posttoday

จับตาอียูปรับกฏเครดิตเรตติ้งพลิกมาตรฐาน หรือเปลี่ยนคนคุม

29 พฤศจิกายน 2555

บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือทั้งหลายต้องมีความโปร่งใส ต้องเคารพวาระการจัดอันดับเครดิตของประเทศนั้นๆ

บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือทั้งหลายต้องมีความโปร่งใส ต้องเคารพวาระการจัดอันดับเครดิตของประเทศนั้นๆ

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

“และต้องอธิบายแจกแจงเหตุผลให้กระจ่างสำหรับการจัดอันดับหนี้สาธารณะของประเทศหนึ่งๆ โดยที่ประเทศนั้นๆ ไม่ได้ร้องขอ”

ชัดเจน หนักแน่น และค่อนข้างดุดันทีเดียว สำหรับความเห็นของมิเชล บาร์นิเยร์ ข้าหลวงใหญ่ด้านการเงินของคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ผู้รับผิดชอบดูแลด้านกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ในสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งกล่าวในงานแถลงข่าวเผยมติของกลุ่มอียูที่จะให้มีกฎระเบียบเพื่อจำกัดควบคุมการทำงานของบรรดาบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่างๆ

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ เมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา บรรดาชาติสมาชิกอียูต่างเห็นร่วมกันที่จะจัดการควบคุมระบบการจัดอันดับของบริษัทเหล่านี้เป็นการถาวร โดยกฎระเบียบใหม่ครั้งนี้จะทำให้ประเทศต่างๆ สามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น เช่น กรณีที่การจัดอันดับหนี้สาธารณะของประเทศหนึ่งๆ ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไม่ตรงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น

ขณะเดียวกันข้อบังคับฉบับใหม่ยังรวมถึงการกำหนดระยะเวลาให้บริษัทเหล่านี้จัดการจัดอันดับ และให้ตีพิมพ์ผลได้หลังภาคธุรกิจปิดทำการ หรืออย่างน้อยหนึ่งชั่วโมงก่อนการเปิดตลาดอียู เพื่อป้องกันไม่ให้การซื้อขายในตลาดต้องหยุดชะงัก

หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นมาตรการป้องกันตัวจากบรรดาบริษัทจัดอันดับเหล่านี้ โดยแม้ว่ากฎข้อบังคับดังกล่าวจะอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ก็ถือเป็นการประกาศศึกอย่างเป็นทางการของอียูที่มีต่อบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ตัวการที่บรรดาประเทศต่างๆ ในภูมิภาคยุโรปกล่าวโทษว่ามีส่วนสำคัญในการขัดขวางกระบวนการแก้วิกฤตหนี้สาธารณะของตนเอง แถมยังทำให้สถานการณ์หนี้ของภูมิภาคเลวร้ายลงอย่างรุนแรง เนื่องจากทำให้นักลงทุนหมดความน่าเชื่อถือและมองว่าประเทศเหล่านั้นมีความเสี่ยงไม่สมควรลงทุน

กลายเป็นประเด็นที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดต่อไปว่า อียูจะจัดการให้ขั้นตอนการดำเนินงานของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่อจากนี้เป็นไปในทิศทางใด และจะสามารถเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบันที่เป็นอยู่ได้มากเพียงไร

ทั้งนี้ อาการเขม่นระหว่างผู้นำประเทศในอียูกับบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะ 3 บริษัทจัดอันดับยักษ์ใหญ่อย่าง มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (เอสแอนด์พี) และฟิทช์ เรทติ้งส์ ซึ่งมีอิทธิพลครอบคลุมการจัดอันดับในตลาดรวมกันกว่า 90% เริ่มแสดงสัญญาณชัดเจนขึ้นเมื่อช่วงต้นปีนี้

เพราะหลังจากที่ผ่านปีใหม่มาได้เพียงไม่ถึง 2 สัปดาห์ดี เอสแอนด์พีก็ประกาศช็อกโลกด้วยการหั่นอันดับ 9 ประเทศในยุโรป คือ อิตาลี สเปน ไซปรัส โปรตุเกส ออสเตรีย สโลวาเกีย สโลวีเนีย มอลตา และฝรั่งเศส โดยให้เหตุผลว่า แผนมาตรการรัดเข็มขัดและเพิ่มวินัยทางการคลังของรัฐบาลไม่เพียงพอแก้ปัญหาหนี้ และรังแต่จะทำให้เกิดกีดกันทางการค้าเพื่อปกป้องตนเองมากขึ้นแทน

หลังจากนั้นช่วงหลายเดือนต่อมา ทั้งเอสแอนด์พี มูดี้ส์ และฟิทช์ ก็พร้อมใจปรับลดอันดับอิตาลีและสเปน จนใกล้เคียงกับอันดับ “จังก์” หรือขยะ ขณะที่ประเทศกรีซและโปรตุเกส แทบไม่ต้องเอ่ยถึง เพราะอันดับร่วงดิ่งจนหมดความน่าเชื่อถือไปนานแล้ว

ล่าสุด มูดี้ส์จัดการเฉือนอันดับความน่าเชื่อถือของฝรั่งเศส หนึ่งในประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในยุโรป และถือเป็นผู้สนับสนุนหลักในการให้เงินช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกอียูที่ประสบปัญหาหนี้ จากอันดับสูงสุด AAA เหลือ AA+ ตามรอยเอสแอนด์พีที่ในช่วงเวลาเดียวกันเดินหน้าหั่นอันดับเครดิตของประเทศฮังการีจาก BB+ เป็น BB

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์หลายสำนักเห็นตรงกันว่า สิ่งที่น่ากลัวที่สุดสำหรับผลการจัดอันดับไม่ได้อยู่ที่ว่าระดับของประเทศจะมากหรือน้อย แต่อยู่ที่การจัดอันดับของบริษัทดังกล่าวไม่ได้มีสถานะเป็นเพียงแค่ความคิดเห็นอีกต่อไป แต่กลับกลายเป็นสิ่งที่นักลงทุนยึดถือเชื่อมั่นอย่างจริงจัง

เท่ากับว่า ถ้าเอสแอนด์พี มูดี้ส์ หรือฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศหั่นอันดับของประเทศหนึ่งๆ นักลงทุนทั่วโลกพร้อมจะหมดความน่าเชื่อถือในประเทศนั้นๆ ทันที เห็นได้จากเพียงแค่ชั่วข้ามคืนหลังจากมูดี้ส์หั่นอันดับฝรั่งเศส ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลฝรั่งเศสซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่สะท้อนความเชื่อถือที่ตลาดมีต่อประเทศก็ปรับเพิ่มขึ้นทันที 0.02% หรือเศรษฐกิจกรีซที่ร่อแร่จนเหลือทางเลือกเพียงหนึ่งเดียวคือพึ่งพาเงินจากชาติสมาชิกด้วยกันเอง เหตุจากนักลงทุนต่างหลบลี้หนีหน้า

และไม่น่าแปลกใจสักนิดที่บรรดาผู้นำหรือรัฐมนตรีของอียู รวมถึง โอลลี เรห์น ข้าหลวงใหญ่ด้านเศรษฐกิจของอีซีจะลุกขึ้นออกมาประณามการกระทำดังกล่าว ว่าเป็นการตัดสินใจที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น พร้อมวอนขอให้นักลงทุนทั่วโลกอย่าเชื่อจริงจัง

ต้องยอมรับว่าในสภาพที่กำลังหาทางแก้ไขวิกฤตหนี้สาธารณะ รัฐบาลหลายๆ ประเทศสามารถประคับประคองมีเงินหมุนเวียนใช้จ่ายมาได้จนถึงทุกวันนี้เพราะความเชื่อถือที่นักลงทุนยังมีให้ผ่านพันธบัตรรัฐบาล

ทว่าในทางกลับกัน เมื่อใดก็ตามที่นักลงทุนหมดความมั่นใจ นอกจากจะไม่ได้เงินมาช่วยในระหว่างหาทางกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว ยังต้องทุ่มทุนเพิ่มอัตราผลตอบแทนเพื่อดึงดูดเหล่านักลงทุน จนกลายเป็นงานยากสองต่อที่จะต้องจัดการ

ผลข้างต้น ส่งผลให้บรรดาผู้นำอียูเริ่มตั้งคำถามต่อการทำงานของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือว่าโปร่งใสแค่ไหน พร้อมเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมอย่างกว้างขวาง เพราะดันมาปรับลดอันดับในช่วงที่สถานการณ์กำลังวิกฤตและมีความอ่อนไหวสูง

ลีโอนาร์โด โดเมนิซิ สมาชิกรัฐสภายุโรป ซึ่งต่อต้านระบบจัดอันดับ กล่าวว่า แม้การจัดอันดับจะมีข้อดีตรงที่ช่วยนักลงทุนที่สนใจลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลหรือกิจการต่างๆ มีข้อมูลประกอบการพิจารณา แต่ปัญหาก็คือการกระทำดังกล่าวของบริษัทเสี่ยงต่อการเก็งกำไร และอาจส่งผลต่อการวางนโยบายของรัฐบาล ดังนั้น หากบริษัทปราศจากความโปร่งใสก็ย่อมเป็นอันตรายต่อสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศ

ขณะที่ ชารอน โบว์เลส สมาชิกรัฐสภายุโรปจากอังกฤษ ซึ่งอยู่ในคณะกรรมการกิจการเศรษฐกิจและการเงินของอียู กล่าวว่า เป้าหมายในครั้งนี้ก็คือการหามาตรการให้นักลงทุนในตลาดเชื่อข้อมูลซึ่งอิงกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจจริง เช่น ตัวเลขส่งออก จีดีพี ผลประกอบการต่างๆ แทนที่จะพึ่งพาและให้ความสำคัญแต่ข้อมูลจากบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือเพียงอย่างเดียว เหมือนที่ ปิแอร์ มอสโกวิซี รัฐมนตรีคลังฝรั่งเศส กล่าวอย่างชัดเจนว่า ขอให้ตัดสินยุโรปจากผลงานของยุโรป ไม่ใช่จากความเห็นของใคร พร้อมเปิดทางให้บริษัทจัดอันดับอื่นๆ ในภูมิภาคเข้ามาแข่งขันได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้จะได้รับเสียงสนับสนุนจากบรรดาสมาชิกอียูอย่างกว้างขวาง แต่นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งเห็นตรงกันว่า การดำเนินงานผลักดันเดินหน้าต่อไปไม่ใช่เรื่องง่ายดายเช่นกัน โดยเฉพาะกับประเด็นเรื่องความเป็นอิสระของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ

ทั้งนี้ บรรดาผู้จัดการกองทุนและนักวิเคราะห์ทั้งหลาย มองว่า หากบริษัทจัดอันดับเหล่านี้ต้องดำเนินงานภายใต้การควบคุมของอียูเช่นนั้นแล้ว ความน่าเชื่อถือของบริษัทเหล่านี้จะอยู่ที่ใด จะแน่ใจได้ไหมว่าผลการจัดอันดับครั้งนี้ ไม่ใช่ความต้องการของอียูเอง

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์อีกกลุ่มหนึ่ง เห็นว่า การที่ทั้งรัฐบาลอียูและบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือเหล่านี้ มีผลประโยชน์ให้กันและกันมากบ้างน้อยบ้างต่างกันออกไปตามวาระเวลา ทำให้น่ากลัวว่า ผลลัพธ์ที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด ไม่ใช่การยกระดับมาตรฐานของระบบการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ แต่เป็นการประนีประนอมที่ทั้งอียูและบริษัทจัดอันดับสามารถยอมรับร่วมกันได้ทั้งสองฝ่าย