posttoday

อาเซียนพลิกโฉมพลังงาน ผลิตป้อนภายในรับศก.ขยายตัว

15 ตุลาคม 2555

...พันธสิทธิ เจริญพาณิชย์พันธ์

...พันธสิทธิ เจริญพาณิชย์พันธ์

อาเซียนพลิกโฉมพลังงาน ผลิตป้อนภายในรับศก.ขยายตัว

สปอตไลต์ดวงใหญ่ซึ่งฉายสาดส่องมุ่งตรงมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)เต็มที่ ในฐานะดาวรุ่งพุ่งแรงทางเศรษฐกิจดวงใหม่ท่ามกลางภาวะซบเซาถดถอยของหลายๆ ประเทศทั่วโลกในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้กลายเป็นกุญแจเปิดประตูสู่การเปลี่ยนแปลงให้กับภูมิภาคแห่งนี้อีกครั้ง

เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนอย่างร้อนแรง การเร่งพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและการโหมอัดฉีดงบประมาณภาครัฐ ส่งผลให้วงการอุตสาหกรรมพลังงานในอาเซียนจำต้องพลิกบทบาทครั้งใหญ่

จากเดิมที่เป็นเพียงแค่ผู้ผลิตเพื่อส่งออกขายไปยังต่างประเทศ มาเป็นการผลิตและนำเข้าเพื่อหันมาป้อนและรองรับความต้องการตลาดภายในภูมิภาค ที่นับวันจะยิ่งทวีความต้องการอย่างต่อเนื่องเป็นหลักแทน

ทั้งนี้ รายงานผลสำรวจด้านพลังงานโลกขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) ฉบับล่าสุด ระบุ

ชัดว่า อาเซียนจะก้าวขึ้นมามีบทบาทในวงการอุตสาหกรรมพลังงานมากขึ้น เพราะความต้องการใน

ภูมิภาคอาเซียนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยคาดว่าในระหว่างปี 2552-2578 ความต้องการพลังงานจะเพิ่มขึ้นถึง 90% หรือเฉลี่ยแต่ละปีแล้วจะมีการเติบโตที่ 2.3%สวนทางกับภาวะความต้องการในภูมิภาคอื่นๆที่เหลือในโลก ที่รวมกันแล้วเพิ่มเพียงแค่ 1.2% เท่านั้น

ข้อมูลข้างต้นสอดรับกับทัศนะของ เจอร์โรมเฟอร์ริเออ ประธานสหพันธ์ก๊าซระหว่างประเทศ(ไอจียู) ที่คาดการณ์ว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า เอเชียจะเป็นภูมิภาคที่มีการใช้ก๊าซมากที่สุด และออสเตรเลียน่าจะเป็นผู้พลิกโฉมการส่งออกก๊าซแอลเอ็นจี เนื่องจากมีปริมาณสำรองเยอะที่สุดในภูมิภาค

และจากการคาดการณ์ดังกล่าวทำให้มีความเป็นไปได้ในการสร้างโครงข่าย ระบบท่อส่งก๊าซเชื่อมโยงประเทศต่างๆ ของภูมิภาคขึ้นในอนาคตอีกด้วย

แก้สัญญา สนองตลาดภายใน

เจโร วาลิกรัฐมนตรีพลังงานอินโดนีเซียที่ได้กล่าวในเวทีการประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลก๊าซของกลุ่มประเทศในพื้นที่แปซิฟิกตะวันตก (ก๊าซเส็ก) ครั้งที่12 ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า รัฐบาลจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ด้านพลังงาน ด้วยการขอปรับปรุงแก้ไขข้อตกลงด้านการผลิตและการสูบก๊าซธรรมชาติที่ปาปัว กับ บริษัท บีพียักษ์ใหญ่ด้านพลังงานจากอังกฤษใหม่ โดยกำหนดให้ปริมาณก๊าซ 40% ที่ผลิตได้ ต้องป้อนตลาดภายในประเทศ ส่วนอีก 60% ที่เหลืออนุญาตให้ส่งออก จากเดิมที่ไม่มีข้อกำหนด และสามารถส่งออกได้ 100%

ขณะที่ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวรอยเตอร์สได้รายงานโดยอ้างแหล่งข่าววงในว่า รัฐบาลพม่าต้องการปรับแก้ข้อตกลงการส่งก๊าซให้กับไทยใหม่ จากเดิมที่ผลิตให้วันละ 1,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต ลดลงมาเหลืออยู่ที่ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากความขาดแคลนพลังงานในประเทศ โดยเฉพาะปัญหาไฟฟ้าดับขณะเดียวกันก็เพื่อการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนต่างชาติ หลังจากที่ได้ดำเนินนโยบายเปิดประเทศมาอย่างต่อเนื่อง

ด้านมาเลเซีย ก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่จำเป็นต้องปรับปรุงนโยบายเรื่องพลังงานจากเดิมที่มุ่งส่งออกไปจีน ญี่ปุ่นกลับมีการนำเข้าบางส่วนมากขึ้น เนื่องจากแหล่งผลิตกับพื้นที่ชายฝั่งที่ต้องการใช้ก๊าซของประเทศอยู่ห่างไกลกัน

แอลเอ็นจี คือคำตอบ

ทั้งนี้ ท่ามกลางภาวะความต้องการพลังงานที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น เพื่อนำมาใช้เป็นกลไกขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจเติบโตไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง โดยเฉพาะความต้องการที่มาจากจีนและอินเดีย แต่ศักยภาพในการผลิตและค้นหาแหล่งพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันกลับมีจำกัดและดูจะร่อยหรอลงทุกวัน

ฟาติห์ บิรอลหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ จากองค์การพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) กล่าวว่า ความสามารถในการผลิตและขุดเจาะน้ำมันดิบของโลกได้เลยจุดที่สูงที่สุดมาแล้วตั้งแต่ปี 2549 ดังนั้นความหวังที่จะได้ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในราคาที่ถูกจึงจบสิ้นลงเรียบร้อยแล้ว

"ยุคราคาน้ำมันถูกได้จบลงแล้ว ต่อไปรัฐบาลและผู้บริโภคจะต้องเตรียมรับมือกับภาวะน้ำมันที่จะแพงขึ้น"บิรอล กล่าว

พร้อมกันนี้ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากไออีเอยังเปิดเผยรายงานผลการศึกษาซึ่งคาดการณ์ว่าในปี 2578 ความต้องการน้ำมันของโลกจะเพิ่มขึ้นมากถึง 84%หรืออยู่ที่ 99 ล้านบาร์เรลต่อวันเมื่อเทียบกับความต้องการจากความต้องการในปี 2552 ดังนั้นจึงเป็นไปได้สูงว่า ราคาน้ำมันจะพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 240 เหรียญสหรัฐ(ราว 6,960 บาท) ต่อบาร์เรล

ด้วยเหตุดังกล่าว บรรดารัฐบาลในอาเซียนและบริษัทด้านพลังงานชั้นนำทั้งหลาย จึงเร่งคิดค้นหาทางออกจากปัญหาความไม่มั่นคงทางพลังงาน โดยเฉพาะปริมาณน้ำมันที่จะลดลงเรื่อยๆด้วยการหันไปจับจ้องพื้นที่แหล่งพลังงานในรูปแบบก๊าซธรรมชาติมากขึ้นเนื่องจากข้อได้เปรียบหลายประการ

ประการแรก คือรายงานการสำรวจโดยไออีเอ ที่พบว่า แหล่งพลังงานก๊าซในโลกนี้ยังมีเหลือใช้อีกมากกว่า200 ปี ประการต่อมา คือการเป็นเทคโนโลยีที่สะอาดไม่สร้างมลพิษให้สิ่งแวดล้อม และประการสุดท้าย คือความสะดวกในการเคลื่อนย้ายขนส่งที่ไม่ต้องอาศัยผ่านท่ออีกต่อไป เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้สามารถแปรสภาพก๊าซให้อยู่ในรูปของเหลว หรือที่เรียกว่า แอลเอ็นจี ได้ และสามารถขนส่งโดยผ่านทางเรือที่ได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษ

"ก๊าซเริ่มมีบทบาทมากขึ้นไม่เฉพาะในบริเวณอาเซียนเท่านั้น แต่เป็นทั้งโลก ทำให้ความต้องการมีมากขึ้น ซึ่งปริมาณสำรองที่คิดว่าจะมีให้ใช้ได้ทั้งโลกที่ประมาณ 250 ปี และข้อดีของก๊าซธรรมชาติคือเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม" ชาครีย์บูรณกานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. กล่าว

ทั้งนี้ ชาครีย์ ยังกล่าวเสริมอีกว่า ทุกประเทศในขณะนี้ได้เล็งเห็นความสำคัญเรื่องพลังงานมากขึ้นขณะที่อีกหลายๆ ประเทศก็เริ่มเป็นผู้นำเข้าพลังงานและพยายามพัฒนาแหล่งพลังงานที่มีอยู่ในประเทศเพิ่มขึ้นเพื่อให้เพียงพอใช้งานในประเทศและส่งออกได้

การแข่งขันพัฒนาเริ่มคึกคัก

ต้องยอมรับว่าการแข่งขันเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีในด้านการขนส่งและการสร้างสถานีรับและแปลงสภาพก๊าซแอลเอ็นจี เริ่มเข้าสู่สภาวะการแข่งขันที่สูงมากขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ ปตท.ได้เปิดตัวสถานีรับก๊าซแอลเอ็นจีแห่งแรกของภูมิภาคอาเซียนที่ จ.ระยอง เมื่อช่วงกลางปี 2554

ขณะที่หลังจากนั้นเพียงไม่กี่เดือนต่อมา บรรดาบริษัทด้านพลังงานทั้ง ปิโตรนาส เปอร์ตามินา และพีจีเอ็น ต่างเริ่มดำเนินการก่อสร้างเช่นเดียวกัน แต่จะต่างกันตรงที่ 3 บริษัทข้างต้นมีเป้าหมายอยู่ที่การสร้างสถานีรับก๊าซแอลเอ็นจีแบบลอยน้ำ ยกเว้นปิโตรนาสที่ทำทั้งเป็นสถานีและเรือขุดเจาะหาก๊าซ หรือเอฟแอลเอ็นจี(Floating Liquid Natural Gas) ในอันเดียวกันซึ่งคาดว่าจะเริ่มใช้งานได้จริงในปลายปี 2558

สาเหตุที่ต้องสร้างต่างจากประเทศไทย ก็เพราะบริษัทเหล่านี้อาจเห็นว่า การสร้างสถานีลอยน้ำมีต้นทุนที่ถูกกว่าการสร้างสถานีรับก๊าซแอลเอ็นจี โดยเฉพาะในกรณีของปิโตรนาส บริษัทด้านพลังงานยักษ์ใหญ่ของมาเลเซีย ซึ่งสร้างเรือผลิตและสถานีรับก๊าซไว้ด้วยกันเพื่อให้สอดรับกับสภาพภูมิศาสตร์ประเทศที่แหล่งก๊าซที่เหลืออยู่เป็นลักษณะหลุมเล็กหลุมน้อย เพราะแหล่งก๊าซขนาดใหญ่ในปัจจุบันแทบจะไม่มีเหลือให้ขุดอีกแล้วดังนั้นการขุดเจาะโดยใช้เรือล่องไปตามสถานที่ต่างๆ ที่คาดว่าจะมีก๊าซ จึงน่าจะเหมาะสมที่สุด

นอกจากนี้ เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมาการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนที่กรุงพนมเปญ ทุกฝ่ายต่างเห็นพ้องต้องกันในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานพร้อมมอบหมายงานให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงและสภาปิโตรเลียมอาเซียนค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจัดระเบียบการซื้อขายก๊าซแอลเอ็นจีกับสหรัฐและการแสวงหาความร่วมมือเพื่อเข้าถึงข้อมูลการพัฒนาเทคโนโลยีการขุดก๊าซแบบเชลล์แก๊ส ซึ่งเป็นหนึ่งในรูปแบบการผลิตก๊าซที่แตกต่างจากแบบเดิมซึ่งสหรัฐใช้อยู่ในขณะนี้

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าเทคโนโลยีจะก้าวรุดหน้าไปไกลมากแค่ไหน หรือมีพลังงานก๊าซเหลือมากพอรองรับความต้องการไปได้อีกหลายร้อยปี ทว่าสิ่งหนึ่งที่คนไทยจะต้องตระหนักให้ดี ก็คือการใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่าและไม่ให้หมดเปลืองไปอย่างสูญเปล่า เพราะทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้ล้วนมีต้นทุนที่ต้องแลกทั้งสิ้น