posttoday

คน (ทำ) ดีต้องชื่นชม! ตาราอะวอร์ด...รางวัลคนปลุกหัวใจสังคมด้วยหัวใจโพธิสัตว์

27 ตุลาคม 2555

โดย...หา’ตุ้ย

โดย...หา’ตุ้ย

ใกล้แล้วๆ อีก 4 วันก็จะคลอดแล้วนะจ๊ะนายจ๋า ไม่ใช่ๆ...ได้ฤกษ์ “แจก” แล้วต่างหากสำหรับ “ตาราอะวอร์ด” รางวัลสำหรับคนปลุกหัวใจสังคมด้วยหัวใจพระโพธิสัตว์ ครั้งแรก ณ เสถียรธรรมสถาน ในวันส่งท้ายเดือน ต.ค. (31 ต.ค.)

ตาราอะวอร์ด...เกิดขึ้นมาจากดำริของท่านแม่ชีศันสนีย์ ที่ต้องการแสดงมุทิตาชื่นชมยินดีต่อเหล่าคนทำดี ซึ่งมีจิตสาธารณะ มีหัวใจแห่งความเสียสละ เห็นประโยชน์ท่านมากกว่าประโยชน์ตน เป็นอาสาสมัครโลกที่ยอมตนให้คนอื่นใช้ ฝึกตนเพื่อใช้คน ไม่รอให้ใครใช้ และไม่หวังผลตอบแทน อันเป็นหัวใจของโพธิสัตว์ จากทุกสาขาอาชีพ ทุกเชื้อชาติศาสนา จากทั่วโลกไม่เฉพาะแค่คนไทย

เพื่อให้กำลังใจคนเหล่านี้ได้สร้างสรรค์ความดีต่อเพื่อนมนุษย์ต่อไป ตราบเท่าสิ้นลมหายใจ

คน (ทำ) ดีต้องชื่นชม! ตาราอะวอร์ด...รางวัลคนปลุกหัวใจสังคมด้วยหัวใจโพธิสัตว์

 

“แม่ว่าสังคมไทยต้องช่วยกันสนับสนุนให้มีการชื่นชมในความดีงามของกันและกันให้มาก เรามักจะพูดถึงเรื่องเมตตาเยอะมาก แต่ไม่พูดถึงกรุณาคือการให้อภัย ไม่พูดถึงมุทิตาคือความชื่นชมในความดีของกันและกัน สังคมจึงเป็นสังคมที่มีความริษยา พยาบาท แต่ถ้าเราชื่นชมในความดีงามกันสังคมก็จะน่าอยู่ เป็นสังคมแห่งความสงบร่มเย็น ดังนั้นตาราอะวอร์ดนี้ก็เพื่อเป็นกำลังใจแก่คนทำดีทั้งหลายในการทำความดีต่อไปโดยไม่หวังผลตอบแทน” แม่ชีศันสนีย์ พูดถึงที่มาของตาราอะวอร์ด

เหนืออื่นใด “ตาราอะวอร์ด” ถือการเปิดพื้นที่ให้คนที่มีวิถีชีวิตของการให้ด้วยหัวใจโพธิสัตว์ในทุกมิติของสังคม มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และมาร่วมลงแขก ลงขัน ลงทุนร่วมกันเปลี่ยนแปลงสังคม สร้างภาคีเครือข่าย และเชื่อมโยงการทำงานของบุคคลและองค์กรที่มีหัวใจโพธิสัตว์ทั่วประเทศและทั่วโลกให้ทำงานร่วมกันอย่างยั่งยืน

รางวัลมี 999 รางวัล ผู้รับมาจากทุกสาขา อาชีพ ทุกเชื้อชาติ ศาสนา ทั้งพระ ฆราวาส ไม่จำกัดเพศ อายุ จากทั่วโลก มีทั้งองค์กร และบุคคล เป็นชาวต่างประเทศประมาณ 100 คน นอกนั้นเป็นคนไทย ซึ่งบุคคลที่ได้รับรางวัลครั้งนี้ มาจากการชี้เป้าจากบุคคลในสาขาอาชีพต่างๆ แล้วนำมาสู่การสืบค้นข้อมูล

“การได้มาซึ่งคนเหล่านี้ มาจากคนในทุกๆ ภาคส่วนเป็นผู้ชี้เป้าให้ได้รู้จัก เช่น ในกระทรวงมหาดไทยเราก็อาศัยนายกเหล่ากาชาดแต่ละจังหวัด กระทรวงสาธารณสุขก็อาศัยพวกหมอ พยาบาล อสม. หรือแม้แต่คนป่วยที่ตัวเองรักษาหายแล้วก็มาอาสาดูแลผู้ป่วยคนอื่น ในวงการบันเทิงก็อาศัยสื่อเป็นผู้ชี้เป้า หรือสื่อเองก็อาศัยสื่อด้วยกัน เป็นต้น ส่วนต่างประเทศเนื่องจากแม่เดินทางไปทำงานทั่วโลก ได้ร่วมงานกับคนที่มีจิตอาสามากมายทั้งดาราฮอลลีวูด นักบวช นักอนุรักษ์ ฯลฯ ก็ให้บอกพวกเขาให้รู้ถึงจุดประสงค์ที่เราทำ ส่วนรางวัลที่ต้องเป็น 999 เพราะเราทำถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” แม่ชีศันสนีย์ กล่าว

คน (ทำ) ดีต้องชื่นชม! ตาราอะวอร์ด...รางวัลคนปลุกหัวใจสังคมด้วยหัวใจโพธิสัตว์

 

สำหรับผู้ที่ได้รับตาราอะวอร์ดนั้นคงไม่สามารถระบุได้หมดทุกคน เอาเป็นว่าไม่ว่าใครที่ได้รับรางวัลครั้งนี้ก็ล้วนเป็นผู้ที่ทำความดีต่อสังคม ต่อโลก ต่อเพื่อนมนุษย์ ในบทบาทที่ตัวเป็นอยู่แน่นอน

ในวงการบันเทิงมีหลายคนที่ได้รับ เช่น ป๊อด โมเดิร์นด็อก เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์ พิศมัย วิไลศักดิ์ สรพงษ์ ชาตรี หรือแม้แต่คนสวยอย่าง แพนเค้ก-เขมนิจ จามิกรณ์ ในฐานะเป็นดาราที่ทำประโยชน์และกิจกรรมดีๆ แก่สังคมคนหนึ่ง

“ตอนนี้ที่ทำได้และทำอยู่ คือแพนเป็นสื่อกลางอยู่กับพี่ๆ สื่อมวลชนตลอด เพราะฉะนั้นแพนสามารถที่จะเป็นสื่อกลางในการบอกต่อเรื่องราวดีๆ บอกต่อสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดประโยชน์กับสังคมได้ ที่สำคัญ ที่คุณแม่ (ชี) บอกว่าเราสามารถอยู่ข้างๆ ใครก็ตามที่กำลังจะเป็นทุกข์ หรือเป็นทุกข์อยู่ สิ่งที่แพนทำให้เขาได้คือเป็นกำลังใจให้เขา รอยยิ้มหรือสิ่งต่างๆ เล็กๆ น้อยๆ ที่เราหยิบยื่นให้กันได้ แพนคิดว่ามันคงไม่เหลือบ่ากว่าแรงที่เราทุกคนจะให้กับเพื่อนบุญ เพื่อนร่วมทางของเราทุกคน...

แพนได้มีโอกาสทำกิจกรรมต่างๆ มาเรื่อยๆ คิดว่าเป็นการให้ตามกำลังที่เราสามารถทำได้ เช่น การพูดคุย แลกเปลี่ยน ส่วนใหญ่จะเป็นน้องๆ และเยาวชนที่รู้สึกว่าเราน่าจะให้การปลูกฝังกับเขาบ้าง เก่งไม่เก่งไม่รู้ แต่อย่างน้อยน่าจะได้จิตใจที่ทำประโยชน์ให้กับสังคมต่อไป”

ขณะที่ กาละแมร์พัชรศรี เบญจมาศ ที่ได้รับในฐานะสื่อมวลชน เปิดเผยถึงสิ่งที่ทำว่า สิ่งที่ตนทำได้คือก็เป็นตัวกลางของคนดู และรู้ว่าทุกวันนี้จริงๆ แล้วคนเราก็อยากจะทำบุญ หรือว่ามีจิตเมตตา มีจิตกุศลกันมากแต่ไม่รู้ว่าจะช่วยอย่างไร ช่วยที่ไหน และต้องช่วยอะไร

คน (ทำ) ดีต้องชื่นชม! ตาราอะวอร์ด...รางวัลคนปลุกหัวใจสังคมด้วยหัวใจโพธิสัตว์

 

“ในฐานะที่แมร์เป็นสื่อมวลชน แมร์เป็นตัวกลางระหว่างคนที่อยากจะให้กับคนที่อยากจะรับค่ะ แมร์จะทำหน้าที่ของสื่อที่เป็นตัวกลางให้ดีที่สุด เวลาที่คนอยากจะได้ หรือว่าคนต้องการจะให้ แมร์ก็จะเป็นคนบอกเขาว่าตรงนี้ต้องการความช่วยเหลือ หรือว่าตรงนี้ต้องการให้คนมาให้ความสนใจ ให้การดูแล อีกอย่างหนึ่งที่เราจะทำได้ก็คือทำตัวของเราเองให้เป็นตัวอย่างของคนอื่นๆ และสิ่งที่ทำต้องทำออกมาจากใจจริงๆ

ถ้าเราอยากจะช่วยใคร เราอยากจะให้ใคร เราอยากจะทำให้ชีวิตใครดีขึ้น เราก็ต้องทำด้วยตัวของเราเองเลย เพราะแมร์คิดว่าเสียงของการกระทำดังกว่าคำพูด เมื่อเราทำ คนอื่นอาจจะได้เห็น และได้รู้ว่ามีอีกคนหนึ่งที่คอยช่วยเหลือ ถ้าสมมุติว่าเราอยากจะทำแบบเขา เราก็ทำได้ด้วยตัวของเราเลย สามารถลุกขึ้นมาทำได้เลย แมร์เชื่อเหลือเกินว่าคนเราในสังคมไม่ว่าคุณจะทำอาชีพอะไร คุณจะอยู่ในบทบาทไหน คุณสามารถช่วยเหลือคนอื่นได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือว่าเรื่องใหญ่ก็ตาม คุณสามารถช่วยได้ ถ้ามีใจที่อยากจะช่วยเหลือจริงๆ ”

สำหรับหนูน้อยคนนี้ “พอฟ้า พรรณเชษฐ์” คือเด็กหญิงที่ปลุกหัวใจเด็กให้ลุกขึ้นมาเรียนรู้กับวิถีชีวิตที่เรียบง่าย งดงาม และปลอดภัย หลายคนคงจำเธอได้ดี เมื่อสองที่แล้ว “พอฟ้า” อายุ 5 ปี ตัดสินใจโกนผมบวชเป็น “แม่ชีน้อย” เมื่อปลายปี 2552 เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับคุณทวดและคุณย่าผู้ล่วงลับ โดยถือวัตรปฏิบัติที่งดงามเหมือนแม่ชีทุกประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกรับบาตรพร้อมแม่ชีผู้ใหญ่ เป็นความงดงามที่น่าประทับใจต่อผู้พบเห็น จึงเป็นประเด็นที่โลกไซเบอร์ให้ความสนใจ เรื่องราวของเธอถูกนำเสนอในหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ติดต่อกันหลายวัน ในเรื่องความน่าเอ็นดู ความมุ่งมั่น และความกตัญญูกตเวที

จากสื่อดังกล่าว เธอจึงเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กรุ่นเดียวกับเธอที่ได้เห็นเรื่องราวในสื่อ ตัดสินใจบวชจำนวนกว่าร้อยคน ที่เสถียรธรรมสถาน โดยท่านแม่ชีศันสนีย์ ผู้เป็นอาจารย์ จึงจัดการบวชพุทธสาวิกาสำหรับแม่ชีอายุน้อยเพื่อรองรับความต้องการบวชของเด็กหญิงอายุต่ำกว่า 12 ปี ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2553 และได้ดำเนินการต่อมาทุกปี จนกระทั่งปี 2555 ปัจจุบันมีการขยายผลถึงการบวชครั้งประวัติศาสตร์พุทธสาวิกาสองแผ่นดิน โดยนำเด็กหญิงอายุไม่เกิน 12 ปี ไปบวชที่แดนพุทธภูมิประเทศอินเดีย

คน (ทำ) ดีต้องชื่นชม! ตาราอะวอร์ด...รางวัลคนปลุกหัวใจสังคมด้วยหัวใจโพธิสัตว์

 

หันไปที่ชาวต่างประเทศผู้ได้รับรางวัล อาทิ ริชาร์ด เกียร์ เจน กูดดอลล์ คุกกี กัลล์แมนน์ ฯลฯ

ริชาร์ด เกียร์ นักแสดงชาวอเมริกันชื่อดังของโลก โดยมีผลงานดังเช่น Pretty Woman, Primal Fear, และ Chicago ซึ่งจากเรื่องนี้ทำให้ได้รับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม จากรางวัลลูกโลกทองคำ เขาได้ลงทุนกับด้านจิตใจเพื่อปลุกเร้าหัวใจสังคมให้เข้าใจในด้านความรักที่ไม่มีเงื่อนไข ด้วยการลงทุนสร้างและนำแสดงเองในภาพยนตร์เรื่อง Hachiko: A Dog's Story ในปี 2009 และได้ฉายในปีถัดไป โดยสร้างจากโครงเรื่องจริงที่ชาวญี่ปุ่นทั่วประเทศประทับใจในความจงรักภักดีของสุนัขตัวหนึ่งต่อมนุษย์ ความรักอันบริสุทธิ์ของสุนัขตัวนี้เป็นแรงบันดาลใจให้ชาวญี่ปุ่นสร้างอนุสาวรีย์ไห้ไว้เป็นที่ระลึก ณ สถานีรถไฟชิบูย่า

นอกจากนี้เขาได้ศึกษาธรรมพุทธวัชรยาน โดยมีองค์ดาไลลามะเป็นผู้นำจิตวิญญาณ และในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เขาได้เดินทางไปในแถบเอเชีย เช่น อินเดีย เนปาล ทิเบต มองโกเลีย และจีน โดยเก็บภาพในทุกที่เดินทางไปถึงที่สะท้อนมุมมองด้านพุทธศาสนา ซึ่งในปี 1997 จึงตีพิมพ์เป็นหนังสือเล่มแรกชื่อ PILGRIM อีกทั้งยังก่อตั้งมูลนิธิ เกียร์ ฟาวน์เดชัน (Gere Foundation) ซึ่งให้ความรู้เรื่องสุขศึกษาและโครงการสิทธิมนุษยชนต่างๆ อีกด้วย

ด้าน ลินด์ซี แว็กเนอร์ นักแสดงชาวอเมริกันอีกคนและผู้กำกับฯ มือรางวัลเอมมี ได้ทำงานสังคมมากมาย เช่น สอนคนคุกในสหรัฐอเมริกาให้เข้าใจตนเอง ยอมรับและเกิดพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงเมื่อออกมาใช้ชีวิตนอกทัณฑสถาน ตลอดจนมีโครงการมากมายที่ช่วยให้เยาวชนเข้าใจชีวิต เช่น เป็นคณะกรรมการบริหารในโครงการสุนทรียสนทนาของเยาวชน Teen Talking Circles ในฐานะนักแสดงชื่อดังเธอได้ใช้สิ่งนี้ในการทำโครงการระดมทุนให้องค์กรการกุศลมากมาย สี่สิบปีที่ผ่านมาได้ทำให้เธอตกตะกอนชีวิต ความสนใจเกี่ยวกับจิตใจและห่วงใยมนุษย์ของเธอทำให้เธอเดินทางทั่วโลกอีกครั้งในฐานะผู้นำจิตวิญญาณ นักวิทยาศาสตร์ และผู้เยียวยา ไม่ใช่นักแสดง

คน (ทำ) ดีต้องชื่นชม! ตาราอะวอร์ด...รางวัลคนปลุกหัวใจสังคมด้วยหัวใจโพธิสัตว์

 

ขณะที่ เจน กูดดอลล์ นักสัตววิทยา มา‌นุษยวิทยา และวานรวิทยา ชาวอังกฤษ มีชื่อ‌เสียงจากโครงการศึกษาพฤติกรรมทางสังคม‌และครอบครัวของชิมแปนซี ที่อุทยานแห่งชา‌ติกอนเบ สตรีม ประเทศแทนซาเนีย เธอได้รับ‌แต่งตั้งเป็นทูตสันติภาพ จากองค์การสห‌ประชาชาติในปี 2545 และได้เดินทางบรรยาย‌ทั่วโลก เพื่อช่วยให้มนุษย์เข้าใจในวิถีชีวิตสัตว์ผ่านการศึกษาชิมแปนซี เธอมีโครงการมาก‌มายเพื่อตอบโจทย์เหล่านี้ เช่น โครงการ ‌TACARE และโครงการชุมชนต่างๆ ซึ่งทำ‌ให้คนเมืองที่กำลังรุ่งเรืองของแอฟริกาใช้ชีวิต‌ร่วมกับสัตว์ที่กำลังจะสูญพันธุ์ได้ และที่สำคัญ ‌เธอได้ก่อตั้งสถาบัน เจน กูดดอลล์ เพื่อสนับ‌สนุนการวิจัยชีวิตสัตว์ป่า การศึกษา การ‌อนุรักษ์สัตว์ และยังส่งเสริมให้เกิดกิจกรรม‌หรือโครงการที่ทำให้เกิดความเมตตาต่อสัตว์ ‌รวมทั้งผลิตสื่อที่ทำให้เกิดความเข้าใจในวิถีชีวิตสัตว์ นำไปสู่ความรักสัตว์ รักมนุษย์ และสันติภาพในโลก

คุกกี กัลล์แมนน์ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมชาวอิตาเลียน และนักกวี นักเขียนที่มีชื่อเสียง หนังสือ “ฉันฝันถึงแอฟริกา-I dream of Africa” เป็นชีวิตที่เธอและครอบครัวใช้อยู่ที่เคนย่าตั้งแต่ปี 1972 และหนังสือเล่มนี้ได้ถูกถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์ เธอทุ่มเททั้งชีวิต ก่อตั้งมูลนิธิกัลล์แมนน์ เมมโมเรียล ซึ่งตั้งอยู่ในเขตสงวนพันธุ์สัตว์ป่าไลคีเปียของเธอ มีพื้นที่ประมาณ 1 แสนเอเคอร์ หรือเกือบสองแสนไร่ เป็นพื้นที่ที่มีสัตว์ป่ามาพึ่งพิงเป็นจำนวนมาก เช่น ช้างป่าหลายโขลง ฮิปโปโปเตมัส ม้าลาย สิงโต และสัตว์อื่นๆ ที่เธอตั้งใจปกป้อง และเดินทางทั่วโลกเพื่อบรรยายปลุกหัวใจคนให้สนใจสิ่งแวดล้อม สงวนพันธุ์สัตว์ป่าที่หายากเหล่านี้

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงจำนวนหนึ่งใน 999 คน เชื่อเหลือเกินว่า วันที่ 31 ต.ค. งานมอบรางวัล ตาราอะวอร์ด จะปลุกกระแสคนหัวใจโพธิสัตว์ให้เกิดขึ้นในโลกมากมายคนแล้วคนเล่า

แต่ที่สำคัญอย่างยิ่ง ต้องทำให้กระแสกระเพื่อมอยู่ตลอดเวลา คนทุกคนล้วนมีความดี แน่จริงให้เอาความดีมาแสดงกัน