posttoday

ภาคการเงินจีนเสี่ยงหายนะ อสังหาฯซบฉุดธุรกิจสินเชื่อ

26 พฤศจิกายน 2555

นอกจากจะต้องหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนจำนวนหลายพันล้านคนทั่วประเทศแล้ว

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

นอกจากจะต้องหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนจำนวนหลายพันล้านคนทั่วประเทศแล้ว อีกหนึ่งงานหนักที่สำคัญและจำเป็นต้องสะสางอย่างเร่งด่วนของรัฐบาลจีนภายใต้การนำของประธานาธิบดีคนใหม่อย่าง สีจิ้นผิง คือการควบคุมจัดการบรรดาบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ หรือที่รู้จักกันดีในนาม ทรัสต์ ทั้งหลาย

เนื่องจากหากกลุ่มผู้นำของจีนไม่คิดลงมือทำอะไรสักอย่างกับบรรดาธุรกิจเหล่านี้ นักเศรษฐศาสตร์จากหลายสำนักต่างพร้อมใจออกโรงเตือนว่า จีนก็มีแนวโน้มจะต้องเผชิญหน้ากับมหกรรมเบี้ยวหนี้ครั้งมโหฬารภายในสิ้นปี 2556 และอาจต้องเตรียมใจเผื่อถึงวิกฤตการเงินภายในประเทศไว้ได้เลย

ทั้งนี้ ความเห็นข้างต้นไม่ได้เกินเลยจากความเป็นจริงเลยแม้แต่น้อย เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับจีน โดยเฉพาะในตลาดภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นเป้าหมายการลงทุนหลักของเหล่า “ทรัสต์” สัญชาติจีนทั้งหลาย

ก่อนอื่นต้องเข้าใจกันเสียก่อนว่า ทรัสต์นี้มีลักษณะใกล้เคียงกับธนาคารเงา โดยจะทำหน้าที่คอยเป็นตัวกลางทางการเงินที่เน้นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และจะระดมทุนในรูปแบบต่างๆ ที่ไม่ใช่การฝากเงิน เพื่อนำไปลงทุนต่อยอดให้เงินงอกเงยกลับคืนมาสู่เจ้าของ

อย่างไรก็ตาม ข้อแตกต่างระหว่างทรัสต์กับธนาคารเงาก็คือ ทรัสต์จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลอย่างเข้มงวดจากคณะกรรมการกำกับดูแลภาคธนาคารของรัฐบาลจีน ซึ่งจะทำหน้าที่อนุมัติผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ ของทรัสต์

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ สำหรับชาวจีนที่เริ่มมีฐานะและความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แทนที่จะเอาเงินไปฝากธนาคารพาณิชย์กินดอกเบี้ยแบบเดิมๆ หลายคนก็เลือกที่จะนำเงินไปให้ทรัสต์ที่จะนำเงินที่ระดมได้ไปกระจายลงทุนหรือปล่อยกู้ให้กิจการต่างๆ มากมาย ไล่เรียงตั้งแต่ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ การก่อสร้าง หุ้น พันธบัตร สินค้าโภคภัณฑ์ หรือแม้กระทั่งสุรากลั่น ซึ่งส่วนใหญ่แล้วล้วนเป็นธุรกิจที่สถาบันการเงินการธนาคารส่วนใหญ่มองข้ามไป

ด้วยลักษณะการปล่อยกู้หรือลงทุนในกิจการที่ธนาคารขนาดใหญ่เห็นว่าเล็กเกินไป โดยเมื่อเจ้าของกิจการขนาดกลางและขนาดเล็กในจีนซึ่งมีอยู่ราว 42 ล้านแห่ง โดยประมาณไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากธนาคารได้ ทำให้ทรัสต์เป็นทางเลือกที่มีภาษีดีกว่าบรรดาเงินนอกระบบ เนื่องจากมีองค์กรของรัฐบาลกำกับดูแลอีกทอดหนึ่ง ทำให้กิจการของบรรดาทรัสต์เจริญรุ่งเรืองขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัญหาน่าหนักใจของทรัสต์ในขณะนี้ก็คือ ตลาดทำเงินหลักของทรัสต์ หรือภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน ซึ่งคิดเป็น 35% ของสินทรัพย์ทั้งหมดของทรัสต์ที่เคยบูมสุดๆ กำลังประสบปัญหาซบเซา ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือ สถานการณ์ในเมืองเอ้อเอ่อตัวซือ หรือออร์ดอส (Ordos) ในเขตมองโกเลียชั้นใน ซึ่งเคยเป็นเมืองอุตสาหกรรมแร่ที่คึกคัก ก่อนที่จะซบเซาลงเนื่องจากถลุงแร่จนเกลี้ยงเหมืองไปเรียบร้อยโรงเรียนจีน

ทั้งนี้ หลังจากซบเซาไปพักใหญ่ รัฐบาลจีนได้ตัดสินใจฟื้นเมืองดังกล่าว โดยให้การสนับสนุนโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัย ห้างสรรพสินค้าและสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานมากมาย และทรัสต์ก็เป็นหนึ่งในแหล่งเงินทุนที่ให้การสนับสนุน พร้อมกับตั้งเป้าคืนเงินต้นและดอกให้กับผู้ที่นำเงินมาลงทุนในทรัสต์สำหรับการก่อสร้างในเมืองออร์ดอสภายในเดือน มี.ค. 2556

ทว่า เหตุการณ์กลับตาลปัตร เมื่อโครงการส่วนใหญ่ที่สร้างเสร็จไม่มีคนอยู่อาศัย เพราะมีจำนวนมากกว่าประชากรที่มีอยู่เพียงแค่ 1.5 แสนคน เมืองออร์ดอสจึงเป็นที่รู้จักในนามเมืองร้าง และส่งผลให้โครงการอื่นๆ ที่อยู่ในระหว่างก่อสร้างต้องหยุดชะงัก โดยบรรดาผู้รับผิดชอบโครงการก่อสร้างส่วนใหญ่ต่างเลือกชิ่งหนีทิ้งงานไปกลางคัน หลังจากเริ่มเล็งเห็นว่าไม่คุ้มค่าที่จะเดินหน้าต่อ โดยผู้รับเหมารายหนึ่งยอมรับว่า การเดินหน้าก่อสร้างต่อรังแต่จะเสียเงินเพิ่มมากขึ้น

จากการประเมินเบื้องต้นคร่าวๆ พบว่ามีโครงการกว่า 1,000 แห่ง ในเมืองออร์ดอสนี้ยุติการก่อสร้างกลางคันตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา และส่วนใหญ่ล้วนเป็นโครงการที่ได้รับเงินสนับสนุนจากทรัสต์แทบทั้งสิ้น

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ เงินที่ทรัสต์นำไปลงทุนขณะนี้ที่เมืองออร์ดอสเป็นทั้งสูญและศูนย์ไปเรียบร้อยแล้ว และชาวจีนที่เป็นเจ้าของเงินเหล่านั้นกำลังเจอกับความเสี่ยงของการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่ง เหลียนผิง นักเศรษฐศาสตร์จากแบงก์ออฟคอมมิวนิเคชัน ในเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่า รัฐบาลต้องหาทางระงับอาการที่เกิดขึ้นนี้ไม่ให้ลุกลามไปในวงกว้าง เพราะธุรกิจทรัสต์ในปัจจุบันมีขนาดใหญ่เกินกว่าที่จะล้มได้แล้ว

แต่ในความเป็นจริงก็คือ ปัญหาลักษณะเดียวกันกับเมืองออร์ดอส กำลังกระจายไปตามที่ต่างๆ เช่น เมืองเวินโจว ที่ราคาที่ดินลดต่ำลงแล้วกว่า 16% จากเดือน ก.ย.ปีก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความเสี่ยง แต่ เต๋าหวัง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากยูบีเอส เอจี ประจำประเทศจีน กล่าวว่า ทรัสต์ก็ยังได้รับความนิยมในหมู่ชาวจีนทั่วไป โดยข้อมูลตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ทรัสต์ทำเงินได้มากกว่า 1 ใน 4 ของธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่ภาคธนาคาร หรือประมาณ 3.35 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 101 ล้านล้านบาท) หรือคิดเป็น 45% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของจีน

กระนั้น นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ รวมถึง อีวานไช่ นักวิเคราะห์จากเบนซี แอดไวเซอร์ บริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุนในเซี่ยงไฮ้ ต่างพากันเตือนว่า ช่วงเวลารุ่งเรืองของทรัสต์ได้จบลงแล้ว และทรัสต์ในขณะนี้กำลังเจอกับกับระเบิดมากมายที่หากก้าวพลาดไปนิดเดียวได้ล้มทั้งยืนแน่นอน

เพราะหลังจากที่รัฐบาลจีนลดการสนับสนุนโครงการพัฒนาทั้งหลาย พร้อมๆ กับราคาที่ดินในประเทศที่ปรับตัวลดลง รวมถึงการเพิ่มมาตรการคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อเพื่อระวังเงินเฟ้อ ความเสี่ยงที่ทรัสต์กำลังเผชิญก็คือ การชำระเงินคืนจากสารพัดโครงการที่ทุ่มลงไป โดยมากกว่า 15% หรือกว่า 560 ล้านหยวน (ราว 2,800 ล้านบาท) ซึ่งเป็นเงินที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์อย่างทรัสต์จำนวนทั้งหมด 64 แห่ง นำไปลงทุนในโครงการอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศ และมีกำหนดชำระเงินคืนในปีหน้า มีแนวโน้มว่าจะมีการผิดนัดชำระหนี้สูงมากจากการคาดการณ์ของไชนา อินเตอร์เนชันแนล คอร์ป

ทว่า สิ่งที่น่าห่วงมากกว่าก็คือ แม้จะมีแนวโน้มความเสี่ยงให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ แต่รัฐบาลจีน โดยเฉพาะรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ซึ่งวางแผนเศรษฐกิจระยะ 5 ปี ครอบคลุมทุกด้าน รวมถึงการยกระดับกฎเกณฑ์เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการเงิน แต่กลับไม่เอ่ยถึงการจัดการกับ “ทรัสต์” แม้แต่น้อย

รูปการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้ขณะเดียวกันนักวิเคราะห์จำนวนไม่น้อยมองว่า การล้มของทรัสต์จะฉุดเอาระบบภาคการเงินของจีนทั้งประเทศให้ล้มตามไปด้วย เพราะรายงานประจำเดือน ก.ค.ปีนี้ของบริษัท เคพีเอ็มจี แอลแอลพี ระบุชัดเจนว่า กิจการของทรัสต์ในขณะนี้ขึ้นแท่นเป็นธุรกิจด้านการเงินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 2 รองจากธุรกิจด้านการธนาคารของประเทศจีนไปเรียบร้อย

และสุดท้าย แทนที่เศรษฐกิจจีนจะเติบโตก้าวหน้าได้ตามเป้าหมายอาจจะสะดุดล้มเอาดื้อๆ