posttoday

กระตุกเครดิตประเทศ โด๊ปเศรษฐกิจไทย

12 ตุลาคม 2555

เศรษฐกิจไทยปีนี้ที่เจอมรสุมทั้งเศรษฐกิจโลกและปัญหาการเมืองภายในประเทศ แต่ยังยืนได้แข็งแกร่ง

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

เศรษฐกิจไทยปีนี้ที่เจอมรสุมทั้งเศรษฐกิจโลกและปัญหาการเมืองภายในประเทศ แต่ยังยืนได้แข็งแกร่ง กลายเป็นจุดแข็งที่รัฐบาลใช้เป็นข้อมูลเด็ดแจงให้กับสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลกหลายแห่งเปลี่ยนใจปรับเครดิตของประเทศไทยเพิ่มขึ้น

กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ออกมาเปิดเผยว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จัดส่งข้อมูลเศรษฐกิจของประเทศไทยล่าสุดให้กับบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ 3 บริษัท ทั้ง สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (เอสแอนด์พี) มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส และฟิทช์ เรทติ้งส์ เพื่อทบทวนเครดิตของประเทศใหม่ให้ดีขึ้น

การให้ข้อมูลสถาบันจัดอันดับครั้งนี้ รัฐบาลเดินเกมรุก ไม่รอให้สถาบันจัดอันดับมาขอข้อมูลประจำปีเหมือนทุกครั้งที่ผ่าน โดย อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง นำทัพ สศค.และ สบน.ให้ข้อมูลเอสแอนด์พีและมูดี้ส์ ระหว่างประชุมธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ที่ประเทศญี่ปุ่น วันที่ 1013 ต.ค.นี้

ขณะที่กิตติรัตน์ก็ออกแรงไปร่วมงานสัมมนาที่จัดที่บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ เพื่อใช้เวทีนี้แจงข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดให้บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือแห่งนี้ทราบจากปากของหัวหน้าทีมเศรษฐกิจด้วยตัวเอง

ในส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญที่ทีมปลัดกระทรวงการคลังขนไปแจงเอสแอนด์พีและมูดี้ส์ ล้วนเป็นจุดเด่นของเศรษฐกิจชุดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการขยายตัวเศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัวได้ 5.5% เสถียรภาพแข็งแรง การว่างงานต่ำ 0.6% ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง 1.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ 3% ต่อปี

ขณะที่สถาบันการเงินของไทยก็ไม่มีปัญหา เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส) 15 เท่า หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ในระดับต่ำ 2% ของสินเชื่อทั้งระบบเท่านั้น

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีแผนการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศใน 7 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมีความต่อเนื่อง และหนี้สาธารณะของประเทศยังอยู่ในกรอบความยั่งยืนการคลังไม่เกิน 60% ของจีดีพี

ทั้งหมดคลังหวังเป็นหมัดเด็ดให้เอสแอนด์พีและมูดี้ส์ปรับเพิ่มเครดิตประเทศไทย จากปัจจุบันที่เอสแอนด์พีให้เครดิตประเทศไทยอยู่ที่ BBB+ ส่วนมูดี้ส์ให้เครดิตประเทศไทยอยู่ที่ Baa1 โดยทั้งสองแห่งให้มุมมองเครดิตประเทศอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ

ที่สำคัญ รัฐบาลยังต้องการชี้ให้สถาบันจัดอันดับเห็นว่า พื้นฐานเศรษฐกิจไทยขณะนี้ดีกว่าหลายประเทศ แต่กลับได้เครดิตน้อยกว่า จึงเป็นเรื่องที่สถาบันจัดอันดับต้องทบทวนเครดิตไทยให้ดีขึ้นกว่าปัจจุบันเป็นการด่วน

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ที่ให้เครดิตไทยอยู่ที่ BBB+ ออกมายาหอมประเทศไทยว่า เครดิตของประเทศไทยมีโอกาสปรับดีขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้น จากพื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง โดยรัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ถือว่าเข้าทางตามที่รัฐบาลตั้งใจไว้

กระตุกเครดิตประเทศ โด๊ปเศรษฐกิจไทย

 

การโหมโรงของรัฐบาลให้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย เป็นการหวังประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง เป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว

ในทางการเมือง การที่ประเทศเพิ่มเครดิตในช่วงนี้ ถือเป็นผลงานชิ้นโบแดงที่รัฐบาลสามารถนำไปตีฆ้องร้องป่าว ว่ารัฐบาลมือดีบริหารเศรษฐกิจได้ดีไม่มีปัญหาได้อีกนาน

ที่สำคัญ การได้เพิ่มเครดิตประเทศ ยังเป็นเกราะกำบังให้กับรัฐบาล ที่ถูกโจมตีจากการดำเนินนโยบายลด แลก แจก แถม โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าวที่ต้องใช้เงินกู้ก้อนโต ทำให้ฐานะการคลังมีปัญหา แต่เมื่อเครดิตได้ปรับเพิ่ม ก็เหมือนเป็นการการันตีโครงการดังกล่าวของรัฐบาลเป็นของดี ไม่ได้เป็นของเสียอย่างที่ถูกโจมตีอย่างหนัก

ยิ่งในช่วงรัฐบาลจะเจออภิปรายไม่ไว้วางใจในไม่อีกกี่วันข้างหน้า ที่มุ่งโจมตีนโยบายของรัฐบาลสร้างความเสียหายด้านการเงินการคลังของประเทศ หากได้การเพิ่มเครดิตของบริษัทจัดอันดับในช่วงนี้ จะทำให้รัฐบาลมีเหตุผลไปหักล้างฝ่ายค้านได้มีน้ำหนักมากขึ้น

ขณะที่ประโยชน์การได้ปรับเครดิตประเทศเพิ่มในด้านเศรษฐกิจ ซึ่งที่เห็นได้ชัด คือ ต้นทุนการกู้เงินของรัฐบาลจะต่ำลง ยิ่งรัฐบาลยังต้องใช้เงินกู้อีกจำนวนมาก การออก พ.ร.บ.กู้เงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท จำนวนหนึ่งต้องกู้เงินจากต่างประเทศ เมื่อรัฐบาลเสียดอกเบี้ยถูกลง ก็เป็นภาระงบประมาณรายจ่ายน้อยลงไปด้วย

อย่างน้อยก็ช่วยให้รัฐบาลไม่มีปัญหาภาระการชำระหนี้เกิน 15% ของงบประมาณรายจ่าย เพราะปัจจุบันภาระชำระหนี้เริ่มเด้งขึ้นจาก 9% เป็น 11% และหากดอกเบี้ยสูงโอกาสที่จะไปชน 15% เป็นไปได้ไม่ยาก

ขณะที่ภาคเอกชนก็ได้รับอานิสงส์กู้เงินต่างประเทศถูกลงเช่นกัน ซึ่งภาคเอกชนถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การที่เอกชนมีเงินทุนถูก ก็เท่ากับประเทศมีแรงขับเคลื่อนจากส่วนนี้มากขึ้นเท่านั้น

นอกจากนี้ การเดินหน้ากระตุกเครดิตประเทศในช่วงนี้ ถือเป็นโอกาสที่ดีที่สุด เพราะเศรษฐกิจยังดูดีแม้เจอมรสุมทั้งในและนอกประเทศ หากทอดเวลาออกไปนานกว่านี้ เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวได้ลดลง โดยกระทรวงการคลังก็ประมาณการว่า เศรษฐกิจไทยปี 2556 จะขยายตัวได้ 5.2% ลดลงจากปีนี้ที่จะขยายตัวได้ 5.5% การจะชี้แจงให้สถาบันจัดอันดับเพิ่มเครดิตประเทศคงเป็นเรื่องยาก

ที่แย่ไปกว่านั้น หากเศรษฐกิจทรุดหนักจากปัญหาวิกฤตยุโรปและพิษนโยบายเศรษฐกิจต่างๆ ของรัฐบาล ทั้งโครงการรับจำนำข้าว การกู้เงินจำนวนมากทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นสูง รายได้ปี 2556 มีปัญหาเก็บไม่เข้าเป้าเหมือนปี 2555 ที่ต้องหาเงินมาโปะรายได้ให้เข้าเป้า เครดิตของประเทศอาจจะมีปัญหาถูกปรับลดลงในที่สุด

เพราะหากย้อนหลังไปจะเห็นว่า ในช่วงที่เกิดปัญหาการเมืองรุนแรง ผสมโรงกับวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในสหรัฐที่ลามไปทั่วโลก พ่นพิษเครดิตไทยถูกปรับมุมมองจากมีเสถียรภาพเป็นติดลบ แต่โชคดีที่รัฐบาลยังประคองตัวเอาตัวรอดไม่ถูกปรับลดเครดิตประเทศไทย และถูกปรับมุมมองขึ้นมาระดับมีเสถียรภาพได้เหมือนเดิม

ดังนั้น รัฐบาลนี้จึงเร่งแจงสถาบันจัดอันดับเพิ่มเครดิตประเทศกันยกใหญ่ เพราะการได้เพิ่มเครดิตประเทศในตอนนี้ เหมือนเป็นการเก็บกระสุนสำรองไว้รับมือตอนเศรษฐกิจมีปัญหา ถึงตอนนั้นหากถูกปรับลดเครดิตลง ก็ถือว่าเสมอตัวไม่ได้ไม่เสีย

แต่หากวันนี้ไม่สามารถเพิ่มเครดิตประเทศได้ และในวันข้างหน้าเครดิตประเทศถูกลด รัฐบาลจะมีปัญหางานเข้าถูกโจมตีว่าดำเนินนโยบายเศรษฐกิจหลงทางจนประเทศเสียหาย ทำให้ประเทศถูกลดเครดิตในที่สุด