posttoday

สภามะกันเดือด ดวลศึกขาดดุล นับถอยหลังลุ้นเหวการคลัง

15 พฤศจิกายน 2555

ยังคงเป็นประเด็นสำคัญให้ต้องคอยติดตามและต้องลุ้นกันตัวโก่งต่อไป สำหรับปัญหา “หน้าผาการคลัง”

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

ยังคงเป็นประเด็นสำคัญให้ต้องคอยติดตามและต้องลุ้นกันตัวโก่งต่อไป สำหรับปัญหา “หน้าผาการคลัง” หรือการเพิ่มภาษีและตัดลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลอย่างมหาศาลโดยอัตโนมัติ ในวันที่ 1 ม.ค. 2556 ตามข้อตกลงแผนแก้ปัญหาการขาดดุลงบประมาณ ที่สภาคองเกรสตกลงกันไว้ก่อนหน้าเมื่อเดือน ส.ค. 2554

สาเหตุเพราะหากสภาสหรัฐไม่สามารถบรรลุข้อตกลงสำหรับแผนการที่จะแก้ปัญหาการขาดดุลงบประมาณประเทศ ที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เพิ่งจะคาดการณ์ ว่าในปีนี้จะสูงถึง 8.7% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งมากกว่าการขาดดุลงบประมาณของหลายประเทศในเขตยูโรโซนหลายเท่าตัว ภายในระยะเวลาที่เหลืออยู่เพียง 7 สัปดาห์ก่อนสิ้นปี

แผนจัดการอัตโนมัติที่นำมาใช้จะดูดเงินออกจากระบบสหรัฐทันทีกว่า 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 18 ล้านล้านบาท) ด้วยการขึ้นภาษีและตัดลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ของภาครัฐ ทั้งงบประมาณทางการทหาร ยกเลิกมาตรการภาษีวันหยุดของลูกจ้าง ปรับเปลี่ยนอัตราเงินสงเคราะห์ และเพิ่มภาษีบุคคลธรรมดา รวมถึงยกเลิกการยกเว้นภาษีเพื่อบุตรหลานและมีผู้มีรายได้น้อย โดยยังไม่นับรวมถึงการที่รัฐต้องลดความช่วยเหลือภาคธุรกิจ เช่นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือการให้เงินอุดหนุนต่างๆ

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จากหลายสำนักเห็นตรงกันว่า ในกรณีที่สถานการณ์ข้างต้นเกิดขึ้น เศรษฐกิจของสหรัฐซึ่งยังคงฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่จะล้มครืนลงเหวเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอยในทันที ขณะที่ฟิทช์ เรทติ้งส์ ให้ความเห็นว่า การถดถอยครั้งนี้ของสหรัฐ จะทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2556 หายไปครึ่งหนึ่งทันที และจะฉุดรั้งการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจของโลกโดยรวม

ทั้งนี้ ปัญหาหลักของหน้าผาการคลังในขณะนี้ ไม่ได้อยู่ที่รัฐบาลสหรัฐไม่มีแผนการแก้ปัญหา แต่อยู่ที่สภาของสหรัฐ ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกจากพรรครีพับลิกัน และพรรคเดโมแครต มีแนวโน้มว่าจะยังคงไม่สามารถจับมือตกลงแผนร่วมกันได้เหมือนเช่นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา

เนื่องจากพรรคการเมืองทั้งสองพรรคของสหรัฐต่างยังคงยืนทางในแนวทางจัดการการขาดดุลงบประมาณตามแบบฉบับของตนเอง โดยที่ความแตกต่างนั้นอยู่ตรงที่ 1) ภาษี และ 2) การเพิ่มรายได้เข้ากระเป๋ารัฐ

สำหรับฝ่ายเดโมแครต ภายใต้การนำของประธานาธิบดีบารัก โอบามา และครองเสียงข้างมากในสภาสูง หรือวุฒิสภา การขึ้นภาษีคนรวย หรือผู้ที่มีรายได้มากกว่า 2.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐต่อปี (ราว 7.5 ล้านบาท) และบุคคลธรรมดาที่มีรายได้มากกว่า 2 แสนเหรียญสหรัฐต่อปี (ราว 6 ล้านบาท) ซึ่งได้รับการลดหย่อนภาษีจากนโยบายสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช คือหนทางที่ดีสำหรับทุกฝ่าย โดยสำนักนโยบายภาษีสหรัฐ คำนวณว่าอัตราส่วนภาษีจะเพิ่มขึ้นจาก 35% เป็น 39.6%

นอกจากการขึ้นภาษีคนรวยแล้ว ฝ่ายเดโมแครตยังสนับสนุนการยืดอายุมาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับคนชนชั้นกลางและมีผู้รายได้ต่ำกว่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐต่อปี

ขณะเดียวกันทางเดโมแครตยังคงเห็นว่าหน้าที่ของรัฐบาลกลาง คือการกระตุ้นเศรษฐกิจและดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ดังนั้นการตัดลดค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่จะอยู่ที่การปรับลดงบประมาณทางการทหารของประเทศมากกว่าการตัดลดงบด้านชีวิตความเป็นอยู่ หรือการลงทุนในโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่างๆ

สภามะกันเดือด ดวลศึกขาดดุล นับถอยหลังลุ้นเหวการคลัง

 

สำหรับทางฝ่ายรีพับลิกัน ความต้องการแรกสุด คือ การตัดลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐที่ไม่จำเป็นลง เพื่อลดปริมาณหนี้มหาศาลของประเทศ ซึ่งรวมถึงการตัดลดสวัสดิการสังคม การพยาบาล และการสาธารณสุข เงินอุดหนุนผู้ว่างงาน แต่จะไม่ตัดลดงบประมาณทางการทหาร

นอกจากนี้ รีพับลิกันยังเห็นต่างจากเดโมแครตอย่างสิ้นเชิงในเรื่องของภาษี โดยมองว่า รัฐบาลไม่ควรยกเลิกมาตรการยกเว้นภาษีของบริษัท เพราะการกระทำดังกล่าวจะบีบให้บริษัทลดค่าใช้จ่ายเพื่อรักษารายได้ของตนเอง ซึ่งอาจส่งผลถึงการปลดลดคนงาน จนกลายเป็นการซ้ำเติมปัญหาการว่างงานที่พุ่งทะลุ 8% อยู่ในขณะนี้

เท่านั้นยังไม่พอ รีพับลิกันยังสนับสนุนการใช้นโยบายภาษีเพื่อช่วยภาคธุรกิจเพิ่มเติม ทั้งการยกเว้นภาษีอสังหาริมทรัพย์ ภาษีการลงทุน ภาษีรายได้องค์กร แต่ขณะเดียวกันก็สนับสนุนการจัดเก็บภาษีสำหรับคนทุกคน ไม่ว่าจะมีรายได้มากหรือน้อยจะต้องจ่ายภาษี และหากจะลดหย่อนก็ต้องลดให้ทุกคนเท่าเทียมกัน

สรุปให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ ขณะที่เดโมแครตเน้นใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเลือกตัดลดงบประมาณหารายได้เข้ารัฐด้วยการจัดเก็บภาษี รีพับลิกันเลือกเน้นการรัดเข็มขัด ใช้จ่ายให้น้อยลง และใช้มาตรการภาษีเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

เป็นจุดยืนของทั้งสองฝ่ายที่นักวิเคราะห์หลายสำนัก รวมถึงไมเคิล เฟรอลิ นักเศรษฐศาสตร์ จากเจพี มอร์แกน มองว่า ทำให้นักลงทุนและประเทศต่างๆ ทั่วโลกตกอยู่ในความระส่ำกับความเป็นไปได้ ที่สหรัฐจะไม่รอดจากสถานการณ์หน้าผาทางการคลังในต้นปีหน้า

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางรายยังคงมองในแง่ดีว่า สหรัฐจะไม่เสี่ยงทำลายชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของตนเองที่สั่งสมมานานโดยเด็ดขาด

หรือหมายความว่า สุดท้ายทั้งรีพับลิกันและเดโมแครตย่อมหาทางประนีประนอมกันได้ในที่สุด

แต่ “เมื่อไร” “อย่างไร” และใครจะยอมถอยให้กันก่อนนั้น ยังคงเป็นสิ่งที่ขาดความชัดเจนแน่นอนเหมือนเดิม

กระทั่งอาจทำให้โลกต้องรอลุ้นจนวินาทีสุดท้าย ในคืนวันที่ 31 ธ.ค. ว่าการส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ จะเป็นข่าวดีหรือข่าวร้าย!