posttoday

"ชัชชาติ" ผงาดตัวจริงปูวางคุมเมกะโปรเจกต์

29 ตุลาคม 2555

โดดเด่นใน ครม.ยิ่งลักษณ์ 3 ที่เพิ่งโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งวานนี้ เห็นจะเป็น “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” จาก รมช.คมนาคม ไม่ถึงปี

โดย...ธรรมสถิตย์ ผลแก้ว/สุภชาติ เล็บนาค

โดดเด่นใน ครม.ยิ่งลักษณ์ 3 ที่เพิ่งโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งวานนี้ เห็นจะเป็น “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” จาก รมช.คมนาคม ไม่ถึงปี

ก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดในตำแหน่ง รมว.คมนาคม อย่างรวดเร็ว กล่าวได้ว่า ชัชชาติ เป็นรัฐมนตรี ที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไว้ใจและชอบเรียกใช้ การได้รับเลื่อนชั้นเป็น รมว.คมนาคม ให้มาคุมอภิมหาโครงการมูลค่ามหาศาลในรัฐบาลชุดนี้

ชัชชาติ อดีตอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย้อนอดีตให้ฟังหลังเข้ามาเล่นการเมือง โดยเริ่มแรกเข้ามาเป็นทีมงาน รมว.คมนาคม ตั้งแต่สมัยที่ “เฮียเพ้ง” พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล ยังเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาล ทักษิณ 1 กระทั่งรัฐบาล สมัคร สุนทรเวช ที่มี สันติ พร้อมพัฒน์ เป็น รมว.คมนาคม หรือในสมัยที่ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต เป็นรัฐมนตรี ชัชชาติก็ยังถูกเรียกมาใช้งานอยู่เสมอ ทำให้ยิ่งลักษณ์ดึงมาเป็น รมช.คมนาคม เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ช่วยอธิการบดี และรองศาสตราจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผู้นี้ ต้องเปลี่ยนเส้นทางชีวิตเข้าสู่สนามการเมืองในที่สุด

หลังจากเป็นรัฐมนตรี ความเด่นของชัชชาติก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อยิ่งลักษณ์มอบหมายให้เขาดูโครงการสำคัญอย่างรถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้า การแก้ปัญหาจราจรในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ตลอดจนมอบให้เป็นโฆษกคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.)

การวางตัวชัชชาติให้มาเป็น รมว.คมนาคม สะท้อนว่า นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ต้องการขันนอตโปรเจกต์ต่างๆ ทั้งโครงการรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างหลายเส้นทาง โดยเฉพาะโครงการยักษ์ ที่รัฐบาลเตรียมกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท มาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานตามแผนยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.)ครอบคลุมด้านการคมนาคมขนส่งทั้งทางบก ทางอากาศ ซึ่งกระทรวงคมนาคมจะเป็นเจ้าภาพรับผิดชอบ

ชัชชาติบอกกับโพสต์ทูเดย์ก่อนการปรับ ครม.จะมีขึ้นว่า นายกฯ เรียกใช้ทุกคน เพียงแต่เราเป็นวิศวกร จึงโดนเรียกใช้มากหน่อย และด้วยความเป็นนักวิชาการ ก็มีทฤษฎีและรู้วิธีการทำงานอยู่ เลยมีโอกาสได้เอาทฤษฎีไปใช้งานจริง เวลาสั่งงาน คุยกับข้าราชการ เราลงรายละเอียดได้ เขาก็คงอุ่นใจเหมือนกันที่เรารู้รายละเอียด

นโยบายที่ชัชชาติดูแลอย่างการแก้ปัญหาจราจร เขาโชว์วิสัยทัศน์แบ่งเป็น 3 ระยะ โดยระยะเร่งด่วน จะแก้ปัญหาในส่วนที่กระทรวงคมนาคมดูแล ด้วยการส่งอธิบดี รองอธิบดี ในกรมต่างๆ ของกระทรวงลงไปดูปัญหา และแก้ทันที เช่น รถเมล์ รถแท็กซี่จอดแช่นานเกิน ก็ให้เจ้าหน้าที่กระฉับกระเฉงมากขึ้น หรือรถลากเข้าสู่พื้นที่ช้า ก็เพิ่มความเร็วขึ้น ส่วนระยะกลาง 3 ปี ได้แก่ การแก้ปัญหาจุดคอขวด จุดกลับรถ 271 จุด รวมถึงจัดหารถเมล์ใหม่ทั้งหมด และระยะยาว 6 ปี หลังมีรถไฟฟ้า 460 กม. รวมถึงรถเมล์ครอบคลุมหมดแล้ว จะมีการเก็บภาษีคนใช้รถส่วนตัวในอัตราก้าวหน้า

"ชัชชาติ" ผงาดตัวจริงปูวางคุมเมกะโปรเจกต์

 

ส่วนนโยบายรถไฟความเร็วสูงนั้น เขาบอกว่า ภายใน 5 ปี จะเห็นรถไฟสาย กทม.-พิษณุโลก กทม.-โคราช กทม.-หัวหิน และ กทม.-ระยอง โดยรัฐบาลจะไม่สร้างมูลค่าจากราคาตั๋วอย่างเดียว แต่ต้องเพิ่มมูลค่าด้วยการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ริมเส้นทางรถไฟ หรือการจัดจำหน่ายสินค้าโอท็อปในแต่ละสถานีที่รถไฟผ่าน โดยขณะนี้เริ่มมีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเรียบร้อยแล้ว และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค. ทำให้เริ่มเปิดประกวดราคาแบบนานาชาติได้ ภายในไตรมาส 3 หรือไตรมาส 4 ของปี 2556

นอกจากนี้ ชัชชาติยังวางแผนการบริหารบุคคล ด้วยการดึงเอาเด็กรุ่นใหม่ในกระทรวงคมนาคมเข้ามาเป็นทีมงานก่อร่างสร้างองค์กรเพื่อบริหารจัดการรถไฟความเร็วสูง โดยให้เหตุผลว่า ปัจจุบันอนาคตของประเทศถูกฝากไว้กับคนรุ่นเก่ามากเกินไป และเด็กรุ่นใหม่นั้นสามารถปลูกฝังความคิดเรื่องบริหารจัดการได้ง่าย อีกทั้งยังไม่มีผลประโยชน์ ภายใต้ชื่อโครงการว่า “ฟิวเจอร์ทีม”

“นโยบายกระทรวงคมนาคมอาจจะไม่ซับซ้อนเหมือนนโยบายอื่น แต่ว่าเราไปถูกทางแล้ว เพราะพื้นฐานก็คือต้องลดต้นทุนให้ได้ ทั้งในแง่ของงบประมาณ สิ่งแวดล้อม และมลพิษ เราทำรถไฟ หรือรถไฟฟ้าเพื่ออะไร ก็เพื่อลดต้นทุนในแง่การเดินทาง ในแง่มลพิษ ส่งสินค้าก็ถูกลง ขณะเดียวกันคุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้น ผมก็คิดว่ามาถูกทางแล้ว”

ส่วนในภาพใหญ่ ชัชชาติระบุว่าสิ่งที่นักลงทุนต่างชาติกังวล 5 เรื่อง ได้แก่ การเมืองไม่มั่นคง ปัญหาการคอร์รัปชัน นโยบายรัฐไม่ต่อเนื่อง ภาคราชการไม่มีประสิทธิภาพ และขาดแรงงานฝีมือนั้น มีแนวโน้มที่ดีขึ้นในทุกเรื่อง ยกตัวอย่างเรื่องการเมืองก็เห็นได้ชัดว่า นายกฯ แก้ปัญหาด้วยการไม่ตอบโต้ และเลือกที่จะแก้ปัญหาด้วยการตอบคำถามเรื่องงานอย่างเดียว ขณะที่การปราบคอร์รัปชัน ก็เอาจริงเอาจังมากขึ้น

ปัญหานโยบายรัฐไม่ต่อเนื่องนั้น ชัชชาติบอกว่าในอนาคตหากจะกู้เงินทำโครงการใหญ่ จะเลือกเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรก่อนเพื่อให้ฝ่ายค้านถกถึงข้อดีข้อเสีย หากฝ่ายค้านเข้ามาเป็นรัฐบาลก็เดินหน้าต่อได้ ส่วน 2 เรื่องที่เหลืออย่างภาคราชการไม่มีประสิทธิภาพ หรือขาดแรงงานฝีมือนั้น รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาต่อเนื่อง

ก่อนหน้านี้ชัชชาติเป็นหนึ่งในแคนดิเดตของพรรคเพื่อไทย ที่จะเข้าสู่สนามผู้ว่าฯ กทม. คู่กับ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) แต่ในที่สุดก็ถูกดันให้ขึ้นเป็น รมว.คมนาคม แทนการลงสมัครผู้ว่าฯ วันนี้ ด้วยความที่เป็นจอมโปรเจกต์ คิดเร็ว และตัดสินใจเร็ว ทำให้เขาถูกขนานนามจากคนในพรรคบางคนว่าเขาเป็น “ทักษิณน้อย”

“หาเวรกรรมให้ผมอย่างนั้น ไม่มีอะไรหรอก เป็นเรื่องของไอเดีย เราเรียนมาทางนี้ตลอด เลยพอเห็นแนวทางแก้ปัญหาเท่านั้น” ชัชชาติถ่อมตัว ก่อนจะบอกว่าวันนี้เขาได้รับมอบหมายจากนายกฯ ให้ดูแลทั้งในเรื่องของนโยบาย และโครงการต่างๆ ในโซน 4 อันประกอบไปด้วย จ.นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ ซึ่งพรรคเพื่อไทยมี สส.กว่า 20 คน โดยชัชชาติก็ยอมรับว่าเริ่มสนุกกับการทำงานการเมืองมากขึ้น และการเข้าพรรคทุกวันอังคารเพื่อประชุมพรรคและพบปะ สส. ก็เป็นกิจวัตรเขาอีกหนึ่งอย่าง ส่วนจะสวมเสื้อพรรคเพื่อไทยสมัคร สส.หรือไม่นั้น ขอรอให้หมดเทอมก่อนค่อยตัดสินใจอีกครั้งหนึ่ง

อนาคตทางการเมืองที่กำลังเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงสำหรับชัชชาติ พร้อมทำทุกงานที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ไว้ใจ เปรียบเหมือนเป็นแค่ผู้เล่น ไม่ใช่ผู้จัดการทีม เพราะฉะนั้นจะไปเมื่อไรก็ได้ แต่ถ้าวันหนึ่งหยุด ก็พร้อมที่จะกลับไปทำงานวิชาการอย่างเดิม

กราฟชีวิตทางการเมืองของชัชชาติวันนี้กำลังทะยานอย่างหยุดไม่อยู่กับเก้าอี้ รมว.คมนาคม จากนี้อภิมหาโครงการต่างๆ ที่กระทรวงคมนาคมรับผิดชอบ จะเดินเครื่องได้เต็มที่ ซึ่งถ้ามีผลงานออก นั่นก็หมายถึงผลงานของพรรคเพื่อไทยที่จะใช้ต่อไปในการเลือกตั้งครั้งหน้า