posttoday

'เอสเอ็มอีแบงก์' รอความหวัง คลังชุบชีวิต

16 พฤศจิกายน 2555

สถานการณ์ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์)

โดย...กนกวรรณ บุญประเสริฐ

สถานการณ์ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐที่มีเป้าหมายหลักในการพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในยามนี้ ถือว่าอาการน่าเป็นห่วงที่สุดในบรรดาแบงก์เฉพาะกิจด้วยกัน

ไม่เพียงแต่หนี้เสียเพิ่มขึ้นแบบถล่มทลาย รายได้ดอกเบี้ยเริ่มหดหาย กินแต่ดอกเบี้ยเงินกู้เดิมเพราะสินเชื่อใหม่ไม่ขยับ สถานะเงินกองทุนก็ง่อนแง่นเต็มกลืน

ยิ่งเฉพาะในช่วงที่รัฐบาลต้องการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากภายในประเทศที่มาจากฐานราก แต่ปรากฏว่าเครื่องเครากลไกของเอสเอ็มอีแบงก์กลับไม่ทำงาน ไม่สามารถเป็นแหล่งเงินทุนเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการเสียแล้ว

เพราะเพียงลำพังตัวเองยังแทบเอาตัวไม่รอด

ปรากฏการณ์เช่นนี้สะท้อนภาพออกมาจากผลดำเนินงานล่าสุดของเอสเอ็มอีแบงก์ ที่มียอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ทะลุหลัก 3 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนไม่น้อยกว่า 30% ของสินเชื่อรวมเข้าไปแล้ว ขณะที่เงินให้สินเชื่อใหม่ก็ไม่เพิ่ม แถมหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง

'เอสเอ็มอีแบงก์' รอความหวัง คลังชุบชีวิต

เดือน ม.ค. 2555 ธนาคารแห่งนี้มียอดสินเชื่อคงค้าง 9.73 หมื่นล้านบาท และค่อยลดลงมาในเดือน ก.ย. 2555 มียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 9.67 หมื่นล้านบาท ส่วนยอดสินเชื่อปล่อยใหม่ทำได้จริงๆ แค่กว่า 2 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส) ลดลงไปต่ำอยู่ที่ระดับ 5%

ที่สำคัญ 8 เดือนแรก ธนาคารประสบภาวะการขาดทุนสุทธิไปแล้วไม่น้อยกว่า 2,200 ล้านบาท

แม้ พิชัย ชุณหวชิร ประธานกรรมการบริหารเอสเอ็มอีแบงก์ จะโดดลงมาเป็นประธานคณะกรรมการฟื้นฟูกิจการของเอสเอ็มอีแบงก์เอง โดยหวังว่าจะหยุดการไหลของหนี้เน่าให้ได้ โดยตั้งเป้าว่าใน 3 ปี จะแก้หนี้เอ็นพีแอล 3 หมื่นล้านบาทลงให้ได้

โดยจะดำเนินการ 3 แนวทางคือ การปรับโครงสร้างหนี้ ฟื้นฟูกิจการ หรือลูกหนี้บางรายที่มีสถานะดีจะเปิดโอกาสให้ซื้อหนี้คืน และถ้ารายไหนเจรจาไม่ได้ก็เข้าสู่กระบวนการของศาลฟ้องร้องบังคับคดี นำทรัพย์สินขายทอดตลาด จะจัดทีมลงพื้นที่เพื่อประเมินราคาหลักประกันทั้งหมดใหม่

ล่าสุดได้ตั้งศูนย์ป้องกันหนี้ตกชั้นรายย่อย วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท สำหรับลูกหนี้ที่ยังเป็นหนี้สถานะปกติจำนวน 6.2 หมื่นบัญชี ยอดหนี้ 3.5 หมื่นล้านบาท

แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ทันการณ์เสียแล้ว

เพราะจากการประเมินจากทั้งของทีมฟื้นฟูฯ และทีมของธนาคาร พบว่ามีโอกาสที่ลูกหนี้ปกติจะไหลไปเป็นเอ็นพีแอลได้อีกเป็นหมื่นล้านบาท

ประมาณการอย่างเลวร้ายที่สุด หนี้เน่าของธนาคารแห่งนี้อาจจะลุกลามไปได้มากถึง 4.2 หมื่นล้านบาท หรือเกือบจะครึ่งหนึ่งของสินเชื่อทั้งหมดจะกลายเป็นหนี้เสีย

เหมือนจะย้อนประวัติศาสตร์หน้าเก่าสมัยปี 2552 ที่ธนาคารแห่งนี้มีหนี้เน่าท่วมถึง 51% มาแล้ว

สถานการณ์ของเอสเอ็มอีแบงก์ตอนนี้ ถ้าเปรียบเป็นธนาคารเอกชนก็คงเรียกว่าอาการสาหัสเตรียมเข้าผ่าตัดห้องไอซียูได้แล้ว เพียงแต่ธนาคารแห่งนี้เป็นของรัฐที่มีกระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่เท่านั้นที่ทำให้ไม่ล้มพังลง

ยิ่งพิจารณากระบวนการทำงานในยุคนี้ ฝ่ายการเมืองตกลงแบ่งเค้กกันให้ฟากกระทรวงอุตสาหกรรมเข้ามากำกับนโยบาย กลายเป็นว่ายิ่งเข้าไปทำให้ปัญหาบานปลาย เพราะความไม่เข้าใจในการบริหารจัดการเชิงธุรกิจธนาคารเฉพาะกิจ ที่เน้นการสร้างเถ้าแก่น้อยว่า ไม่สามารถเอามาตรฐานทางบัญชีสากลมาจับผลดำเนินงานเป๊ะๆ แบบบริษัทมหาชนได้ หรือแม้กระทั่งการเอามาตรฐานการจัดชั้นหนี้เชิงคุณภาพมาจับก็ยังไม่ได้

ที่สำคัญ กรรมการที่เข้ามาทำงานแบบเต็มเวลาหลังจากปลดโสฬส สาครวิศว ออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ยังไม่สามารถบริหารจัดการให้แบงก์เดินหน้าขยายสินเชื่อในเชิงคุณภาพต่อไปได้

ล่าสุดกลับพบว่า มีผู้ประกอบการจำนวนมากที่ต้องกลายเป็นเอ็นพีแอลจำนวนมาก เพราะไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ได้ เนื่องจากพนักงานเองก็ไม่กล้าผ่อนปรนการชำระหนี้ให้ได้เหมือนเดิม เพราะเกรงว่าจะมีความผิด

ขณะที่การยึดเอาระเบียบที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ที่คณะกรรมการสั่งการไว้ให้ยึดมาตรฐานการปรับโครงสร้างหนี้เชิงคุณภาพตามแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้พนักงานได้แค่มองยอดหนี้เน่าเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน โดยที่ไม่สามารถเข้าเยียวยาผู้ประกอบการได้เช่นเดิม

ประกอบกับที่ผ่านมาการเข้าล้วงลูกของคณะกรรมการในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมยิ่งทำให้เกิดปัญหาวุ่นวาย มีการตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงให้ผลเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน พร้อมมีคำสั่งเปลี่ยนทีมทำงานจนเครื่องสะดุด จนเกิดปัญหาการฟ้องร้องระหว่างคณะกรรมการที่ฟ้องเรียกค่าเสียหายกับ “โสฬส” จากโครงการปล่อยสินเชื่อชะลอเลิกจ้างงานในช่วงปี 2554-2555 ผิดเงื่อนไข ทำให้ธนาคารเสียหายกว่า 100 ล้านบาท

ขณะที่ “โสฬส” ก็ได้เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.บางซื่อ ให้ดำเนินการเอาผิดกับคณะกรรมการบางส่วน ซึ่งมี นริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์ เป็นประธานกรรมการฐานหมิ่นประมาท จากการออกหนังสือเลิกจ้างและไล่ออกจากการทำงานจนทำให้เสียชื่อเสียง

จนกลายเป็นว่ามีการเข้าหาข้อมูลจากพนักงานผู้บริหารของทั้ง สอง ฝ่าย เพื่อนำไปสนับสนุนการฟ้องร้องของตัวเอง

ผลที่ออกมาคือแบงก์ยิ่งมีแต่เสียหายมากขึ้น เพราะผู้บริหาร พนักงานไม่เป็นอันทำงาน ต้องคอยมาให้ข้อมูลทั้ง สอง ฝ่าย ในการเข้าประหัตประหารกัน

แม้ผลสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง กรณีการปล่อยสินเชื่อและการบริหารจัดการของเอสเอ็มอีแบงก์ ที่กระทรวงการคลังแต่งตั้งขึ้น โดยให้ รังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ รองปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานนั้น มีมติเบื้องต้นว่า “โสฬส” ปฏิบัติหน้าที่โดยหละหลวมและบกพร่องหลายเรื่องดังต่อไปนี้คือ ปล่อยให้มีการวิเคราะห์สินเชื่อโดยหละหลวม โดยพบว่าข้อมูลที่นำมาใช้วิเคราะห์สินเชื่อจำนวนมากขาดความน่าเชื่อถือ และการแก้ไขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอลไม่เข้มงวดขาดมาตรฐาน โดยไม่มีแนวทางการแก้ไขที่ชัดเจน

แต่ถามว่าใครจะได้ประโยชน์จากการที่บอร์ดทุ่มเทสรรพกำลังเพื่อกำจัดคนเก่าบ้าง

ถึงเวลาแล้วที่กระทรวงการคลัง ในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้นและเป็นคนที่ควักเงินใส่เพิ่มทุนให้เอสเอ็มอีแบงก์ จะต้องออกโรงเข้ามาควบคุมการบริหารจัดการธนาคารเฉพาะกิจของรัฐให้เป็นรูปธรรมเสียที ไม่เช่นนั้นมีแต่พังกับพัง

ถ้าธนาคารมีหนี้เสีย 40-50% ของสินเชื่อรวม รับประกันได้ว่าใครหน้าไหนก็เอาไม่อยู่

ล่าสุด ทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง ในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้เข้ามากำกับดูแลเอสเอ็มอีแบงก์ ส่งสัญญาณการเข้ามาช่วยฟื้นธนาคารและช่วยผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการทำศึกภายในองค์กร โดยการเรียกขอดูข้อมูลในเชิงลึกจากธนาคารแห่งนี้อยู่

เพราะหากกระทรวงการคลังสามารถส่งสัญญาณเรื่องการทำธุรกิจแบบผ่อนปรนตามวัตถุประสงค์ของการเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาให้กับบอร์ด และ สศค. และสำนักงานคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้ ก็เชื่อว่า เอสเอ็มอีแบงก์ยังคงมีหวังที่จะเป็นแหล่งเงินทุนเพื่อช่วยต่อลมหายใจให้ผู้ประกอบการที่เดือดร้อนไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนอื่นได้อีกต่อไป

แต่หากไม่เข้ามาควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด หามืออาชีพมาทำงานแก้หนี้ควบคู่กับการทำมาหาได้ รับประกันได้ว่าธนาคารเพื่อการพัฒนาเถ้าแก่น้อยแห่งนี้ซวนเซแน่นอน