posttoday

ดัน'ทวาย'พลิกโฉมประเทศไทย

27 พฤศจิกายน 2555

“สำหรับผม ผมว่า ‘หนัก’ ถ้าผมเป็นเปรมชัย (เปรมชัย กรรณสูต ประธานกรรมการบริหารบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์)”

โดย...เสาวรส รณเกียรติ

วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ ตอบคำถามเกี่ยวกับโครงการทวาย ที่บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ หรือ “ไอทีดี” ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลเมียนมาร์มา ระหว่างการเดินทางไปเปิดสำนักงานตัวแทนธนาคารไทยพาณิชย์ที่เมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมาร์

ก่อนหน้านั้น ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้จัดลันช์ทอล์ก โดยเชิญ Dr.Khin Shwe สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ของเมียนมาร์ และเป็นประธานธุรกิจบริษัทรับเหมาก่อสร้าง และบริษัทท่องเที่ยว มาปาฐกถาพิเศษ พร้อมทั้งตอบคำถามนักลงทุนจากไทยที่มาร่วมงานถึงการจัดลำดับความสำคัญของทวาย ว่า รัฐบาลเมียนมาร์ให้ความสำคัญกับโครงการทวาย เป็นลำดับ 2 รองจากโครงการท่าเรือติละวา ที่ย่างกุ้ง อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวของ Dr.Khin Shwe และมีส่วนผลักดันกฎหมายเพื่อการลงทุนในเมียนมาร์ฉบับใหม่ เขาให้ความสำคัญกับโครงการทวาย เพราะเป็นท่าเรือน้ำลึกที่รองรับเรือที่มีระวางขับน้ำถึง 3 แสนตัน ขณะที่ท่าเรือติละวา เป็นท่าเรือริมแม่น้ำย่างกุ้ง คล้ายท่าเรือกรุงเทพฯ แถบคลองเตย พระประแดง ที่รองรับเรือขนาด 2,000 ตัน ในระดับร่องนำที่ลึก 8.0-8.5 เมตรเท่านั้น

ขณะที่ เปรมชัย กรรณสูต ประธานกรรมการบริหาร ไอทีดี ซึ่งขึ้นเวทีต่อจาก Dr.Khin Shwe ได้กล่าวถึงภาพรวมของโครงการทวายทั้งหมด และความคืบหน้า ทั้งการก่อสร้างท่าเรือชั่วคราวสำหรับขนส่งสินค้าและวัสดุก่อสร้างที่ใกล้จะเสร็จเรียบร้อย การสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น โรงไฟฟ้า 3 โรง สำหรับป้อนธุรกิจในโครงการ ที่ตั้งเป้าจะเริ่มก่อสร้างในเดือน เม.ย. 2556 เป็นต้น

ภาพทั้งหมดนี้น่าจะเรียกความมั่นใจได้ แต่หลังจากบรรยายจบ กลับมีเสียงพึมพำที่แสดงความไม่แน่ใจว่า โครงการนี้จะสำเร็จได้อย่างที่ “ไอทีดี” ระบุไว้

วิชิตเองก็ยอมรับว่า นักลงทุนส่วนใหญ่มีคำถามว่าจะทำได้ตามตารางเวลาที่ระบุไว้หรือไม่ แม้แต่ธนาคารเองก็ตาม เพราะความหนักหนาสาหัสของโครงการนี้ ไม่ใช่เรื่อง “เงิน” แต่เป็น “ขนาดของโครงการ” ด้วยพื้นที่ถึง 2 หมื่นตารางกิโลเมตร ใหญ่กว่านิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังถึง 10 เท่า ที่จะต้องบรรจุทั้งสาธารณูปโภค และโครงการอุตสาหกรรมต่างๆ ลงไป

“แม้จะเป็นโครงการที่รัฐบาลเมียนมาร์อยากให้เกิด เพื่อไว้แสดงเป็นผลงานชิ้นโบแดงในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้า หรือปี 2557 และรัฐบาลไทยก็ร่วมสนับสนุนด้วยการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับรัฐบาลเมียนมาร์ พร้อมทั้งตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแลหลายชุดก็ตาม แต่โครงการที่ใหญ่และยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง โดยเฉพาะสาธารณูปโภคทั้งท่าเรือ ถนน ไฟฟ้า น้ำประปา ทำให้โครงการนี้สะดุด

ตอนทำนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ขนาดป๋าเปรม (พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี) ทุบโต๊ะแล้ว ยังไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้เวลาพอสมควร แต่ทวายใหญ่กว่าแหลมฉบังมาก ประเด็นนี้จึงยังเป็นคำถามอยู่

นอกจากนี้ โครงการนี้คาดการณ์ไว้ต่ำกว่าความเป็นจริงมาก (underestimate) อย่างเรื่องการย้ายคนออกจากพื้นที่ ก็มีค่าใช้จ่ายมากกว่าที่คิดและไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะย้าย แรงงานพม่าที่เราคิดว่าถูก ก็ไม่ใช่ มันแพง จากข้อมูลที่รับทราบ แรงงานขนอิฐค่าแรงวันละ 180 บาท ถ้าโบกปูนได้ก็ 300 บาทใกล้เคียงกับไทย ใครบอกว่าต้นทุนต่ำ ไม่ต่ำเลย”

ด้วยสาเหตุนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ จึงยังคงบทบาทเป็นเพียงที่ปรึกษาทางการเงินให้กับโครงการ เหมือนเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา เมื่อครั้งที่ “ไอทีดี” เพิ่งได้รับสัมปทานจากเมียนมาร์ เพราะเห็นว่าความสำเร็จของโครงการไม่ได้อยู่ที่เงินลงทุน แต่อยู่ที่การบริหารจัดการ โดยรัฐบาลไทยต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุน ขณะเดียวกัน “ไอทีดี” จะทำเพียงรายเดียวไม่ได้อีกต่อไป แต่ต้องใช้รูปแบบ คอนซอเตียม (Consortium) และเป็นคอนซอเตียมระดับโลก ระดับยักษ์จึงจะประสบความสำเร็จ

“โครงการนี้มันเหมือนไก่กับไข่ ไฟฟ้าต้องมา ไฟฟ้ามาน้ำก็ต้องมา มีไฟฟ้าไม่มีน้ำก็ไม่ได้ มีน้ำไม่มีไฟฟ้าก็ไม่ได้ มีท่าเรือก็ต้องมีถนน ไม่มีถนนก็ตาย คือมันและ และ และ ไปหมด ไม่ใช่หรือ ถ้าพูดถึงเรื่องโรงไฟฟ้า ก็ต้องเอาการไฟฟ้าฝ่ายผลิตมาทำ โครงการปิโตรเคมีก็ต้องเอาปิโตรเคมีมาทำ

ก่อนหน้านี้รัฐบาลญี่ปุ่น โดยเจบิกก็เข้ามาจะจัดเงินกู้ระยะยาวให้ แต่ก็ยังตกลงไม่ได้ ไม่ลงตัว ผ่านไป 1-2 ปีรัฐบาลเมียนมาร์ก็เริ่มมีคำถามว่า ตกลงจะไปได้หรือไม่

ตรงนี้ทำให้เราเริ่มเห็นว่า ถ้าลำพังเอกชนเจรจากันเองไม่ไหวแน่ เราจึงไปเจรจากับรัฐบาลไทยถึงประโยชน์ที่จะได้”

ผลประโยชน์ที่ไทยจะได้ คือหากโครงการทวายประสบความสำเร็จ นั่นหมายถึง จะมีการเปลี่ยนตำแหน่งของประเทศไทย (Reposition) ให้กลายเป็นศูนย์กลางแห่งใหม่ของโลกและภูมิภาคอาเซียน เพราะจะเชื่อมโยงการค้า การลงทุน การขนส่ง ระหว่างซีกโลกตะวันออก ไม่ว่าจะเป็นจีน ญี่ปุ่น เกาหลี หรือสหรัฐ เข้าสู่ท่าเรือในเมืองดานัง ประเทศเวียดนาม มาพนมเปญ ประเทศเขมร สู่ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ระยอง ประเทศไทย ไปท่าเรือทวาย ประเทศเมียนมาร์ เพื่อออกไปสู่เอเชียตะวันตก ยุโรป และแอฟริกาได้

ขณะเดียวกันโครงการนี้ยังเปิดเส้นทางออกทะเลเพิ่มเติมให้กับจีนจากเหนือลงใต้ ซึ่งสามารถออกทะเลได้ผ่านมะละแหม่ง ประเทศเมียนมาร์ หรือผ่านประเทศไทยก็ได้ จากปัจจุบันที่จีนมีทางออกด้านเดียว คือทะเลจีนใต้ ที่อยู่ด้านตะวันออกของประเทศ และจะทำให้อาเซียน รวมทั้งไทยกลายเป็นประเทศที่จีนต้องผูกมิตรไว้

อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลชุดนี้จะเข้าใจถึงผลประโยชน์ที่จะได้ และเริ่มการเจรจาระหว่างรัฐต่อรัฐ มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ร่วมกับรัฐบาลเมียนมาร์ และมีการตั้งคณะทำงานเร่งรัดด้านต่างๆ

แต่ถ้าหากรัฐบาลไทยสนับสนุนด้านงบประมาณด้วยก็ยิ่งสร้างความมั่นใจต่อโครงการนี้มากขึ้น

“ถ้ารัฐบาลใส่เงินด้วยก็ดี แต่ไม่ใช่รัฐบาลลงทั้งหมดนะ เป็นแค่ Seed money เพื่อสร้างความมั่นใจ

แต่ผมก็เข้าใจรัฐบาลนะ เคยคุยกับทางภาครัฐ เขาบอกว่ามันมีปัญหากลไกทางการเงิน กฎหมายไม่เปิดทางให้จ่ายเงิน โดยเฉพาะการใช้จ่ายเงินในต่างประเทศ เช่น การสร้างถนนในต่างประเทศ สร้างทางรถไฟในต่างประเทศ เขางงแล้ว

สร้างถนนในประเทศไม่มีปัญหา เพราะทรัพย์สินอยู่ในประเทศทั้งหมด แต่สร้างถนนในต่างประเทศ ทรัพย์สินอยู่ในต่างประเทศเอากลับมาไม่ได้ ซึ่งผมเข้าใจว่ากรอบกฎหมายของเรายังไม่ให้ ไม่เหมือนการที่รัฐบาลซื้อหุ้นในต่างประเทศ ไม่เหมือนการที่รัฐบาลให้เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่ากับประเทศเพื่อนบ้านในการสร้างถนน เราไม่เคยไปลงทุนสร้างถนนในต่างประเทศ”

สุดท้าย ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ ก็ยังเห็นว่า รัฐบาลไทยน่าจะผลักดันให้โครงการนี้เกิดให้ได้ เพื่อให้ไทยได้ประโยชน์จากโครงข่ายที่สมบูรณ์และดีที่สุดในภูมิภาคนี้

นี่คือภาพแนวโน้มความเป็นไปได้ และผลประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากโครงการทวายผ่านสายตาผู้บริหารของธนาคารที่เป็นที่ปรึกษาโครงการนี้ตั้งแต่ต้น

หลังจากนี้ก็ขึ้นกับทุกภาคส่วน ทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้าน หน่วยงานรัฐ ธุรกิจเอกชน รวมถึงเอ็นจีโอ ที่จะต้องร่วมกันศึกษาอย่างจริงจัง ว่า ผลประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากโครงการทวายนั้นมีมากน้อยเพียงไร

หากเห็นว่าไทยได้ประโยชน์จริง โดยเฉพาะการพลิกโฉมใหม่ให้กับประเทศไทย ให้กลายเป็นจุดเชื่อมโยงที่รองรับการค้า การลงทุน จากทุกภูมิภาคของโลกแล้ว

ทุกฝ่ายก็ต้องร่วมกันผลักดันอย่างจริงจังนับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป