posttoday

เศรษฐกิจไทยแสลงม็อบ

20 พฤศจิกายน 2555

การชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ของกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม โดยหัวเรือใหญ่ “เสธ.อ้าย”

การชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ของกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม โดยหัวเรือใหญ่ “เสธ.อ้าย” พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

ในวันที่ 24-25 พ.ย.นี้ ถูกจับตามองมากขึ้นจากทุกภาคส่วน หลังจากที่การชุมนุมครั้งแรกจุดติดจากที่รัฐบาลประเมินว่าจะมีผู้ชุมนุม 3,000 คน พอเอาเข้าจริงคนมาชุมนุมขับไล่รัฐบาลรอบใหม่มีถึง 2 หมื่นคน

สำหรับการชุมนุมครั้งนี้ มีการตั้งเป้าว่าจะมีผู้มาชุมนุม 1 ล้านคน แม้ว่าเป็นตัวเลขทางยุทธศาสตร์ใช้ข่มขู่ฝ่ายตรงข้าม แต่หลายฝ่ายเริ่มกังวลว่าม็อบรอบใหม่นี้ จะพ่นพิษเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะส่อเค้ายืดเยื้อทำให้เศรษฐกิจไทยอมโรครักษาไม่หาย

ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ออกมาระบุว่า ธปท.ติดตามปัญหาการเมืองการเคลื่อนไหวการชุมนุมประท้วงใกล้ชิด เพราะความไม่สงบทางการเมือง เป็นปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจ และการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ในวันที่ 28 พ.ย.นี้ จะต้องมีการนำประเด็นม็อบขับไล่รัฐบาลของกลุ่มองค์การพิทักษ์สยามเข้ามาประกอบการตัดสินใจในแง่เศรษฐกิจและนโยบายการเงิน

ผู้ว่าการ ธปท. มองว่า แม้ว่าม็อบ เสธ.อ้ายยังไม่กระทบเศรษฐกิจตอนนี้ แต่ก็ประมาทไม่ได้ เพราะปัญหาการเมืองขณะนี้เป็นเหมือนเชือกที่เริ่มตึง ถ้าเลยขีดหรือตึงเกินไปเชือกก็ขาดได้เหมือนกัน

ขณะที่ กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลกประจำประเทศไทย ชี้ว่า หากการชุมนุมควบคุมไม่ได้ จนกระทบมีการปิดสนามบิน ท่าเรือ กระทบกระบวนการผลิต จะกระทบความเชื่อมั่นในการลงทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ด้าน ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่า หากการชุมนุมของกลุ่มองค์การพิทักษ์สยามยืดเยื้อไปถึงปลายปีจะกระทบการท่องเที่ยวหายเป็นหมื่นล้าน หากเลยเถิดมีความรุนแรง มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล จะทำให้เศรษฐกิจไทยปีหน้าโตไม่ถึง 4.5% ต่อปี

ในขณะที่ภาคส่วนเอกชน พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ยอมรับว่า ภาคเอกชนยังวิตกกังวลการชุมนุมของม็อบ เพราะหากเกิดความรุนแรงจะทำให้ความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติหายไปทำให้ประเทศเสียโอกาส

แม้แต่ภาคการเมืองก็ยังหวั่นใจ โดย สุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและ แกนนำพรรคชาติพัฒนา ยังห่วงว่า หากการชุมนุมบานปลายจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจ การลงทุน ที่มีแนวโน้มดีขึ้นให้ทรุดลงไปอีก

ความกังวลทั้งหมดที่เป็นทิศทางเดียวกัน เพราะต่างรู้พิษสงผลกระทบของม็อบที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยในช่วง 56 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างดี

ตั้งแต่ปี 2548 เริ่มมีการชุมนุมของคนเสื้อเหลืองขับไล่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร บานปลายไปถึงขั้นมีการปฏิวัติ ปี 2549 ทำให้เศรษฐกิจไทยเจอปัญหาถูกต่างชาติบอยคอตไม่เป็นประชาธิปไตย

หลังจากนั้นรัฐบาลที่มาจากทหารก็ถูกม็อบเสื้อแดงขับไล่ทำให้เศรษฐกิจไทยเจอทั้งศึกนอกศึกใน ทำให้การขยายตัวทำได้ไม่เต็มที่

แม้แต่มีการเลือกตั้งใหม่ได้รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และ รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก็ทำให้ม็อบเสื้อเหลืองรีเทิร์นกลับมาขับไล่รัฐบาลนอมินี พ.ต.ท.ทักษิณ อีกครั้ง ซึ่งเลยเถิดถึงขั้นปิดสนามบินทำเศรษฐกิจไทยเป็นอัมพาตไปแค่ชั่วข้ามคืน 

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินผลกระทบจากการปิดสนามบินของม็อบเสื้อเหลืองว่า ทำให้เศรษฐกิจหายวูบไป 0.50.7% สศช.ปรับลดประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจในปี 2551 ลงเหลือเพียง 4%

การปิดสนามบินส่งผลกระทบรุนแรงของการส่งออก และการเดินทางของนักท่องเที่ยว ทำรายได้ท่องเที่ยววูบหายไป และยังจะส่งผลการเลิกจ้างงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมถึง 1 ล้านคน

แม้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมาเป็นรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เศรษฐกิจก็หนีพิษม็อบไม่พ้น เมื่อม็อบเสื้อแดงคืนชีพอีกครั้ง มีการชุมนุมขับไล่อภิสิทธิ์หลายครั้ง รุนแรงถึงขั้นล้มประชุมผู้นำอาเซียน และล่าสุดการชุมนุมราชประสงค์มีความรุนแรงถึงขึ้นมีการล้มตายและเกิดการเผาบ้านเมือง ทำให้เศรษฐกิจการค้าของไทยได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง

แม้ว่าจะมีความพยายามผ่าทางตันการเมือง มีการเลือกตั้งใหม่จนมีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2554 แต่ผ่านไปปีเดียวก็เกิดม็อบกลุ่มใหม่ กลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม มาเขย่าขวัญการเมืองและเศรษฐกิจกันอีกรอบ

ปัญหาม็อบกระทบเศรษฐกิจรอบนี้ที่หลายฝ่ายเป็นห่วง เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจของไทยตอนนี้อ่อนแอกว่าช่วง 56 ปีที่ผ่านมาอย่างมาก ที่มีแต่ปัญหาภายในประเทศเรื่องม็อบ ส่วนปัจจัยต่างประเทศไม่มีปัญหา ยังมีปัญหายุโรป จะมีปัญหาของเศรษฐกิจสหรัฐบ้าง แต่ก็ไม่รุนแรงเท่าปัญหายุโรปในปัจจุบัน

แม้พื้นฐานเศรษฐกิจปัจจุบันยังดี แต่มีปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า ไม่ว่าความเสี่ยงต่างประเทศ เศรษฐกิจสหรัฐไม่ฟื้นตัว เศรษฐกิจยุโรปมีปัญหาขยายวงกว้าง เศรษฐกิจจีนชะลอตัว เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังซึม ทั้งหมดทำให้เศรษฐกิจไทยทรุด การส่งออกของไทยปี 2555 เดิมคาดว่าจะขยายตัวได้ 15% เอาเข้าจริงทำได้แค่ 45% เท่านั้น

เศรษฐกิจไทยที่คาดว่าปีนี้จะขยายตัวได้ 78% แต่เอาเข้าจริงอย่างเก่งอยู่ที่ 5.5% เท่านั้น ขณะที่เศรษฐกิจไทยปีหน้าจะขยายตัวได้ 4.5% ขยายตัวลดลงจากปี 2555

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศก็เพิ่มมากขึ้นทุกวัน นโยบายประชานิยมต่างๆ ไม่ว่าจะจำนำข้าว รถคันแรก พอกหนี้ไทยก้อนโตหลายแสนล้านบาท ทำให้ภาคการคลังเริ่มมีปัญหาด้านเสถียรภาพ สัดส่วนหนี้เริ่มขยับเข้าเขตอันตราย

ส่วนนโยบายค่าจ้าง 300 บาท ก็พ่นพิษผู้ประกอบการจำนวนมากต้องเลิกกิจการ บางส่วนก็ย้ายฐานไปต่างประเทศ ทำให้แนวโน้มการว่างงานเพิ่มขึ้น

ลำพังปัจจัยความเสี่ยงที่มีอยู่เดิม ก็ทำให้เศรษฐกิจไทยปีหน้าขยายตัวได้น้อยกว่าปีนี้แล้ว และวันนี้ยังมีปัญหาม็อบรอบใหม่มาขย่มเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นอีกปัจจัย ทำให้เศรษฐกิจต้องถดถอยมากขึ้นอีก เป็นเหตุให้ ธปท.ต้องจับตาปัญหานี้ใกล้ชิด เพราะรู้ดีว่าเรื่องอย่างนี้มีผลกระทบรุนแรงในระยะยาว โดยเฉพาะการขยายตัวเศรษฐกิจปีหน้า หากการชุมนุมรุนแรงเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา

ล่าสุด สศช.ออกมาระบุว่า เศรษฐกิจปีหน้า ปัญหาภัยแล้งส่งผลกระทบรายได้เกษตรกร ผู้ประกอบการมีปัญหาต้นทุนจากค่าจ้าง 300 บาทต่อวัน ค่าเงินบาทผันผวนจากปัญหาเศรษฐกิจยุโรป ราคาน้ำมันแพงทำให้เงินเฟ้อสูง ทำให้การดำเนินนโยบายดอกเบี้ยต่ำกระตุ้นเศรษฐกิจของ ธปท. ทำได้อยาก

ทั้งหมดชี้ชัดว่า ขนาดยังไม่รวมปัจจัยเสี่ยงทางการเมือง สศช.ยังประเมินเศรษฐกิจไทยปีหน้า 4.55.5% หากมีผลกระทบจากการชุมนุมของม็อบรอบใหม่เหมือน 56 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจย่อมเลี้ยงไม่โต ไปไม่ถึงเป้าที่ตั้งไว้อย่างแน่นอน