posttoday

ม็อบต้านจุดลำบาก ไม่สะเทือนเก้าอี้'ปู'

25 ตุลาคม 2555

เป็นอีกครั้งที่รัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ต้องเผชิญกับกลุ่มมวลชนต่อต้าน มารอบนี้เป็นรายของ “องค์การพิทักษ์สยาม”

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

เป็นอีกครั้งที่รัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ต้องเผชิญกับกลุ่มมวลชนต่อต้าน มารอบนี้เป็นรายของ “องค์การพิทักษ์สยาม” นำโดย พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ หรือ เสธ.อ้าย อดีตประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก ซึ่งเตรียมคิกออฟในวันที่ 28 ต.ค. ที่สนามม้านางเลิ้ง

องค์กรนี้ไม่ได้เป็นกลุ่มใหม่ในทางการเมือง เปิดตัวมาตั้งแต่เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา จากการเดินสายทำบุญประเทศถึง 60 จังหวัด ส่งผลให้พรรคเพื่อไทยเริ่มจับตามององค์การพิทักษ์สยามเป็นระยะด้วยความหวาดระแวง

เหตุผลประการสำคัญที่ทำให้พรรคเพื่อไทยไม่สามารถละสายตาห่างจาก เสธ.อ้าย ไปได้ มาจากองคาพยพในกลุ่มนั่นเองที่ล้วนเป็นขาประจำ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อาทิ ปราโมทย์ นาครทรรพ นักวิชาการอิสระ วรินทร์ เทียมจรัส อดีต สว.สรรหา นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ เป็นต้น

จากนั้นมาพลิกดูประวัติอดีตนายทหารใหญ่รายนี้ก็นับว่ามีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย

เสธ.อ้าย คือ อดีตนายทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ความเข้มของเลือดสีน้ำเงินข้นไม่เป็นสองรองใครแน่นอน และเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 1 ร่วมกับ พล.อ.สำเภา ชูศรี อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ซึ่งปัจจุบันเป็นสภานายกราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ที่มี เสธ.อ้าย เป็นเลขาธิการ

ส่วนสายสัมพันธ์ทางการเมืองมีความแข็งแรงอยู่กับ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ อดีตรองนายกฯ ในฐานะเคยเป็นกบฏ 26 มี.ค. 2520 เคยร่วมกับ พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ เพื่อล้มรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร

ขณะนั้นทั้งสองเสธ. “อ้ายหนั่น” ต้องตกเป็นนักโทษในข้อหากบฏด้วยกันก่อนที่จะได้รับการนิรโทษกรรมในเวลาต่อมา

ม็อบต้านจุดลำบาก ไม่สะเทือนเก้าอี้'ปู'

จากสายสัมพันธ์ที่ดีกับ เสธ.หนั่น ทำให้ได้เข้ามาส่วนเชื่อมโยงกับพรรคประชาธิปัตย์อยู่พอสมควร โดยเฉพาะสมัย ชวน หลีกภัย เป็นนายกฯ และควบ รมว.กลาโหม ในปี 25402544 ได้เป็นถึงหัวหน้าฝ่ายเสนาธิการประจำ รมว.กลาโหม

ในเรื่องความสัมพันธ์ที่มีต่อพรรคประชาธิปัตย์นั้น เสธ.อ้าย เปิดเผยกับโพสต์ทูเดย์ ว่า “ผมเคยช่วยหาเสียงให้กับพรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่ปี 2526 พอท่านชวนมาเป็นรัฐบาลผมก็ไปเป็นหัวหน้าฝ่าย เสธ.รมว.กลาโหม และได้เป็นพลเอกในสมัยนั้นกับสุเทพ เทือกสุบรรณ นิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เจือ ราชสีห์ ก็สนิท พรรคนี้ผมรู้จักเยอะ แต่การเคลื่อนไหวของผมครั้งนี้ไม่ได้อิงกับพรรคประชาธิปัตย์”

ตรงนี้เองจะเป็นจุดอ่อนให้ฝ่ายพรรคเพื่อไทยใช้โจมตีได้ว่า เป็นขบวนการแยกกันเดินร่วมกันตีกับฝ่ายค้านโดยมีเป้าหมายเพื่อล้มรัฐบาล

ถึงกระนั้นประเด็นนี้ไม่ใช่จุดอ่อนที่สุด เพราะยังมีช่องโหว่ที่ฝั่งตรงข้ามสามารถใช้ขยายแผลทำลายความน่าเชื่อถือได้คือ สูตรการปฏิรูปประเทศ

“ต้องมีการปฏิวัติโดยประชาชนและให้มีคณะบุคคลขึ้นมาบริหารประเทศแทนนักการเมือง 3-5 ปี มีภารกิจสำคัญ ได้แก่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพิ่มการศึกษาสร้างจริยธรรม แก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน และสร้างการเรียนรู้ให้กับประชาชนเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์” เสธ.อ้าย บอกถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา

แม้ว่า เสธ.อ้าย จะยืนยันว่าการชุมนุมนี้ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อยุให้ทหารปฏิวัติ แต่ในความเป็นจริงแนวทางนี้จะไม่สามารถเป็นไปได้เลย ถ้าไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยวิธีการนอกรัฐธรรมนูญหรือที่เรียกว่า “การรัฐประหาร”

การสร้างวาทกรรมเรื่องรัฐประหาร ด้านหนึ่งอาจมองเจตนาเสธ.อ้ายได้ว่า ต้องการให้ประชาชนและแนวร่วมเห็นพ้องกันว่าปัญหาประเทศขณะนี้ไม่สามารถแก้ไขด้วยกลไกการเมืองปัจจุบัน จำเป็นต้องใช้เครื่องมืออื่นเข้ามาจัดการ

แต่เอาเข้าจริงสังคมไม่ได้มีความเข้าใจร่วมกับชุดความคิดเดียวขององค์การพิทักษ์สยาม

ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีกระแสไม่โอเคกับการปฏิวัติรัฐประหารค่อนข้างแรง ผลสำรวจจากหลายสำนักออกมาตรงกันหลายครั้งว่าไม่เอาการรัฐประหารแถมยังให้โอกาสรัฐบาลทำงานอยู่

ประกอบกับดูเครื่องมือตรวจสอบ ถ่วงดุล ตรวจสอบ ฝ่ายบริหาร ก็ยังทำงานได้ดีอยู่ทั้งวุฒิสภา ฝ่ายค้าน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือกระบวนการยุติธรรมอื่น

พร้อมกับมองไม่เห็นว่าการเอาประเทศทั้งประเทศไปแลกกับการปฏิวัติเพียงแค่ให้ยิ่งลักษณ์ พ้นจากตำแหน่งจะมีความคุ้มค่าอย่างไร

กลายเป็นฉันทามติร่วมกันของสังคมอย่างไม่เป็นทางการว่า เมื่อรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งก็ควรใช้กติกาประชาธิปไตยแก้ไขปัญหา

ส่วนขบวนการนอกสภาเพื่อต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์เองก็ไม่มีความเป็นเอกภาพมากนักเช่นกัน เห็นได้จากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไม่แสดงท่าทีอะไร กลุ่มสยามสามัคคี เงียบไม่พูด หรือพรรคประชาธิปัตย์ในภาคนอกสภาก็ลอยตัวไม่สนใจ ขอเน้นวาระเฉพาะหน้าเรื่องชายชุดดำก่อนและเทสมาธิไปอยู่ที่การอภิปรายไม่ไว้วางใจแทน

เมื่อพลังแนวรบกระจัดกระจายไร้พลังบวกกับกระแสสังคมไม่ตอบรับแบบนี้ อย่าได้แปลกใจว่าทำไมรัฐบาลเองถึงค่อนข้างสบายใจกับม็อบในวันที่ 28 ต.ค.

แต่เพื่อไม่ให้เกิดภาพแข็งกร้าวกับกลุ่มผู้ชุมนุม ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ จึงนำบิ๊กตำรวจระดับ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. ชิงเข้าพบเสธ.อ้ายทันที เมื่อวันที่ 24 ต.ค.

สาเหตุที่ต้องเป็นรองนายกฯ เฉลิม เนื่องจากทั้งสองคนมีความสนิทสนมกันเป็นอย่างดีตั้งแต่สมัย ร.ต.อ.เฉลิม ยังรับราชการตำรวจ และต่อมาลูกชายของทั้งสองคนก็ยังไปมาหาสู่กัน

ภาพการรับประทานเที่ยงและชนแก้วไวน์ร่วมกัน ไม่ต่างอะไรกับการสร้างภาพให้รัฐบาลไม่ดูก้าวร้าวจนเกินไป และช่วยให้สังคมมองว่ารัฐบาลพร้อมเปิดโอกาสให้ฝ่ายที่ไม่สนับสนุนยิ่งลักษณ์สามารถจัดการชุมนุมไล่รัฐบาลได้แบบแฟร์ๆ ตามสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย

สารพัดปัญหาการนำมวลชนล้มรัฐบาลรอบนี้ เสธ.อ้ายรับทราบและรู้อยู่แก่ใจ ถึงได้ชิงจังหวะว่า “ถ้า 28 ต.ค.คนมาร่วมน้อยก็คงต้องยุติ” อย่างน้อยก็ไม่ฝืนกระแสก่อนลงหลังเสือแบบไว้ลายชายชาติทหารโดยไม่เสียหน้าจนเกินไป

เห็นแบบนี้รัฐบาลอาจอยู่ในอำนาจได้เรื่อยๆ เว้นเสียแต่จะตกบันไดการทุจริตเสียเอง