posttoday

รับแขก...มหาอำนาจกลบแรงต้านภายใน

15 พฤศจิกายน 2555

คูเมืองด้านนอกทำเนียบฯ กำลังก่อตัวโดยนายพลสนามม้า พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ เตรียมชุมนุมใหญ่ขับไล่รัฐบาลกระหนาบศึกในสภา

โดย...ธรรมสถิตย์ ผลแก้ว

คูเมืองด้านนอกทำเนียบฯ กำลังก่อตัวโดยนายพลสนามม้า พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ เตรียมชุมนุมใหญ่ขับไล่รัฐบาลกระหนาบศึกในสภา โดยพรรคร่วมฝ่ายค้านเตรียมเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลช่วงปลายเดือน พ.ย.

กฐินสามัคคีพุ่งตรง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดึงเข้าสู่บททดสอบภาวะผู้นำแก้ไขสถานการณ์ทั้งศึกในและศึกนอก

ทว่าจะด้วยเหตุบังเอิญหรือตั้งใจ บทบาทนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ก็ถูกกำหนดให้เดินตามปฏิทินเดือน พ.ย. ด้วยการพบปะผู้นำต่างประเทศ

เป็นความพยายามขับเน้นภาพนายกฯ ไทย โดดเด่นบนเวทีโลกกลบบรรยากาศความคุกรุ่นการเมืองภายในไปโดยพลัน

เพราะกำหนดการวางคิวต่อเนื่องตั้งแต่ต้นเดือน พ.ย. เดินทางไปประชุมผู้นำเอเชียยุโรป ครั้งที่ 9 ที่นครเวียงจันทน์ ประเทศลาว ไม่ใช่ไปประชุมกลุ่มใหญ่ แต่ยังจัดวาระให้ยิ่งลักษณ์พบผู้นำของชาติเอเชียและยุโรปในลักษณะทวิภาคี

ถัดจากนั้นยิ่งลักษณ์ขานรับหมายเชิญร่วมประชุมเกี่ยวกับการส่งเสริมประชาธิปไตยที่เกาะบาหลี อินโดนีเซีย ทิ้งช่วงไม่กี่วันกลับไทยต้อนรับ ลีมยองบัก ประธานาธิบดีเกาหลีใต้

สดๆ ร้อนๆ ภารกิจบนเกาะอังกฤษหารือการค้าการลงทุนกับ เดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร พร้อมได้รับเกียรติอย่างสูงเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2

มิพักกล่าวถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นครั้งยิ่งในชีวิตความเป็นนายกฯ หญิงไทยตามใบคิวทำเนียบขาว เตรียมต้อนรับ บารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐ เยือนไทยอย่างเป็นทางการ วันที่ 18 พ.ย. ก่อนจะบินไปพบกับผู้นำโลกอีกครั้งในการประชุมสุดยอดอาเซียนซัมมิต ที่กรุงพนมเปญ กัมพูชา และต่อเนื่องด้วยการกลับมาต้อนรับ เวินเจียเป่า นายกรัฐมนตรี แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

ไม่บ่อยนักสำหรับผู้นำไทยได้พบกับผู้นำชาติที่มีบทบาทสูงบนเวทีเศรษฐกิจและความมั่นคงของโลก อีกประการไม่ปรากฏเท่าไหร่กับการจัดกำหนดการเดินสายแน่นเอี้ยดไปตลอดทั้งเดือน พ.ย.

ย้อนกลับไปช่วงเริ่มตั้งไข่บริหารประเทศ ยิ่งลักษณ์ถูกจับจ้องในเรื่องฝีไม้ลายมือบริหารประเทศ เพราะไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองโดยตรง แม้แต่การเจรจาระหว่างประเทศถูกเลือกให้เดินสายเปิดตัวเฉพาะในประเทศกลุ่มอาเซียน หรือไม่ก็เดินทางไปประเทศ ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ผู้เป็นพี่ชาย ไปเบิกทางไว้ก่อนล่วงหน้า

แม้แต่การเปิดทำเนียบรัฐบาลต้อนรับระดับผู้นำชาติต่างๆ ถูกว่างเว้นหรือไม่ก็หาตลาดเฉพาะผู้นำตะวันออกกลาง หรือโซนแอฟฟริกา

แต่ภายหลังเข้าสู่ปีที่ 2 บทบาทนายกฯ ราวกับติดเครื่องเร่งโกอินเตอร์ โดยขับเคลื่อนผ่าน สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการปรับ ครม.เป็นรองนายกรัฐมนตรี มาเป็นมือไม้ใกล้ตัวตึกไทยคู่ฟ้า เพื่อวางแผนยุทธศาสตร์ทางการเมืองระหว่างประเทศให้ยิ่งลักษณ์

จับถ้อยความสุรพงษ์ผ่านรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชนแทนยิ่งลักษณ์ เมื่อวันที่ 10 พ.ย.

รับแขก...มหาอำนาจกลบแรงต้านภายใน

 

“รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาก เห็นได้จากปีที่ผ่านมา นายกฯ ไปเยือนต่างประเทศถึง 17 ครั้ง และต่างประเทศก็มาเยือนเรา นายกฯ ชี้ให้ผู้นำเข้าใจถึงพัฒนาการทางการเมืองและแสดงถึงความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจทำให้เกิดความมั่นใจ”

ขณะเดียวกันก็พบความเปลี่ยนแปลงในตัวผู้นำไทยบนเวทีโลก ในลักษณะวาทะแข็งแรงให้ชวนพิเคราะห์

นับตั้งแต่เดินสายพบปะระดับผู้นำเอเชีย ยุโรป นอกจากการการเจรจาดึงนักลงทุนด้วยการชูคอนเซปต์ ปี 2556 เป็นปีทองของการลงทุน แต่วาทะที่ยิ่งลักษณ์พ่วงด้วยชนิดขาดไม่ได้ คือการบอกให้ชาติที่เจรจาเข้าใจถึงความมั่นคงทางการเมืองทุกครั้ง

ตัวอย่างบนเวทีบาหลี อินโดนีเซีย ยิ่งลักษณ์ประกาศ “ไม่ยอมให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเหมือนการชุมนุมปี 2553” หรือวาทะเข้มข้นล่าสุดจากการพบปะนักลงทุนที่สหราชอาณาจักร” “ดิฉันยืนยันว่าจะสร้างความมั่นคงทางการเมืองและพื้นฐานประชาธิปไตยที่เข้มแข็งต่อไป โดยยึดหลักนิติรัฐและธรรมาภิบาล ประชาชนได้ให้อำนาจที่เป็นเอกฉันท์แก่รัฐบาลผ่านการเลือกตั้ง และด้วยการสนับสนุนจากประชาคมระหว่างประเทศ รัฐบาลจะดำเนินการกับอำนาจที่ต่อต้านประชาธิปไตยที่ยังมีอยู่ในประเทศไทย”

หนักหน่วงชัดเจนกว่าครั้งใด

อย่างที่รับรู้นานาชาติล้วนให้ความสำคัญต่อสถานการณ์ทางการเมืองของไทย เพราะฉะนั้นต้องทำการเมืองให้นิ่ง ตอกย้ำถึงการสร้างประชาธิปไตยที่เข้มแข็งซึ่งยิ่งลักษณ์ใช้กลยุทธ์นี้กรุยทาง

แม้แต่มติ ครม.เห็นชอบให้ทบทวนเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีไทยสหรัฐ เพื่อส่งสัญญาณที่ดีไปถึงประธานาธิบดีสหรัฐก่อนมาเยือน ก็ปรากฏความเห็นของกระทรวงพาณิชย์ระบุถึงเหตุการณ์ชลอเจรจาเอฟทีเอ “เป็นผลมาจากที่ประเทศไทยปฏิรูปการปกครองเมื่อเดือน ก.ย. 2549 ทำให้สหรัฐไม่ยอมรับรัฐบาลสมัยนั้น แต่เมื่อรัฐบาลกลับมาปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย จึงให้การยอมรับและหันมารื้อฟื้นกันอีกรอบ”

ปฏิเสธไม่ได้ถึงความพยามยามเน้นย้ำรัฐบาลมาโดยระบอบประชาธิปไตยได้กลายเป็นข้อได้เปรียบให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์บนเวทีโลกสร้างความมั่นใจในสายตานักลงทุนต่างประเทศ

อีกทางหนึ่งเสียงยอมรับจากนานาชาติ ก็เหมือนเกราะคุ้มกันนายกฯ ยิ่งลักษณ์ต่อการบริหารประเทศที่กำลังเผชิญกับฝ่ายที่เห็นต่าง

ในเมื่อหมากบนเวทีโลกกำลังเป็นตัวเสริมแกร่งให้นายกฯ ยิ่งลักษณ์มากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อนั้นย่อมกระทบกลับมาที่ฝ่ายถูกยัดเยียด เป็นการเมืองท้องถนนก็ต้องคิดหนัก