posttoday

ปชป.แรลลี "ชายชุดดำ" ปลุกกระแสสู้ ดีเอสไอ-พท.

11 ตุลาคม 2555

ปล่อย “หมัดชุด” ยกนี้ประชาธิปัตย์จัดใหญ่ ด้วยซีรีส์ว่าด้วย “ชายชุดดำ” ล้วนๆ

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

ปล่อย “หมัดชุด” ยกนี้ประชาธิปัตย์จัดใหญ่ ด้วยซีรีส์ว่าด้วย “ชายชุดดำ” ล้วนๆ

เริ่มต้นจากวันศุกร์ 12 ต.ค.นี้ ด้วย “แรลลีเดินหน้าฝ่าความจริง” ครั้งที่ 1 เริ่มออกตัวที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ตระเวนย้อนรอยไปยัง 5 จุดที่เคยปรากฏร่องรอยชายชุดดำ เมื่อครั้งสมัยการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และตบท้ายด้วยการแสดงพลังปกป้องประชาธิปไตย

ระหว่างนี้รายละเอียดทั้ง 5 จุด ยังถูกปกปิดว่าจะเดินทางไปจุดไหนเวลาไหนบ้าง และแต่ละแห่งที่เดินทางไปมีกิจกรรมอะไรบ้าง เพื่อป้องกันความปลอดภัย ป้องกันการถูกป่วนจากผู้ไม่หวังดี แต่ส่องดูคร่าวๆ แล้วคงหนีไม่พ้นจุดปะทะที่เคยเกิดเหตุสำคัญๆ

ต่อเนื่องด้วยกิจกรรมเวทีผ่าความจริงครั้งพิเศษ ในวันเสาร์ที่ 13 ต.ค. ภายใต้หัวข้อ “ผ่าความจริงใครบงการมัจจุราชชุดดำ รับจ้างฆ่าประเทศไทย” โดยเลือกอาคารลุมพินีสถาน สวนลุมพินี ด้านหน้าตึกอื้อจื่อเหลียง อีกสถานที่สำคัญที่มีนัยในช่วงเหตุการณ์ความไม่สงบในช่วงเดือน เม.ย. และ พ.ค. 2553

เบื้องหลังงานนี้ “ประชาธิปัตย์” ต้องการออกมาปลุกกระแสครั้งใหญ่ เพื่อยืนยันความมีอยู่จริงของ “ชายชุดดำ” ซึ่งฝ่ายค้านเน้นย้ำมาตลอดว่าเป็นสาเหตุของความรุนแรงที่ผ่านมา แต่ระยะหลังกลับถูกบิดเบือนจากฝั่ง “เสื้อแดง” และ “เพื่อไทย” จนเกิดการตอบโต้รุนแรงจากสองฝั่งในเวทีต่างๆ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเด็นชายชุดดำนี้ เป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะมีน้ำหนักต่อรูปคดี โดยเฉพาะเวลานี้เริ่มเห็นสัญญาณไล่ล่าเอาผิดย้อนหลัง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ และสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ เมื่อครั้งปฏิบัติการกระชับพื้นที่สลายการชุมนุม

รอบนี้ประชาธิปัตย์เพิ่มน้ำหนักให้ตัวเอง ด้วยการอ้างอิงรายงานสรุปจากคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริง เพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ยืนยันจุดที่พบชายชุดดำ กิจกรรม และการเชื่อมโยงต่อเนื่องไปถึงการ์ดและแกนนำ นปช.

กิจกรรมเวทีที่สวนลุมพินีวันเสาร์นี้ อัดแน่นไปด้วยข้อมูลชายชุดดำล้วนๆ เริ่มตั้งแต่ “นิทรรศการ” แสดงหลักฐานต่างๆ ของชายชุดดำ ทั้งที่มาที่ไป การฝึกฝน ปฏิบัติการในจุดต่างๆ ที่จะแสดงรายละเอียดว่ามีจุดใดบ้าง โดยจะมีทั้งหลักฐานที่ปรากฏต่อสาธารณะทั่วไปและหลักฐานที่ยังเผยแพร่ในวงจำกัด

ที่สำคัญคือ การเน้นการเชื่อมโยงระหว่างชายชุดดำกับคนเสื้อแดงในนิทรรศการ “ฉีกหน้ากากจอมบงการ” เปิดคลิปวิดีโอการปราศรัยการให้สัมภาษณ์ ที่ระบุถึงการเตรียมการปฏิบัติการกรณีชายชุดดำอย่างเป็นขั้นตอน จนนำมาสู่เหตุการณ์ความรุนแรงที่มีการกำหนดไว้ก่อนแล้ว รวมทั้งการเชื่อมโยงต่อไปถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ

ปชป.แรลลี "ชายชุดดำ" ปลุกกระแสสู้ ดีเอสไอ-พท.

 

ปิดท้ายด้วยเวทีปราศรัยเวทีผ่าความจริง จะเน้นพุ่งเป้าไปที่ชายชุดดำ รวมทั้งเรื่องข้อเท็จจริงของการชุมนุมปี 2553 ที่เกี่ยวโยงกับการชุมนุมปี 2552

การที่ประชาธิปัตย์จุดพลุปลุกกระแสเรื่องชายชุดดำครั้งใหญ่ในห้วงเวลานี้ สาเหตุสำคัญ คือ ความพยายามบิดเบือนการมีอยู่ของชายชุดดำ ไล่มาตั้งแต่ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำแดง ที่เปิดศึกวิวาทะกับ “ศิริโชค โสภา” วอลเปเปอร์ กันหลายยกด้วยประเด็นการมีอยู่ของชายชุดดำ คู่ขนานไปกับในสภาผู้แทนราษฎร ภายใต้การทำงานของกรรมาธิการการตำรวจ ได้ตั้งคณะทำงานพิจารณาเรื่องตรวจสอบข้อเท็จจริงการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ว่ามีชายชุดดำในการชุมนุมหรือไม่ โดยมี “สาธิต ปิตุเตชะ” จากประชาธิปัตย์ มาเป็นประธาน

คณะทำงานชุดนี้ ได้เชิญ ธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ สมชาย หอมลออ คอป. และ พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้บัญชาการศึกษา ในฐานะอดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เข้าชี้แจงเพื่อรวบรวมข้อมูลยืนยันการมีอยู่ของชายชุดดำ ที่เชื่อมโยงไปยังคดีการเสียชีวิตในการชุมนุม โดยเฉพาะในส่วนของช่างภาพชาวญี่ปุ่น ที่ถนนดินสอ

ยิ่งในกระบวนการยุติธรรมที่อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานเตรียมตั้งเรื่องเดินหน้านำไปสู่การฟ้องร้อง พบว่าประเด็นชายชุดดำกลับไม่ได้เริ่มถูกหยิบยกมาอ้างอิง จนประชาธิปัตย์ต้องออกมาโวยว่ามีการตั้งธงไว้ล่วงหน้าว่าต้องเอาผิด “อภิสิทธิ์” และ “สุเทพ” สังเกตได้ชัดหลังคำสั่งศาลต่อกรณี “พัน คำกอง” ที่ถูกหยิบยกมาขยายผล

แว่วว่าหลังปิดสมัยประชุมสภา วันที่ 28 พ.ย. ทั้งคู่จะหมดเอกสิทธิ์คุ้มครอง จังหวะเดียวกับที่ทางดีเอสไอจะชงเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

แม้กระทั่งอภิสิทธิ์และสุเทพ จะแสดงออกถึงการมั่นใจในความถูกต้องของการอำนาจสั่งการกระชับพื้นที่ หรือสลายการชุมนุมที่อยู่ระหว่างคุ้มครองในสมัยประกาศ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ทว่าสัญญาณจากดีเอสไอที่ผ่านมาทำให้ทั้งคู่ไม่อาจนิ่งนอนใจ

การจัดนิทรรศการชายชุดดำครั้งนี้ของประชาธิปัตย์ ยังส่งผลต่อคดีความที่กำลังจะถูกเป่าให้หายไปกลับมาถูกจับตาจากสังคมอีกรอบ

ไม่ว่าจะเป็นคดีเสื้อแดง 24 คน ที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดีก่อการร้าย รวมไปถึง 12 กรณี ที่ทางดีเอสไอเคยสรุปว่าเป็นการกระทำของ นปช. จะได้ถูกจับจ้องและตรวจสอบจากสังคม

โดยเฉพาะคดี พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ซึ่งทาง “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” สส.ประชาธิปัตย์ เคยไล่บี้ระหว่างการตั้งกระทู้สดในสภา โดยระบุถึงคนยิงอักษรย่อ “ส.” ซึ่งอยู่ในสำนวนของดีเอสไอแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าเพิ่มเติม

อีกเหตุผลที่ต้องจุดกระแสใหญ่โตเพื่อต้องการให้สังคมที่เริ่มลืมเลือนเหตุการณ์เมื่อครั้งนั้น จนถูกปั่นข้อมูลด้วยชุดข้อมูลที่ออกมา ได้รับชุดข้อมูลตอกย้ำเรื่องชายชุดดำ ที่จะยิ่งไปหักล้างสิ่งที่เสื้อแดงพยายามเน้นย้ำมาตลอดว่าชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ

ยิ่งในจังหวะที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังสะบักสะบอมกับสารพันปัญหา การเลือกจุดประเด็นชายชุดดำขึ้นมาถล่มเสื้อแดงกระทบชิ่ง เพื่อไทยเวลานี้ นอกจากการเซฟตัวเองแล้ว ยังเป็นการเปิดหัวเชื้อไว้ไล่บี้ถล่มรัฐบาลต่อไปอีกทางหนึ่ง