posttoday

วิกฤตยุโรปลามการเมือง หลายพื้นที่ลั่นขอแยกทาง

17 ตุลาคม 2555

แม้ในช่วงนี้สถานการณ์วิกฤตหนี้ในยุโรปจะค่อนข้างเป็นไปในทิศทางที่ดี ทั้งการส่งสัญญาณของทรอยกาที่จะยอมยืดระยะเวลาการขาดดุลงบประมาณให้กรีซต่อไปอีก 2 ปี

โดย...พันธสิทธิ เจริญพาณิชย์พันธ์

แม้ในช่วงนี้สถานการณ์วิกฤตหนี้ในยุโรปจะค่อนข้างเป็นไปในทิศทางที่ดี ทั้งการส่งสัญญาณของทรอยกาที่จะยอมยืดระยะเวลาการขาดดุลงบประมาณให้กรีซต่อไปอีก 2 ปี การออกมาย้ำของผู้นำเยอรมนีว่ากรีซจะต้องอยู่ในยูโรโซนต่อไป การนำกลไกลแก้ไขปัญหาอย่างกองทุนรักษาเสถียรภาพถาวรยุโรป (อีเอสเอ็ม) ออกมาบังคับใช้อย่างเป็นทางการ และล่าสุดก็คือการได้รับรางโนเบลสาขาสันติภาพ

แต่ในความเป็นจริงหากจับตาดูความเคลื่อนไหวของเหตุการณ์อื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือปริมณฑลทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว จะพบว่าปัญหาที่ยุโรปกำลังจะเผชิญต่อจากนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องของเศรษฐกิจอย่างเดียว เนื่องจากปัญหาได้ลุกลามไปสู่เรื่องของการเมืองและความเป็นเอกภาพของประเทศเสียแล้ว โดยเฉพาะปัญหาการขอแยกตัวออกไปเป็นรัฐหรือแคว้นอิสระจากรัฐบาลกลาง ที่โหมกระพือมากขึ้นในระยะ 2–3 เดือนที่ผ่านมา

แคว้นท้องถิ่นที่กำลังแสดงตัวว่าต้องการแยกตัวจากการปกครองของรัฐบาลกลางอย่างชัดเจน ได้แก่ แคว้นคาตาโลเนียกับแคว้นบาสก์ ของสเปน แคว้นเวเนโตของอิตาลี แคว้นแฟลนเดอร์ของเบลเยียม และล่าสุด คือ สกอตแลนด์ของสหราชอาณาจักร ซึ่งกำลังจะมีการจัดทำประชามติเพื่อขอมติจากประชาชนในอีกไม่กี่ปีนี้

แม้ว่าเหตุที่ไปและที่มาของการขอแยกเป็นรัฐอิสระนั้น จะเกิดมาจากปมรากเหง้าทาง ประวัติศาสตร์ ภาษา วัฒนธรรม และความคิดความเชื่อทางการเมืองที่แตกต่างจากส่วนอื่นๆ ของประเทศ แต่สิ่งที่เป็นตัวกระตุ้นและขับดันอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันก็คือ “ปัจจัยทางเศรษฐกิจ”

วิกฤตยุโรปลามการเมือง หลายพื้นที่ลั่นขอแยกทาง

เนื่องจากแคว้นท้องถิ่นที่กล่าวมาในข้างต้น ยกเว้น สกอตแลนด์ ส่วนใหญ่มักจะมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีและแข็งแกร่งกว่าแคว้นอื่นๆ ในประเทศที่กำลังรู้สึกเบื่อหน่ายและรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมกับการต้องนำเงินที่จัดเก็บไปให้กับรัฐบาลกลางในการช่วยเหลือพื้นที่อื่นๆ มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่กำลังเผชิญกับวิกฤตหนี้สาธารณะ และต้องหันมาตัดลดรายจ่ายต่างๆ ผ่านแผนรัดเข็มขัดอย่างหนัก

ดังเห็นได้จากกรณีแคว้นคาตาโลเนียของสเปน ซึ่งถือเป็นแคว้นที่ร่ำรวยที่สุดเป็นอันดับ 5 ของประเทศ และทำรายได้จากการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 30% ของทั้งประเทศ ต้องส่งเงินรายได้ภาษีให้รัฐบาลกลางในกรุงมาดริดเฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 1.2 หมื่นล้านยูโร แต่เงินที่ได้รับจากการจัดสรรมาจากรัฐบาลกลางในแต่ละครั้ง กลับได้รับเพียงสัดส่วนเล็กน้อยเท่านั้นเมื่อเทียบกับเงินที่ให้ไป

นอกจากนี้ ที่เจ็บจี๊ดไปตรงหัวใจชาวคาตาโลเนียที่สุด ก็เห็นจะเป็นการที่ต้องขอความช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาลกลางจำนวน 5,000 ล้านยูโร หลังจากถูกวิกฤตหนี้รุมเร้าอย่างหนัก แต่กลับถูกรัฐบาลกรุงมาดริดตั้งเงื่อนไขอย่างเข้มงวด ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ชาวคาตาโลเนียเริ่มหันมาคิด ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่ผู้รับผิดชอบแต่ฝ่ายเดียว และหากเงินรายได้ที่ต้องจ่ายให้กับส่วนกลางในแต่ละปีนำมาจัดการเอง คาตาโลเนียก็คงเลี้ยงตนเองได้และไม่ต้องลำบากไปขอเงินช่วยเหลือเช่นนี้

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ประเด็นดังกล่าว จะเห็นเชื้อไฟที่โหมกระพือให้ชาวคาตาโลเนียกว่าหมื่นคนลุกขึ้นมาเดินขบวนครั้งใหญ่เมื่อเดือนที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้แบ่งแยกออกเป็นรัฐอิสระจากสเปน ไม่เพียงเท่านั้นเหล่านักการเมืองท้องถิ่นก็เตรียมพร้อมที่จะจัดให้มีการลงประชามติในประเด็นดังกล่าวแล้ว แม้ว่าจะถูกรัฐบาลกลางชี้ว่าเป็นสิ่งที่ขัดกับรัฐธรรมนูญก็ตาม

ในขณะที่แคว้นเวเนโต ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของอิตาลี ก็เผชิญกับปัญหาไม่ต่างกัน เนื่องจากในแต่ละปีต้องจ่ายเงินให้กับรัฐบาลกลางในกรุงโรมถึง 7 หมื่นล้านยูโร ในขณะที่เงินได้รับการจัดสรรคืนมาทั้งในทางตรงและทางอ้อมได้แค่ 5 หมื่นล้านยูโรเท่านั้น ซึ่งเท่ากับว่าเงินของชาวเมืองท้องถิ่นต้องถูกนำไปช่วยเหลือจุนเจือกับแคว้นอื่นๆ ในประเทศอย่างไม่เต็มใจมากถึง 2 หมื่นล้านยูโรต่อปี ซึ่งจำนวนนี้ถือเป็นเงินจำนวนของคนเสียภาษีถึง 5 ล้านคน

“ผมเห็นควรว่าเราน่าจะแยกตัวเป็นอิสระจากรัฐบาลกรุงโรม ด้วยการจัดตั้งเหล่ารัฐพันธมิตรอื่นๆ ที่อยู่ภาคเหนือของอิตาลีขึ้นเป็นแคว้นพาตาเนีย เนื่องจากชาวเมืองเวเนเทียนถูกทำให้กลายเป็นทาสของกรุงโรมแล้ว และรัฐบาลกลางก็เพิกเฉยกับความไม่พอใจของเมืองเรา” ลูโดวิซิโอ พิซซาตี อดีตนักเศรษฐศาสตร์ของเวิลด์แบงก์ และปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคการเมืองท้องถิ่นในเมือง ชื่อว่า อิดิเพนเดนซา เวเนตา กล่าว

สิ่งที่อดีตนักเศรษฐศาสตร์จากเวิลด์แบงก์ให้ความเห็น เป็นสิ่งที่กำลังสอดคล้องและสะท้อนถึงความรู้สึกของประชาชนท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี เนื่องจากผลสำรวจที่จัดทำโดยหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอย่างอิล อาเซ็ตติโน ซึ่งชี้ว่าประชาชนกว่า 70% ในเมืองเห็นด้วยกับการแยกตัวเป็นอิสระจากรัฐบาลกลาง

วิกฤตยุโรปลามการเมือง หลายพื้นที่ลั่นขอแยกทาง

ขณะที่หนังสือพิมพ์รายวัน คลอเรียเล เดลลา เซรา ก็เปิดเผยผลสำรวจในลักษณะเดียวกันเมื่อเดือนที่ผ่านมา พบว่าประชาชน 80% สนับสนุนการแยกตัวเป็นอิสระเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ ปัญหาความไม่พอใจต่อการที่ต้องคอยมาแบกรับปัญหาที่ตนเองไม่ได้ก่อของรัฐท้องถิ่นนั้น ไม่ได้มีแต่ในเฉพาะประเทศที่ประสบกับปัญหาหนี้อย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังได้เกิดขึ้นกับประเทศที่แข็งแกร่งอย่างในเยอรมนีอีกด้วย เห็นได้จากการที่แคว้นบาวาเรียที่ยื่นฟ้องคัดค้านระบบสมดุลการคลังในประเทศ ที่จะทำให้บาวาเรียต้องปันสัดส่วนเงินภาษีและรายได้ของแคว้นไปให้กับแคว้นอื่นๆ ที่ยากจนกว่าต่อศาลรัฐธรรมนูญในประเทศเมื่อไม่นานมานี้

กล่าวได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในเยอรมนีนั้น แม้ว่าจะไม่ร้ายแรงถึงขั้นขอแยกตัวเป็นรัฐอิสระเหมือนในสเปน อิตาลี ก็ตาม แต่อย่างน้อยก็เป็นตัวสะท้อนที่บ่งบอกได้ดีถึงภาวะที่ไม่พร้อมจะไปแบกรับปัญหาของผู้อื่น และต้องการเอาตัวเองรอด

“รัฐหรือแคว้นท้องถิ่นที่ร่ำรวยเหล่านี้ กำลังบ่งบอกว่าเงินรายได้ที่หามาได้นั้นได้มายากเย็นเพียงไร และกลุ่มรัฐเหล่านี้ไม่ต้องการจะให้เงินไปอย่างง่ายๆ” เฮนดริก วอส ผู้อำนวยการศูนย์ยุโรปศึกษา แห่งมหาวิทยาลัยเกนท์ กล่าว

กระนั้น แม้ว่าจะมีความเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องและแยกออกเป็นรัฐเอกราชอย่างต่อเนื่อง แต่นักวิเคราะห์และสื่อต่างชาติมองว่ายังเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ เนื่องจากการแยกตัวเป็นอิสระหมายถึงการต้องรับผิดชอบตนเองในทุกๆ ด้าน ซึ่งในความเป็นจริงรัฐเหล่านี้ก็ไม่ได้มีความพร้อมทุกด้านเสมอไป แม้จะมีฐานะทางเศรษฐกิจดีก็ตาม

นอกจากนี้ รัฐบาลกลางของประเทศที่แยกตัวออกมาก็ยังมีเครื่องมือที่จะบีบให้แคว้นเหล่านี้ไม่กล้าแยกตัวออกไป นั่นคือการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (อียู) เนื่องจากการแยกตัวออกเป็นรัฐก็หมายถึงการเป็นประเทศใหม่ และหากต้องการกลับเข้ามาร่วมกลุ่มอียูก็ต้องสมัครใหม่ ซึ่งแน่นอนว่ารัฐบาลของประเทศที่จะแยกออกไปย่อมคัดค้านการสมัครเป็นสมาชิกอย่างแน่นอน

เห็นได้จากการที่นายกรัฐมนตรี มาเรียโน ราฮอย แห่งสเปน ออกมาพูดในเชิงข่มขู่ให้แคว้นที่จะแยกตัวเป็นอิสระ ว่าหากแยกออกจากสเปน ก็หมายถึงการออกจากอียู สอดคล้องกับที่เจ้าหน้าที่อังกฤษออกมาระบุว่า หากสกอตแลนด์แยกตัวออกจากอังกฤษจริง ก็เท่ากับออกจากอียูโดยอัตโนมัติ และหากจะกลับเข้ามาอยู่ในอียูใหม่ก็จะต้องจัดการหนี้สินต่างๆ และประเด็นที่ซับซ้อนให้ลุล่วงก่อน มิเช่นนั้นอังกฤษจะใช้อำนาจวีโตที่มีอยู่

กล่าวได้ว่า แม้จะไม่พอใจประเทศเดิมและอยากแยกตัวออกไปมากเพียงไหน แต่ในทางปฏิบัตินั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจโลกผันผวนเช่นนี้ ฉะนั้นการตัดสินใจใดๆ จึงต้องศึกษารายละเอียดให้รอบคอบก่อนจะเดินหน้าลุย

อย่าใช้เพียงแต่อารมณ์และความสะใจเป็นที่ตั้ง!