posttoday

พิษหนี้ครัวเรือน "พุ่งทะยาน" ฉุดกำลังซื้อหัวทิ่มระยะยาว

29 พฤศจิกายน 2555

สัญญาณหนี้สินครัวเรือนไทย ยามนี้ต้องเรียกได้ว่าอยู่ในช่วง “ฟักไข้” ก็ว่าได้

สัญญาณหนี้สินครัวเรือนไทย ยามนี้ต้องเรียกได้ว่าอยู่ในช่วง “ฟักไข้” ก็ว่าได้

โดย...จตุพล สันตะกิจ

ข้อมูลที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แสดงความเป็นห่วงภาวะหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล ในช่วงไตรมาส 3 ที่ทะยานขึ้นจนมีมูลค่า 2.74 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.4% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

พฤติกรรมของครัวเรือนไทยมีการใช้จ่ายเกินตัวมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้จ่ายของผู้มีรายได้ปานกลางถึงน้อย หรือกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 2.5 หมื่นบาทต่อเดือน ในขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้คืนของประชาชนลดลง โดยเฉพาะหนี้รายย่อย

คือสิ่งที่ สุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการ สศช. ระบุในการแถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 3 ปี 2555

ก่อนหน้านี้ราวต้นเดือน ก.ย. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เริ่มส่งสัญญาณเตือนภาวะหนี้สินครัวเรือนไตรมาสแรกและไตรมาส 2 ของปีนี้ที่มีขยายตัวใน “อัตราเร่ง” อย่างมีนัยสำคัญ

โดยสัดส่วนหนี้สินต่อรายได้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเป็น 40-50% ของรายได้รวม เทียบกับอดีตที่สัดส่วนหนี้สินต่อรายได้ครัวเรือนอยู่ที่ 30%

เช่นเดียวกับสัญญาณการผิดนัดชำระหนี้สินเข้าสู่ระดับ “สีเหลือง”

เมื่อ ธปท.พบว่าสินเชื่อผิดนัดชำระเกิน 1 เดือน โดยเฉพาะการผิดนัดชำระสินเชื่อส่วนบุคคลที่เร่งขึ้นในช่วง 6 เดือนล่าสุด หรือตั้งแต่เดือน เม.ย.ก.ย. 2555 ท่ามกลางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัว

ซึ่งนั่นจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อการชำระหนี้ และกระทบต่อคุณภาพสินเชื่อของสถาบันการเงินในระยะต่อไป

“กนง.เราเห็นหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเยอะ แล้วเราก็ทักไป แต่เดี๋ยวนี้เป็นไปกันหมด เกาหลีใต้ก็เป็น และเกิดขึ้นทั่วทั้งภูมิภาคเลย เพราะสินเชื่ออุปโภคบริโภค อัตราผลตอบแทนมันสูงมากกว่ากู้ยืมปกติ ที่ผลตอบแทนต่ำ ทุกคนก็เลยไปลุยหนี้ครัวเรือน ให้คนมีบัตรเครดิตเยอะ มีทะเบียนรถก็กู้ได้” ณรงค์ชัย อัครเศรณี กรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ระบุ

ณรงค์ชัย ตั้งข้อสังเกตว่า หนี้สินครัวเรือนที่ขยายตัวเร็วมากนั้น เป็นเพราะอัตราดอกเบี้ยโหดมาก และแม้ว่าการก่อหนี้เพื่อครัวเรือนเป็นเรื่องของผู้บริโภค แต่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาดูแลและคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม

อย่างไรก็ตาม คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การเร่งตัวของหนี้สินครัวเรือนในระบบเศรษฐกิจไทย เป็นผลพวงจากนโยบายกระตุ้นกำลังซื้อของภาคครัวเรือน เพื่อทดแทนหัวรถจักรเศรษฐกิจหลักๆ โดยเฉพาะการส่งออกที่อยู่ในสภาพ “ร่อแร่”

ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจยุโรปดิ่งเหวจากวิกฤตหนี้ เศรษฐกิจสหรัฐที่ยังอยู่ในภาวะลูกผีลูกคน เศรษฐกิจญี่ปุ่นก็ยังจมพิษไข้ ขณะที่เศรษฐกิจจีนเริ่มเข้าสู่ภาวะชะลอตัว ส่งผลให้ 10 เดือนแรกของปีนี้การส่งออกของไทยขยายตัวเพียง 0.34% และยังต้องลุ้นว่าในช่วงที่เหลือของปีการส่งออกจะไต่เขาขึ้นไปที่ระดับ 5% ได้หรือไม่

ขณะที่การลงทุน ซึ่งเป็นหัวใจที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพมากกว่า กลับพบว่าอยู่ในภาวะ “ติดหล่มโคลนเลน”

แม้ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง จะเร่งรัดเข็นโครงการลงทุนให้เป็นหัวรถจักรขับเศรษฐกิจไทยควบคู่กับการลงทุนเอกชน แต่ปรากฏว่างบลงทุนภายใต้งบ 2555 เบิกจ่ายได้เพียง 66% จากเป้าหมาย 72%

ส่วนงบลงทุนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ที่มีการคาดหวังว่าจะทำให้เงินในระบบหมุนเร็วขึ้น กลับพบว่ามีการเบิกจ่ายได้ไม่ถึง 1 หมื่นล้านบาท

ส่วนโครงการประชานิยมของรัฐบาล ที่มีเป้าหมายทั้ง “มิติ” ทางการเมืองและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการอัดฉีดเงินเข้าระบบเพื่อกระตุ้นการบริโภค เช่น การรับจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ด 1.5 หมื่นบาทต่อตัน ปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เพิ่มเงินเดือนข้าราชการ 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน บัตรเครดิตเกษตรกร คืนภาษีรถคันแรก และบ้านหลังแรก เป็นต้น

ถือเป็นความพยายามของทีมเศรษฐกิจรัฐบาล ที่โหมกระพือโครงการประชานิยม

โดยเฉพาะโครงการประชานิยมที่ส่งตรงไปยังเศรษฐกิจฐานราก เพื่อเป็น “ยาโด๊ป” ไปกระตุ้นเศรษฐกิจต่างจังหวัดให้คึกคักระยะสั้น หลังเศรษฐกิจโลกมีทีท่าที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ และเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ก็เพิ่งผ่านพ้นไปไม่ถึง 1 ปี

แต่นั่นกลับทำให้หนี้สินครัวเรือนถีบตัวสูงขึ้นในอัตราเร่งเช่นกัน อีกทั้งทำให้สถานการณ์หนี้สินครัวเรือนมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น

กระทั่ง ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. ต้องเชิญผู้บริหารธนาคารพาณิชย์มาหารือเกี่ยวกับการก่อหนี้สินครัวเรือนที่เร่งตัว ในขณะที่ครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ตกอยู่ในสถานะ “จ่ายหนี้” ไม่ได้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

ด้าน สศช.ที่อ้างแหล่งข้อมูลจาก ธปท. เตือนว่า หนี้สินครัวเรือนไตรมาส 3 ที่เพิ่มขึ้น พบว่าสินเชื่อซื้อรถยนต์เพิ่มขึ้น 33.6% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นการใช้สิทธิโครงการรถคันแรก สินเชื่อเพื่อบริโภคอื่นๆ เพิ่มขึ้น 30.3% สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น 10.3% เนื่องจากโครงการบ้านหลังแรก และกู้เงินเพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัยหลังน้ำท่วม จะเห็นว่าทุกอย่างมีการก่อหนี้เพิ่มขึ้น

ในขณะเดียวกัน ความสามารถการชำระหนี้ของครัวเรือนกลับลดลง และครัวเรือนมีผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

โดยไตรมาส 3 พบว่ามูลค่าสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่ผิดนัดชำระเกิน 3 เดือนเพิ่มขึ้น 37.8% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วมูลค่า 7,382 ล้านบาท และสินเชื่อบัตรเครดิตผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนเพิ่มขึ้น 11.1% มูลค่า 5,393 ล้านบาท และมีหนี้ที่ก่อไม่ให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 5 ไตรมาสติดต่อกัน

“เอ็นพีแอลที่เกิดจากสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นต่อเนื่องถึง 5 ไตรมาส โดยไตรมาส 3 ปี 2555 สัดส่วนหนี้เอ็นพีแอลอยู่ที่ 21.4% ของสินเชื่อรวมเพื่อการบริโภค จากไตรมาส 2 ปี 2554 ที่สัดส่วนหนี้เอ็นพีแอลอยู่ที่ 16.4% ของสินเชื่อรวมเพื่อบริโภค” สุวรรณี บอก

หลากมรสุมที่รุมเร้าเหล่านี้เป็นสัญญาณที่ชี้ว่า เศรษฐกิจมหภาคของไทยอยู่ในภาวะ “สุ่มเสี่ยง”

ไม่ต่างจากอัตราการออมของครัวเรือนไทยที่ “น่าห่วง” ไม่แพ้กัน

เพราะครัวเรือนไทยมีอัตราการออมเพียง 7.8% ของจีดีพี ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอาเซียนด้วย หรือญี่ปุ่นที่มีอัตราการออม 50% ของจีดีพี ชี้ให้เห็นว่าครัวเรือนไทยอยู่ภาวะ “แก่แล้วยังจน” ต่างจากญี่ปุ่นที่ “รวยก่อนแก่”

หากพิเคราะห์ปัจจัยเศรษฐกิจในระยะสั้นและระยะกลาง จะเห็นได้ว่าหนี้สินครัวเรือนมีแนวโน้มทะยานต่อเนื่อง เพราะรายได้ของครัวเรือนอยู่ในระดับที่น้อยกว่ารายจ่าย

อีกทั้งครัวเรือนยังแบกรับภาระดอกเบี้ยจากหนี้สินที่มีอยู่เดิม โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเพื่อการบริโภคที่อยู่ในอัตราสูงถึง 2230% เป็นอย่างน้อย

นี่จึงเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้รายจ่ายครัวเรือนเพิ่มขึ้น “ทวีคูณ” และตามไม่ทันกับรายได้ในอนาคต

ในขณะที่การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ ที่มีผลวันที่ 1 ม.ค. 2556 จะเป็น “ดาบสองคม” เช่นกัน

เพราะทางหนึ่ง อาจทำให้ครัวเรือนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น แต่ผลกระทบอีกทางหนึ่งจะส่งผลกระทบทางอ้อมให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากผู้ประกอบการผลักภาระต้นทุนค่าจ้างไปยังราคาสินค้า ทำให้ผู้บริโภคมีค่าครองชีพสูงขึ้น

เช่นที่ สศช.วิเคราะห์ว่า การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ไม่มีผลกระทบต่ออัตราว่างงาน เพราะผู้ประกอบการยังรักษาการจ้างงานไว้ แต่ใช้วิธีปรับลดชั่วโมงการทำงานของแรงงานลงแทน ส่งผลให้มีแรงงานทำงานต่ำกว่า 35 ชั่วโมง อยู่ที่ 6.16 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 10% ซึ่งมีผลต่อรายได้และคุณภาพชีวิตของครัวเรือนที่ลดลงอย่างมี “นัยสำคัญ”

นอกจากนี้ โอกาสการหางานทำของผู้จบการศึกษาจะยากขึ้น เพราะผู้ประกอบการจะชะลอการจ้างงานเพิ่ม หรือรับเฉพาะผู้ที่มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการเท่านั้น

และที่สำคัญต้องไม่ลืมว่า การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ในวันที่ 1 ม.ค. 2556 นั้น จะพบว่าตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 7) กำหนดให้ “คง” ค่าจ้างขั้นต่ำที่อัตรา 300 บาทต่อวันต่อไป 2 ปี คือ ปี 2557 และ 2558 ในขณะที่ค่าครองชีพไม่ได้หยุดเดิน มีแต่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี

ตรงนี้ถือเป็นปัจจัยที่กระหน่ำซ้ำเติมให้หนี้สินครัวเรือนและหนี้เอ็นพีแอลระดับครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้

ไม่เพียงเท่านั้น โครงการรับจำนำสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าวเปลือกราคาสูงกว่าตลาด 40% ทำให้แรงงานนอกภาคเกษตรหันเหไปสู่ภาคเกษตรเพิ่มขึ้น หรือเรียกได้ว่า “ภาคเกษตร” เป็นเบาะรองรับไม่ให้อัตราว่างงานเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท และบรรเทาภาระหนี้สินครัวเรือนได้ระดับหนึ่ง

แต่ทว่า โครงการรับจำนำข้าวเปลือกแต่ละปี ทำให้รัฐบาลขาดทุนนับแสนล้านบาท ไม่นับค่าบริหารจัดการอีกปีละ 4,800 ล้านบาท

เรียกได้ว่า การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท และการรับจำนำข้าวเปลือก 1.5 หมื่นบาทต่อตัน เป็นนโยบาย “งูกินหาง” ที่มีผลกระทบทางตรงและทางอ้อมต่อรายได้และหนี้สินครัวเรือน รวมทั้งเป็นการสร้างที่ดูดเงินออกจาก “กระเป๋า” รัฐบาล

ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่การดำเนินนโยบายการเงิน และนโยบายการคลังต้องสมดุล ไม่สุดโต่ง สกัดกั้นไม่ให้หนี้สินครัวเรือนเพิ่มจนหยุดไม่อยู่กระทั่งเกิดภาวะหนี้สินรุงรัง นั่นจะทำให้ท้ายที่สุด ความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศถูกบั่นทอนลง กำลังซื้อจะทรุดฮวบ โดยเฉพาะกำลังซื้อครัวเรือน

เศรษฐกิจที่กำลังคึกคักกระชุ่มกระชวยอยู่ในวันนี้ อาจอยู่ในอาการป่วยเรื้อรังยาวนับ 10 ปีก็เป็นได้ ถ้าไม่หามาตรการปรับปรุงแก้ไขในระยะที่เพิ่งเริ่มเป็นไข้

เราเตือนคุณแล้ว