posttoday

ต่ออายุลดหย่อนภาษีกองทุน วัดใจรัฐบาลอุ้มคนรวย

25 ตุลาคม 2555

แม้ว่าสิทธิการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) จะหมดอายุในปี 2559 หรือในอีกใน 4 ข้างหน้า

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

แม้ว่าสิทธิการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) จะหมดอายุในปี 2559 หรือในอีกใน 4 ข้างหน้า

ทว่า ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เดินหน้าชงข้อเสนอ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ต่อมาตรการลดหย่อนภาษี LTF เป็นการถาวรแบบไม่มีหมดอายุ เพื่อเป็นการกระตุ้นการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าวยังถูกกระทรวงการคลังดอง ไม่มีความชัดเจน เพราะเห็นว่ายังไม่ใช่เรื่องรีบร้อน และยังมีเวลาให้ไตร่ตรองแนวทางที่เหมาะสมรอบด้าน ยังไม่จำเป็นต้องรีบตัดสินใจ

ล่าสุด สาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร ออกมาเปิดเผยว่า จะหารือขอนโยบายกับ กิตติรัตน์ ว่าจะต่อมาตรการลดหย่อนภาษี LTF ต่อไปหรือไม่ ซึ่งหากต่อก็ควรเป็นเวลา 5 ปีเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการต่อถาวร

ขณะเดียวกัน กรมสรรพากรยังจะหารือภาพรวมของการปรับโครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดาให้ รมว.คลัง ตัดสินใจเชิงนโยบายว่าจะให้เดินไปทางไหน ซึ่งส่วนหนึ่งของการรื้อโครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดา ก็มีมาตรการลดหย่อนภาษี LTF รวมอยู่ด้วย

หากจะว่าไปแล้วการต่อมาตรการภาษี LTF ของ ตลท. กับกรมสรรพากร เหมือนเป็นเส้นขนานมาโดยตลาด แน่นอนว่าในส่วนของ ตลท. ต้องการให้มาตรการอยู่ให้ยาวนานที่สุด จึงมีการเสนอให้กระทรวงการคลังขยายสิทธิให้เป็นมาตรการถาวร เพราะที่ผ่านมาพบว่าเป็นแรงจูงใจให้มีเม็ดเงินใหม่ๆ ไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มมากขึ้น

เม็ดเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) มีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้น ขณะที่ตลาดหุ้นก็คึกคักจากเม็ดเงินใหม่ที่ไหลเข้ามา ส่วนคนลงทุนก็ได้ประโยชน์ไปเต็มๆ จากการลดหย่อนภาษีก้อนโต เพราะมาตรการให้ลงทุนได้ 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 5 แสนบาท

ต่ออายุลดหย่อนภาษีกองทุน วัดใจรัฐบาลอุ้มคนรวย

นอกจากนี้ นักลงทุนยังได้ประโยชน์จากเวลาการถือครองหน่วยลงทุน LTF ที่กรมสรรพากรกำหนดว่าต้องถือหน่วยลงทุนเป็นเวลา 5 ปี แต่ในทางปฏิบัตินักลงทุนซื้อหน่วยลงทุนปลายปีที่ 1 และขายต้นปีที่ 5 คิดเป็นเวลาการถือครองจริงแค่ 3 ปีเท่านั้น ก็สามารถขายหน่วยลงทุนหมุนเงินมาซื้อ LTF รอบใหม่เพื่อหักลดหย่อนภาษีได้อีกครั้ง

จะเห็นว่า LTF ในแง่ของ ตลท. บล. และนักลงทุน ได้ประโยชน์จาก LTF กันทั่วหน้า ลงตัวจนเป็นแรงผลักดันให้มาตรการนี้ไม่มีวันหมดอายุ

แต่ในแง่ของกรมสรรพากรแล้ว มองว่ามาตรการลดหย่อนภาษี LTF ที่ผ่านมาได้ทำหน้าที่บรรลุตามเป้าหมายแล้ว คือ กระตุ้นให้บุคคลธรรมดามาซื้อหน่วยลงทุนเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นมาตรการ LTF ก็ไม่ควรต่อไปอีก

จากการสำรวจการเติบโตของกองทุนประหยัดภาษีในช่วง 9 เดือนแรก พบว่ากองทุนประหยัดภาษีทั้ง “กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)” และ “กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF)” มีสินทรัพย์สุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 2.66 แสนล้านบาท จากสิ้นปี 2554 ที่ 2.41 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 10.15%

กองทุน RMF มีสินทรัพย์สุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 1.05 แสนล้านบาท จากสิ้นปี 2554 ที่ 9.28 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 13.46% โดยมี 7 บลจ. คิดเป็น 35% ของ บลจ.ทั้งหมดที่มีการเติบโตมากกว่าอุตสาหกรรม ในขณะที่อีก 13 บลจ. คิดเป็น 65% นั้น มีการเติบโตต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ในจำนวนนี้มีเพียง 1 บลจ.ที่มีการเติบโตลดลง ได้แก่ บลจ.ซีไอเอ็มบีพรินซิเพิล ลดลง 3.09%

บลจ.ที่มีการเติบโตในกองทุน RMF สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) “บลจ.อเบอร์ดีน” มีสินทรัพย์สุทธิ 2,444.58 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35.82% 2) “บลจ.กรุงศรี” มีสินทรัพย์สุทธิ 7,449.39 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.73% และ 3) “บลจ.ธนชาต” มีสินทรัพย์สุทธิ 4,126.68 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.16%

ขณะที่กองทุน LTF นั้น ในช่วง 9 เดือนแรก มีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็น 1.6 แสนล้านบาท จากสิ้นปี 2554 ที่ 1.48 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 8.08% โดยมี 11 บลจ. คิดเป็น 55% ของ บลจ.ทั้งหมด ที่มีการเติบโตมากกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม ในขณะที่ 9 บลจ. คิดเป็น 45% นั้น มีการเติบโตน้อยกว่าค่าเฉลี่ย

บลจ.ที่มีการเติบโตในส่วนของกองทุน LTF สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) “บลจ.บัวหลวง” มีสินทรัพย์สุทธิ 26,924.17 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.45% 2) “บลจ.แมนูไลฟ์ (ประเทศไทย)” มีสินทรัพย์สุทธิ 247.28 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.53% และ 3) “บลจ.กรุงศรี” มีสินทรัพย์สุทธิ 14,715.25 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.46%

แม้ภาพรวมกองทุนประหยัดภาษีจะมีการเติบโตต่อเนื่อง แต่ถ้าพิจารณาเงินทุนที่ไหลเข้าออกในกองทุนประหยัดภาษีในส่วนของกองทุน LTF นั้น พบว่าในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2555 ยังมียอดเงินไหลออกสุทธิประมาณ 2.12 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ จากพฤติกรรมของนักลงทุนพบว่า มักจะเข้าลงทุนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีเป็นส่วนใหญ่ โดยจากสถิติในอดีตที่ผ่านมาจะมีเงินไหลเข้าในส่วนของกองทุน LTF ในไตรมาส 4 เฉลี่ยประมาณ 2 หมื่นล้านบาท และส่วนของกองทุน RMF อีกประมาณ 1 หมื่นล้านบาท

กรมสรรพากรจึงมองว่า มาตรการ LTF เป็นคนมีรายได้สูงส่วนยอดเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ เพราะยอดวงเงินที่ให้หักลดหย่อนได้สูงถึง 5 แสนบาท คนที่มีเงินมาบริหารภาษีได้ปีละ 5 แสนบาท เพื่อให้สิทธิลดหย่อนทุกปี ต้องเป็นคนที่มีรายได้สูงเท่านั้นที่ทำได้

ซึ่งจุดอ่อนดังกล่าวทำให้กรมสรรพากรและกระทรวงการคลังถูกโจมตีมาตลอดว่าสนองนโยบายรัฐบาลอุ้มคนรวยหุ้น ยิ่งก่อนหน้ามีการเพิ่มเงื่อนไขการหักลดหย่อนจาก 3 แสนบาท เป็น 5 แสนบาท ยิ่งทำให้จุดอ่อนใหญ่เพิ่มขึ้น แก้ตัวไม่ได้ ดิ้นไม่ออก

ดังนั้น ในพิมพ์เขียวการปรับโครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดาที่กรมสรรพากรชงให้ กิตติรัตน์ ตั้งแต่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา จึงมีการเสนอให้ยกเลิกการหักลดหย่อนภาษี LTF คือ ให้มาตรการนี้หมดอายุตามเงื่อนไขเดิม คือ ในปี 2559 โดยไม่ให้มีการต่ออายุมาตรการนี้ออกไป

นอกจากนี้ กรมสรรพากรยังเสนอกำหนดเพดานการหักลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาประมาณ 21 รายการ เมื่อหักรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 5 แสนบาท หรือ 1 ล้านบาท หรือมากไปกว่านั้น แล้วแต่นโยบายฝ่ายการเมืองเห็นชอบ

โดยรายการลดหย่อนภาษีรายการใหญ่ หนีไม่พ้นการลดหย่อนภาษี LTF ปีละ 5 แสนบาท

มาตรการลดหย่อน RMF ปีละ 5 แสนบาท หักลดหย่อนประกันปีละ 3 แสนบาท หักลดหย่อนดอกเบี้ยบ้านปีละ 1 แสนบาท คนที่ได้ประโยชน์จากมาตรการลดหย่อนภาษีดังกล่าวได้ทั้งหมดต้องเป็นคนรวยระดับบนเท่านั้น

เพราะลำพังมนุษย์เงินเดือนทั่วไป การจะมีเงินไปลงทุนต่างๆ ให้ได้การลดหย่อนภาษีทั้งหมดเป็นไปได้ยาก และมีจำนวนมากที่ไม่สามารถใช้มาตรการลดหย่อนภาษีใดๆ ได้เลยแม้แต่มาตรการเดียว

ขณะที่จากตัวเลขการเสียภาษีบุคคลธรรมดาของกรมสรรพากร ก็ปรากฏชัดว่ามีผู้ยื่นแบบจำนวน 9 ล้านราย ในจำนวนนี้มีเพียง 2 ล้านรายเท่านั้น ที่ยื่นแบบและเสียภาษีเพิ่ม และในคนที่เสียภาษีพบว่าคนที่เสียภาษีในระดับสูงสุดที่ 37% หรือมีรายได้เกิน 4 ล้านบาทต่อปี มีอยู่หลักหมื่นคนเท่านั้น

ข้อมูลนี้พอจะประเมินได้ว่าคนที่ได้รับลดหย่อนภาษีจากมาตรการต่างๆ นานา มีคนจำนวนหนึ่งที่อยู่บนยอดเท่านั้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำให้ ตลท. และผู้ที่เกี่ยวข้องกับตลาดหุ้น ชิ่งเสนอให้ กิตติรัตน์ ที่เป็นอดีตผู้จัดการ ตลท. มาก่อน และเข้าใจการลงทุนในตลาดหุ้นเป็นอย่างดี ให้ขยายมาตรการลดหย่อนภาษี LTF ตั้งแต่ไก่โห่ก่อนล่วงหน้า 4 ปี เพื่อตีกันโรดแมปการปรับโครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดาของกรมสรรพากร ที่มาตรการ LTF ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ

แม้ว่ามาตรการลดหย่อนภาษี LTF ยังอยู่ถึงปี 2559 แต่ข้อเสนอการกำหนดเพดานลดหย่อนภาษีของกรมสรรพากร ก็กลายเป็นบอนไซมาตรการลดหย่อน LTF โดยอัตโนมัติ