posttoday

รับรองเขตอำนาจไอซีซีกร่อนอธิปไตยไทย

06 พฤศจิกายน 2555

กลายเป็นประเด็นขึ้นมาทันที เมื่อ “เสื้อแดง” จุดชนวนดันคดีสลายการชุมนุมเดือน เม.ย.พ.ค. 2553 เข้าสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี)

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

กลายเป็นประเด็นขึ้นมาทันที เมื่อ “เสื้อแดง” จุดชนวนดันคดีสลายการชุมนุมเดือน เม.ย.พ.ค. 2553 เข้าสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) อีกระลอก น่าสนใจตรงเที่ยวนี้ “สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล” รมว.ต่างประเทศ เข้ามาเป็นฟันเฟืองตัวสำคัญที่ส่งสัญญาณเดินหน้าเต็มสูบ หลังได้เลื่อนชั้นพ่วงรองนายกฯ อีกตำแหน่งใน ครม. ปู 3

ความพยายามลาก “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ-สุเทพ เทือกสุบรรณ” ที่เสื้อแดงโยงว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสูญเสีย 90 กว่าศพ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศครั้งนี้

วิเคราะห์กันว่าเป็นอีกกลยุทธ์ “ดิสเครดิต” ประชาธิปัตย์ ที่กำลังลับมีดรอเปิดศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจปลายเดือนนี้ ในจังหวะเดียวกับที่อีกด้านหนึ่งกำลังเร่งขยายแผล “หนีทหาร” เร่งเครื่องถอดยศ “อภิสิทธิ์“ ที่ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม คาดว่าผลสรุปจะออกมาก่อนศึกซักฟอก

ที่ผ่านมาเรื่องนี้ถูกจุดกระแสหลายรอบ แต่ครั้งนี้อาจจะเรียกว่าเข้าใกล้ความจริงมากที่สุด จนหลายฝ่ายออกมาแสดงความเป็นห่วงในหลายประเด็น ทั้งทำได้ ไม่ได้ หรืออำนาจอธิปไตยของกระบวนการยุติธรรมไทย

ตัดประเด็นเรื่อง 4 มูลฐานความผิดที่จะเป็นเงื่อนไขเข้าสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างเทศ คือ 1.อาชญากรรมล้างเผ่าพันธุ์ 2.อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ 3.อาชญากรรมสงคราม และ 4.อาชญากรรมการรุกราน ซึ่งยังถกเถียงกันว่าเรื่องนี้เข้าข่ายมูลฐานความผิดหรือไม่นั้น

เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปดูที่มาที่ไปตั้งแต่แรกเริ่มเดิมที ปัญหาที่ทำให้คดีในไทยไม่อาจดันสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศได้ แม้ไทยจะเคยลงนามสนับสนุน “ธรรมนูญกรุงโรม” ตั้งแต่วันที่ 2 ต.ค. 2543 สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย 2 คือขั้นตอนสำคัญอย่างการลง “สัตยาบัน” ยอมรับบัญญัติของอนุสัญญาดังกล่าว

ดังจะเห็นว่าการเคลื่อนไหวที่ผ่านมา “เสื้อแดง” ไปจนถึง “เพื่อไทย” พยายามเรียกร้องให้รัฐบาลลง “สัตยาบัน” เพื่อนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการศาลอาญาระหว่างประเทศ แต่ตามข้อเท็จจริงแม้จะลงสัตยาบัน ก็ไม่อาจมีผลนำเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนหน้าการลงสัตยาบันเข้าสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศได้ แต่จะมีผลต่อเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นหลังจากลงสัตยาบันแล้วเท่านั้น

ทิศทางการเคลื่อนไหวครั้งนี้ เสื้อแดงจึงเปลี่ยนมาใช้ช่องทางมาตรา 12 (3) ธรรมนูญกรุงโรม ให้ รมว.ต่างประเทศ รับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ เฉพาะกรณีและช่วงเวลา ถึงจะมีผลย้อนหลังได้ ซึ่งครั้งนี้เจาะจงไปที่เดือน เม.ย.พ.ค. 2553 เปิดประตูให้เข้ามารวบรวมข้อมูลเบื้องต้น

น่าสนใจตรงที่การจุดประเด็นเรื่องนี้เกิดขึ้นในจังหวะ เอเมอริก โรจิเออร์ หัวหน้าสำนักงานวิเคราะห์สถานการณ์ และฟาทู เบนซูดา อัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ เข้าพบแกนนำเสื้อแดง และสุรพงษ์

รับรองเขตอำนาจไอซีซีกร่อนอธิปไตยไทย

 

กุญแจสำคัญที่ทำให้ “สุรพงษ์” กล้าออกมาลุยครั้งนี้ น่าจะเป็นข้อมูลที่ทางเสื้อแดงซึ่งอ้างข้อมูลจาก “โรจิเออร์” ว่าการรับรองเขตอำนาจศาลไม่ถือว่าเป็นสนธิสัญญา ตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญที่ต้องให้รัฐสภาเห็นชอบ บางประเทศได้รับรองเขตอำนาจศาล โดยให้ รมต.ต่างประเทศลงนามคนเดียว

ทว่า หลายฝ่ายไม่ได้คิดเช่นนั้น “สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย” รองประธานวุฒิสภา เห็นว่าเรื่องนี้ควรต้องผ่านการให้ความเห็นชอบจากรัฐสภาตามมาตรา 190 เพราะการจะให้กระบวนการระหว่างประเทศมีผลบังคับใช้ต้องผ่านการลงสัตยาบัน ซึ่งการที่จะพิจารณาว่าไทยจะลงสัตยาบันกรณีใด ก็ต้องผ่านมาตรา 190 แม้จะไม่เกี่ยวกับเรื่องอาณาเขตไทยโดยตรง แต่เกี่ยวกับอธิปไตยของไทยในส่วนของฝ่ายตุลาการ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 อำนาจอธิปไตยไทย รัฐมนตรีจะ พิจารณาโดยพลการไม่ได้

พร้อมขู่ว่าหาก “สุรพงษ์” ประกาศยอมรับขอบเขตอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศโดยไม่ผ่านการลงสัตยาบัน ก็จะเตรียมยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา รวมทั้งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินคดีอาญาต่อไป

ขณะที่ ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่าหากไปรับรองเขตอำนาจจะส่งผลกระทบต่ออำนาจอธิปไตยทางด้านตุลาการ ทำให้อำนาจการตัดสินคดีไปอยู่ที่ศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งเดิมเป็นอำนาจของศาลไทย ดังนั้นเมื่อกระทบกับอธิปไตยก็เข้าเงื่อนไขมาตรา 190 ที่จะต้องนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาเห็นชอบของรัฐสภาก่อนดำเนินการ

ขณะเดียวกัน ปกป้อง ยังเห็นอีกว่ากระบวนการพิจารณาของศาลไทยยังพิจารณาในประเด็นนี้ได้ ไม่จำเป็นต้องให้ศาลอาญาระหว่างประเทศเข้ามาพิจารณา ยิ่งหากดูคดีที่อยู่ในศาลอาญาระหว่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นคดีในแอฟริกา ล้วนแต่เป็นเรื่องฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่รุนแรงหนักกว่าไทยมาก ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเรื่องสลายการชุมนุมของเสื้อแดง หรือเรื่องฆ่าตัดตอน กรือเซะ ตากใบ ที่ฝั่งประชาธิปัตย์จะเรียกร้องให้ศาลอาญาระหว่างประเทศเข้ามาพิจารณา ก็ยังเห็นว่าควรเป็นการดำเนินการภายในประเทศ ซึ่งยังดำเนินการต่อไปได้

“หากลงนามรับรองอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศจริง ก็ย่อมส่งผลกระทบด้านภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือของไทย จึงไม่อยากให้นำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นการเมือง” ปกป้อง กล่าว

คล้ายกับ คณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบ ศึกษา และวิเคราะห์การกําหนดนโยบายปราบปรามยาเสพติดให้โทษ และการนํานโยบายไปปฏิบัติจนเกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง และทรัพย์สินของประชาชน (คตน.)

ที่ต่อมารับหน้าที่ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ได้เขียนบันทึกประธาน คอป. ในส่วนของบทสรุปและเสนอแนะตอนหนึ่งเกี่ยวกับการยื่นเรื่องของ นปช. ว่า ศาลอาญาระหว่างประเทศจะรับดําเนินการหรือไม่ก็ตาม แต่เรื่องที่ คตน.ตรวจสอบและลงความเห็นว่าน่าเชื่อว่าได้มี “ความผิดฐานอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” เกิดขึ้นจากนโยบายปราบปรามยาเสพติดให้โทษและการนํานโยบายไปปฏิบัติจนทําให้การสูญเสียชีวิตของประชาชนจํานวนมากในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั้น

“ข้าพเจ้าขอกล่าวว่า ตราบเท่าที่รัฐบาลไทยไม่ดําเนินการเกี่ยวกับการให้สัตยาบันต่อ “ธรรมนูญแห่งกรุงโรม” (Rome Statute of International Criminal Court) หากกระบวนการของศาลอาญาระหว่างประเทศเข้ามาดําเนินการเสียเอง ก็จะทําให้ประเทศไทยต้องสูญเสียเกียรติภูมิ สิ่งนี้คือข้อพิสูจน์ที่จะจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ถึงความรักชาติของรัฐบาลปัจจุบัน ที่ถูกมองว่ามี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรอยู่เบื้องหลัง การสะสางเรื่องที่ คตน.ได้สรุปไว้ใน ‘รายงานการศึกษาเบื้องต้น’ จึงเป็นเรื่องหนึ่งที่จะต้องกระทํา”

สุดท้ายเรื่องนี้จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร คงต้องรอดูท่าทีของ “สุรพงษ์” อีกครั้ง ที่จะมาแถลงท่าทีความชัดเจนในวันที่ 7 พ.ย.นี้ หลังจากเดินทางกลับจากการประชุมผู้นำเอเชียยุโรป ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว