posttoday

ผ่ามวลชน 'พิทักษ์สยาม' ต่างที่มาแต่เป้าเดียวกัน

16 พฤศจิกายน 2555

“เพื่อความไม่ประมาท จะใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วประเทศทั้งหมด 5 หมื่นนาย ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ตำรวจ

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

“เพื่อความไม่ประมาท จะใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วประเทศทั้งหมด 5 หมื่นนาย ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ตำรวจ อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน และอาสาสมัครร่วมดูแลความปลอดภัย ซึ่งแต่ละจุดจะมีผู้บังคับการดูแลเหตุการณ์ เพื่อความเด็ดขาดในการตัดสินใจ โดยไม่จำเป็นต้องใช้กำลังทหารเข้ามาช่วยดูแลความเรียบร้อย”

ท่าทีจาก ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี แสดงถึงความไม่ประมาทต่อการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยาม ในวันที่ 24 พ.ย.นี้ หลังจากชะล่าใจไปประเมินความสามารถของทหารนอกราชการรายนี้ต่ำไปหน่อย ส่งผลให้เกิดกระแสมวลชนนับหมื่นมารวมกันที่สนามม้านางเลิ้ง เมื่อวันที่ 28 ต.ค.ที่ผ่านมา

แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลเริ่มให้ความสนใจกับม็อบ เสธ.อ้าย จากเดิมไม่ให้ราคามากนัก เริ่มยอมรับในระดับหนึ่งว่ากระแสต่อต้านรัฐบาลเริ่มมีกำลังแรงมากขึ้น

สอดรับกับความคิดเห็นของ “จตุพร พรหมพันธุ์” แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในฐานะคนจัดม็อบ ที่เห็นว่ารอบนี้น่าจะมีมวลชนมาร่วมกับ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ประมาณ 3-7 หมื่นคน

ทั้งนี้ ตัวเลข 3-7 หมื่นคน ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลยเสียทีเดียว จะเห็นได้ว่าเวลานี้มวลชนของ เสธ.อ้าย เริ่มมีความแข็งแกร่งอย่างเห็นได้ชัดมิเช่นนั้นรัฐบาลคงไม่วางกำลังป้องกันกว่าครึ่งแสนเช่นนี้อย่างแน่นอน

“องค์การพิทักษ์สยาม” ถือกำเนิดจากการรวมตัวของภาคีเครือข่ายจำนวน 85 องค์กร แม้จะมีเครือข่ายแตกแขนงเป็นจำนวนมาก แต่ลึกๆ แล้วมีฐานมวลชนแบ่งออกได้เป็น 4 ส่วนสำคัญ

ผ่ามวลชน \'พิทักษ์สยาม\' ต่างที่มาแต่เป้าเดียวกัน

ฐานที่ 1 “กองทัพธรรม” นำโดย สมณะโพธิรักษ์ ประเมินคร่าวๆ ว่าการรบต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์รอบนี้ เตรียมระดมเครือข่ายจากทั่วภูมิภาคทั่วประเทศกว่า 5,000-6,000 คน หน้าที่คือการเป็นแม่บ้านให้กับกลุ่มผู้ชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นการดูแลอาหารการกิน ไปจนถึงคอยตรึงพื้นที่ชุมนุมเอาไว้

การเข้ามาของกองทัพธรรมได้ก่อให้เกิดจุดเชื่อมต่อระหว่างกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกับองค์การพิทักษ์สยามในทางตรงและทางอ้อมด้วย เพราะ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ซึ่งสวมหมวก 2 ใบ ทั้งแกนนำพันธมิตรฯ และกองทัพธรรม ได้ประกาศหนุน เสธ.อ้าย เต็มที่

ฐานที่ 2 “คนเสื้อเหลืองใน กทม.” ประมาณ 4,000-5,000 คน กลุ่มนี้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มคนไม่เอารัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีการวิเคราะห์กันว่าส่วนใหญ่เป็นแม่ยกพันธมิตรฯ ที่เคยเข้าร่วมชุมนุม 193 วันไล่รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และสมชาย วงศ์สวัสดิ์ โดยเคลื่อนไหวกันเอง แม้ว่าแกนนำพันธมิตรฯ ยังจะสงวนท่าทีต่อองค์การพิทักษ์สยามก็ตาม

ฐานที่ 3 “คนเสื้อหลากสี” ของ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ มีไม่ต่ำกว่า 2,000-3,000 คน มีชนชั้นกลางในเมือง หรือ “ไวท์คอลลาร์” เป็นฐานสำคัญเพื่อต่อต้านการเคลื่อนไหวคนเสื้อแดง เนื่องจากไม่พอใจที่มักจะปิดถนนและย่านเศรษฐกิจสำคัญหลายจุด ส่งผลให้บริษัทและธุรกิจเอกชนได้รับความเดือดร้อน

กลุ่มคนเสื้อหลากสีเป็นกลุ่มการเมืองที่มีกิจกรรมต่อเนื่องทั้งเวทีเล็กและเวทีใหญ่จนมีความเข้มแข็ง หล่อเลี้ยงมวลชนให้พร้อมกับการเคลื่อนไหวตลอดเวลาทันทีที่มีเงื่อนไข ดังจะเห็นได้จากการที่รัฐบาลต้องถอยการเสนอพระราชกฤษฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษอย่างไม่เป็นท่ามาแล้ว

ฐานที่ 4 “แฟนคลับทีวีบลูสกาย” รวมอยู่ในกลุ่มแฟนคลับพรรคประชาธิปัตย์ โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับพันธมิตรฯ เนื่องจากยังผูกใจเจ็บที่ครั้งหนึ่งพันธมิตรฯ เคยออกมาโจมตี “อภิสิทธิ์เวชชาชีวะ” สมัยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงเลือกที่จะเคลื่อนไหวกันเองโดยไม่ยุ่งกับพันธมิตรฯ

การรวมตัวกันของมวลชนส่วนนี้ อาศัยการร่วมฟังปราศรัย “เดินหน้าผ่าความจริง หยุดล้มรัฐธรรมนูญออกกฎหมายล้างผิดคนโกง” ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์จัด 2-3 ครั้งต่อเดือน

กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่รู้สึกไม่พอใจรัฐบาล จนนำมาสู่การร่วมขบวนกับ เสธ.อ้าย เพื่อไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ประมาณการตัวเลขมวลชนน่าจะอยู่ราว 3,000-4,000 คน มีเหตุต้านรัฐบาลเพียงข้อเดียว คือ พรรคประชาธิปัตย์ถูกกลั่นแกล้งจากรัฐบาลหลายกรณี เช่น การถอดยศ และการดำเนินคดีสลายการชุมนุมเสื้อแดง

ขณะเดียวกัน มวลชนองค์การพิทักษ์สยามไม่ได้มีเพียงเท่านี้ แต่ยังจะมีจากกลุ่มอื่นๆ ด้วย เช่น “เครือข่ายชาวนาภาคกลาง” นำโดย กิมอัง พงษ์นารายณ์ ปัจจัยสำคัญที่ต้องออกมาร่วมไล่รัฐบาลด้วย หนีไม่พ้นความล้มเหลวของนโยบายจำนำข้าว ชาวนาไม่ได้ประโยชน์จากนโยบายอย่างเต็มที่ตามที่รัฐบาลได้ประกาศเอาไว้

แต่ว่ากลุ่มมวลชนไม่เหนียวแน่นมากนัก ถ้าเทียบกับกลุ่มมวลชนหลักทั้ง 4 กลุ่ม เพราะพื้นที่ของเครือข่ายชาวนาอยู่ในต่างจังหวัดที่พรรคเพื่อไทยมีหัวคะแนน เสื้อแดง และ สส.คอยทำหน้าที่จับตาเข้มข้น

เช่นเดียวกับการรวมตัวของกลุ่มนักศึกษาด้วยในนาม “เยาวชนพิทักษ์สยาม” ใช้มหาวิทยาลัยรังสิตเป็นฐานสำคัญสำหรับจัดเวทีสาธารณะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักศึกษาสถาบันอื่นๆ ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการกำหนดจุดยืน เป้าหลักเพื่อสร้างฐานมวลชนในกลุ่มวัยรุ่นเหมือนกับที่พันธมิตรฯ เคยทำ สร้างแนวร่วมหน้าใหม่ให้เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยหลักที่ส่งให้มวลชนของ เสธ.อ้าย มีความแข็งแรงจนสร้างความผวาให้กับรัฐบาลคงหนีพ้น “ทีวีดาวเทียม” เพื่อถ่ายทอดการเคลื่อนไหวขององค์การพิทักษ์สยาม และเผยแพร่ความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลให้เป็นที่รับทราบของกลุ่มพลังเงียบ โดยหวังให้มาร่วมกับองค์การพิทักษ์สยาม

ไม่ว่าจะเป็น “ทีนิวส์-ไทยทีวีดี” ของ สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม หรือ เอฟเอ็มทีวี (For Mankind TV) ของกองทัพธรรม ช่อง “13 สยามไท” ที่มี พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปร่วมจัดรายการด้วย

ทั้งหมดนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าองค์การพิทักษ์สยามมีความพร้อมสำหรับการเดินหน้าล้มรัฐบาลแล้ว เหลือเพียงรอเวลาและบทพิสูจน์ในการยืนระยะเท่านั้น