posttoday

วิกฤต ศก.โลกรุมเร้าฉุดปัญหาโลกร้อนลงคลอง

30 พฤศจิกายน 2555

เป็นที่แน่ชัดว่าปัญหาโลกร้อนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้กลายเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ

เป็นที่แน่ชัดว่าปัญหาโลกร้อนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้กลายเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ

โดย...พันธสิทธิ เจริญพาณิชย์พันธ์

และมุ่งแก้ไขกันอย่างจริงจังมากขึ้น เพราะหลายประเทศเริ่มรับรู้ถึงผลกระทบ และความเสียหายที่เกิดขึ้นมากจากโลกร้อน ซึ่งเป็นต้นเหตุนำไปสู่การเกิดสภาวะอากาศที่แปรปรวนมากขึ้น

ไล่เรียงไปตั้งแต่การเกิดแผ่นดินไหว และตามด้วยคลื่นยักษ์สึนามิที่ญี่ปุ่นในต้นปี 2554 เหตุน้ำท่วมใหญ่ของไทยช่วงปลายปีเดียวกัน ซึ่งทางสถาบันวิจัยเยอรมันวอทช์ ชี้ว่าเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจร้ายแรงที่สุดในปี 2554 เมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจของประเทศ หรือกรณีล่าสุดอย่างเช่นพายุเฮอริเคนแซนดี ที่เข้าถล่มทางชายฝั่งด้านตะวันออกสหรัฐ เมื่อต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา จนนำไปสู่ความเสียหายสูงถึง 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.5ล้านล้านบาท)

ขณะที่รายงานดัชนีความเสี่ยงด้านสภาวะอากาศของสถาบันวิจัยในเยอรมนีดังกล่าว ระบุว่า ในช่วง 20 ปีหลังที่เกิดสภาวะอากาศและพายุที่รุนแรงกว่า 1.5 หมื่นครั้ง ได้นำไปสู่การเสียชีวิตของคนทั่วโลกมากกว่า 5.3 แสนคน ขณะที่ความเสียหายทางเศรษฐกิจรวมแล้วคร่าวๆ ตกอยู่ที่ 2.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 75 ล้านล้านบาท)

ภาวะโลกร้อนดังกล่าวนั้นดูเหมือนว่าจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นไปอีก เพราะการแก้ไขปัญหาของประเทศต่างๆ ทั่วโลกยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร โดยเมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ องค์การด้านความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศชื่อว่า ดีเออาร์เอ ได้ออกมาเตือนว่าหากยังไม่มีการแก้ไขปัญหาโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนภายในปี 2573 จะมีคนทั่วโลกเสียชีวิตจากสภาพอากาศที่แปรปรวนมากกว่า 100 ล้านคน ขณะที่การขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของโลกจะหายไปถึง 3.2% และเพิ่มเป็น 10% ในปี 2643

ส่วนธนาคารโลกก็ได้ออกมาเตือนเมื่อเร็วๆ นี้เช่นกันว่า ภายในศตวรรษนี้ หรืออย่างเร็วที่สุดในปี 2603 หากยังไม่มีมาตรการจำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นตัวการสร้างปัญหาโลกร้อนออกมาได้ในเร็ววันนี้ อุณหภูมิทั่วโลกจะร้อนขึ้นถึง 4 องศาเซลเซียส จากระดับอุณหภูมิช่วงก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งนั่นจะทำให้เกิดภาวะอากาศแปรปรวน และจะส่งผลกระทบชีวิตความเป็นอยู่ของคนในหลายประเทศทันที โดยเฉพาะผู้ที่อยู่อาศัยในเมืองกลุ่มเสี่ยงที่มีพื้นที่ติดอยู่ตามแนวชายฝั่ง เช่น กรุงเทพฯ ของไทย โฮจิมินห์ซิตี ของเวียดนาม และกัลกัตตา ของอินเดีย

สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยที่เข้ามาบีบคั้นให้นานาประเทศกว่า 190 ชาติ ซึ่งเข้าร่วมการประชุมหารือเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อนของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ระหว่างวันที่ 26 พ.ย.– 3 ธ.ค.นี้ เร่งวางมาตรการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพให้เกิดขึ้นเร็วที่สุด เพื่อแทนที่ข้อตกลงฉบับเดิมที่ชื่อว่า พิธีสารเกียวโต ที่จะหมดอายุลงในสิ้นปีนี้ หลังจากใช้มาตั้งแต่ปี 2540 ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อจำกัดไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงเกินกว่า 2 องศาเซลเซียส ก่อนหน้ายุคปฏิวัติอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากรอบการประชุมจะมีขึ้นเพื่อให้ประเทศต่างๆ มาหารือถึงข้อเห็นต่างระหว่างประเทศสมาชิก และคาดหวังว่าจะนำไปสู่การปูทางเพื่อนำไปสู่การเคาะข้อตกลงฉบับใหม่ในปี 2558 และบังคับใช้จริงในปี 2563 แต่หากลองมองและพินิจพิเคราะห์ตามความเป็นจริงแล้ว จะพบว่าเป้าหมายดังกล่าวที่วางไว้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเพ้อฝันสิ้นดี และคาดว่าการประชุมครั้งนี้ก็จะไม่มีอะไรที่คืบหน้าไปมากนัก

เนื่องจากประเทศต่างๆ ยังคงมีความแตกแยกในประเด็นด้านเงินช่วยเหลือจากกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งนำโดยสหภาพยุโรป (อียู) ญี่ปุ่น และแคนาดา ที่จะมอบให้กับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่นำโดยจีน อินเดีย บราซิล เพื่อใช้ในการปรับตัวตามข้อกำหนดของการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งปัจจุบันยังคงไม่มีความชัดเจนแต่อย่างใด

เห็นได้จากการที่จีนและบราซิล ที่ได้ออกมาเรียกร้องให้กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วเร่งแจงรายละเอียดถึงแผนการมอบเงินช่วยเหลือมูลค่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3 ล้านล้านบาท) ต่อปี จากปี 2556 จนถึงปี 2563 ให้ชัดเจน ซึ่งทางตัวแทนฝ่ายจีน ที่เข้าร่วมประชุมถึงกับย้ำว่า เงินช่วยเหลือดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการการประชุมครั้งนี้ว่าจะสำเร็จหรือไม่

นอกจากนี้ การมอบเงินช่วยเหลือของกลุ่มประเทศพัฒนาก่อนหน้านี้มูลค่า 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อปี 2552 ก็ไม่เป็นไปตามสัญญาที่ให้ไว้ โดยพบว่ามีการส่งมอบให้จริงเพียงแค่ 2.36 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 7 แสนล้านบาท) เท่านั้น และส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ที่ต้องชำระคืน ไม่ใช่เงินให้เปล่า สร้างความผิดหวังและทำลายความเชื่อมั่นของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีต่อประเทศพัฒนาแล้วที่เป็นหัวหอกหลักในการผลักดันข้อตกลงแก้ไขโลกร้อนอย่างยิ่ง

สาเหตุและปัจจัยสำคัญที่ทำให้กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วไม่สามารถทำได้ตามสัญญา และนำไปสู่การสั่นคลอนความเชื่อถือระหว่างกันก็คือ การที่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วล้วนแต่ถูกวิกฤตเศรษฐกิจเล่นงานอย่างหนัก จนทำให้การนำเงินออกไปช่วยเหลือประเทศอื่นๆ เป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นทางฝั่งของกลุ่มยูโรโซน ที่ต้องเผชิญภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 3 ปี หลังจากที่จีดีพีไตรมาส 3 ปีนี้หดตัวลงที่ 0.1% ส่วนไตรมาสก่อนหดตัวลง 0.2 % ซึ่งแนวโน้มก็คาดว่าจะยังย่ำแย่อย่างต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า โดยคาดว่าจะหดตัวที่ 0.1% ขณะที่อัตราการว่างงานเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ก็พุ่งขึ้นเป็นสถิติสูงสุดนับแต่ก่อตั้งยูโรโซนที่ 11.6% โดยเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ 11.5%

ส่วนญี่ปุ่นก็ตกอยู่ในสภาวะเลวร้ายไม่แพ้กัน เมื่อการขยายตัวเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ปีนี้ก็ก้าวสู่ภาวะหดตัวเกือบ 1% ส่วนภาคการส่งออกเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ก็ขาดดุลติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันในปีนี้ที่ 5.49 แสนล้านเยน (ราว 2.07 แสนล้านบาท) และเป็นตัวเลขที่เลวร้ายที่สุดในรอบกว่า 30 ปี

ด้วยภาวะทางเศรษฐกิจและกระเป๋าเงินในบ้านที่ย่ำแย่อยู่เช่นนี้เอง จึงทำให้ความใส่ใจและการให้ความสำคัญ รวมถึงบทบาทกับการแก้ปัญหาโลกร้อนของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่เป็นจักรกลหลักในการขับเคลื่อนต้องลดน้อยถอยลงไป ดังเห็นได้จากการประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพยุโรป (อียูซัมมิต) 4 ครั้งล่าสุดที่ผ่านมา ไม่มีการยกประเด็นด้านปัญหาโลกร้อนมาพูดคุยเลยแม้แต่น้อย

ขณะที่ทางฝั่งของสหรัฐก็ดูเหมือนว่าจะให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจภายในเป็นหลักจนลืมเรื่องปัญหาของโลก ดังจะเห็นได้ว่าการโต้วาทีประชันวิสัยทัศน์เพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อช่วง 2 เดือนก่อนระหว่าง บารัก โอบามา และมิตต์ รอมนีย์ ก็แทบจะไม่มีการถกเถียงกันถึงการกำหนดท่าทีเกี่ยวกับปัญหาโลกร้อนของสหรัฐเลย และล่าสุดก็คือการที่สหรัฐต้องมาใส่ใจกับการแก้ปัญหาหน้าผาการคลัง และระดับหนี้ที่จะชนเพดานให้ทันก่อนปีหน้า ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจประเทศ

“สิ่งที่ทำให้ผมกลัวที่สุด คือ ปัญหาเศรษฐกิจเหล่านี้กำลังทำให้นโยบายแก้ไขโลกร้อนหายไปจากประเด็นระหว่างประเทศที่นานาชาติต้องร่วมแก้ไข” ฟาติห์ บิรอล หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากองค์การพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) กล่าว

ขณะที่ทางฝั่งของ คอนนี เอชเดการ์ด ข้าหลวงใหญ่ด้านสภาวะอากาศของคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ยอมรับว่า ปัญหาวิกฤตหนี้ยุโรปได้เหนี่ยวรั้งจนทำให้ยุโรปไม่สามารถทุ่มความสนใจไปที่การแก้ปัญหาด้านโลกร้อนอย่างจริงจัง พร้อมกับเรียกร้องให้ทั่วโลกเข้าใจถึงสภาวะที่ยุโรปกำลังประสบอยู่ ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นปัญหาด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงปัญหาด้านสังคมและคนตกงานด้วย ดังนั้นยุโรปจึงสามารถผลักดันโครงการได้เพียงบางด้านเท่านั้น

ด้วยสภาวการณ์เช่นนี้ จึงทำให้ความหวังว่าจะได้เห็นความคืบหน้าจากการประชุมเพื่อนำไปสู่การหาหนทางเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อน จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เพราะในเมื่อหัวจักรสำคัญของการแก้ปัญหาอย่างยุโรป และประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่นและสหรัฐ ต่างจมอยู่กับภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่

โลกคงต้องได้แต่ทำใจ และหวังได้แต่ปาฏิหาริย์เท่านั้น