posttoday

ลงนามเอฟทีเอ "ไทย-สหรัฐ" ปัญหาใหญ่มาอีกเพียบ

14 พฤศจิกายน 2555

การเยือนไทยอย่างเป็นทางการของ บารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐ ระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย.นี้

โดย...จตุพล สันตะกิจ

การเยือนไทยอย่างเป็นทางการของ บารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐ ระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย.นี้ เป็นเหตุการณ์ที่คนไทยต้องให้ความสำคัญและจับตามองอย่างใกล้ชิดเลยทีเดียว

เนื่องด้วยการรุกใหญ่เชิงการทูตของประธานาธิบดีโอบามา ที่มีกำหนดการเดินทางเยือน 3 ประเทศอาเซียน คือ ไทย พม่า และกัมพูชาในรอบนี้ ไม่เพียงแต่การกระชับความสัมพันธ์ทางการเมืองและการทหารเท่านั้น แต่ยังมีมิติที่เกี่ยวพันกับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจครั้งสำคัญ

นั่นก็คือการลงนามระหว่าง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย กับประธานาธิบดีโอบามา ในถ้อยแถลง “ประกาศการเข้าร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP)” และ “การรื้อฟื้นการประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการ ลงทุนระหว่างไทยและสหรัฐ (TIFA JC)”

แม้ถ้อยแถลงของผู้นำทั้งสองประเทศ เหมือนจะไม่แตกต่างกับข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ไทยเคยลงนามกับหลายชาติ ทั้งในกลุ่มชาติสมาชิกอาเซียน และกลุ่มชาติอาเซียนบวก 3 และบวก 6 ประกอบด้วย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และอินเดีย

แต่ทว่าการลงนามถ้อยแถลงที่ยืนยันว่า ไทยจะเข้าร่วมเจรจาความตกลง “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์” ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) กลับมีเนื้อหาใจความที่กว้างขวางเป็นอย่างยิ่งในด้านเศรษฐกิจ

โดยเฉพาะการเปิดเสรีเขตการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเขตหนึ่งของโลก

หากจะเป็นรองก็เพียงแต่การเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับประเทศนอกกลุ่ม (RCEP) หรืออาเซียนบวก 6 ที่คาดว่าจะมีการลงนามข้อตกลงการเจรจาในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนปลายปีนี้

นั่นเพราะเป็นถ้อยแถลง TPP ที่รัฐบาลสหรัฐจะลงนามกับรัฐบาลไทยนั้นจะ “ปูทาง” ไปสู่การเจรจาจัดทำความตกลง “อภิมหาเอฟทีเอ” ระหว่างไทยสหรัฐ และ 10 ชาติสมาชิก TPP ซึ่งปัจจุบันมี 11 ชาติ ได้แก่ สหรัฐ ชิลี เปรู ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ บรูไน มาเลเซีย เวียดนาม แคนาดา และเม็กซิโก

หากลงนามร่วมกันเมื่อไหร่จะกระทบการค้าการลงทุนขนานใหญ่ทั้งในส่วนที่ “สร้างโอกาส” และส่วนที่ “เสียโอกาส”

กระทรวงพาณิชย์ให้เหตุผลว่า การเข้าร่วมกลุ่ม TPP จะทำให้ไทยส่งสินค้าไปสหรัฐในอัตราภาษีเป็น 0% โดยไม่ต้องพึ่งพาสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ซึ่งจะส่งผลดีมาก เพราะสหรัฐถือเป็นตลาดส่งออกอันดับ 5 ของไทย มีมูลค่าการค้ารวมปีละ 3.52 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกในแต่ละปีคิดเป็นมูลค่า 2.18 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

“การร่วมเป็นสมาชิก TPP ของไทยจะช่วยขยายตลาดการค้า และเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐและสมาชิก TPP อื่นมากขึ้น โดยเฉพาะปี 2554 มูลค่าการค้าระหว่างไทยและกลุ่ม TPP มี 1.12 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกเป็นมูลค่า 6.55 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 28.65% ของมูลค่าส่งออกรวม” กระทรวงพาณิชย์ ระบุ

อย่างไรก็ตาม การที่ประธานาธิบดีโอบามา ประกาศว่า “ความตกลง TPP จะเป็นต้นแบบการเปิดเสรีเศรษฐกิจการค้าในกลุ่มเอเปก (FTAAP)” จากปัจจุบันที่การประชุมสุดยอดผู้นำเอเปก เป็นการประชุมที่ “ไม่มีข้อผูกมัด” แน่นอน

การที่สหรัฐเข้ามาผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง จึงเป็นทั้งเหตุผลเกี่ยวกับผลประโยชน์ที่มีต่อเศรษฐกิจสหรัฐ ไม่นับเหตุผลทางการเมืองพ่วงอยู่ด้วย

“สหรัฐพยายามเข้ามามีบทบาทในเอเชียมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ หลังจากที่ปล่อยให้จีนก้าวขึ้นเป็นผู้นำและมีบทบาทในภูมิภาคนี้สูงมาก การมาของสหรัฐไม่ต่างกับการที่สหรัฐเข้ามาคานอำนาจทางเศรษฐกิจกับจีน หลังทิ้งร้างจากภูมิภาคนี้ไปนานเป็น 10 ปี” พิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ แห่งบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าว

พิมลวรรณ ให้มุมมองว่าการเปิดเสรีภายใต้กรอบ TPP มีผลดีและผลเสีย โดยภาคเกษตรไทย สิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์จะได้ผลดี เพราะส่งสินค้าไปยังสหรัฐโดยไม่เสียภาษี

แต่ธุรกิจไทยที่มีความเสี่ยงสูงก็มี เช่น สถาบันการเงินและบริการทางการเงินที่สหรัฐแข็งแกร่งมาก หรือไทยต้องซื้อยาในราคาที่แพงขึ้น เช่นเดียวกับธุรกิจบันเทิงต่างๆ ที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองลิขสิทธิ์ที่เข้มข้นมากขึ้น

ขณะที่ เบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย แนะนำว่ารัฐบาลควรมีการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หากจะมีการเปิดเขตการค้าเสรีภาคการเงิน 100% ระหว่างไทยกับสหรัฐ เพราะ ธปท.มีหน้าที่กำกับดูแลสถาบันการเงินโดยตรง อีกทั้งขณะนี้ ธปท.ก็มีแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (มาสเตอร์แพลน) ทยอยให้ธนาคารต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทยได้อยู่แล้วตามกรอบเวลา

ฉะนั้น จึงเกิดคำถามว่า วันนี้มีความจำเป็นหรือไม่ที่รัฐบาลไทยจะต้องเร่งรัดเปิดเสรีภาคการเงินกับสหรัฐก่อนประเทศอื่น และก่อนประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียนด้วยกัน

เบญจรงค์ ชี้โพรงอีกว่า ปัจจุบันกฎหมายไทยก็ยังไม่รองรับการเปิดเสรีภาคการเงินในหลายเรื่อง ดังนั้นเรื่องนี้ควรมีระยะเวลาการศึกษานานเป็นปี ไม่ควรเร่งรัด ควรดูในรายละเอียดให้รอบคอบ

อย่างไรก็ตาม หากมีการเปิดเสรีภาคการเงิน สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา คือ 1.การเคลื่อนย้ายเงินทุนของสถาบันการเงินสหรัฐที่เข้ามาในไทยจะรุนแรงขึ้น ทำให้ ธปท.บริหารเงินที่ไหลเข้ามาได้ยาก แม้ปัจจุบันธนาคารสหรัฐจะเพิ่งฟื้นจากปัญหาเศรษฐกิจ แต่เงินของสถาบันการเงินสหรัฐมีจำนวนมหาศาลเมื่อเทียบกับไทย เงินที่เข้ามาก็ต้องมีผลต่อการเคลื่อนไหวของตลาดเงิน

ลงนามเอฟทีเอ "ไทย-สหรัฐ" ปัญหาใหญ่มาอีกเพียบ

 

และ 2.นวัตกรรมทางการเงินของสหรัฐที่ทำอย่างรวดเร็วและอาจเกิดความเสี่ยง กระทั่งเกิดวิกฤตซับไพรม์ ซึ่งนวัตกรรมทางการเงินต่างๆ เหล่านี้ของสหรัฐ นักลงทุนในไทยก็ยังไม่เข้าใจ เพราะเป็นเรื่องยาก ดังนั้นการจะนำผลิตภัณฑ์ใดเข้ามาต้องมีการศึกษาความเสี่ยง ประกอบด้วย

นี่คือผลกระทบหรือผลข้างเคียงที่ควรติดตามกันอย่างใกล้ชิด

แต่ก็ต้องตั้งคำถามว่า เหตุใดหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ TPP หรือเรียกได้ว่าเป็นการเจรจา “FTA โต๊ะใหญ่” กลับไม่มี “พี่เอื้อย” เศรษฐกิจในเอเชียอย่าง “จีน” ที่มีอำนาจต่อรองไม่น้อยกว่าสหรัฐร่วมเป็นภาคี

ทั้งๆ ที่ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ TPP มีขอบเขตการเจรจาครอบคลุมการเปิดเสรีการค้าบริการ 26 สาขา อาทิ การเปิดตลาดสินค้า สินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรม บริการข้ามพรมแดน ลงทุน สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม พาณิชย์อิเล็ก ทรอนิกส์ บริการการเงิน ทรัพย์สินทางปัญญา โทรคมนาคม สิ่งแวดล้อม และแรงงาน เป็นต้น

“จีนที่ยังไม่เข้าร่วม TPP เป็นเพราะเขายังไม่พร้อม เช่น การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา แต่การที่มีสหรัฐเป็นพี่ใหญ่ในกลุ่ม TPP นั้น สหรัฐสามารถใช้อิทธิพลทางเศรษฐกิจกดดันให้ประเทศอื่นๆ ยอมรับข้อตกลงที่สหรัฐได้เปรียบ โดยที่มีจีนหรือญี่ปุ่นคอยขวางก็ได้” อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย วิเคราะห์

ขณะที่ “จีน” และชาติเอเชียมีเวที RCEP ที่ผลักดันการค้าการลงทุนระหว่างกันได้ดีกว่า และผ่อนคลายมากกว่า การเจรจาในกรอบ TPP ที่มีความ “เข้มข้น” เป็นอย่างมาก

เช่น การเปิดเสรีภาคการเงินในกรอบ TPP จะให้ต่างชาติถือหุ้นในสถาบันการเงินได้ทั้ง 100% การให้คุ้มครองสิทธิบัตรจะอยู่ในระดับสูงสุด เช่นเดียวกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและเทคโนโลยี และนั่นเป็นที่ทำให้การเจรจาข้อตกลง TPP คืบหน้าไปอย่างเชื่องช้ามาก

เพราะสหรัฐมีความได้เปรียบสูงในเวทีการเจรจาเกือบทุกด้าน

ในขณะที่การเปิดเสรีภายใต้กลุ่ม TPP ถือว่าแตกต่างจากการทำข้อตกลง FTA ทั่วๆ ไป เพราะไม่มีการให้ “แต้มต่อ” ให้กับประเทศใดๆ นั่นหมายความว่าเมื่อไทยเข้าสู่การเป็นสมาชิก TPP เมื่อใด ธุรกิจที่ปรับตัวไม่ทันจะได้รับผลกระทบจากมาตรฐานที่กลุ่ม TPP กำหนดไว้

โดยเฉพาะเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิบัตร การค้าบริการ การลงทุน มาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อม ที่ถือว่าเป็น “จุดอ่อน” ซึ่งไทยอยู่ระหว่างการปรับตัวอย่างเร่งรีบ

หลากประเด็นเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าสหรัฐใช้ TPP เป็นเครื่องมือในการรุกตลาดเอเชียในอีก 10-20 ปีข้างหน้า

เหมือนที่ กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานขององค์การหมอไร้พรมแดน ที่ระบุว่า ข้อตกลง TPP จะ ทำให้งบซื้อยาของประเทศเพิ่มขึ้น เพราะการผูกขาดสิทธิบัตรยาภายใต้ข้อตกลง TPP ที่ไม่ให้มีการ “ต่อรอง” ราคายา เช่นเดียวกับการให้สมาชิกต้องยอมรับการจดสิทธิบัตรพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ และการค้าการลงทุนที่เสรี 100%

การที่รัฐบาลไทยเข้าร่วมกลุ่มเจรจา TPP ที่แม้ว่าจะเป็นโอกาส แต่เป็นโอกาสที่มีความ “สุ่มเสี่ยง” อย่างสูง หากไม่ระมัดระวัง

ที่สำคัญ รัฐบาลไทยต้องตอบคำถามประชาชนให้ได้ว่า การที่ไทยจะเข้าร่วมเจรจาตามกรอบ TPP คุ้มค่าหรือไม่ เทียบกับสิ่งที่ไทยสูญเสีย

นอกจากนี้ ในส่วนของถ้อยแถลงเกี่ยวกับการรื้อฟื้นการประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและสหรัฐ (TIFA) หากแปลกันตรงตัวก็คือ การรื้อฟื้นการเจรจา FTA ไทยสหรัฐอีกครั้งนั่นเอง

หรือจะเรียกว่าเป็นเวทีเจรจา “FTA โต๊ะเล็ก” ก็ว่าได้

นั่นเพราะหลัง FTA ไทยสหรัฐ ที่ริเริ่มเมื่อปี 2546 แต่ถูกต่อต้านจากหลายฝ่ายอย่างหนัก กระทั่งการเจรจาต้องยุติลง ไทยและสหรัฐเห็นพ้องกันให้เปลี่ยนชื่อการเจรจาจาก FAT เป็น TIFA แต่ทว่าการเจรจาชะงักลงเมื่อมีการรัฐประหารเมื่อปี 2549 โดยสหรัฐประกาศจะไม่เจรจา FTA กับรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

เท่ากับว่าวันนี้สหรัฐ โดยความยินยอมของ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ได้เปิดเวทีการเจรจา FTA ทั้งโต๊ะใหญ่และโต๊ะเล็ก ซึ่งไทยมีโอกาส “เสียเปรียบ” มากกว่าได้เปรียบ เพราะขนาดเศรษฐกิจที่แตกต่างกันมาก

แน่นอนว่า เนื้อหาสาระการรื้อฟื้นการเจรจา FTA ไทย-สหรัฐ คงไม่พ้นที่สหรัฐที่บีบให้ไทยตกลงเปิดเสรีภาคการเงิน และธุรกิจสถาบันการเงิน การคุ้มครองสิทธิบัตรยา และเทคโนโลยีต่างๆ แต่ไม่พ้นคงถูกต่อต้านจากหลายฝ่าย เช่นครั้งไทยเปิดเจรจา FTA ไทยสหรัฐ และอาจเป็นกรอบเดียวกับการเจรจาข้อตกลง TPP ด้วยซ้ำ

จึงเป็นหน้าที่รัฐบาลที่ต้องชั่งน้ำหนักให้ดี หากนำประเทศสู่การเจรจาข้อตกลงที่ไทยมีโอกาสเสียเปรียบสูง

แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม โลกที่เส้นพรมแดนขีดคั่น เริ่มไม่มีความหมายต่อการค้าการลงทุนในอนาคต ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ และคนไทยก็ต้องปรับตัวเองรับกับการเปิดเขตการค้าเสรีที่ขยับเข้าใกล้ตัวคนไทยเข้ามาทุกวัน

นอกจากนี้ การเยือนไทยของประธานาธิบดีโอบามา ที่จะมีการลงนามความตกลง 3 ฉบับ คือ 1.บันทึกความเข้าใจความร่วมมือไตรภาคีเพื่อ‌การพัฒนาระหว่างไทยกับสหรัฐ อาทิ สิ่งแวดล้อม ‌
สาธารณสุข ภัยพิบัติ

2.ร่างแถลงการณ์วิสัยทัศน์การร่วมเป็น‌พันธมิตรด้านการป้องกันประเทศไทย-สหรัฐ

และ 3.การเข้าร่วมความริเริ่มด้านความมั่นคงเกี่ยวกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพ‌ทำลายล้างสูง

แม้เป็นผลผูกพันโดย “สมัครใจ” ของทั้งสองฝ่าย ‌แต่ต้องไม่ทำให้ไทยที่อยู่ท่ามกลางดุลอำนาจระหว่าง‌สหรัฐและจีน “เสียไป” เพราะฝ่ายหนึ่งก็เหมือนญาติ ‌และอีกฝ่ายก็ไม่ต่างจากมิตร มีญาติมิตรเพื่อนบ้าน‌ย่อมดีกว่ามีศัตรูมิใช่หรือ!!!