posttoday

ไม้เด็ดเสธ.อ้ายทางออกที่เป็นไปได้

20 พฤศจิกายน 2555

อีก 4 วัน จะถึงการชุมนุมใหญ่ของม็อบขับไล่รัฐบาลในนามกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม นำโดย พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์

อีก 4 วัน จะถึงการชุมนุมใหญ่ของม็อบขับไล่รัฐบาลในนามกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม นำโดย พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

ถึงแม้ฝ่าย เสธ.อ้ายจะเสียกระบวนถูกพรรคเพื่อไทยแกนนำเสื้อแดง ทำลายความชอบธรรมจากคำว่า “แช่แข็ง” “ต้องการปิดประเทศ” และเป็นม็อบที่ยังคลุมเครือถึงวิธีการปฏิวัติสันติโดยประชาชน

แต่ฝ่ายรัฐบาลกังวลว่า ยอดม็อบครั้งนี้จะมีมากกว่าครั้งที่ผ่านมา ตำรวจให้ตัวเลขว่าน่าจะประมาณ 6 หมื่นคน เช่นเดียวกับนักลงทุน นักธุรกิจสะท้อนผ่านโพล เป็นห่วงสถานการณ์ที่อาจบานปลาย ขณะที่ เสธ.อ้ายยืนยันเป้าหลักแสนและมีไม้เด็ดล้มรัฐบาลแน่นอน

ล่าสุด เสธ.อ้ายบอกกับ “โพสต์ทูเดย์” ว่า ถ้าคนมาแค่ 45 หมื่นก็ต้องเลิก แต่ถ้ามาก ก็ต้องดูอีกครั้งว่าจะทำอย่างไรต่อไปและยืนยันมีไม้เด็ดแน่

และไม้เด็ดของ เสธ.อ้ายคืออะไรที่จะล้มรัฐบาลได้???

สถานการณ์ม็อบที่จะชุมนุมวันเสาร์์ที่ 24 พ.ย. ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า 1 วัน ก่อนจะมีศึกในสภาพิจารณาญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 2527 พ.ย. และลงมติในช่วงเช้าวันที่ 28 พ.ย.ซึ่งเป็นวันสุดท้ายก่อนปิดสมัยประชุม

ช่วงดังกล่าว การเมืองจึงร้อนระอุทั้งในและนอกสภา!!

แต่รัฐบาลเป็นกังวลม็อบนอกสภามากกว่า เมื่อเทียบกับศึกในจากญัตติซักฟอกทั้งที่เป็นมาตรการตรวจสอบที่รุนแรงที่สุด นั่นเพราะลงคะแนนในสภาอย่างไรรัฐบาลก็ชนะ มีจำนวนเสียงมากกว่าทุกครั้ง

ผลสะเทือนจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างมากอยู่ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่จะสอบสวนเรื่องทุจริตที่ฝ่ายค้านกล่าวหาและส่งให้ ป.ป.ช.สอบถ้ามีมูลก็ชงให้วุฒิสภาถอดถอนซึ่งใช้เวลาแรมปี

ทว่า ม็อบขับไล่รัฐบาลรอบนี้ รัฐบาลตีราคาไว้สูงกว่าการชุมนุมครั้งแรกที่สนามม้านางเลิ้ง เพราะอย่างที่บอก ตรงกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจพอดี จึงเกรงว่าทั้งสองวาระของฝ่ายค้านและม็อบต้านจะรวมพลังกดดันรัฐบาลได้

รัฐบาลและแกนนำเสื้อแดงเชื่อว่า ผู้เล่นครั้งนี้เป็นหน้าเดิมๆ คือ พรรคประชาธิปัตย์ที่ใช้เวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจ และก็เป็นพรรคประชาธิปัตย์กับกลุ่มพันธมิตรเดิมที่จัดม็อบมาลานพระบรมรูปฯ เช่นกัน

เพียงแต่ ชื่อองค์กร แกนนำขับไล่เปลี่ยนไป ไม่มี 5 แกนนำพันธมิตร กระนั้นมวลชนยังเป็นกลุ่มเดิม จากกลุ่มไม่เอาระบอบทักษิณ เช่น พันธมิตร กองทัพธรรม กลุ่มหลากสี สยามสามัคคี เครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ บลูสกายจากพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มทุนที่ไม่เอาทักษิณ

คนจัดม็อบอย่าง จตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำเสื้อแดง อ่านม็อบด้วยกันยังเตือนว่า อย่าประมาทม็อบ เสธ.อ้ายเป็นอันขาด แม้สถานการณ์จะไม่สุกงอม เพราะรัฐบาลเพิ่งทำงานแค่ขวบปี และโพลสะท้อนว่าประชาชนยังสนับสนุนอยู่ แต่ก็อาจมีจุดเปลี่ยนเกิดขึ้นได้ทุกเวลาจากวิธีการในอดีตที่ใช้ม็อบเป็นตัวเดิน

การจัดม็อบใหญ่ มีความเสี่ยงเสมอที่จะเกิดความรุนแรง ไม่ใช่คนจัดคุมไม่อยู่ แต่กลุ่มที่ต้องการใช้ความรุนแรง จ้องที่จะใช้สถานการณ์นี้เพื่อยกระดับสถานการณ์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น

ฝ่ายเพื่อไทยหาใช่กังวลกับตัว เสธ.อ้าย แต่บทเรียนที่เกิดขึ้นกับรัฐบาล 3 ชุดของทักษิณ ชินวัตร ล้วนถูกพลังม็อบส่งลูกให้ทหารและองค์กรอิสระจัดการต่อ นี่จึงประมาทไม่ได้ 

พันธมิตรขับไล่ทักษิณจนเกิดรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ถูกพันธมิตรชุมนุมใหญ่ยึดทำเนียบจนศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดีนายกฯ มีสถานะเป็นลูกจ้างในรายการชิมไปบ่นไปจนพ้นจากตำแหน่ง รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ถูกศาลรัฐธรรมนูญลงมติยุบพรรคพลังประชาชนจนตกเก้าอี้ในวันที่ม็อบพันธมิตรกดดันบุกสนามบินสุวรรณภูมิ

ไม่แปลกที่ฝ่ายเพื่อไทยยังสยองกับกลุ่มต้านเพราะกลัวการล้มครั้งที่สี่เกิดขึ้นกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์

มีการสมมติฉากต่างๆ ว่า อะไรคือ ไม้เด็ด ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จากแรงส่งม็อบพิทักษ์สยาม ในวันที่ 24 พ.ย.

1.การรัฐประหารของกองทัพ ก่อนหน้านี้ เสธ.อ้าย ส่งสัญญาณอยากให้ทหารมายึดอำนาจแล้วตั้งรัฐบาลชุดใหม่ แต่ไม่น่ามีความเป็นไปได้ เว้นแต่เกิดความสงครามกลางเมืองถึงขั้นกลียุค ในการชุมนุมวันที่ 24–28 พ.ย. และมีผู้สูญเสียนับร้อยนับพัน จนเปิดทางให้ทหารเข้าควบคุมสถานการณ์

ความรุนแรงประเภทนี้อาจเกิดขึ้นมาจาก ม็อบชนม็อบ ยกทัพฆ่าฟันกัน แต่แกนนำม็อบแดงยืนยันว่า จะไม่จัดม็อบมาเผชิญหน้าเด็ดขาด มิฉะนั้นจะตกหลุมพราง

ที่น่าห่วง คือ ความปั่นป่วนจากผู้ฉกฉวยสถานการณ์ เช่น วางระเบิด ยิงเอ็ม 79 อย่างที่กังวล แต่ทั้งฝ่ายม็อบและแกนนำรัฐบาล ออกข่าวปฏิเสธแต่เนิ่นๆ เพื่อยืนยันว่าจะไม่ใช้วิธีนี้เด็ดขาด ถ้าทำก็ฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น

2.การปิดล้อมสภา รัฐบาลกังวลมากเพราะช่วงดังกล่าวอยู่ระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จนสั่งการให้เจ้าหน้าที่ทำแนวป้องกันรอบสภาและทำบันไดเตรียมให้ สส. หนีออกหลังสภาหากม็อบปิด

3.บุกทำเนียบรัฐบาล เหมือนสมัยพันธมิตรฯ บทเรียนในอดีตทำให้รัฐบาลเตรียมแผนป้องกันไว้ แต่ด้วยจำนวนม็อบเรือนหมื่นคาดว่า ต้องล้นจากลานพระบรมรูปฯ ไปจนถึงทำเนียบรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม เสธ.อ้ายยืนยันว่า ม็อบจะไม่ยึดสภาและทำเนียบรัฐบาลแน่และจะไม่เคลื่อนย้ายไปไหน ถ้ายืนยันอย่างที่พูดจริงก็ไม่น่าห่วง แต่วันนี้ ไม่มีใครเชื่อใจใครได้ ทุกอย่างอยู่ที่สถานการณ์แหลมคม ณ เวลานั้น

4.คดีในองค์กรอิสระ หากจะล้มรัฐบาลได้ องค์กรอิสระต้องชี้มูลความผิดที่ตัวนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนทำให้พ้นจากตำแหน่งและ ครม.ทั้งคณะหมดสภาพลง หรือ ตัดสินยุบพรรคเพื่อไทย ฝ่ายรัฐบาลได้ตรวจสอบคดีในศาลรัฐธรรมนูญ หรือป.ป.ช. พบว่า แม้จะมีบางคดี แต่ไม่น่าห่วง

5.ยึดสนามบิน หรือ เคลื่อนพลดาวกระจาย ปิดล้อมบ้านพักนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ก็ไม่น่าเกิดขึ้นได้ เพราะเป็นวิธีที่ทำลายม็อบเอง เนื่องจากจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากคนทั่วไป รวมถึงการยึดทำเนียบ หรือ บุกสภา ที่คนไทยต่างปฏิเสธวิธีการนอกกฎหมายและต้องการให้ประเทศเดินไปข้างหน้า

ไม้เด็ด เสธ.อ้าย อาจเป็นวาทกรรม เพื่อปลุกให้มวลชนฮึกเหิมในยกแรก สุดท้ายอาจจบที่บอกให้รัฐบาลเสื้อแดงรู้ว่า ยังมีคนจำนวนมากไม่พอใจรัฐบาล เป็นการแสดงออกของ “กลุ่มคนทนไม่ไหว” ที่ออกมาเตือนรัฐบาล หาก ลุแก่อำนาจ เอื้อพวกพ้อง ปิดกั้นการตรวจสอบ ทุจริตเมื่อไร ก็อาจถูกตอบโต้ด้วยการชุมนุมขับไล่ขยายตัวเพิ่มปริมาณได้ทุกกรณี

มีความเป็นไปได้ที่ม็อบจะสะสมกำลังนวดไปเรื่อยๆ ในปีที่สอง เว้นแต่มีการสร้างสถานการณ์เกิดขึ้นจนเกิดการสูญเสีย เมื่อนั้น แรงกดดันจะตกไปอยู่ที่รัฐบาลเพื่อไทย นี่คือสิ่งที่เป็นกังวลอยู่ ณ เวลานี้