posttoday

อำนาจมั่นคง/ศก.ร้อนแรงโจทย์ปฏิรูปสุดหินผู้นำจีน

22 ตุลาคม 2555

ขณะที่มหาอำนาจฝั่งตะวันตกมีเรื่องให้ต้องลุ้นว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนต่อไป

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

ขณะที่มหาอำนาจฝั่งตะวันตกมีเรื่องให้ต้องลุ้นว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนต่อไป มหาอำนาจฝั่งตะวันออกกลับเป็นที่รับรู้กันค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า ผู้นำประเทศคนต่อไปจะเป็นใครอื่นไม่ได้ นอกจากสีจิ้นผิง ว่าที่ประธานาธิบดี และหลี่เค่อเฉียง ว่าที่นายกรัฐมนตรี

กระนั้น แม้จะไม่ต้องเสียแรงคาดเดา แต่บรรดานักวิเคราะห์และนักลงทุนส่วนใหญ่ต่างมีเหตุให้ลุ้นจนอดเหนื่อยต่อชะตากรรมอนาคตของประเทศจีนโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจไม่ได้

เพราะจีนยังขาดมาตรการใหม่ๆ ที่น่าเชื่อถือในสายตาของนักวิเคราะห์และนักลงทุน

เพราะแม้จะคิดหรือเริ่มลงมือทำ แต่ระดับความจริงจังต่อการปฏิรูประบบเศรษฐกิจ โดยไม่วิตกว่าจะเป็นการขัดผลประโยชน์ของใครยังคงเป็นที่กังขา

และเพราะลักษณะของว่าที่ผู้นำจีนทั้งสองคนดูจะไม่สอดคล้องกับความต้องการของสถานการณ์ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ข้อมูลทางสถิติจากทั้งภาครัฐกับภาคเอกชน รวมถึงการคาดการณ์ของสำนักวิจัยหรือสถาบันทางการเงินชั้นนำทั่วโลกต่างชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของพญามังกรแห่งนี้กำลังชะลอตัวลดความร้อนแรงจนเห็นได้ชัดเจน

ขณะเดียวกัน บรรดาสารพัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์แห่งชาติจีนเคยนำออกมาใช้จนดันการเติบโตประเทศให้รุ่งเรืองโชติช่วง โดยเฉพาะในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เช่น การพึ่งพาการส่งออก การส่งเสริมการลงทุน การทุ่มพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานดูจะเป็นแผนที่ใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป

เรียกได้ว่า หากรัฐบาลจีนยังคงเมินเฉยไม่ใส่ใจที่จะหาหนทางใหม่ เพื่อเพิ่มเติมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ พญามังกรแห่งนี้จำต้องชดใช้ความเสียหายอย่างแสนสาหัสถึงขนาดที่เวิลด์แบงก์ระบุว่า ถ้าจีนยังไม่คิดเปลี่ยนแปลงอัตราการเติบโตประจำปีของจีนอาจดิ่งฮวบลงต่ำที่ระดับ 5% ภายในปี 2558

นับเป็นตัวเลขการเติบโตที่ค่อนข้างอันตราย เมื่อเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานการเติบโตของประเทศจีน ซึ่งอยู่ที่ระดับไม่ต่ำกว่า 6%

บรรดาที่ปรึกษาของรัฐบาลจีนต่างแนะนำว่า สิ่งที่รัฐบาลจำเป็นต้องทำก็คือ การสนับสนุนธุรกิจอุตสาหกรรมบริการและกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ โดยเป็นแนวทางที่ผู้เชี่ยวชาญหลายสำนักเห็นตรงกันว่า จะทำได้ก็ต่อเมื่อจีนต้องเปิดให้มีการแข่งขันอย่างเสรีมากขึ้น ซึ่งหมายรวมถึงการปล่อยให้กิจการที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐลงสู่สนามแข่ง โดยไม่ต้องมีรัฐคอยประคบประหงมอีกต่อไป พร้อมกับการที่ธนาคารของรัฐต้องใจกว้างและใจป้ำพอที่จะปล่อยเงินกู้ให้กับผู้ประกอบการภาคเอกชนมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี เวินเจียเป่า จะออกมายอมรับตั้งแต่ช่วงเดือน มี.ค.แล้วว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนยังคงชักช้า พร้อมให้คำมั่นว่าจะกระทุ้งให้เร็วขึ้น แต่จนแล้วจนรอด การเปลี่ยนแปลงหลายอย่างตามที่นายกรัฐมนตรี เวินเจียเป่า กล่าวถึงนั้นล้วนเป็นสิ่งที่นักวิเคราะห์มองว่าต่างต้องเผชิญหน้ากับเสียงคัดค้านแบบไม่จบไม่สิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกลุ่มที่มีอิทธิพลสูงสุดอย่างบรรดาผู้บริหารกิจการรัฐวิสาหกิจทั้งหลาย

สกอตต์ เคนเนดี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยรัฐศาสตร์และธุรกิจจีนของมหาวิทยาลัยอินเดียนา ในกรุงปักกิ่ง กล่าวว่า สิ่งที่ยากสำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนก็คือ การที่ต้องเผชิญหน้ากับกลุ่มผลประโยชน์ที่ไม่อาจยอมให้มีการเปิดตลาดการแข่งขันได้อย่างเสรี

เพราะนอกจากจะหมายถึงการสูญเสียผลประโยชน์มหาศาลแล้ว ประเด็นดังกล่าวยังเกี่ยวข้องกับฐานอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งชาติจีน

เนื่องจากกิจการรัฐวิสาหกิจคือ แหล่งสร้างงานสร้างรายได้แหล่งใหญ่ที่สุดของจีน หากต้องสูญเสียความสามารถในการแข่งขันที่เคยได้รับการช่วยเหลือปกป้องจากรัฐบาลมาตลอด ซึ่งรวมถึงแรงงานชาวจีนจำนวนมากที่จะหลั่งไหลไปสู่ภาคเอกชน นักวิเคราะห์บางส่วนคาดการณ์ว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลต่อฐานอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่มากก็น้อย

อำนาจมั่นคง/ศก.ร้อนแรงโจทย์ปฏิรูปสุดหินผู้นำจีน

 

เหมาอูชี นักเศรษฐศาสตร์จีน วัย 83 ปี ซึ่งสนับสนุนแนวทางปฏิรูปมาโดยตลอดชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลจีนในขณะนี้อยู่ภายใต้ความกดดันสองทางที่โถมเข้ามา ระหว่างการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจกับการรักษาอำนาจในการควบคุมดูแลประเทศ

ทั้งนี้ นอกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ขาดความชัดเจนในการลงมือทำและอุปสรรคชิ้นใหญ่ที่ผ่านได้ยากแล้ว ผู้เชี่ยวชาญอีกส่วนหนึ่งเห็นว่าปัญหาของจีนอีกประการก็คือ ว่าที่ผู้นำของจีนรุ่นต่อไป ทั้งสีจิ้นผิงและหลี่เค่อเฉียง

ในฐานะว่าที่นายกรัฐมนตรีจีนสิ่งสำคัญที่จะต้องรับช่วงต่อก็คือ การเดินหน้าผลักดันการปฏิรูประบบเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นไปตามแนวทางที่นายกรัฐมนตรีเวินเจียเป่าวางเอาไว้ ซึ่งหมายถึงการเปิดตลาดให้เสรี แต่ด้วยลักษณะของหลี่เค่อเฉียงที่ค่อนข้างง่ายๆ สบายๆ ไม่ดุดัน จึงไม่เหมาะกับการเป็นหัวหอกในการปฏิรูป

ขณะที่สีจิ้นผิงว่าที่ผู้นำสูงสุดก็ไม่ต่างจากหลี่เค่อเฉียง เพราะเป็นที่ทราบกันในหมู่นักสังเกตการณ์ทางการเมือง ว่า สีจิ้นผิงค่อนข้างเป็นผู้นำที่นิ่ง เงียบและประนีประนอม ดังนั้นการจะให้ลุกขึ้นมาชน เดินหน้าพลิกระบบเศรษฐกิจจีน เพื่อกระตุ้นการเติบโตจึงเป็นเรื่องที่หวังได้ยาก

ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่า เศรษฐกิจของจีนต้องปฏิรูปให้ได้ เนื่องจากความแตกต่างที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงหมายถึง ผลลัพธ์ระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 67% กับการไม่เติบโตใดๆ เลย นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จึงไม่มีความเห็นอื่นใด นอกจากสนับสนุนให้จีนต้องเดินหน้าปฏิรูปภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารพัดอุตสาหกรรมที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองดูแลและการสนับสนุนช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างจริงจัง

ทั้งนี้ รายงานของนักเศรษฐศาสตร์เหมาอูชี ระบุว่า ในช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว รัฐบาลจีนต้องควักเงินภาษีช่วยอุ้มสถานะกิจการของบรรดารัฐวิสาหกิจหลายล้านล้านหยวน ซึ่งการกระทำดังกล่าวนอกจากจะไม่เป็นธรรมอย่างร้ายกาจแล้ว ยังกัดกร่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนอย่างยั่งยืนด้วย

อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านระบบเศรษฐกิจของพญามังกรแห่งนี้ต่างเห็นตรงกันว่า การเปลี่ยนแปลงข้างต้นจะกลายเป็นประเด็นอ่อนไหวทางการเมืองจนทำให้เกิดกระแสขัดแย้งต่อต้านชนิดที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

เพราะต้องไม่ลืมว่า บรรดาเจ้าของ ผู้บริหาร ผู้อำนวยการ หรือคณะกรรมการระดับสูงของบรรดาสารพัดกิจการที่อยู่ในสังกัดรัฐบาลจีนล้วนได้รับการแต่งตั้งมาจากพรรคการเมือง ขณะเดียวกันด้วยผลประโยชน์ที่มีอยู่ในมือมหาศาลก็ทำให้คนเหล่านี้มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจดำเนินนโยบายหรือมาตรการใดๆ ในพรรคด้วยเช่นกัน

เรียกได้ว่า เมื่อผู้บริหารเหล่านี้พูดหรือแสดงความเห็นใดๆ พรรครัฐบาลจีนก็ต้องรับฟังไว้ ซึ่งเป็นที่แน่ชัดว่า เหตุผลคัดค้านล้านแปดต้องพรั่งพรูออกมาจากบุคคลกลุ่มนี้ไม่มากก็น้อย

ฟู่ทิง นักวิจัยสังกัดสำนักข่าวเอพี ประจำนครเซี่ยงไฮ้ ระบุว่า บรรดาบริษัทที่ต่อต้านการยกเลิกระบบผูกขาดจะอ้างว่าบริษัทหรือธุรกิจเสียภาษีมหาศาลให้รัฐ และยังช่วยโกยรายได้เข้ากระเป๋ารัฐ รวมถึงเผื่อแผ่แบ่งปันให้ชนกลุ่มน้อยชาวจีนที่ยากจนทั้งหลาย และสนับสนุนการริเริ่มพัฒนากิจการที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ใดๆ ในระยะแรก เช่น ระบบเทคโนโลยีเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่

เจมส์ แมกเกรเกอร์ นักธุรกิจสัญชาติอเมริกัน ซึ่งคร่ำหวอดอยู่ในวงการเศรษฐกิจจีนมาอย่างยาวนานจนเข้าใจระบบธุรกิจแดนมังกรแห่งนี้อย่างลึกซึ้งอดแสดงความเห็นไม่ได้ว่า ผู้บริหารกิจการรัฐวิสาหกิจทั้งหลายล้วนมีอำนาจมากมายเหลือล้น จนอาจพูดได้ว่ามีสถานะสูงกว่าเจ้าหน้าที่ข้าราชการที่ทำหน้าที่กำกับดูแล

อย่างไรก็ตาม แม้หลายฝ่ายจะยอมรับว่าการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจของจีนให้แตกต่างจากธรรมเนียมปฏิบัติที่เคยเป็นมาเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก แต่ท้ายที่สุดก็เป็นเรื่องที่จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นอย่างที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ไม่ว่าจะลำบากรากเลือดแค่ไหนก็ตาม

ทั้งนี้ เพราะการยอมรับและความเชื่อถือหนึ่งเดียวของรัฐบาลจีนคือ การทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศดีขึ้น ซึ่งผูกพันไว้อย่างแน่นหนากับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

คำถามคือ รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์แห่งชาติจีนจะยังได้รับความชอบธรรมและดำรงเสถียรภาพภายในประเทศได้อย่างไร หากประชาชนทุกคนไม่อิ่มท้องโดยเท่าเทียมกัน