posttoday

ฝ่ากระแสม็อบนับถอยหลังศึกอภิปราย

23 พฤศจิกายน 2555

สองวันสุดท้ายก่อน “ศึกซักฟอก” ฝ่ายค้านตระเตรียมประเด็นจัดวางขุนพลมาไล่ถล่มความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารงานของ

สองวันสุดท้ายก่อน “ศึกซักฟอก” ฝ่ายค้านตระเตรียมประเด็นจัดวางขุนพลมาไล่ถล่มความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารงานของ

โดย...ธนพล บางยี่ขัน


นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รวมทั้งเงื่อนงำความไม่โปร่งใส ท่ามกลางการจับจ้องว่าจะมี “หมัดเด็ด” สั่นคลอนรัฐบาลได้หรือไม่

น่าสนใจตรงที่เที่ยวนี้ “ประชาธิปัตย์” งัดกลยุทธ์อภิปรายไม่ไว้วางใจแบบพุ่งเป้าใหญ่ถล่มนายกฯ ยิ่งลักษณ์ พร้อมเป้าเล็กแบบหวังผลไปที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม และ พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รมช.มหาดไทย

กรอบเวลา 30 ชั่วโมง ในการอภิปรายฯ ฝ่ายค้านจัดวาง 30 ขุนพล ขึ้นสังเวียน 3 วัน โดยเทน้ำหนักส่วนใหญ่ 2 วัน พุ่งเป้ารุมถล่ม นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ไล่เรียงไปทีละประเด็นต่อเนื่อง ไม่สะเปะสะปะ และเรียกร้องให้นายกฯ ตอบเป็นประเด็นๆ ไป

ประเด็นแรก ภาพกว้างการบริหารราชการแผ่นดินบกพร่อง ล้มเหลว ผิดพลาดไร้ประสิทธิภาพ ไม่ปฏิบัติตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา นำโดย เกียรติ สิทธีอมร อาคม เอ่งฉ้วน สส.บัญชีรายชื่อ อรรถพร พลบุตร สส.เพรชบุรี และ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม สส.พิษณุโลก

ไล่เรียงไปตั้งแต่เรื่องปัญหา “ของแพง” ซึ่งไม่สามารถกระชากค่าครองชีพลงมาได้อย่างที่เคยหาเสียงไว้ มาตรการแก้ปัญหาของแพงที่ออกมา ไม่ว่าจะเป็น “ธงฟ้า” หรือ “ร้านค้าถูกใจ” นอกจากจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างครอบคลุมทั่วถึงแล้ว ยังอยู่ที่การใช้งบประมาณมหาศาลไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ

ก่อนจะซ้ำด้วยผลกระทบจากค่าแรง 300 บาท เงินเดือน 1.5 หมื่น ที่นอกจากไม่สามารถทำได้จริงแล้ว ยังส่งผลเสียหายต่อภาคธุรกิจอย่างมหาศาล โดยรัฐบาลไม่มีมาตรการชดเชียวเยียวยาออกมารองรับ

พร้อมถล่มต่อไป ในประเด็นความล้มเหลวในสารพัดประชานิยมของรัฐบาล ทั้งรถยนต์คันแรก บ้านหลังแรก ฯลฯ ที่จะกลายเป็นภาระด้านงบประมาณและทำให้หนี้สาธารณะอยู่ในระดับที่อันตราย หนำซ้ำยังมีแนวคิดที่จะ ออก พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะยิ่งทำให้สถานะการเงินของประเทศมีปัญหาอย่างรุนแรง

รวมไปถึงประเด็นร้อนอย่าง “นโยบายรับจำนำข้าว” ที่ว่ากันว่า เป็นหนึ่งในหมัดเด็ดของของฝ่ายค้าน ที่จะชำแหละความล้มเหลวในแทบทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเปิดรับจำนำข้าวไปจนถึงการระบายข้าวที่เป็นปัญหาจนส่งผลให้ข้าวล้นสต๊อก และข้อมูลการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐที่ยังคลุมเครือ ซึ่งจะต้องติดตามว่าฝ่ายค้านจะมีข้อมูลเด็ดอย่างที่โหมโรงไว้หรือไม่

ถัดมาที่ประเด็นการปล่อยปละเปิดช่องให้มีการทุจริตคอร์รัปชัน ประเด็นสำคัญหนีไม่พ้นงบกลางปี 2555 ส่วนเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน 1.2 แสนล้านบาท เพื่อแก้ไขป้องกันช่วยเหลือ เยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ซึ่งข้อมูลจากอดีตเลขาธิการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สะท้อนให้เห็นว่าเกือบทุกโครงการพบเงื่อนงำความไม่โปร่งใส จนว่ากันว่านี่จะเป็นอีกหมัดเด็ดของฝ่ายค้าน

โดยเฉพาะหลังการลงพื้นที่เก็บข้อมูล นอกจากพบการเก็บค่าคอมมิชชันสูงถึง 25-40% แล้ว หลายโครงการรายละเอียดไม่ได้เป็นไปตามสัญญาจ้าง (ทีโออาร์) รวมทั้งงบประมาณการจ้างเหมาขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำในหลายจังหวัด อาทิ จ.แพร่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ ตาก เพชรบูรณ์ สุรินทร์ และบุรีรัมย์ พบพิรุธการจัดซื้อจัดจ้างที่มีใบเสร็จ ยืนยันความผิดปกติจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)

ต่อเนื่องด้วยโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ที่ฝ่ายค้านลุยเก็บข้อมูลความไม่โปร่งใสมาตั้งแต่ต้นต่อเนื่อง

แน่นอนว่า “จุดอ่อน” เรื่องการชี้แจงในสภาของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ยังเป็นปัญหาหนักอกที่รัฐบาลยังหวั่นวิตก พร้อมตระเตรียมทางแก้ วางตัวรัฐมนตรีที่รับผิดชอบในแต่ละเรื่องร้อนที่คาดว่าจะถูกอภิปรายไว้เป็น “ตัวช่วย” ใช้สิทธิพาดพิงเข้ามาชี้แจงแทนนายกฯ ซึ่งฝ่ายค้านเตรียมดักทางด้วยการไปศึกษางัดข้อบังคับการประชุมที่จะมาบีบให้ นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ต้องชี้แจงด้วยตัวเอง

ยิ่งกว่านั้น ฝ่ายค้านมองข้ามซ็อตไปล่วงหน้าว่า ทาง สส.ซีกรัฐบาลคงจะงัดกลยุทธ์ขึ้นมาประท้วงสอดแทรกด้วยการหยิบยก “คดีหนีทหาร” ขึ้นมาดิสเครดิตสวนกลับ “อภิสิทธิ์” พร้อมตระเตรียมวางกำลังขึ้นประท้วง ว่าไม่เกี่ยวข้องกับการประเด็นอภิปราย

สำหรับ 1 วันเต็มๆ ที่ฝ่ายค้านจะใช้เวลาไปกับการอภิปราย รมต.ทั้ง 3 คน จะพุ่งเป้าไปยังข้อมูลที่มีแบบไม่ต้องขี่ม้าเลียบค่าย เริ่มตั้งแต่ พล.ต.ท.ชัจจ์ รมช.มหาดไทย ในประเด็นการบริหารเมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่ง รมช.คมนาคม ซึ่งดูแลกรมเจ้าท่าและกรมทางหลวงชนบท โดยฝ่ายค้านพุ่งเป้าลงไปเก็บข้อมูลดูเรื่องการขุดลอกคูคลองในช่วงก่อนและหลังน้ำท่วม รวมทั้งการซ่อมแซมถนนที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม ซึ่งพบเงื่อนงำความไม่โปร่งใสในหลายพื้นที่ เนื่องจากแทบทุกโครงการใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษในช่วงสถานการณ์น้ำท่วม

ขณะที่ พล.อ.อ.สุกำพล ยังเป็นประเด็นคาบเกี่ยวตั้งแต่การปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่สมัยที่ดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม พ่วงถึงตำแหน่ง รมว.กลาโหม ทั้งการฝ่าฝืนบทบัญญัติกฎหมาย ย้ายข้าราชการภายในกระทรวง และกรณีการใช้งบประมาณฟื้นฟูหลังน้ำท่วม

ถัดมาที่ ร.ต.อ.เฉลิม ซึ่งทาง “ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์” หัวหน้าพรรครักประเทศไทย จองกฐินถล่มความล้มเหลวในการกำกับดูแล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ที่ปล่อยปละให้เกิดบ่อนการพนันแบบไม่สามารถกวดขันเอาจริงเอาจังได้

น่าสนใจตรงที่ “การอภิปรายไม่ไว้วางใจ” ที่ฝ่ายค้านวางไว้ว่าจะเป็นการทิ้งหมัดเด็ดก่อนปิดสมัยประชุม กลับถูกกลบกระแสไปด้วยการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม ภายใต้การนำของ เสธ.อ้าย พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ในวันที่ 24 พ.ย. เสียสนิท จนกระแสซักฟอกที่ฝ่ายค้านพยายามโหมโรงมาก่อนหน้านี้กลับเงียบเหงาไม่ได้รับความสนใจ

ยิ่งกว่านั้น ยังส่งผลดีกับรัฐบาลทางอ้อม เมื่อกระแสสังคมหันไปสนใจเรื่อง “ม็อบ” มากกว่าประเด็นการอภิปรายที่จะชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวในการบริหารจัดการ ไปจนถึงประเด็นการทุจริตที่ฝ่ายค้านไปขุดคุ้ยมา

ยังไม่รวมกับการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามมาตรา 161 ของวุฒิสภา ที่สุดท้ายมาเคาะอภิปรายเป็นสองช่วง ในวันที่ 23 และ 28 พ.ย. ดักหน้าการอภิปรายของฝ่ายค้าน ที่จะอภิปรายในวันที่ 25 พ.ย. ยิ่งส่องดูหัวข้อการอภิปราย ทั้ง 1.ปัญหาโครงการรับจำนำข้าวและพืชผลสินค้าเกษตร 2.ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 3.การบริหารจัดการน้ำ และ 4.เรื่องการบริหารราชการอื่น ใกล้เคียงกับประเด็นที่ฝ่ายค้านจะอภิปราย ยิ่งจะลดทอนความสนใจในการอภิปรายของฝ่ายค้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สุดท้ายคงต้องพิสูจน์กันที่ข้อมูลในมือฝ่ายค้าน ว่าจะมีหมัดเด็ด หมัดน็อกมาสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับรัฐบาลอย่างที่โหมโรงไว้หรือไม่