posttoday

ถมแสนล้านสางปัญหา กบข. เกาไม่ถูกที่คัน

13 พฤศจิกายน 2555

ในที่สุดกระทรวงการคลังก็ออกมารับลูกแก้ไขปัญหาการจ่ายผลตอบแทนข้าราชการที่เป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

ในที่สุดกระทรวงการคลังก็ออกมารับลูกแก้ไขปัญหาการจ่ายผลตอบแทนข้าราชการที่เป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ที่สมาชิก กบข. ได้พยายามเรียกร้องมาเป็นเวลาหลายปี ถึงขนาดยกพลแต่งดำมาประท้วงกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้า

การออกมาเดินหน้าแก้ไขครั้งนี้ เท่ากับกระทรวงการคลังยอมรับว่าปัญหาการจ่ายเงินผลตอบแทนข้าราชการที่เกษียณอายุไปแล้วของ กบข. ซึ่งได้น้อยกว่าข้าราชการที่อยู่ในระบบเดิมที่ไม่ได้เป็นสมาชิก กบข.เกิดขึ้นจริง

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในแนวทางของการแก้ไขปัญหาของกระทรวงการคลัง แม้ว่าส่วนหนึ่งจะตอบโจทย์ทำให้ข้าราชการที่เป็นสมาชิก กบข. ได้ผลตอบแทนที่มากขึ้น แต่ก็เป็นการแก้ไขเพียงแค่ส่วนเดียวของข้อเรียกร้องที่มีอยู่หลายข้อ และเป็นการแก้ไขปัญหาให้กับสมาชิก กบข. ที่เข้ารับราชการก่อนปี 2540 เท่านั้น

โดยในส่วนของข้าราชการที่รับราชการตั้งแต่ปี 2540 จำนวนมากที่ถูกบังคับให้เป็นสมาชิก กบข. โดยอัตโนมัติ ยังไม่ได้รับการแก้ไข โดยยังมีปัญหาได้รับเงินเกษียณรายเดือนน้อยกว่าระบบบำนาญแบบเดิมที่ไม่ได้เป็นสมาชิก กบข. ต่อไป

แน่นอนว่า ถ้ายังเดินหน้าในลักษณะนี้ต่อไป การันตีได้ว่าม็อบข้าราชการเกษียณมาแน่

สำหรับแนวทางการแก้ไขผลตอบแทน กบข. ที่กระทรวงการคลังเสนอให้ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เห็นชอบ เพื่อส่งต่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ไฟเขียวต่อไปนั้น มีสาระสำคัญดังนี้

ให้มีการออกกฎหมายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ปัญหาให้สมาชิก กบข. และข้าราชการบำนาญที่รับราชการก่อนปี 2540 สามารถเลือกได้ว่าจะรับบำนาญแบบเดิมตาม พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 หรือรับตามสูตร กบข. ตาม พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539

หากรับตามสูตรเดิม ข้าราชการที่ยังรับราชการอยู่จะไม่มีสิทธิรับเงินก้อน ที่มีทั้งเงินประเดิม เงินชดเชย เงินสมทบผลประโยชน์ โดยให้ กบข.โอนเงินดังกล่าวเก็บไว้ในบัญชีสำรองของ กบข.

สำหรับข้าราชการบำนาญที่เกษียณไปแล้ว และต้องการรับผลตอบแทนแบบเดิม จะต้องคืนเงินก่อนกับส่วนราชการเจ้าสังกัดให้ครบถ้วนเสียก่อน หากไม่โอน หรือโอนไม่ครบ ก็ถือว่าการเลือกไม่มีผลบังคับ

ทั้งนี้ ข้าราชการและข้าราชการบำนาญต้องแสดงความประสงค์ภายใน 1 ปี หลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ โดยการแสดงเจตจำนงจะมีผลเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี ตั้งแต่กฎหมายมีผลบังคับใช้

หากข้าราชการหรือข้าราชการบำนาญที่แสดงความประสงค์ไว้เสียชีวิตก่อนครบกำหนด 1 ปี ถือว่าการแสดงความประสงค์นั้นไม่มีผลบังคับใช้

กระทรวงการคลัง ประเมินว่าสมาชิก กบข.ที่มีอยู่ 9.77 แสนราย จะเลือกกลับไปรับบำนาญแบบเดิม 75% หรือประมาณ 7.33 แสนราย จะทำให้ภาระงบประมาณเพิ่มขึ้น 1.13 ล้านล้านบาท แต่รัฐจะได้เงินก้อนที่ได้คืนจากสมาชิก 2.6 แสนล้านบาท และเงินที่รัฐประหยัดได้จากเงินที่รัฐต้องสมทบเข้ากองทุน กบข. ให้กับสมาชิกอีก 1.54 แสนล้านบาท

แต่ถึงที่สุดแล้วทำให้รัฐมีภาระงบประมาณเพิ่มขึ้น 7.14 แสนล้านบาท

หากนำแนวทางการแก้ไขของกระทรวงการคลังไปเทียบกับข้อเสนอของสมาชิก กบข. ที่รวมตัวกันกว่า 5 หมื่นคน เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา จะเห็นชัดว่าการแก้ไขปัญหาเป็นแค่ส่วนเดียวของการเรียกร้องเท่านั้น

เพราะข้อเสนอของสมาชิก กบข. ที่ผ่านมา คือ การแก้ไขกฎหมายของกองทุนตามมาตรา 63 ให้สมาชิกได้รับบำนาญที่สูงขึ้น โดยให้แก้ไขกฎหมาย กบข. มาตรา 63 ให้คำนวณบำนาญจากอัตราเงินเดือนเฉลี่ย 24 เดือนสุดท้าย คูณด้วยเวลาราชการ หารด้วย 50 และเป็นไม่ควรต่ำกว่า 85% ของเงินเดือนเฉลี่ย 24 เดือนสุดท้าย จากปัจจุบันที่คำนวณจากอัตราเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ย้อนหลัง 5 ปี แต่ไม่เกิน 70% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ทำให้สมาชิก กบข. ได้รับบำนาญน้อยกว่าคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิก

ถมแสนล้านสางปัญหา กบข. เกาไม่ถูกที่คัน

 

อันนี้คือหัวใจหลักที่บรรดาสมาชิกพากันเรียกร้อง

หากมีการแก้ไขดังกล่าว จะเป็นการแก้ไขผลตอบแทนให้กับสมาชิก กบข.ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการก่อนปี 2540 ที่ได้สิทธิให้เลือกเข้าหรือไม่เข้าเป็นสมาชิก กบข.ก็ได้ รวมถึงยังแก้ไขปัญหาให้กับสมาชิก กบข. ที่รับราชการตั้งแต่ปี 2540 ที่กฎหมายบังคับต้องเข้าเป็นสมาชิก กบข.ทั้งหมด

นอกจากนี้ สมาชิก กบข. ยังเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายให้ลาออกจากการเป็นสมาชิก กบข. ไปรับบำนาญแบบเก่า หากเห็นว่าการได้รับผลตอบแทนจากการเป็นสมาชิก กบข. ได้รับผลตอบแทนน้อยกว่าการได้รับบำเหน็จบำนาญแบบเก่า

จะเห็นว่าแนวทางแก้ไขของกระทรวงการคลัง เป็นการตัดตอนให้กับสมาชิกที่เป็นข้าราชการปี 2540 เท่านั้น

ส่วนข้าราชการที่ถูกบังคับให้เป็นสมาชิก กบข. กลับไม่ได้รับการแก้ไขผลตอบแทนให้สูงขึ้น เพราะรัฐบาลไม่เห็นด้วยกับแนวทางการแก้ไขสูตรคิดบำนาญของ กบข. และก็ปิดทางให้ข้าราชการที่ถูกบังคับเข้ากองทุน กบข. เลือกที่จะกลับไปรับบำนาญแบบเดิมด้วย

สมาชิก กบข. ยังเรียกร้องให้รัฐบาลมีการประกันผลตอบแทนในแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 9% ต่อปี เพราะเห็นว่าที่ผ่านมาตอนที่รัฐบาลชักชวนข้าราชการเป็นสมาชิก กบข. ให้มากที่สุด จึงมีการพูดแต่ด้านบวกของ กบข. แต่ด้านลบของกองทุน กบข. ไม่ได้มีการแจงให้สมาชิกรับทราบ เช่น สมาชิกที่จ่ายเงินสมทบจะได้รับผลตอบแทนปีละ 9% แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป ผลตอบแทนไม่ได้อย่างที่โฆษณาชวนเชื่อไว้ตอนแรก

ซึ่งข้อเสนอของเรื่องประกันผลตอบแทนก็ถูกรัฐบาลตีตกไป เพราะเห็นว่าเป็นการผูกมัดตัวเอง และอาจเป็นภาระงบประมาณจำนวนมหาศาล

เพราะปัจจุบันผลตอบแทนของกองทุนอยู่ที่ประมาณ 7% ต่อปี หากรับประกันผลตอบแทนไว้ 9% ต่อปี ก็ต้องเป็นภาระงบประมาณนำเงินมาจ่ายผลตอบแทนให้สมาชิกให้ได้ตามสัญญาก้อนมหึมา

ยิ่งการหาผลตอบแทนของ กบข. ที่มีแนวโน้มจะทำให้ได้สูงยากขึ้นจากความผันผวนในการลงทุน ยิ่งทำให้รัฐบาลเป็นภาระแบกหนักมากขึ้นเท่านั้น ทำให้รัฐบาลไม่กล้าเสี่ยงรับข้อเสนอเผือกร้อนดังกล่าวได้

ทั้งหมดส่งผลให้การแก้ไขปัญหาผลตอบแทน กบข. ยังเป็นการอมโรคที่แก้ไม่หายขาด

ข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาของกระทรวงการคลัง แม้จะเป็นแนวทางที่ดี แต่เป็นในลักษณะฝนที่ตกไม่ทั่วฟ้า แก้และเกาไม่ถูกที่คัน

ดังนั้น เมื่อการแก้ไขปัญหามีผลบังคับใช้จริง เชื่อว่าสมาชิก กบข. ที่ฝนตกไม่ถึง ซึ่งเป็นสมาชิกส่วนใหญ่ จะต้องออกมาเรียกร้องข้อเรียกร้องเดิมกับรัฐบาลให้รัฐบาลต้องปวดหัวอีกครั้งหนึ่ง ทำให้การแก้ไขปัญหาที่คิดไว้เดินหน้าไม่ได้ การแก้ไขปัญหาใหม่ไม่รู้จะทำอย่างไร

ถ้ายังไม่มีการปรับปรุงแก้ไขในรายละเอียดเพิ่มเติมตามที่สมาชิกร่วม 5 หมื่นคนร่วมกันเรียกร้อง รับประกันได้ว่า...

สุดท้ายปัญหาการจ่ายผลตอบแทนของ กบข. ก็ยังแก้ไม่ได้ วนอยู่ในอ่างเหมือนเดิม