยภาพทางการคลังของสหรัฐ ที่รัฐบาลและสภาคองเกรสยังถกเถียงปัญหาหน้าผาการคลังกันไม่จบสิ้น และเสี่ยงล้มเหลวจนเงินอาจต้องหายออกไปจากระบบเศรษฐกิจสหรัฐ 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐและจีดีพีหดตัว 0.5% ในปีหน้านั้น จึงไม่มีทางเลือกอื่นในขณะนี้นอกจากมาตรการทางเงิน แม้ว่าการทุ่มงบคิวอีไปถึง 2.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐใน 2 ครั้งก่อนหน้านี้ จะไม่ได้ผลที่น่าพอใจนักก็ตาม

การเดินหน้าเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อเต็มตัวของสหรัฐ จึงเป็นทางออกที่เลี่ยงไม่ได้ของลุงแซมในตอนนี้ และเป็นความเสี่ยงตามมาของทั่วโลกที่ต้องรับมือหลังจากนี้ให้ดี