posttoday

ศึกน้ำเปรอะกทม.เกมสาดโคลนชิงผู้ว่าฯ

12 ตุลาคม 2555

ศึกเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) ต้นปีหน้า นับเป็นเดิมพันครั้งสำคัญทางการเมือง

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

ศึกเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) ต้นปีหน้า นับเป็นเดิมพันครั้งสำคัญทางการเมือง ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์และเพื่อไทย ที่การขับเคี่ยวเริ่มไต่ระดับความดุเดือดเพิ่มขึ้น

โดยเฉพาะเวลานี้ แทนที่ 2 พรรคใหญ่จะผนึกกำลังฟันฝ่าแก้ปัญหาน้ำท่วม กทม.ตรงกันข้ามกลับหยิบยกความวิตกกังวลความเดือดร้อนของคนกรุงมาเป็นตัวประกัน ช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมืองแบบไม่ลดราวาศอก

สำหรับ “ประชาธิปัตย์” น้ำท่วมครั้งนี้ ถือเป็นบทพิสูจน์ฝีมือครั้งสำคัญ สำหรับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. ที่จะชี้วัดอนาคตกับการรักษาแชมป์สมัยที่สองต่อไปได้หรือไม่

ต้องไม่ลืมว่า “มหาอุทกภัย” ปีที่แล้ว ลุกลามจนเกินความสามารถ กทม. จะต้านทาน ทำให้หลายพื้นที่ถูกท่วมขัง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ต้องเสียคะแนนไปไม่น้อยท่ามกลางความเคลื่อนไหวภายในพรรค ที่เตรียมแผนสำรองพร้อมดัน “กรณ์ จาติกวณิช” ขึ้นมาเป็นอีกทางเลือก

ระหว่างนี้จึงถือเป็นช่วงที่คุณชายสุขุมพันธุ์ ซึ่งประกาศตัวจองโควตารักษาแชมป์สมัยที่สองไปแล้ว จะต้องพิสูจน์ตัวต่อทั้งสาธารณะ และภายในพรรคประชาธิปัตย์ไปในเวลาเดียวกัน

ขณะที่ฝั่ง “เพื่อไทย” แม้จะครองเสียงข้างมากเบ็ดเสร็จในสภา แต่จุดอ่อนใน กทม. ที่ยังไม่อาจเอาชนะ “ประชาธิปัตย์” ปล่อยให้ผูกขาดเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. มาแล้วถึง 3 สมัย หากยังปล่อยให้ผูกขาดต่อไปย่อมมีผลต่อฐานเสียงระยะยาวใน กทม.

ยิ่งดูรายชื่อแคนดิเดตจากฝั่งเพื่อไทยที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็น ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ปลอดประสพ สุรัสวดี พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ มาจนล่าสุด พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ก็ยังไม่โดดเด่นพอจะให้คนกรุงหันไปเทคะแนนให้

เอแบคโพลล์ ทำผลสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 17 จังหวัดทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มตัวอย่าง 41.5% ระบุว่า จะเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ หากช่วงเวลาที่ทำแบบสอบถามเป็นวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ขณะที่ พล.ต.อ.พงศพัศ มีคนเลือกเพียง 30.2%

ทว่าตัวแปรสำคัญอยู่ที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 59.2% ระบุว่ายังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกใคร

งานนี้ “เพื่อไทย” จึงเปิดศึกน้ำเซาะขาเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. ต่อเนื่องเรื่อยมา ผ่านคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ทดสอบการระบายน้ำในพื้นที่ กทม. ในวันที่ 5 และ 7 ก.ย.ที่ผ่านมา

ครั้งนั้น “พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์” พร้อม “จิรายุ ห่วงทรัพย์” พุ่งเป้าบุกไปสำรวจ “อุโมงค์ยักษ์” ผลงานสำคัญของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เพื่อพิสูจน์ว่าไม่สามารถใช้งานได้ตามที่ได้รับเรื่องร้องเรียน อันเป็นชนวนสำคัญให้เกิดน้ำท่วมขัง

ตอกย้ำด้วยการยื่นเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตรวจสอบการทุจริตจัดสร้างอุโมงค์ยักษ์ 7 แห่ง ที่พบว่าไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ รวมทั้งประเด็นการตรวจรับมอบอุโมงค์ยักษ์ไม่มีการทดสอบระบบการระบายน้ำ พร้อมขอให้ดีเอสไอเข้าตรวจสอบกรณีการฮั้วประมูลจัดซื้อจัดจ้างสร้างอุโมงค์ยักษ์ มีมูลค่าหลายพันล้านบาท

อีกด้านหนึ่ง “กรณ์ ” นำทีม สส. สก. สข. และเจ้าหน้าที่ กทม. ลงพื้นที่สำรวจ “คลองลาดพร้าว” ไปจับผิดการขุดลอกคลองตามมติ ครม. ที่มอบให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ ภายใต้การดูแลของ “ปลอดประสพ” รมว.วิทยาศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินการ แต่กลับไม่คืบหน้า หลังจากศึกยกนั้น ทั้งสองพรรคยังหยิบยกเรื่องน้ำขึ้นมาถล่มกันต่อเนื่อง

สถานการณ์เริ่มกลับมาดุเดือดเพิ่มมากขึ้น เมื่อพบถุงทรายสภาพใหม่อัดอยู่ในท่อระบายน้ำบริเวณเขตมีนบุรี จนประชาธิปัตย์ออกมาตีปี๊บขยายผลว่าถูกกลั่นแกล้งจากมือดี หวังให้เกิดน้ำท่วมและโยนบาปมายัง กทม. ว่าเป็นเหตุน้ำท่วม

ศึกน้ำเปรอะกทม.เกมสาดโคลนชิงผู้ว่าฯ

 

ประเด็นนี้ถูกนำมาขยายผล ตั้งกระทู้ถามสดในสภาผู้แทนราษฎร ไล่บี้ให้เร่งหาตัวมือมืดมาดำเอาผิด ซึ่ง “ปลอดประสพ” ได้แต่บ่ายเบี่ยงเร่งแก้ปัญหาน้ำท่วมก่อนหาตัวคนผิด

ไม่กี่วันถัดมาเกิดความเคลื่อนไหวอีกระลอก เมื่อ “พร้อมพงศ์” นำคณะไปรื้อถุงทรายที่อัดแน่นอยู่ในท่อระบายน้ำถนนศรีนครินทร์ ด้วยความพยายามตอกกลับว่า ถุงทรายที่ไปซุกอยู่ในท่อระบายน้ำรอบนี้เป็นฝีมือของ กทม.เสียเอง และเรียกร้องให้ผู้ว่าฯ กทม. ลาออก

ร้อนจน กทม. ต้องออกมาชี้แจง ว่านี่เป็นหนึ่งในวิธีการระบายน้ำของ กทม. ที่ประสบความสำเร็จมาแล้วจากน้ำท่วมเมื่อครั้งที่แล้ว พร้อมตอบโต้กลับด้วยการเตรียมแจ้งความฐานทำลายทรัพย์สินราชการ

ขย่มซ้ำด้วย “ชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต” โฆษกประชาธิปัตย์ ที่ออกมาตอกกลับ “เพื่อไทย” ที่ไม่รู้เรื่อง พร้อมชี้แจงวิธีการบล็อกน้ำดังกล่าว ว่าเป็นการบล็อกน้ำจากคลองหัวหมาก เนื่องจากระดับน้ำคลองหัวหมากสูงกว่าพื้นที่ถนนและไหลย้อนมาท่วมถนนศรีนครินทร์และมอเตอร์เวย์จึงต้องบล็อกบางจุดเพื่อเปลี่ยนทิศทางให้น้ำไปยังคลองกะจะที่เชื่อมโยงกับคลองแสนแสบ จากนั้นจะถูกผลักดันไปยังอุโมงค์ยักษ์ออกทะเล

ตบท้ายด้วยการขู่เตรียมดำเนินคดีของเพื่อไทย ที่เข้าข่ายแทรกแซงการทำหน้าที่ของข้าราชการขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 266

ก่อนที่ “ปลอดประสพ” ในฐานะประธานกบอ. โต้กลับด้วยการทำหนังสือสอบถามไปยัง กทม. ว่าใช้หลักวิชาการใช้กระสอบทรายเพื่อการระบายน้ำอย่างไร มีการนำกระสอบไปไว้ในท่อนั้นมีจุดใดบ้าง และประเมินเรื่องผลกระทบที่จะตามมาหรือไม่

ทางฝั่ง “เพื่อไทย” เดินหน้าทุกช่องทางไล่บี้ กทม. “พร้อมพงศ์” ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ยื่นเรื่องขอให้ กมธ.ตรวจสอบการบริหารจัดการน้ำของ กทม. ซึ่งส่อไปในทางทุจริตในหลายประเด็น

1.การพบถุงทรายกว่า 300 ถุง ในท่อระบายน้ำบริเวณหน้าร้านอาหารผาแดง ถนนศรีนครินทร์ 2.ให้ตรวจสอบการทำงานของอุโมงค์ยักษ์ของ กทม. ทั้ง 7 แห่ง 3.การลอกท่อของ กทม. ที่ส่อว่าจะเป็นการใช้งบประมาณเพื่อดำเนินการไม่โปร่งใสด้วยงบกว่า 61.4ล้านบาท

ศึกน้ำท่วม กทม. ระลอกนี้ จึงเห็นการฟาดฟันกันระหว่างสองพรรคใหญ่ ที่ต่างช่วงชิงจังหวะด้วยทุกช่องทางที่ทำได้ เมื่อเดิมพันที่จะถึงครั้งนี้ ถือเป็นสนามเลือกตั้งครั้งสำคัญของทั้งสองพรรค

ความทุกข์ร้อนของประชาชนจึงถูกดึงมาเป็นตัวประกัน เพื่อโจมตีและสร้างคะแนนนิยมให้ตัวเอง นี่อาจเป็นแค่ยกแรกสำหรับศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ยังเหลืออีก 3 เดือนและช่วงเลือกตั้งบวกอีก 2 เดือน ที่เกมสาดโคลนจะเลอะเทอะเปรอะเปื้อนไปทั่วเมืองกรุง