posttoday

พิษค่าแรง อวสานเอสเอ็มอีไทย

04 ธันวาคม 2555

วันที่ 1 ม.ค. 2556 ค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทยจะปรับขึ้นมาเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศแล้ว

วันที่ 1 ม.ค. 2556 ค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทยจะปรับขึ้นมาเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศแล้ว

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

วันที่ 1 ม.ค. 2556 ค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทยจะปรับขึ้นมาเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศแล้ว

แต่นโยบายนี้ยังเขย่าขวัญผู้ประกอบการไทยไม่หยุด โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กและรายย่อย หรือเอสเอ็มอี ให้บาดเจ็บล้มตายมากขึ้นทุกวัน

การประกาศนโยบายขึ้นค่าจ้างรวดเดียว 30-40% จากค่าจ้างเดิม ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย 3 ล้านราย อยู่ในภาวะช็อก ตั้งรับไม่ทัน และพยายามใช้ช่องทางของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กกร.) ผ่านทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สะท้อนเสียงถึงปัญหาธุรกิจที่จะได้รับจากการที่รัฐบาลหยิบยื่นต้นทุนเพิ่มให้

ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยตั้งท่าปิดโรงงานหนีตาย ลอยแพลูกจ้างให้ตกงาน มากกว่าเดินหน้ากัดฟันสู้ดำเนินกิจการต่อ

รัฐบาลเองก็รู้ถึงพิษสงนโยบายค่าจ้างวันละ 300 บาทเป็นอย่างดี เพราะเป้าหมายหาเสียงมัดใจเป็นหลัก ชนิดรัฐบาลทำไวทำจริง แต่ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมาเท่าที่ควร ทำให้การเดินหน้านโยบายนี้เต็มไปด้วยความทุลักทุเล

ที่เห็นได้ชัด จากเดิมที่รัฐบาลประกาศขึ้นค่าจ้างทั้งประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2555 แต่พอถึงเวลาจริงก็ต้องกลืนน้ำลายตัวเอง ขึ้นค่าจ้าง 300 บาท เพียงแค่ 7 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ และจังหวัดปริมณฑลเท่านั้น

การยอมถอย 1 ก้าว ส่วนหนึ่งต้องการชิมลางผลกระทบที่เกิดขึ้นว่าจะมีมากขนาดไหน เพื่อหาทางปรับรับมือในการขึ้นค่าจ้างทั้งประเทศที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงลดแรงต้านจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เริ่มเทใจอยู่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล

แต่เวลาที่ผ่านไป 1 ปี การหามาตรการรองรับกลับไม่มีความคืบหน้าอย่างที่ควรเป็น ทั้งที่ใกล้วันที่จะต้องใช้ค่าจ้าง 300 บาททั่วไทยในอีกไม่กี่วัน ภาครัฐและเอกชนยังปรับคลื่นให้ตรงกันไม่ได้ โดยภาคเอกชนยังยืนยันขอให้รัฐบาลเลื่อนนโยบายนี้ออกไปก่อน ขณะที่ภาครัฐก็ยืนยันเดินหน้านโยบายนี้ตามที่ประกาศหาเสียงไว้

นอกจากนี้ นโยบายค่าจ้าง 300 บาท ยังพ่นพิษให้ภาคเอกชนวงแตกเป็นเสี่ยง เมื่อ ส.อ.ท.เกิดร้อยร้าวถึงขั้นมีการรวมตัวกันปลด พยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน ส.อ.ท. ที่สมาชิกเห็นว่าเอนเอียงเอาใจรัฐบาลหนุนให้ขึ้นค่าจ้าง 300 บาท แทนที่จะเห็นใจผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกที่ได้รับผลกระทบ

แม้ว่าสมาชิก ส.อ.ท. จะรวมตัวกันแต่งตั้ง สันติ วิลาสศักดานนท์ มาเป็นประธาน ส.อ.ท. เพื่อเป็นหัวเรือใหญ่ต่อรองนโยบายขึ้นค่าจ้างกับรัฐบาล แต่รัฐบาลก็ชิงเกมอุ้ม พยุงศักดิ์ เต็มตัวว่ายังเป็นประธาน ส.อ.ท. พร้อมทั้งประชุมเดินหน้าขึ้นค่าจ้าง 300 บาท พร้อมทั้งจัดประชุมหามาตรการรองรับผลกระทบที่เกิดจากการขึ้นค่าจ้างกับ พยุงศักดิ์ ทันทีทันใด

อย่างไรก็ตาม มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีก็ยังเป็นปมร้อนเคาะไม่ลง โดยรัฐบาลเห็นชอบ 11 มาตรการเบื้องต้น ประกอบด้วย

1.การลดอัตราเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในส่วนของนายจ้างและลูกจ้างเหลือ 4% จากเดิมที่ 5%

2.มาตรการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือ 23% ในปีนี้ และเหลือ 20% ในปี 2556

3.มาตรการในการนำส่วนต่างค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นมาหักค่าใช้จ่ายได้ 1.5 เท่า

4.มาตรการในการนำค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมและพัฒนาฝีมือแรงงานตาม พ.ร.บ.พัฒนาฝีมือแรงงาน มาหักภาษีได้ 2 เท่า

5.มาตรการกู้ยืมเงินจากกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานได้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำที่ 0.1%

6.มาตรการสินเชื่อเพื่อการส่งเสริมการจ้างงาน การสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียน และการเสริมสภาพคล่องของกิจการ

7.มาตรการสินเชื่อเพื่อพัฒนาผลิตภาพด้านการผลิต

8.มาตรการค้ำประกันสินเชื่อรวม

9.มาตรการค้ำประกันสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีระยะเวลาก่อตั้ง 3-4 ปี

10.มาตรการยกเว้นภาษีนิติบุคคล กรณีการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

11.มาตรการหักค่าเสื่อมราคาเครื่องจักได้เต็มจำนวนที่ 100%

นอกจากนี้ จะมีการพิจารณาอีก 6 ข้อ ภายในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย

1.แนวทางการเพิ่มสภาพคล่อง

2.การพิจารณาลดเงินสมทบในกองทุนประกันสังคม หรือกองทุนอื่นๆ การลดอัตราภาษี และค่าธรรมเนียม

3.ทบทวนการใช้จ่ายเงินของภาครัฐให้มี ความเหมาะสมกับสถานการณ์

4.ให้มีมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการบริโภคให้เพิ่มขึ้น

5.การเพิ่มประสิทธิภาพหรือคุณภาพให้แก่ผู้ประกอบการผ่านทุนหมุนเวียนของรัฐบาล โดยนำมาใช้ในการพัฒนาและเพิ่มทักษะแรงงาน

6.ให้มีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการทราบถึงมาตรการในการให้ความช่วยเหลือดังกล่าว

เมื่อพิจารณาจากมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล จะเห็นว่ายังไม่ใช่ยาแรงที่ช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้ฟื้นจากโคม่าผลกระทบค่าจ้าง 300 บาทได้ เพราะหลายมาตรการไม่ได้ช่วยให้ภาระผู้ประกอบการเอสเอ็มอีลดลง

ตัวอย่างเช่น การลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนประกันสังคมเหลือ 4% จาก 5% การที่ค่าจ้างเพิ่มขึ้นเมื่อคิดเป็นตัวเงินที่ผู้ประกอบการต้องส่งสมทบก็ไม่ได้น้อยกว่าเดิม

หรือจะเป็นมาตรการให้นำส่วนต่างค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นมาหักค่าใช้จ่ายได้ 1.5 เท่า เดิมปกติค่าจ้างก็หักค่าใช้จ่ายได้ตามจริงอยู่แล้ว การให้หักค่าจ้างส่วนเพิ่มได้เพิ่มอีกครึ่งเท่า เมื่อดีดลูกคิดภาษีที่ได้ลดก็ยังเป็นจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับภาระค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่การลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23% ในปีนี้ และ 20% ในปีหน้า ที่รัฐบาลพยายามบอกว่าช่วยลดภาระให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีชดเชยกับค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น ก็ไม่ตรงกับสภาพการณ์ที่เป็นจริง เพราะไม่ว่าอัตราภาษีเป็นเท่าไร ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ก็แทบไม่มีกำไร ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว

เมื่อเป็นเช่นนั้น การที่ต้องมาโดนพิษค่าจ้างเพิ่มซ้ำเติมรายจ่ายมากขึ้นไปอีก ทำให้กำไรก็แทบหาไม่เจอ ทำให้อัตราภาษีนิติบุคคลที่ลดลงก็ไม่ได้ช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่วนใหญ่

ส่วนมาตรการด้านสินเชื่อและการค้ำประกันผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ก็จะช่วยผู้ประกอบการที่ยังใจสู้เดินหน้าต่อไปจำนวนหนึ่งเท่านั้น สิ่งที่เอสเอ็มอีเผชิญคือต้นทุนที่สูงขึ้น ไม่ใช่การขาดเงินทุนหมุนเวียน มีปัญหาต้นทุนแต่เอาเงินมาให้เป็นหนี้เพิ่ม เป็นการเกาไม่ถูกที่คัน

ฉะนั้น แน่นอนว่าจะมีผู้ประกอบการส่วนหนึ่งที่ถอดใจมองว่าการต้องแบกหนี้ก้อนโตมาโปะค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นได้ไม่คุ้มเสีย สู้ปิดกิจการตอนนี้เจ็บตัวน้อย

สำหรับมาตรการที่รัฐบาลจะคิดเข้ามาเสริมอีก 6 มาตรการ ผู้ประกอบการก็มองว่าเป็นมาตรการทางอ้อม ไม่ใช่มาตรการทางตรงตามที่ผู้ประกอบการต้องการ เช่น การตั้งกองทุน 5 หมื่นล้านบาทมาอุ้มผู้ประกอบการ หรือว่าการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ที่รัฐบาลก็ปิดประตูปฏิเสธทันที เพราะจะเป็นการพอกหนี้ให้กับรัฐบาล และทำให้รายได้ของประเทศมีปัญหา

นโยบายขึ้นค่าจ้าง 300 บาท นอกจากส่งผลกระทบผู้ประกอบการไปไม่รอด และแรงงานเองก็เจอหางเลขไม่ได้ 300 บาท เพราะต้องตกงานแล้ว นโยบายนี้ยังส่งผลกระทบด้านอื่นๆ อีกด้วย

ด้านแรก ปฏิเสธไม่ได้ว่าการขึ้นค่าจ้างทำให้เงินเฟ้อสูง ราคาสินค้าแพงขึ้น เห็นได้จากเมื่อต้นปีเมื่อมีการปรับขึ้นค่าจ้างในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ราคาสินค้าก็ขยับขึ้น ส่วนการขึ้นค่าจ้างทั่วไทยรอบใหม่ไม่กี่วัน ผู้ประกอบการก็เตรียมพาเหรดขึ้นราคาสินค้ารอบใหม่กันยกใหญ่ ส่งผลกระทบทุกหย่อมหญ้า ทั้งได้ขึ้นค่าจ้างและไม่ได้ขึ้น ที่หนักที่สุดคือคนตกงาน เพราะนายจ้างสู้ค่าจ้าง 300 บาทไม่ได้

นอกจากนี้ นโยบายขึ้นค่าจ้างยังส่งผลกระทบด้านสังคม เพราะโรงงานเกิดใหม่จะต้องอยู่ในที่สะดวกต่อการขนส่ง เช่น จังหวัดที่มีท่าเรือหรือใกล้เมืองหลวง ไม่จำเป็นต้องไปตั้งห่างไกลต่างจังหวัดเพื่อจ้างแรงงานถูกอีกต่อไป เมื่อเป็นเช่นนั้นจะทำให้ความแออัดในเมืองที่เจริญ หรือเมืองอุตสาหกรรมจะมีปัญหามากขึ้น

จะเห็นว่านโยบายขึ้นค่าจ้างของรัฐบาลส่งผลกระทบวงกว้าง นอกจากทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ต้องอวสานปิดฉากตัวเอง เพราะรัฐบาลไม่มีมาตรการที่ออกมาบรรเทาอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังมีปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมวิ่งไล่ตามหลังเป็นโจทย์ใหญ่ให้รัฐบาลแก้ไม่ตกอีกด้วย

หากรัฐบาลไม่สามารถออกมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้ทันก่อนที่ค่าจ้างใหม่จะใช้ในต้นปีนี้ รัฐบาลก็เตรียมหามาตรการรับมือคนว่างงานได้เลย