posttoday

ยุคค้าเสรีคัมแบ็ก ทางรอดฝ่าพิษยุโรป-สหรัฐ

19 พฤศจิกายน 2555

เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ไทยแลนด์ คือประเทศล่าสุดที่ประกาศเจตนารมณ์ต้องการเข้าร่วมการเจรจาความตกลง

โดย...นันทิยา วรเพชรายุทธ

เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ไทยแลนด์ คือประเทศล่าสุดที่ประกาศเจตนารมณ์ต้องการเข้าร่วมการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) กับ 11 ประเทศ ซึ่งรวมทั้งสหรัฐ ที่เป็นหัวหอกเซลส์แมนคนสำคัญ เป็นของขวัญต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองชิ้นเอก ระหว่างที่ประธานาธิบดีบารัก โอบามา แห่งสหรัฐ เดินทางเยือนประเทศไทย

ทำเอาหลายฝ่ายตื่นตกใจกันไม่น้อยทีเดียว ที่ได้ยินคำว่า “เขตการค้าเสรี” หวนกลับมาอีกครั้ง หลังจากที่เคยเฟื่องฟูในช่วงหลายปีมานี้ ก่อนที่จะชะงักไปในช่วงวิกฤตการณ์ภาคการเงินสหรัฐและวิกฤตการณ์หนี้สาธารณะยุโรป

ที่จริงแล้ว การเจรจาเขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ ยังคงดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบจากกรอบทวิภาคีไปสู่รูปแบบพหุภาคีเท่านั้น โดยเฉพาะในกลุ่มภูมิภาคเดียวกัน โดยมีสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เป็นตัวตั้ง ก่อนจะผสมเข้ากับรายประเทศ หรือรายกลุ่ม เช่น อาเซียน+3 หรืออาเซียน+6

ทว่าที่น่าจับตาก็คือ บรรยากาศการค้าเสรีทั่วโลกจะคัมแบ็กกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งหลังจากนี้เป็นต้นไป โดยมีแรงผลักดันสำคัญจากปัญหาเศรษฐกิจในสหรัฐและวิกฤตการณ์หนี้ยุโรปเป็นปัจจัยหลัก

สิ่งเดียวที่จะช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปเดินหน้าต่อไปได้ก็คือ การค้า

ผลการศึกษาวิจัยจากบรรดาองค์กรระดับโลก อาทิ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ล้วนระบุตรงกันว่า ยุโรปจะเผชิญการหดตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และคาดว่าจะหดตัวลง 0.2% ในไตรมาส 3

ภาวะที่ต้องดิ้นรน ส่งผลให้ยุโรปกำลังมีการถกความเป็นไปได้ที่จะฟื้นการเจรจาเอฟทีเอระหว่างยุโรป-สหรัฐ ขึ้นมาอีกครั้ง รวมไปถึงการเจรจากับญี่ปุ่น หลังจากที่สามารถเซ็นกับเกาหลีใต้ไปได้ 3 ปีก่อนหน้านี้ โดยเอเชียนั้นเป็นตลาดส่งออกของยุโรปในสัดส่วน 25%

โฮเซ มานูเอล บารอสโซ ประธานกรรมาธิการยุโรป ได้กล่าวไว้ระหว่างการประชุมสุดยอดเอเชีย-ยุโรป (อาเซม) ที่ลาว เมื่อ2 สัปดาห์ที่ผ่านมาว่า สหภาพยุโรป (อียู) ต้องการลงนามเอฟทีเอกับหลายประเทศเอเชียให้มากขึ้น หลังจากที่บรรลุความตกลงกับสิงคโปร์ไปได้เพียงประเทศเดียวจากทั้งหมด 10 ชาติอาเซียน และคาดว่าจะมีการลงนามกันได้ในปลายปี 2555 นี้

ทางด้านสหรัฐนั้นก็มีปัญหาหน้าผาการคลัง (ฟิสคัล คลิฟ) จ่อคอหอยอยู่ ซึ่งแม้จะผ่านไปได้ แต่ก็ยังต้องเผชิญความเสี่ยงของหนี้ท่วมประเทศ

นอกจากเล็งจะฟื้นเอฟทีเอกับยุโรปแล้วก็ยังเป็นหัวหอกสำคัญในการผลักดันกรอบเจรจาทีพีพีทั่วโลก ซึ่งมีประเทศที่ลงนามไปแล้ว 11 ประเทศ และมีประเทศที่แสดงเจตจำนงเข้าร่วมเจรจาอีกหลายชาติเช่นกัน อาทิ ไทยและญี่ปุ่น

สหรัฐมีเหตุผลมากมายที่ต้องทำทีพีพี ทั้งเหตุผลหลักทางการเมืองที่ต้องการสกัดอิทธิพลของจีน หรือการรวมกลุ่มอื่นๆ ที่สหรัฐไม่ได้มีผลประโยชน์ด้วย แต่ก็ปฏิเสธเหตุผลทางเศรษฐกิจไม่ได้เช่นกันว่า เศรษฐกิจสหรัฐ โดยเฉพาะบริษัทต่างๆ กำลังต้องการขยายช่องทางการค้าและการลงทุนเป็นอย่างมาก ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจในบ้านที่ขยายตัวได้อย่างเชื่องช้า

ราจิฟ บิสวาส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก ของไอเอชเอส โกลบอล อินไซต์ ระบุกับเอเอฟพีว่า กรอบความร่วมมือเอเชีย-แปซิฟิก นับว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อประเทศในภูมิภาคนี้ เพราะจะช่วยลดทอนผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจในสหรัฐและยุโรปลงได้ โดยเฉพาะลดการพึ่งพาสองตลาดส่งออกดังกล่าว

ส่วนทางด้านเอเชียนั้น ก็ได้รับผลกระทบจากตลาดส่งออกสำคัญในฝั่งตะวันตกที่หดตัวลง ส่งผลให้หลายประเทศต้องปรับลดเป้าเศรษฐกิจทั้งในปีนี้และปีหน้า เช่น สิงคโปร์

นอกจากนี้ แม้จะมีสัดส่วนการบริโภคภายในประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจีนและในกลุ่มอาเซียนอย่างอินโดนีเซียและไทย ทว่าภาคการส่งออกก็ยังคงเป็นโมเดลขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักๆ ที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนสัดส่วนได้โดยเร็วภายในไม่กี่ปีนี้ ดังนั้นจึงต้องมุ่งไปที่การจับมือการค้าภายในภูมิภาคเอเชียด้วยกันเป็นหลัก แทนที่ตลาดส่งออกในยุโรปและสหรัฐที่ยังคงซบเซา

หากพิจารณาภาพรวมของการค้าในภูมิภาคสำคัญๆ ของโลกจะเห็นได้ชัดเจนว่ามีการเดินหน้าเจรจาการค้าเสรีในแทบทุกภูมิภาค โดยเฉพาะแถบเอเชีย ซึ่งมีอาเซียนเป็นแกนกลางในกรอบพหุภาคี

หลังจากที่อาเซียนมีเอฟทีเอกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ไปแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการเจรจาในกรอบพหุภาคีกับกรอบอาเซียน+3 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) และกรอบอาเซียน+6 (RCEP) ซึ่งเพิ่มอินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เข้าไป ขณะที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออก ก็อยู่ระหว่างความเป็นไปได้ที่จะเจรจาเอฟทีเอ 3 ชาติยักษ์ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจเบอร์ 2, 3 และ 5 ของโลกตามลำดับ

หลายฝ่ายกำลังจับตาไปที่กรอบอาเซียน+6 หรือกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อาร์ซีอีพี ซึ่งจะเริ่มเปิดการเจรจาครั้งแรกในที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่กัมพูชาในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ โดยจะมีอินโดนีเซียเป็นผู้นำการเจรจา

นอกจากความสำคัญทางการเมือง เพื่อเป็นกลุ่มการค้าขนาดใหญ่คานกับทีพีพีแล้ว ในเชิงเศรษฐกิจนั้น อาร์ซีอีพีจะเป็นตลาดร่วมที่มีจีดีพีรวมกันถึงกว่า 15 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ท่ามกลางประชากรเกือบ 3,000 ล้านคนเมื่อเทียบกับสหภาพยุโรป ซึ่งมีประชากร 390 ล้านคน และมีขนาดเศรษฐกิจ 13 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

แม้ว่าทั้งกรอบทีพีพีและอาร์ซีอีพี จะมีอุปสรรคหลายด้านที่ทำให้ไม่อาจบรรลุผลสำเร็จได้ง่ายๆ โดยเฉพาะเรื่องการเมืองและประเด็นอ่อนไหวต่างๆ แต่ก็นับเป็นความเคลื่อนไหวสำคัญอย่างยิ่งในยุคการค้าเสรีที่กลับมาครองโลกอีกครั้ง