posttoday

"ศึกนอก-ศึกใน" รุมสกรัม จำนำข้าว

12 พฤศจิกายน 2555

เป็นความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องของสหรัฐ ผู้ส่งออกข้าวอันดับ 5 ของโลก หลังสหพันธ์ข้าวสหรัฐ (USA Rice Federation)

โดย...จตุพล สันตะกิจ

เป็นความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องของสหรัฐ ผู้ส่งออกข้าวอันดับ 5 ของโลก หลังสหพันธ์ข้าวสหรัฐ (USA Rice Federation) ทำหนังสือถึงผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) เร่งยื่นเรื่องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) สอบสวนรัฐบาลไทยกรณีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกสูงกว่าราคาตลาด สหพันธ์ข้าวสหรัฐชี้ประเด็นว่า นโยบายจำนำข้าวของไทยสนับสนุนการผลิตข้าวในวงเงินที่ “เกิน” ข้อกำหนดของ WTO หรือไม่เกิน 1.9 หมื่นล้านบาทต่อปี

โดยเฉพาะสหพันธ์ข้าวสหรัฐกังวลว่า หากไทยทุ่มราคา หรือ “ดัมพ์ราคา” ขายข้าวที่เก็บไว้ในสต๊อกในราคาถูก จะทำให้ราคาข้าวทั่วโลกตกต่ำและส่งผลกระทบต่อธุรกิจข้าวในสหรัฐ

นั่นเพราะสหรัฐไม่ได้ปลูกข้าวไว้กินเหมือนประเทศเอเชีย แต่ปลูกข้าวเพื่อการค้าและส่งออกเป็นหลัก โดยแต่ละปีสหรัฐส่งออกข้าวในปริมาณ 3-3.5 ล้านตันต่อปี ทั้งข้าวเมล็ดยาว (Long Grain) ข้าวเมล็ดยาวปานกลาง (Medium Grain)

แต่ถูก บุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ โต้กลับทันควันว่า “ไม่เป็นความจริง”

ทั้งย้อนถามกลับว่า สหรัฐต่างหากที่อุดหนุนการผลิตสินค้าเกษตรทั้งทางตรงและทางอ้อม 1.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อปี หรือ 2.7 แสนล้านบาท อีกทั้งไทยส่งออกที่ราคา 540-560 เหรียญสหรัฐต่อตัน สูงกว่าข้าวเวียดนามและอินเดีย 100 เหรียญสหรัฐต่อตัน

จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะกล่าวหาว่าไทย“ทุ่มตลาดขายข้าว”

และล่าสุดวันที่ 9 พ.ย. สหรัฐเรียกร้องให้รัฐบาลไทยส่งตัวแทนเข้าร่วมคณะกรรมการด้านเกษตรกรรมของ WTO ในวันที่ 14 พ.ย.นี้ หวังใช้เป็นเวที “ซักฟอก” นโยบายรับซื้อข้าวในราคาสูงกว่าตลาด และขอทราบมาตรการของรัฐบาลไทยในการควบคุมไม่ให้มีการขายข้าวในราคาที่ต่ำกว่าตลาด พร้อมแจงสาเหตุที่ไทยยุติการเผยแพร่ข้อมูลโครงการจำนำข้าว

ข้อเรียกร้องถูกปฏิเสธทันที โดย วัชรีวิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า “เป็นเรื่องที่ไร้สาระและไม่มีเหตุผลที่ไทยจะต้องไปชี้แจง เพราะเป็นเรื่องภายในประเทศ และสหรัฐเองก็เป็นคู่แข่งของไทย และไม่เคยเปิดเผยข้อมูลการค้าเช่นกัน ส่วนข้อกล่าวหาเรื่องไทยจะทุ่มตลาดข้าวก็ไม่สมเหตุสมผล เพราะวัตถุประสงค์การรับจำนำข้าวเพื่อดึงราคาข้าวให้สูงขึ้น”

เมื่อพิเคราะห์ถึงสาเหตุที่สหพันธ์ข้าวสหรัฐต้องออกมาโวยวายนโยบายจำนำข้าวของไทย พบข้อมูลที่น่าสนใจ คือ กระทรวงเกษตร สหรัฐ (USDA) รายงานว่า ราคาข้าวเมล็ดยาว (US Southern Long Grain Milled 2) เฉลี่ย 9 เดือนแรกของปี 2555 มีราคาอยู่ที่ 585 เหรียญสหรัฐต่อตัน โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปีของสหรัฐในเดือน ส.ค.ก.ย. สร้างความเสียหายให้พื้นที่ปลูกธัญพืชสหรัฐถึง 2 ใน 3 และนั่นน่าจะทำให้ราคาข้าวของสหรัฐพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

แต่เหตุการณ์ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะราคาข้าวเมล็ดยาวของสหรัฐเพิ่มจาก 507-517 เหรียญสหรัฐต่อตัน ช่วงเดือน ก.พ.เม.ย. ปรับเพิ่มเป็น 560-590 เหรียญสหรัฐต่อตันเท่านั้น หรือเพิ่มขึ้น 15-16%

ทั้งนี้ เนื่องจากผลผลิตข้าวโลกเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก อินเดียที่มีสต๊อกข้าวเกินความต้องการ 20 ล้านตัน ส่วนเวียดนาม กัมพูชา พม่า และไทย ไม่นับผู้ผลิตข้าวนอกอาเซียน ที่มีผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะข้าวสารของรัฐบาลไทยที่ได้จากโครงการรับจำนำข้าวกว่า 10 ล้านตัน ที่ “ถ่วง” ไม่ให้ราคาข้าวโลกเพิ่มขึ้น

ประกอบกับนโยบายรับจำนำข้าวราคาสูงของไทย ทำให้ผู้ส่งออกข้าว เช่น เวียดนาม อินเดีย และประเทศละตินอเมริกา ต่างได้รับอานิสงส์จากการขายข้าวในราคาเพิ่มขึ้น และต่างหันมาปลูกข้าวมากขึ้น ทำให้มีซัพพลายข้าวโลกมี“ล้นเหลือ” และควบคุมไม่ได้

แต่มีหน้าตั้งคำถามว่าเหตุใดสหรัฐจึงไม่โจมตีอินเดียหรือเวียดนามที่ขายข้าวต่ำกว่าไทย 100 เหรียญสหรัฐต่อตัน

ส่วนหนึ่ง เพราะข้าวไทยเป็นข้าวคุณภาพและเป็นคู่แข่งโดยตรงกับข้าวสหรัฐ โดยข้าวขาว 5% ของไทยเฉลี่ย9 เดือน ราคา 584 เหรียญสหรัฐต่อตัน และข้าวเมล็ดยาวของสหรัฐมีราคาเฉลี่ย 585 เหรียญสหรัฐต่อตัน เรียกว่าราคาแทบไม่หนีกันเลย

แต่ประเด็นที่สหรัฐห่วงคือ วันใดที่รัฐบาลไทยทุ่มขายข้าวสารในสต๊อกออกมา ราคาข้าวโลกจะ “ร่วงหนัก” จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจข้าวและราคาข้าวสหรัฐตกลง

"ศึกนอก-ศึกใน" รุมสกรัม จำนำข้าว

 

นโยบายจำนำข้าวจึงตกเป็นเป้า“โจมตี” ที่เด่นชัดที่สุดของสหรัฐ

ไม่เพียงเท่านั้น หากจับตาตลาดค้าข้าวโลกจะพบว่าข้าวไทยที่ถือเป็น“ข้าวคุณภาพ” กำลังถูกโจมตีจากคู่แข่งทั่วสารทิศ

กลุ่มคุ้มครองผู้บริโภคของอินโดนีเซีย เตือนรัฐบาลอินโดนีเซียให้ทดสอบข้าวไทยก่อนนำเข้า หลังสหรัฐตรวจพบ “สารหนูอนินทรีย์” ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ปนเปื้อนข้าวหอมมะลิไทย จากที่ก่อนหน้านี้ องค์กรจัดซื้อข้าวอินโดนีเซีย (BULOG) ตรวจพบสารหนูปนเปื้อนในข้าวสารที่นำเข้าจากไทย 4.5 แสนตันในช่วงเดือน ส.ค. 2554-ก.พ. 2555

เช่นเดียวกับปัญหาการปลอมปนข้าวหอมมะลิ ที่ทำให้ชื่อเสียงข้าวหอมมะลิไทยตกต่ำลง ในขณะที่กัมพูชาและเวียดนามมุ่งมั่นพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมมะลิของตนเองให้มีคุณภาพสูงขึ้น

ทว่าไม่มีรูปธรรมใดๆ ในการแก้ปัญหาเหล่านี้มาจากกระทรวงพาณิชย์ นอกจาก “ตั้งหน้าตั้งตา” ปกป้องโครงการฯ ว่าเป็นโครงการที่ชาวนาได้ประโยชน์

ขณะที่โจทย์ที่สำคัญกว่านั้นคือผู้ซื้อข้าวหลายประเทศปฏิเสธซื้อข้าวจากไทย แต่ไปซื้อข้าวจากแหล่งอื่นที่ราคาถูกกว่า เช่นที่มีรายงานว่ากรมศุลกากรของจีน (China Customs General Administration : CGA) ระบุว่า 9 เดือนแรกปีนี้จีนนำเข้าข้าว 1.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 285.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

นอกจากนี้ เวียดนามมุ่งมั่นพัฒนาข้าวหอมมะลิจนมีคุณภาพดีขึ้นมาก แม้ยังเทียบไม่ได้กับข้าวหอมมะลิไทยก็ตาม ส่วนข้าวหอมมะลิของกัมพูชามีการส่งมายังประเทศจีน โดยส่งผ่านเวียดนามนั้น เริ่มเป็นที่นิยมของผู้บริโภคจีน เนื่องจากนิ่มและหอมกว่าข้าวหอมมะลิไทย

กรณีสหพันธ์ข้าวพม่า (The Myanmar Rice Federation) ระบุว่า พม่าวางแผนที่จะส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นเป็น 3 ล้านตัน ในปี 2560 เพิ่มขึ้นจากปี 2555/2556 ที่พม่าคาดว่าจะส่งออกได้ 1.5 ล้านตัน และพม่าตั้งเป้ากลับมาเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลกให้ได้ภายใน 5 ปี

เหล่านี้เป็น “ศึกนอก” ที่รัฐบาลไทยต้องตั้งรับก่อนการ “รุกครั้งใหญ่”

ขณะเดียวกัน โครงการรับจำนำข้าวยังมี “ศึกใน” ให้รัฐบาลต้องสะสางให้กระจ่างต่อสาธารณชน

เนื่องจากขณะนี้ต้องถือว่ารัฐบาลเกือบจะ “เข้าตาจน” ในเกมพนันโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ที่อ้างว่าชาวนาทั้งประเทศได้ประโยชน์อย่างทั่วถึงแล้ว

ไม่ว่าจะเป็นการกู้เงินมหาศาลเพื่อซื้อข้าวจากชาวนาในราคาสูง ข้าวสารที่รับเข้าโครงการไม่มีเก็บ ไม่สามารถระบายข้าวสารออกจากสต๊อกรัฐบาลได้ เช่นเดียวกับผลการขาดทุนของโครงการที่ยังเป็นปริศนา

โดยเฉพาะข้อกังขาความไม่โปร่งใสและทุจริตในการดำเนินการโครงการทุกขั้นตอน ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รับเรื่องไว้สอบสวน เช่น สัญญาซื้อขายข้าว “เอ็มโอยู” ตามที่กระทรวงพาณิชย์ระบุว่าได้ทำสัญญาไว้ 56 ประเทศ แต่มีข้อสังเกตว่านำข้าวจีทูจีมาเวียนเทียนขายในประเทศ

หรือกรณีการระบายข้าวแบบลับๆ หรือการขายข้าววิธีพิเศษ ป.ป.ช.ต่างจับจ้องอย่างไม่กะพริบตาเช่นกัน สัญญาณที่ชี้ถึงความ “ร้อนรน” ของบุญทรง ที่ต้องการดิ้นหนีจากพันธนาการโครงการจำนำข้าวที่ชัดเจนที่สุดคือ การเร่งรัดเสนอร่างบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ว่าด้วยการซื้อขายข้าวระหว่างไทยและจีน โดยไม่ผ่านเอกชน ซึ่งร่างเอ็มโอยูไทยตกลงขายข้าวให้จีนเป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2556-2558 ในปริมาณไม่เกิน 5 ล้านตันต่อปี ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 6 พ.ย.ให้ความเห็นชอบ โดยไม่มี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีนั่งหัวโต๊ะประชุม

แน่นอนว่าคนในวงการค้าข้าว “ไม่เชื่อ” ว่าแม้มีเอ็มโอยูที่ไทยจะขายข้าวให้จีน 5 ล้านตันต่อปี แต่การทำสัญญาขายข้าวกันจริงจังเป็นไปได้ยาก เว้นแต่มี “สิ่งแลกเปลี่ยน” บ้างก็ว่าเป็นเอ็มโอยูฉบับ “หลอกลวงสังคม” เพราะเร่งรีบเสนอเร่งรีบ“เซ็น” ก่อนศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้

นั่นเพราะเมื่อกลางเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา บุญทรง อ้อนรัฐบาลจีนผ่านเอกอัครราชทูตจีน ขอให้จีนซื้อข้าวจากไทยเพิ่มเป็น 2 ล้านตัน จากปัจจุบันที่ซื้ออยู่ประมาณ 3 แสนตัน แต่เอาเข้าจริงจีนหันไปซื้อข้าวจากประเทศอื่นแทน

แต่ใช่ว่าวาสนาข้าวไทยจะถึงตาอับจนเสียทีเดียว เพราะผลจากการที่อินเดียส่งออกข้าวจำนวนมากสู่ตลาดโลก ทำให้ราคาข้าวภายในประเทศของอินเดียเพิ่มขึ้น 30% ทางการอินเดียมีแนวคิดที่จะทบทวนนโยบายการส่งออกข้าวขาวโดยไม่มีการควบคุม หรือ Open General Licence และมีการเสนอให้มีการควบคุมการส่งออกข้าว

ขณะที่ผลผลิตธัญญาหารของจีน“อาจ” ไม่ทันปริมาณความต้องการในการบริโภคในประเทศ ในขณะที่ปริมาณสำรองข้าวสารจีนปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ คือ 40-47 ล้านตันเท่านั้น

งานนี้เรียกว่าต้องพึ่งเสี่ยงโชคพึ่งดวง สำหรับบุญทรงและรัฐบาลยิ่งลักษณ์ หากไม่อยากพังเพราะหนี้และผลการขาดทุนในโครงการนับแสนล้านบาท และการทุจริตที่คุม “ไม่อยู่”