posttoday

อาเซียนส่อวืดเป้า การเมืองต่าง ศก.ลดหลั่น ขัดขากันเอง

20 พฤศจิกายน 2555

กลายเป็นอีกหนึ่งการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนและเอเชียตะวันออกแห่งปี 2555 ที่ทั่วโลกให้ความสนใจมากที่สุดครั้งหนึ่ง

กลายเป็นอีกหนึ่งการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนและเอเชียตะวันออกแห่งปี 2555 ที่ทั่วโลกให้ความสนใจมากที่สุดครั้งหนึ่ง

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

เนื่องจากไม่เพียงแต่มีผู้นำของประเทศมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลกเข้าร่วมแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงประเด็นข้อตกลงในหลายเรื่องที่มีเป้าหมายว่าจะเคาะกันออกมาให้ได้ภายในการประชุมคราวนี้

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างเห็นตรงกันว่า ความเคลื่อนไหวที่ได้รับการจับตามองจากบรรดานานาประเทศมากที่สุดในการประชุมผู้นำอาเซียนคราวนี้ คือบทสรุปของ 3 ประเด็นหลักที่ล้วนแล้วแต่ข้องแวะกับ 3 เสาหลักภายในภูมิภาค หรือก็คือเสาด้านสังคม เสาด้านความมั่นคง และเสาด้านเศรษฐกิจการค้าการลงทุน

สำหรับประเด็นด้านสังคม ที่การประชุมอาเซียนเพิ่งจะบรรลุข้อตกลงร่วมกันแบบสดๆ ร้อนๆ คือการพร้อมใจลงนามในปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และถือเป็นฉบับแรกของอาเซียน โดยเป็นปฏิญญาที่มีเป้าหมายเพื่อปกป้องประชาชนกว่า 600 ล้านคนในภูมิภาค และเป็นสิ่งที่ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ยืนกรานหนักแน่นว่าได้จัดการแก้ไขรายละเอียดบางส่วนของร่างปฏิญญาเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนของสากล

ขณะที่ทาง มาร์ตี นาตาเลกาวา รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย กล่าวชัดเจนว่า ข้อตกลงด้านสิทธิมนุษยชนของอาเซียนในครั้งนี้ จะกลายเป็นพื้นฐานสำคัญให้ชาติสมาชิกอาเซียนทั้งหมดได้ยึดถือเป็นหลักปฏิบัติอย่างซื่อสัตย์จริงใจ

ทางด้านประเด็นความมั่นคงอาเซียน ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า การประชุมคราวนี้บรรดาผู้นำชาติสมาชิกในกลุ่มอาเซียนไม่อาจหลีกเลี่ยงไม่พูดคุยหารือเพื่อจัดการความขัดแย้งที่ทวีความตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ ภายในภูมิภาคในกรณีพิพาทหมู่เกาะทางทะเลในทะเลจีนใต้กับมหาอำนาจอันดับ 2 ของโลก และคู่ค้าอันดับ 1 ของอาเซียนอย่างประเทศจีน

เห็นได้จากหนึ่งวันก่อนหน้าการประชุมจะเปิดฉาก เลขาธิการอาเซียนเปิดเผยออกมาเองว่าทางกลุ่มเตรียมคุยเพื่อร่วมเคลื่อนไหวกดดันให้จีนเริ่มดำเนินการเจรจากับอาเซียนเพื่อหาข้อตกลงในระเบียบกฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่ยอมรับได้ทั้งสองฝ่าย เพื่อคลี่คลายความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

ขณะที่ประเด็นสุดท้ายคือประเด็นด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก รวมถึงชาติมหาอำนาจเบอร์ 1 อย่างสหรัฐ เพราะท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ตกอยู่ในสภาวะซึมเซาแทบทั่วโลก การเติบโตที่ค่อนข้างแข็งแกร่งของภูมิภาคอาเซียน จึงถือเป็นความหวังที่ประเทศต่างๆ จะได้พึ่งพาอาศัย

และความร่วมมือที่ชาติสมาชิกอาเซียนหวังจะบรรลุให้ได้ในคราวนี้ ก็คือการเดินหน้าสู่ความเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ภายในปี 2558 ซึ่งจะทำให้อาเซียนกลายเป็นตลาดการค้าขนาดใหญ่มีอำนาจต่อรองสูง โดยมีประเด็นเศรษฐกิจรองที่ตามมาก็คือการพูดคุยเจรจาในเรื่องข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับอีก 6 ชาติเอเชียตะวันออก อย่าง จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งจะส่งผลให้ข้อตกลงครั้งนี้เป็นการพูดคุยเรื่องเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุด และช่วยให้เอเชียลดการพึ่งพาเศรษฐกิจกับชาติตะวันตก 

ทั้งนี้ เมื่อไล่เรียงพิจารณาประเด็นทั้งหมดที่ผู้นำอาเซียนและผู้นำเอเชียตะวันออก โดยรวมรัสเซียและสหรัฐ จะพูดคุยกันในครั้งนี้ บรรดานักวิชาการและนักวิเคราะห์ล้วนยอมรับว่า หากสามารถจับมือเห็นพ้องกันได้ลงตัว อาเซียนจะอยู่ในสถานะประหนึ่งเสือติดปีกที่ช่วยดึงให้เอเชียโดยรวมก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืนมั่นคง

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีสัญญาณเริ่มต้นที่ดีให้เห็นก่อนหน้าการประชุม ไล่เรียงตั้งแต่ความกระตือรือร้นของชาติสมาชิกอาเซียน หรือกระทั่งความสำเร็จของการลงนามในปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน แต่ทว่านักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งกลับเห็นว่าปัจจัยเหล่านี้ยังไม่ใช่เครื่องหมายที่จะรับประกันได้ว่าเป้าหมายของอาเซียนในด้านต่างๆ เหล่านี้จะบรรลุผลสำเร็จตามที่คาดหวังกันไว้

เพราะสำหรับปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนฉบับแรกนี้ บรรดานักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนพร้อมใจเตือนว่าข้อตกลงดังกล่าวยังมีช่องโหว่มากมาย และส่วนใหญ่ยังเอื้อให้รัฐบาลของประเทศนั้นๆ ใช้ประโยชน์ในการกดขี่ประชาชนภายในประเทศ เช่น ประเด็นเรื่องการสลายการชุมนุมโดยอ้างประโยชน์ของชาติ ขณะเดียวกัน ปฏิญญาดังกล่าวก็ขาดความเข้าใจสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง เพราะไม่ได้ปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญเลย โดย ฟิล โรเบิร์ตสัน ผู้อำนวยการกลุ่มจับตาสิทธิมนุษยชนฮิวแมน ไรต์ส วอตช์ แสดงความเห็นว่า ปฏิญญาที่เกิดขึ้นเพียงแค่สร้างมาตรฐานที่ชอบธรรมสำหรับอาเซียน แต่เป็นสิ่งที่ต่ำกว่ามาตรฐานสากล

ส่วนสาเหตุซึ่งจะทำให้การเจรจาพูดคุยเพื่อแก้ไขปัญหาข้อพิพาทขัดแย้งในทะเลจีนใต้กับจีนไม่ลุล่วงเป็นเพราะ พญามังกรแห่งเอเชียแสดงท่าทีชัดเจนแล้วว่าต้องการที่จะยึดกรอบเจรจาในระดับทวิภาคี ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ทำไว้ตั้งแต่ปี 2545 และที่สำคัญ จีนกลับมองว่าสิ่งสำคัญเร่งด่วนสำหรับการประชุมในครั้งนี้ คือการหารือเรื่องเศรษฐกิจมากกว่าการรื้อฟื้นความขัดแย้ง

ขณะเดียวกันจุดยืนภายในชาติสมาชิกอาเซียนยังคงเป็นไปคนละทิศคนละทาง เห็นได้จากก่อนหน้าการประชุมเพียงไม่นานที่ประเทศเจ้าภาพกัมพูชาประกาศว่าอาเซียนเห็นชอบที่จะไม่ยกกรณีข้อพิพาทไปสู่เวทีระดับโลก แต่ไม่นานนัก ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เบนิญโญ อาควิโน ก็รีบออกมาสวนทันควันว่า ทั้งฟิลิปปินส์ตลอดจนชาติสมาชิกอื่นๆ ที่มีส่วนได้เสีย เช่น เวียดนาม ไม่ได้เห็นชอบกับแนวทางดังกล่าวแถมยังขอร้องให้นายกรัฐมนตรีฮุนเซนแห่งกัมพูชาเลิกเหมารวมว่าสิ่งที่ตนคิดเป็นประชามติส่วนรวมของ 10 ชาติสมาชิกอาเซียนเสียที

ยังไม่นับรวมตำแหน่งจุดยืนของชาติสมาชิกภายในอาเซียนที่บางประเทศผูกสัมพันธ์ทางการค้ากับจีนอย่างแน่นแฟ้น จนจะกลายเป็นเรื่องกระอักกระอ่วนแน่หากจะลุกขึ้นมาต่อต้านจีน ขณะที่ประเทศที่มีปัญหาพิพาทกับจีนก็เลือกยืนหยัด โดยขอยืมบารมีจากภายนอกกลุ่ม เช่น สหรัฐ เข้ามาเป็นตัวช่วย จนนักวิเคราะห์ต่างเกรงว่า แทนที่อาเซียนจะเป็นกลุ่มก้อนที่แน่นแฟ้นที่มีจุดยืนของตนอย่างชัดเจน อาเซียนจะเป็นเพียงเครื่องมือของมหาอำนาจเสียมากกว่า

ขณะที่ปัญหาสำหรับประเด็นด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนภายใน 2 ปีข้างหน้า ซึ่งหมายถึงการเชื่อมโยงถึงกันอย่างเสรีภายใต้มาตรฐานเดียวกัน ก็เป็นสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ลงความเห็นว่ายากจะจัดการได้ในระยะเวลาที่กำหนดกะเกณฑ์เอาไว้ เนื่องจากชาติสมาชิกแต่ละประเทศค่อนข้างยืนอยู่บนพื้นฐานของความต่างอย่างสุดขั้ว

ทั้งนี้ ขณะที่สิงคโปร์ อินโดนีเซีย หรือไทย อยู่ในขีดขั้นที่พัฒนาไปไกล บางประเทศสมาชิกอย่างลาว พม่า และกัมพูชา ยังอยู่ในสภาพที่จัดว่าล้าหลังและจำเป็นต้องปฏิรูปอีกมาก ไม่เฉพาะด้านกฎระเบียบการค้าการลงทุนเท่านั้น แต่รวมถึงด้านการเมืองและด้านสิทธิมนุษยชนอีกด้วย

ดังนั้น หากเลิกกำแพงภาษี เปิดตลาดเสรี เชื่อมโยงสินค้าและแรงงาน ตั้งแต่ธุรกิจระดับใหญ่จนถึงระดับกลางและระดับเล็ก ประเทศที่ยังไม่เข้มแข็งพออาจประสบภาวะยากลำบากได้

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ ตราบใดที่สมาชิกอาเซียนไม่สามารถยืนบนมาตรฐานเดียวกันอย่างเท่าเทียมกัน การรวมตัวเป็นเออีซีก็รังแต่จะทำให้มีการได้เปรียบเสียเปรียบ มากกว่าการแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน จนอาจเกิดรอยร้าวสร้างความขุ่นเคืองใจภายใน และทำให้อาเซียนไม่สามารถไปต่ออย่างเหนียวแน่นยั่งยืนได้

นักวิเคราะห์จากหลายสถาบันยอมรับว่า แม้ กิตา เวียร์จาวัน รัฐมนตรีการค้าของอินโดนีเซีย จะยืนกรานว่า ประชาคมอาเซียนจะเริ่มต้นภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2558 แน่นอน หลังจากที่เลื่อนมาจากต้นปี วันที่ 1 ม.ค. ในปีเดียวกันแล้ว กระนั้นการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การยอมให้ประชาชนแสดงความเห็นอย่างเสรี การร่วมมือและจุดยืนในการคลี่คลายข้อพิพาทและการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระเบียบข้อบังคับการค้าภายในประเทศต่างๆ เพื่อรองรับเออีซี ที่ยังคงแตกต่างยังถือเป็นอุปสรรคสำคัญที่ฉุดรั้งให้อาเซียนไม่สามารถก้าวไปสู่เป้าหมายที่วางไว้อย่างลุล่วง

และตราบใดที่ 10 ชาติสมาชิกยังไม่สามารถแก้ปมปัญหาได้อย่างเด็ดขาดร่วมกัน เป้าหมายของการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่แข็งแกร่งก็อาจยังเป็นเพียงแผนการวาดฝันบนแผ่นกระดาษต่อไป