posttoday

ศก.ฟื้นไข้แต่ยังไม่แกร่งพอปัจจัยที่ โอบามา ไม่ทิ้ง รอมนีย์

05 พฤศจิกายน 2555

หากไม่นับรวมเรื่องซูเปอร์เฮอริเคนแซนดี ข่าวการจ้างงานที่ดีขึ้นในเดือน ต.ค.

โดย...นันทิยา วรเพชรายุทธ

หากไม่นับรวมเรื่องซูเปอร์เฮอริเคนแซนดี ข่าวการจ้างงานที่ดีขึ้นในเดือน ต.ค. ก็จะถือเป็นข่าวใหญ่สุดท้ายก่อนถึงวันชี้ชะตาศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 6 พ.ย.นี้ ซึ่งเศรษฐกิจชาติและปากท้อง ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งในการชี้ชะตาว่าที่ผู้นำคนต่อไปอย่างไม่ต้องสงสัย

สถานการณ์ในตลาดแรงงานที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยมีการจ้างงานใหม่เพิ่ม 1.71 แสนตำแหน่ง ทั้งที่ผลประกอบการของภาคธุรกิจย่ำแย่เกินคาดนั้น จึงกลายเป็น “ตัวแปรสำคัญ” ที่ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่าจะช่วยให้ประธานาธิบดี บารัก โอบามา คว้าชัยเหนือ มิตต์รอมนีย์ คู่แข่งจากพรรครีพับลิกันไปได้ ในศึกที่ขับเคี่ยวสูสีที่สุดครั้งหนึ่ง

ตัวเลขการจ้างงานเดือน ต.ค. นับได้ว่าเป็นข่าวดีเพียงเรื่องเดียวของสหรัฐในช่วงนี้ การจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 1.71 แสนอัตราในเดือนที่แล้ว มากกว่าตัวเลขในเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 1.48 แสนอัตรา และยังสูงกว่าที่นักวิเคราะห์หลายสำนักคาดการณ์ว่าน่าจะอยู่ที่ราว 1.25 แสนอัตรา ขณะที่การจ้างงานภาคเอกชนนั้นเพิ่มขึ้นถึง 1.84 แสนอัตรา และเป็นตัวเลขที่ดีที่สุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ.

ทางด้านอัตราว่างงานโดยรวมที่แม้จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยไปอยู่ที่ 7.9% จาก 7.8% ในเดือนก่อนหน้า แต่หลายฝ่ายก็ถือเป็นข่าวดี เพราะเท่ากับว่าคนว่างงานจำนวนหนึ่งที่ยอมแพ้หันหลังออกจากระบบไปแล้ว เริ่มมีความหวังและกลับสู่ระบบเข้ามาเริ่มหางานทำกันอีกครั้ง

ดังนั้น การฟื้นตัวของตลาดการจ้างงานซึ่งถือเป็นหัวใจพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจที่ช่วยให้คนมีรายได้ จึงนับเป็นข่าวดีที่สุดที่น่าจะเอื้อให้โอบามามีแต้มต่อ โดยเฉพาะใน 9 รัฐใหญ่สวิงสเตต อย่าง โคโลราโด ฟลอริดา ไอโอวาเนวาดา นิวแฮมป์เชียร์ นอร์ทแคโรไลนา โอไฮโอ เวอร์จิเนีย และวิสคอนซิน ซึ่งเป็นรัฐที่มีจำนวนเสียงโหวตมากที่สุด และยังไม่มีฝ่ายใดครอบครองคะแนนเสียงได้อย่างเบ็ดเสร็จ

อย่างไรก็ตาม ลำพังเรื่องการจ้างงานที่ฟื้นตัว ก็อาจยังไม่มากพอที่จะช่วยให้โอบามาประกาศชัยชนะอย่างเด็ดขาดได้

ศก.ฟื้นไข้แต่ยังไม่แกร่งพอปัจจัยที่ โอบามา ไม่ทิ้ง รอมนีย์

อดัม ซอเรนเซน นักวิเคราะห์การเมืองจากนิตยสารไทม์ ระบุว่า ตัวเลขการจ้างงานอาจส่งผลต่อการเลือกตั้งน้อยมาก เพราะโดยปกติแล้ว ข่าวเศรษฐกิจมักต้องใช้เวลาสักระยะกว่าที่จะเข้าถึงสาธารณชนส่วนใหญ่ และไม่มีใครที่จะพิมพ์เอกสารสถิติการว่างงานไปประกอบการตัดสินใจหน้าคูหาเลือกตั้ง

ขณะที่ ลูซี มอริสสัน จากซีบีเอส นิวส์ ก็วิพากษ์วิจารณ์ว่า ตัวเลขดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบมากนัก เพราะรัฐบาลโอบามาเองไม่หยิบยกเรื่องนี้มาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้มากเท่าที่ควร

ปัจจัยสำคัญที่สุดที่อาจทำให้โอบามาไม่สามารถประกาศชัยชนะได้ก็คือ ชนชั้นกลางชาวอเมริกันส่วนใหญ่อาจคิดว่าผลงานของโอบามานั้นดีขึ้น “แต่ก็ยังดีไม่พอ” ที่จะช่วยให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในชีวิต

เอพี ระบุว่า การสร้างงานใหม่ของโอบามาราว 5 ล้านอัตราในช่วง 4 ปีมานี้ แม้จะดีกว่าในสมัยอดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ทว่าก็ไม่ได้ดีกว่าหรือน่าประทับใจจนเห็นการเปรียบเทียบได้ดีกว่าในสมัยแรกของประธานาธิบดี บิล คลินตัน และโรนัลด์ เรแกน

ขณะที่สถานการณ์ของงานราชการในส่วนรัฐบาล ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 16% ของงานทั้งหมด 133.8 ล้านอัตราทั่วสหรัฐนั้น ก็แทบจะเป็นหนังคนละม้วน โดยปัจจุบันสหรัฐมีครู ตำรวจ และเจ้าหน้าที่รัฐลดลงถึง 5.65 แสนอัตรา จากเมื่อครั้งที่โอบามาเข้ารับตำแหน่ง ซึ่งเป็นผลจากการลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลทั่วประเทศ

นอกจากการจ้างงานที่หลายฝ่ายเห็นว่ายังกระเตื้องได้ไม่มากพอที่จะช่วยชูความนิยมของโอบามาได้แล้ว สิ่งหนึ่งที่ชาวอเมริกันอาจยังไม่พอใจก็คือ “เงินเดือน” หรือ “ค่าแรง” ที่ชาวอเมริกันส่วนใหญ่เห็นว่ายังไม่ฟื้นกลับไปสู่ยุคปกติ หลังจากที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินเมื่อปี 2551

รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนของชาวอเมริกันเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา อยู่ที่เฉลี่ยปีละ 51,438 เหรียญสหรัฐ หรือน้อยลง 4.7% เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย. 2552 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐหลุดพ้นจากภาวะถดถอยอย่างเป็นทางการ และหากเทียบกับเมื่อปี 2543 รายได้ยังลดลงถึง 8% ขณะที่ความมั่งคั่งของชาวอเมริกันโดยรวมนั้น ยังลดลงถึง 40% จากช่วงระหว่างปี 25502553

ภาวะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น แต่ยังไม่มากพอที่จะช่วยให้ชาวอเมริกันรู้สึกถึงความแตกต่างได้ จึงเป็นทั้ง “จุดแข็ง” และ “จุดอ่อน” ในคราวเดียวกันของโอบามาที่ได้โอกาสบริหารประเทศมาแล้วครบ 4 ปี และทำให้คะแนนไม่สามารถทิ้งห่างรอมนีย์ ที่กำลังจี้ตามมาติดๆ ได้

ทว่าคนอเมริกันจะมองว่าเป็นจุดแข็งหรือจุดอ่อนมากกว่ากัน อาจต้องรอฟังคำตอบ6 พ.ย.นี้