posttoday

สิ้นมนต์ ‘โนเบลสันติภาพ’ มาตรฐานอยู่หนใด?

13 ตุลาคม 2555

ผ่านพ้นไปแล้วอย่างเต็มภาคภูมิ กับสัปดาห์แห่งการมอบรางวัลแห่งเกียรติยศดีกรีระดับโลกอย่าง “รางวัลโนเบล”

โดย...ลภัสรดา ภูศรี

ผ่านพ้นไปแล้วอย่างเต็มภาคภูมิ กับสัปดาห์แห่งการมอบรางวัลแห่งเกียรติยศดีกรีระดับโลกอย่าง “รางวัลโนเบล” ซึ่งจัดขึ้นประจำอย่างต่อเนื่องทุกปีที่เมืองสต๊อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน และที่กรุงออสโล นอร์เวย์ ดินแดนพระอาทิตย์เที่ยงคืน

และในปี 2555 นี้ บรรดานักวิทยาศาสตร์ นักประดิษฐ์ นักคิด นักสังคม และองค์กรที่สร้างผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์และดำเนินกิจกรรมที่นำไปสู่การสร้างสันติภาพอันโดดเด่น ก็ได้รับการจารึกลงในหน้าประวัติศาสตร์โลกในฐานะผู้ได้รับรางวัลโนเบลในสาขาต่างๆ กันอย่างคึกคักตามธรรมเนียมปฏิบัติ

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางเสียงชื่นชมยินดีต่อบุคคลอันทรงเกียรติที่ทำคุณประโยชน์นานัปการแก่มนุษยชาติ ดูเหมือนว่าได้เกิดคลื่นแทรกที่เต็มไปด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่แสดงความกังขาต่อความ “น่าเชื่อถือ” ของรางวัลระดับโลกนี้กันอย่างต่อเนื่องกว้างขวางมากขึ้น

ยิ่งสำหรับรางวัลโนเบลสาขา “สันติภาพ” ซึ่งได้รับการจับตามองมากที่สุด ก็ยิ่งมีการตั้งคำถามมากมายว่า ท้ายที่สุดแล้ว รางวัลนี้ เป็นสัญลักษณ์ของผู้ที่ต่อสู้สร้างสันติภาพแท้จริงตามที่เจตนารมย์ของ อัลเฟรด โนเบล นักเคมีชาวสวีเดน ผู้ก่อตั้งมูลนิธิหรือไม่

สิ้นมนต์ ‘โนเบลสันติภาพ’ มาตรฐานอยู่หนใด?

 

เพราะหากวิเคราะห์ดูรายละเอียดในพินัยกรรมที่ อัลเฟรด โนเบล เขียนถึงคุณสมบัติบุคคลที่เหมาะสมในการได้รับรางวัลสาขาสันติภาพไว้ว่า “เป็นรางวัลสำหรับผู้ที่ได้ทุ่มเททำงานหรือสร้างผลงานเพื่อให้เกิดความเป็นภราดรภาพระหว่างนานาชาติ เพื่อให้เกิดการยกเลิกกองทัพ หรือลดกำลังรบทางทหาร และเพื่อจัดให้มีสภาที่ส่งเสริมสันติภาพ”

อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลังมานี้ ดูเหมือนว่า กลุ่มบุคคลที่ตบเท้าเข้ารับรางวัลแห่งสันติภาพนี้ กลับกลายเป็นชนวนที่ก่อให้เกิดความ “ขัดแย้ง” ทางความคิดของคนในสังคมเสียมากกว่า

และเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในปีนี้ที่เรียกได้ว่า “สั่นคลอน” มนต์ขลังของรางวัลโนเบลมากที่สุด คงหนีไม่พ้น หนึ่งในรายชื่อตัวเต็งผู้มีสิทธิได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2555 จากทั้งหมด 199 คนและ 43 องค์กร มีชื่อของ ประธานาธิบดี เต็งเส่ง ของพม่า ติดโผเข้ามาด้วย

ถึงท้ายที่สุดแล้ว ผู้นำพม่าผู้นี้ จะไม่ได้รับรางวัลดังกล่าว แต่การได้รับการเสนอชื่อให้เป็นหนึ่งในตัวเก็งชิงโนเบลสันติภาพ ก็ส่งผลให้ความน่าเชื่อถือรางวัลโนเบล มัวหมองลงไปไม่น้อยเลยทีเดียว

 

แม้ต้องยอมรับว่า กลิ่นอายแห่งสันติภาพเริ่มตลบอบอวลอยู่ในบรรยากาศของพม่าบ้างแล้ว เห็นได้จากความคืบหน้าทางความสัมพันธ์ของระหว่างบุคคล 2 กลุ่ม ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นคู่อริเชือดเชือนกันมาโดยตลอด ทั้งระหว่างประธานาธิบดี เต็งเส่ง และอองซานซูจี นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยคนสำคัญของพม่าวัย 63 ปี ก็มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เห็นได้จากสถานการณ์ล่าสุดที่ ซูจี เริ่มมีบทบาททางการเมืองอย่างเต็มตัวมากขึ้น จากนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ถูกกักบริเวณอยู่ในบ้านพัก มานั่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พร้อมสมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) อีกทั้ง 33 คน ซึ่งนับเป็นการเข้าสู่รัฐสภาครั้งแรก หลังจากต่อสู้ดิ้นรนกับระบอบการปกครองโดยเผด็จการทหารมานานร่วมทศวรรษ

นอกจากนี้ ผู้นำรัฐบาลพลเรือนชุดแรกของพม่าวัย 67 ปีผู้นี้ ยังได้ดำเนินการปล่อยตัวนักโทษการเมืองที่เคยเคลื่อนไหวแสดงความต่อต้านรัฐบาลทหารในอดีตแล้วกว่า 600 คน ตามคำเรียกร้องของนานาชาติ ควบคู่ไปกับการประกาศยกเลิกการเซ็นเซอร์สื่อสิ่งพิมพ์ทุกแขนงในประเทศ หลังจากที่ถูกรัฐบาลตรวจสอบเข้มงวดก่อนตีพิมพ์มาโดยตลอด

หรือแม้แต่การที่รัฐบาลประกาศลงนามหยุดยิงกับสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู) ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยต่อต้านรัฐบาลพม่ากลุ่มใหญ่ที่สุดในประเทศ ก็ล้วนบ่งชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่มากขึ้นในดินแดนถิ่นลุ่มน้ำอิรวดีแห่งนี้

สิ้นมนต์ ‘โนเบลสันติภาพ’ มาตรฐานอยู่หนใด?

 

อย่างไรก็ตาม เบเนดิกส์ โรเจอร์ส หัวหน้าทีมองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศคริสเตียน โซลิดาริตี้ เวิลด์วาย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพม่า เห็นว่า แค่การประกาศให้ เต็งเส่ง เป็นตัวเก็งเหมาะสมที่จะได้รับรางวัลแห่งสันติภาพนี้ ก็นับว่า “ผิดมหันต์” แล้ว

“การเปลี่ยนแปลงที่เราเห็นในช่วงที่ผ่านมาในพม่าจนถึงขณะนี้ เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงในเบื้องต้นเท่านั้น แต่ไม่ใช่การยกเครื่องเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ ดังนั้นการมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพให้กับประธานาธิบดี เต็งเส่ง ก็อาจส่งผลให้กระบวนการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยของพม่าหยุดชะงักลงได้อย่างคาดไม่ถึงเลยทีเดียว” โรเจอร์ส กล่าว

ผู้เชี่ยวชาญด้านพม่าผู้นี้ให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า สถานการณ์ของพม่าในปัจจุบันดีขึ้นมากแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการที่หลายประเทศทั่วโลก พร้อมใจกันยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่อพม่า ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมกันอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ อองซานซูจี ก็มีบทบาทในรัฐสภาบ้างแล้ว ดังนั้นการมอบรางวัลโนเบลอาจถูกมองเป็นหลักฐานที่ยืนยันว่า พม่าได้ดำเนินการปฏิรูปไปสู่ประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์แบบแล้ว

“ทุกอย่างในพม่าเริ่มดีขึ้น แล้วจะเลือกอะไรที่จะล่อใจให้ประธานาธิบดี เต็งเส่ง ดำเนินการปฏิรูปต่อเนื่องไป หรือดึงดูดให้คนในรัฐบาลสนับสนุนหัวหน้ารัฐบาลผู้นี้ต่อไปกันล่ะ” โรเจอร์ส ย้ำ

กระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมของบุคคลที่ “สมควร” ได้รับรางวัลแห่งเกียรติยศที่เกิดขึ้นในปีนี้ ปะทุขึ้นอย่างร้อนระอุ ไม่แพ้กับการมอบรางวัลในปีก่อนๆ

เห็นได้จากเมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา เอลเลน จอห์นสัน เซอร์ลีฟ ประธานาธิบดีหญิงแห่งไลบีเรีย วัย 72 ปี ซึ่งเป็นหนึ่งในสามของหญิงเหล็กที่ครองโนเบลสาขาสันติภาพร่วมกัน ก็ถูกประณามว่า “ไม่ควรคู่” กับรางวัลนี้เช่นเดียวกัน

“ถ้าคุณเป็นชาวไลบีเรีย คุณก็จะรู้ดีว่า เซอร์ลีฟ เป็นชนวนเหตุแห่งสงครามการเมืองในประเทศยืดเยื้อมายาวนานกว่า 14 ปี และอยู่ไกลจากคำว่า บุคคลแห่งสันติภาพ” วินส์ตัน ทับแมน หนึ่งในสมาชิกของฝ่ายต่อต้าน เซอร์ลีฟ กล่าวโดยอ้างถึงประวัติอันด่างพร้อยของประธานาธิบดีคนที่ 24 ของไลบีเรียผู้นี้ ที่ครั้งหนึ่งเคยให้การสนับสนุน ทั้งด้านการเงิน ส่งเสบียง และให้คำปรึกษาแก่ ชาร์ลส์ เทย์เลอร์ หัวหน้ากลุ่มกบฏโค่นล้มรัฐบาลไลบีเรีย ซึ่งเป็นผู้จุดชนวนให้เกิดสงครามกลางเมืองอันโหดร้ายที่คร่าชีวิตประชาชนไปอย่างน้อย 2.5 แสนคน

สิ้นมนต์ ‘โนเบลสันติภาพ’ มาตรฐานอยู่หนใด?

 

ความคิดเห็นดังกล่าวของ ทับแมน นับว่าขัดแย้งกับสิ่งที่คณะกรรมการโนเบลยกขึ้นมาอ้างราวกับเป็นหนังคนละม้วนว่า “ตั้งแต่ประธานาธิบดี เซอร์ลีฟ เข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2549 เธอทุ่มเทเพื่อสันติภาพในไลบีเรีย เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ และการพัฒนาสังคม และเพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของผู้หญิงอย่างเต็มที่”

เหตุเพราะในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญ และนักวิชาการที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการเมืองประเทศไลบีเรียมายาวนาน ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า การตัดสินมอบรางวัลให้กับประธานาธิบดีหญิง “คนแรกและคนเดียว” ในทวีปแอฟริกาผู้นี้ บ่งชี้ให้เห็นว่า กระบวนการคัดเลือกและตัดสินของคณะกรรมการโนเบลในปัจจุบันนั้น นอกจากจะไม่โปร่งใสแล้ว ยังไร้ซึ่งประสิทธิภาพ และไม่มีการตรวจสอบ หรือการทำวิจัยเจาะลึกเกี่ยวกับตัวบุคคลที่จะมอบรางวัลให้เลยแม้แต่น้อย

“โดยส่วนตัวรู้สึกแปลกใจมากที่ เซอร์ลีฟ ได้รับรางวัลนี้ ผมคิดไม่ถึงจริงๆ เพราะไม่มีใครที่สถาบันโนเบล ติดต่อผมหรือเพื่อนร่วมงานที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองของไลบีเรีย เพื่อขอคำปรึกษาหรือความคิดเห็น ก่อนมอบรางวัลนี้ให้เธอเลย” สตีเฟน เอลลิส นักวิชาการชื่อดังประจำศูนย์การศึกษาด้านแอฟริกาของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีผลงานเขียนเกี่ยวกับสงครามกลางเมืองในไลบีเรียหลายเล่ม กล่าว

ทั้งนี้ กระบวนการคัดเลือกและตัดสินผู้ชนะรางวัลโนเบลในแต่ละสาขานั้น จะถูกเก็บเป็นความลับโดยที่ไม่มีใครหน้าไหนในโลก นอกจากคณะกรรมการโนเบล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการชาวนอร์เวย์และอยู่ในฐานะที่ปรึกษาถาวรของสถาบัน ที่จะรับทราบถึงขั้นตอนการประเมินว่า ดำเนินไปอย่างไร และมีการขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญท่านใดบ้าง

โดยกระบวนการดังกล่าว เป็นแนวทางที่ถูกปฏิบัติสืบทอดกันมาภายใต้ม่านแห่งความลับมายาวนานกว่า 50 ปีแล้ว

แต่ดูเหมือนว่า ยิ่งเวลาล่วงเลยผ่านไปมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้ชื่อเสียงของโนเบล ซึ่งครั้งหนึ่งได้ชื่อว่า เป็นรางวัลที่เป็นสัญลักษณ์เชิดชูเกียรติแก่บุคคลที่พยายามนำสันติภาพมาสู่โลก ถูกลดทอนความสำคัญ เหลือเป็นเพียง “เครื่องมือเพื่อเกมทางการเมือง” เท่านั้น

เห็นได้จากกรณีของประธานาธิบดี บารัก โอบามา ของสหรัฐ ซึ่งเป็นผู้นำสหรัฐคนที่ 2 ที่ได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพ ตามรอยอดีตประธานาธิบดี จิมมี คาร์เตอร์ เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพเมื่อปี 2545 ที่สร้างความประหลาดใจแกมงงงวยต่อทั้งนักวิชาการและประชาชนในสังคมเป็นอย่างมาก

สิ้นมนต์ ‘โนเบลสันติภาพ’ มาตรฐานอยู่หนใด?

 

“คณะกรรมการโนเบล ระบุว่า รางวัลดังกล่าวเป็นการยกย่องในความ “พยายาม” ของ โอบามา ที่จะสร้างความแข็งแกร่งด้านการทูตระหว่างประเทศ และการทำให้โลกปลอดอาวุธนิวเคลียร์ แต่วาทะดังกล่าวเป็นเพียงสิ่งที่ โอบามา กล่าวไว้เมื่อเข้ารับตำแหน่งในฐานะประธานาธิบดีของสหรัฐได้เพียง 12 วันเท่านั้น” ฟรีดิก เฮฟเฟอร์เมห์ล นักกฎหมายและนักเคลื่อนไหวด้านสันติภาพชาวนอร์เวย์ กล่าว

ความเห็นของ เฮฟเฟอร์เมห์ล นับได้ว่าสอดคล้องกับผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนผ่านทางสถานีโทรทัศน์บีบีซีแห่งอังกฤษ โดย 75% ต่างเห็นตรงกันว่า รางวัลดังกล่าวเป็นการตัดสินใจที่ผิด เพราะยังเร็วเกินไป ก่อนที่ โอบามา จะเริ่มลงมือดำเนินการด้านนโยบายต่างประเทศให้ประสบความสำเร็จที่สามารถเห็นได้เป็นรูปธรรมเสียอีก

“เป็นรางวัลที่ถูกตัดสินอยู่บนพื้นฐานลมปากแห่งความหวังของท่านประธานาธิบดีเท่านั้น” ผู้นำทางศาสนาของแอฟริกาใต้ ในฐานะอดีตเจ้าของรางวัลโนเบล กล่าว

ขณะเดียวกัน คณะกรรมการโนเบลก็เหมือน‌ยิ่งโดนตอกหมุดตรึงตะปูเข้าอย่างจัง เพราะหลัง‌ได้รับรางวัลสันติภาพไม่นาน ประธานาธิบดีโอ‌บามา ก็ประกาศแผนยุทธศาสตร์ส่งทหารเข้าไป‌ประจำการในอัฟกานิสถานเพิ่มเติม จนนัก‌วิเคราะห์บางรายถึงกับตั้งฉายาให้ว่า โอบามา ‌คือ ประธานาธิบดีแห่งสงครามเลยทีเดียว

“โนเบลเพื่อสันติภาพหรือ โอบามาควรได้รับ‌รางวัลโนเบลสาขาผู้เชี่ยวชาญด้านการก่อชนวน‌ความรุนแรง และเข่นฆ่าพลเมืองเสียมากกว่า” ‌ซาบิฮุลเลาะห์ มูจาฮิด โฆษกกลุ่มก่อการร้ายตาลี‌บัน วิจารณ์

“รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ กลายเป็น‌เรื่องการเมืองมากขึ้นทุกๆ ปี เป็นที่น่าเสียดายที่‌ทำให้ความโดดเด่นของผู้ได้รับรางวัลลดน้อย‌ถอยลงไปทุกๆ ปี” อเล็กซ์ซี มุคิน ผู้อำนวยการ‌ทั่วไปของสถาบันวิจัยเชิงนโยบายด้านการเมือง‌ในมอสโก กล่าว

ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ถูกพ่นไฟใส่อย่างต่อเนื่อง เกียร์ ลุนด์สตัด เลขาธิการคณะกรรมการโนเบล ‌ซึ่งนั่งควบตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสถาบัน‌โนเบล แทบนั่งไม่ติด ต้องออกโรงมาแก้ตัวด้วย‌ตัวเองว่า กระบวนการคัดเลือกผู้ชนะรางวัล‌โนเบลเป็นไปอย่างสมเหตุสมผล และมี‌ประสิทธิภาพมากที่สุด

“ก่อนที่บุคคลหรือองค์กรใดๆ จะได้รับรางวัล‌นี้ กลุ่มบุคคลเหล่านั้นจะได้รับการประเมิน‌คุณสมบัติโดยผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์อย่าง‌น้อย 2 ครั้ง บางทีอาจมีการตรวจสอบซ้ำถึง 3-‌4 ครั้งเลยทีเดียว” ลุนด์สตัด กล่าว

“แม้โดยส่วนตัวไม่สามารถเปิดเผยกระบวน‌การคัดเลือกแก่สาธารณชนได้ แต่ขอใช้ตำแหน่ง‌ยืนกรานว่า สตรีทั้งสามคนที่ได้รับโนเบลสันติภาพ‌เมื่อปีที่แล้ว และประธานาธิบดีบารัก โอบามา เมื่อ ‌3 ปีที่แล้ว มีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์ของ‌สถาบันทุกประการ โดยที่ไม่มีนัยอื่นๆ แอบ‌แฝงอย่างแน่นอน” ผู้อำนวยการสถาบันโนเบล‌ กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ ในท้ายที่สุดแล้วหากกระบวนการคัด‌เลือกผู้ที่สมควกับรางวัลแห่งเกียรติยศนี้ ยังคง‌ผูกพันมีนัยแอบแฝงอยู่เช่นนี้ มนต์ขลังของ “รางวัลโนเบล” อาจถูกลดทอนความสำคัญลง‌จนเหลือเพียง เหรียญทองไร้ค่าที่มาพร้อมกับเงิน‌รางวัล 8 ล้านโครน (ราว 36.8 ล้านบาท) แต่‌ไร้ซึ่ง “ความภาคภูมิใจ” หลงเหลืออยู่เลยก็เป็น‌ได้