posttoday

เอเชีย "เอาไม่อยู่" ลดดอกรับ ศก.โลกจ่อปากเหว

19 ตุลาคม 2555

สร้างความประหลาดใจไม่น้อย เมื่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

โดย...พันธสิทธิ เจริญพาณิชย์พันธ์

สร้างความประหลาดใจไม่น้อย เมื่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% มาอยู่ที่ 2.75% ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นเพียงไม่กี่วัน ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. ได้ย้ำนักย้ำหนาว่าประเทศไทยไม่มีความจำเป็นต้องลดอัตราดอกเบี้ยแต่อย่างใด

กระนั้นก็ตาม หากหันมามองดูความเป็นจริงจากบริบททางเศรษฐกิจในภูมิภาคและระดับโลก ที่กำลังพบกับภาวะการชะลอตัวลงอย่างหนักในขณะนี้และในอนาคต จะพบว่าสิ่งที่ ธปท. ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยลงมานั้นไม่ใช่เฉพาะเพียงรายเดียวเท่านั้นที่ทำ แต่เป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นไปทั้งภูมิภาคในขณะนี้ ไล่เรียงไปตั้งแต่ธนาคารกลางของเกาหลีใต้ที่ประกาศลดดอกเบี้ยก่อนหน้าไทยไม่กี่วันลง 0.25% มาอยู่ที่ 2.75% เมื่อสัปดาห์ก่อน

ก่อนหน้านี้ไม่นาน ธนาคารกลางออสเตรเลียก็ประกาศตัดลดอัตราดอกเบี้ยลงเช่นกันที่ 0.25% ลงมาอยู่ที่ 3.25% ซึ่งการปรับลดดังกล่าวนับเป็นระดับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2552 อีกทั้งยังถือเป็นการปรับลดดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 3 ภายในระยะเวลา 6 เดือนอีกด้วย

ฟิลิปปินส์กับมาเลเซีย แม้ว่าจะยังไม่ได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมออกมาเหมือนดังเช่นประเทศอื่นๆ แต่ก็ได้ออกมาส่งสัญญาณอย่างชัดเจนแล้วว่า ในอนาคตมีแนวโน้มสูงที่จะใช้นโยบายดอกเบี้ยในท้ายที่สุดเช่นกัน

“ในตอนนี้ความกังวลต่อปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าความกังวลในด้านเงินเฟ้อ” เซติ อัคตา อาซิซ ผู้ว่าการธนาคารกลางมาเลเซีย กล่าวให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์ก

ท่าทีและนโยบายดอกเบี้ยจากธนาคารกลางในเอเชียเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นการส่งสัญญาณให้เห็นถึงผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่กำลังเริ่มออกอาการให้เห็นในเอเชีย เมื่อตัวเลขการส่งออกของหลายประเทศเริ่มฟุบตัว และยังไร้วี่แววที่จะฟื้นตัวในเร็วๆ วันนี้

ประการแรก ต้องยอมรับว่าวิกฤตหนี้ที่เกิดขึ้นในยุโรปนั้นยังไม่สามารถค้นหาทางออกได้เจอ ทั้งๆ ที่ล่วงเลยผ่านมาแล้ว 2 ปีครึ่ง แม้ว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เพียรพยายามหารือ รวมถึงหาแนวทางและสร้างข้อตกลงต่างๆ ออกมาใช้เป็นจำนวนมาก ทั้งการสร้างข้อตกลงวินัยการคลัง (ฟิสคัลแพค) การจัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพถาวรยุโรป (อีเอสเอ็ม) การออกมาตรการซื้อพันธบัตรของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และล่าสุดคือการเตรียมจัดตั้งเป็นสหภาพธนาคารยุโรป

แต่ทว่าความแตกแยกและการแก้ปัญหาของยุโรปยังไม่เป็นเอกภาพมากพอ โดยเฉพาะเยอรมนีกับฝรั่งเศส รวมถึงอังกฤษ ที่มักมีความเห็นแย้งกันในหลายแผนการที่ออกมา โดยเฉพาะแผนการจัดตั้งสหภาพธนาคาร รวมถึงกลไกในการควบคุมธนาคารในยุโรป

นอกจากนี้ ประเทศที่ประสบปัญหาอย่างสเปนกับอิตาลี ก็ดูเหมือนจะยังดื้อดึงและไม่ยอมรับสภาพปัญหาที่แท้จริง ด้วยการยื่นขอความช่วยเหลือจากสหภาพยุโรป (อียู) เสียที เนื่องจากหวาดหวั่นผลกระทบจากเงื่อนไขของเงินกู้ที่จะได้รับ โดยเฉพาะแผนรัดเข็มขัด

ด้วยเหตุนี้จึงไม่ต้องหวังเลยว่า ภูมิภาคยุโรปซึ่งเคยเป็นตลาดส่งออกหลักของเอเชียจะหาทางออกได้ในเร็ววันนี้ และเมื่อไม่นานมานี้เจ้าหน้าที่ขององค์การเงินระหว่างประเทศรายหนึ่งได้ออกมาตอกย้ำอีกว่า วิกฤตดังกล่าวน่าจะลากยาวออกไปอย่างน้อยอีก 10 ปี

“การชะลอตัวทางเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะที่มาจากยุโรป จะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเอเชียในระยะสั้น ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งหามาตรการป้องกัน” ชังยองลี หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) กล่าว

เอเชีย "เอาไม่อยู่" ลดดอกรับ ศก.โลกจ่อปากเหว

 

ปัจจัยที่ 2 คือ ภาวะความเสี่ยงจากภาวะหน้าผาทางการคลัง ซึ่งเป็นภาวะที่สหรัฐจะต้องเผชิญกับการเพิ่มขึ้นของอัตราภาษี และการตัดลดรายจ่ายอย่างรวดเร็ว และจะทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐเดินเข้าสู่ภาวะการถดถอย

ปัญหาดังกล่าวจะแก้ได้หากสภาคองเกรสสามารถหาทางตกลงกันเกี่ยวกับแนวทางการลดหนี้ในประเทศก่อนต้นปีหน้าได้สำเร็จ แต่ในมุมมองความเชื่อมั่นต่อการแก้ปัญหานั้นเริ่มลดน้อยทุกที เพราะพรรคการเมืองใหญ่ของสหรัฐ ทั้งเดโมแครต และรีพับลิกัน ดูจะยังเล่นเกมการเมืองใส่กันไม่หยุด ดังนั้นความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับภาวะดังกล่าว และส่งผลกระทบไปทั่วโลกจึงมีความเสี่ยงอยู่ไม่น้อย

ปัจจัยสุดท้ายที่เป็นตัวคุกคามภาวะเศรษฐกิจโลกก็คือ การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่เคยเป็นความหวังในการกู้วิกฤตเศรษฐกิจโลกอย่างจีนและอินเดีย โดยล่าสุดนั้นสัญญาณบ่งบอกถึงภาวะที่เลวร้ายที่ชัดที่สุด คือ การขยายตัวของจีดีพีจีนในไตรมาส 3 ซึ่งขยายตัวได้ต่ำที่สุดในรอบ 3 ปี ที่ 7.4% ขณะที่การขยายตัวทางภาคอุตสาหกรรม ซึ่งวัดจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (พีเอ็มไอ) ในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ก็ยังคงหดตัวลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันจากเดือนก่อนหน้านั้น

“การชะลอตัวของจีนส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการเชื่อมโยงกันภายในภูมิภาคในอดีต” รายงานคาดการณ์ทางเศรษฐกิจฉบับปรับปรุงล่าสุดปี 2012 ของไอเอ็มเอฟ ซึ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อต้นเดือน ต.ค. ระบุ พร้อมกับปรับลดการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนในปีนี้จะโตได้แค่ 7.8% ลดลงจากเดิมที่วางไว้ที่ 8% ในขณะที่อินเดียลดลงมาอยู่ที่ 4.9% จากเดิมที่ 6.2%

ด้วยเหตุและปัจจัยทั้ง 3 ที่กล่าวมา จึงสรุปว่าเอเชียซึ่งเป็นภูมิภาคที่เศรษฐกิจยังไม่แข็งแกร่งพอที่จะยืนด้วยลำแข้งตัวเอง และยังต้องพึ่งพาการค้าและการส่งออกกับทั้งสหรัฐ ยุโรป และจีน ซึ่งทำให้เอเชียเลี่ยงไม่พ้นจากการเผชิญหน้ากับผลกระทบและการชะลอตัวลงตาม 3 เขตเศรษฐกิจหลัก

ดังที่เอดีบี ระบุว่า 3 ปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวกำลังทำให้การขยายตัวของเอเชียทั้งในปีนี้และปีหน้ามีแนวโน้มที่สดใสน้อยลง พร้อมกับปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเอเชียในปีนี้ไว้ในอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบ 3 ปี นับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก ลงมาอยู่ที่ 6.1% จากเดิมที่ 6.9% อีกด้วย

ฉะนั้น เมื่อพิจารณาปัจจัยโดยรวมที่กำลังจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเอเชียให้ดำดิ่งลงทั้งหมดทั้งมวล จึงไม่แปลกใจว่าทำไมทั้งไทยและเพื่อนบ้านในเอเชียด้วยกันจึงหันงัดนโยบายทางดอกเบี้ยออกมากระตุ้นกันอย่างรีบเร่ง ทั้งๆ ที่ไม่กี่เดือนก่อนหน้ายังต่างยืนยันนั่งยันนอนยันว่า “เอาอยู่”

เพราะปัญหาเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้คือของจริง เหมือนกับเพอร์เฟกต์สตอร์มที่รุมกระหน่ำกันมาจากทุกทิศทุกทาง

ยากเกินกว่าจะมาปิดบังอยู่ต่อไป...!