posttoday

ค้าเสรี'ทีพีพี'ปิดล้อมจีนสกัดรัศมีอาเซียน

16 พฤศจิกายน 2555

กลายเป็นประเด็นร้อนเข้าไปทุกทีสำหรับความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ทีพีพี)

โดย...นันทิยา วรเพชรายุทธ

กลายเป็นประเด็นร้อนเข้าไปทุกทีสำหรับความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) ซึ่งรัฐบาลไทยกำลังจะประกาศเข้าร่วมเจรจาความตกลงดังกล่าว ระหว่างที่ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ของสหรัฐ เดินทางเยือนไทยในวันที่ 18 พ.ย.นี้

นอกจากคนส่วนใหญ่จะยังไม่รู้ว่าทีพีพีคือข้อตกลงอะไร และจะส่งผลกระทบอย่างไรแล้ว หลายคนอาจยังต้องสับสนกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจหลายต่อหลายฉบับ โดยเฉพาะ “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” (เออีซี) ซึ่งเป็นดาวเด่นที่ทุกประเทศอาเซียนให้ความสนใจมากที่สุดในเวลานี้

จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายฝ่ายจะแสดงความกังวลว่า การหันไปให้ความสำคัญกับกรอบเจรจาทีพีพี ที่มีสหรัฐเป็นโต้โผใหญ่นั้น อาจเบี่ยงเบนความสนใจของโลกที่มีต่อ “อาเซียน” และ “เอเชีย” ออกไปอยู่ที่ขั้วอำนาจเก่าอย่างสหรัฐแทน

ทีพีพี ซึ่งเป็นกรอบเจรจาการค้าเสรี (เอฟทีเอ) แบบพหุภาคี โดยมี 11 ชาติสมาชิกประกอบด้วย บรูไน ชิลี สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ สหรัฐ เปรู ออสเตรเลีย มาเลเซีย เวียดนาม แคนาดา และเม็กซิโก มีขึ้นเพื่อจุดมุ่งหมายเป็นเขตการค้าเสรีพหุภาคีในกลุ่มประเทศเอเชีย-แปซิฟิก โดยให้มีการเปิดตลาดการค้า บริการ และการลงทุนอย่างครบครัน

ค้าเสรี'ทีพีพี'ปิดล้อมจีนสกัดรัศมีอาเซียน

พร้อมกันนี้ ยังเป็นกลุ่มที่ต้องการสร้างกฎระเบียบทางเศรษฐกิจให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยจะมีมาตรฐานสูงกว่าข้อตกลงเอฟทีเอรายประเทศ ที่มีการยกเว้นในบางรายการ โดยขึ้นอยู่กับความตกลงของคู่เจรจาทั้งสองฝ่ายเป็นหลัก อย่างเช่น สิงคโปร์ ซึ่งมีเหตุผลหนึ่งที่เข้าร่วมทีพีพี เพราะมีข้อผูกพันทางการค้ามากกว่าเอฟทีเอรายประเทศที่ทำกับนิวซีแลนด์และบรูไน

อย่างไรก็ตาม สำหรับความหมายอย่างไม่เป็นทางการที่นักวิเคราะห์ทั่วโลกมองในทิศทางเดียวกันนั้น ทีพีพี คือ ยุทธศาสตร์ทั้งการเมืองและเศรษฐกิจที่สหรัฐงัดขึ้นมาเพื่อสกัดอิทธิพล “จีน” และป้องกันไม่ให้สหรัฐตกขบวนการรวมกลุ่มของเอเชียที่ไม่มีสหรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย

โดยเฉพาะขบวนล่าสุด อย่างยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาร์ซีอีพี หรือกรอบเจรจาการค้าในกลุ่มประเทศอาเซียนบวก 6 ซึ่งประกอบด้วย 10 ชาติอาเซียนพร้อมทั้ง จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างชาติเอเชียแปซิฟิก ลงให้ได้มากที่สุดภายในปี 2558

ปัจจุบันมีชาติสมาชิกอาเซียนเข้าร่วมในกรอบทีพีพีแล้ว 4 ประเทศ คือ สิงคโปร์ บรูไน เวียดนาม และมาเลเซีย โดยเวียดนามมองว่าข้อตกลงทีพีพีจะช่วยดึงดูดการลงทุนของต่างชาติมายังเวียดนามมากขึ้น และยังสามารถเพิ่มมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศในกลุ่มทีพีพี ในอัตราภาษีที่ลดต่ำลงได้ ส่วนมาเลเซีย มองว่า จะช่วยเพิ่มการส่งออกไปยังสหรัฐได้มากขึ้นเช่นกัน หลังจากที่ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเอฟทีเอกับสหรัฐได้ นับตั้งแต่เริ่มเจรจากันเมื่อปี 2549

แม้การเจรจาขอเข้าร่วมวงทีพีพีของไทยอาจเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้กลุ่มอาเซียนได้ต่อรองมากขึ้นในเวทีดังกล่าว โดยเฉพาะประเด็นที่มีปัญหาสำคัญอย่างสิทธิบัตรและการบริการ ทว่าในมุมหนึ่งนั้น ทีพีพีเองก็อาจเป็นกรอบที่ทำให้อำนาจการต่อรองของอาเซียนเองด้อยค่าลงโดยปริยาย

เพราะหากสามารถตกลงการค้าเสรีแบบครอบคลุมมากขึ้นได้กับ 5 ชาติอาเซียน (อินโดนีเซียก็กำลังคิดที่จะเจรจาเข้าร่วม) ก็แทบไม่มีความหมายอะไรที่สหรัฐหรือมหาอำนาจชาติอื่น จำเป็นต้องหันเข้าหาเออีซี หรือกรอบความร่วมมือทางการค้าอื่นๆ ในอาเซียน ที่มีขึ้นเพื่อหวังใช้เป็นอำนาจต่อรองกับชาติมหาอำนาจอีก

เออีซีนั้นถูกตั้งขึ้นเพื่อจุดมุ่งหมายให้เป็นตลาดร่วมใน 10 ประเทศสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งกำลังเป็นที่จับตาจากทั่วโลก เพราะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อของคนชั้นกลางขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งไทยก็เป็นทั้งผู้ผลักดันให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจโลก และยังเป็นประเทศที่มีศักยภาพที่สุดแห่งหนึ่ง ทั้งด้านการค้า บริการ และการลงทุน ในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วย ซึ่งหากก่อตั้งแล้วเสร็จในปี 2558 เออีซีจะเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีอำนาจการต่อรองสูงในเวทีเศรษฐกิจระดับโลกขึ้นมาทันที

นอกจากเออีซีแล้ว อาเซียนก็ยังมีกลุ่มอาเซียนบวก 3 ร่วมกับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งมีความร่วมมือกันไปแล้วในหลายด้าน อาทิ ความร่วมมือทางการเงิน และความมั่นคงทางอาหาร และอาเซียนก็อยู่ระหว่างแนวคิดที่จะจัดตั้งเขตการค้าเสรีในภูมิภาคขึ้นมา เช่น กรอบอาร์ซีอีพีของกลุ่มอาเซียนบวก 6 รวมไปถึงความร่วมมือเพื่อจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออก(อีเอซี) ซึ่งแน่นอนว่าความร่วมมือทั้งหมดนี้ ไม่มีสหรัฐเข้าร่วมด้วย

การลดความสำคัญจากกรอบความร่วมมือในภูมิภาค แล้วโดดเข้าสู่กรอบทีพีพีที่มีสหรัฐเป็นหัวขบวนคุมเกม จึงไม่ต่างอะไรจากการยอมทิ้งไพ่ใบสำคัญในมือ และต้องกลายสภาพเป็นฝ่ายที่เผชิญแรงกดดันของมหาอำนาจโดยไร้แต้มต่อที่ทรงพลังอีกครั้ง

โดยเฉพาะหากการเข้าร่วมเป็นไปโดยที่ไม่สามารถระบุความต้องการที่ชัดเจนของประเทศตัวเองออกไป ด้านไหนเจรจาได้ ด้านไหนกระทบไม่ได้ และปล่อยให้ประเทศต้องกลายเป็นฝ่ายที่ถูกบีบให้ยอมเปิดตามความต้องการของประเทศใหญ่

จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายประเทศยังชะลอท่าทีและใช้เวลาพิจารณากันยาวๆ ว่าจะเข้าร่วมวงทีพีพีหรือไม่ เช่น อินโดนีเซีย ซึ่งเคยอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะเข้าร่วมนั้น ได้ประกาศล้มเลิกแผนไประหว่างการประชุมเอเปกในปลายปีนี้ โดยให้เหตุผลว่ายังต้องพิจารณาในระยะยาว เพราะยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนในขณะนี้ว่า ทีพีพีจะให้ประโยชน์อะไรกับอินโดนีเซีย

ตรงกันข้ามกับหลายกรอบความร่วมมือในภูมิภาคที่อินโดนีเซียจะสามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์และร่วมคุมเกมได้มากกว่า ในฐานะประเทศที่มีกำลังซื้อมหาศาล และกำลังเร่งพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานในประเทศรองรับการเติบโตขนานใหญ่ในอาเซียน

เพราะหากกลายเป็นอีกหนึ่งชาติใหญ่ในอาเซียนที่เร่งโดดเข้าวงทีพีพีไปอีกราย จนลดความสำคัญของบรรดาความร่วมมือในภูมิภาคไป อาเซียนก็อาจไปไม่ถึงฝั่งฝันที่จะขึ้นเป็นผู้คุมเกม ในยามที่โลกหันเข้าหาเอเชียในวันนี้