posttoday

3 เสาศก.โลกพร้อมใจทรุดทำใจวิกฤตนี้ยาวแน่ 1 ทศวรรษ

05 ตุลาคม 2555

นับตั้งแต่ที่เกิดวิกฤตการณ์ภาคการเงินในสหรัฐเมื่อปี 2008 เป็นต้นมา และยิ่งถูกตอกย้ำด้วยวิกฤตการณ์หนี้สาธารณะในยุโรป

โดย...นันทิยา วรเพชรายุทธ

นับตั้งแต่ที่เกิดวิกฤตการณ์ภาคการเงินในสหรัฐเมื่อปี 2008 เป็นต้นมา และยิ่งถูกตอกย้ำด้วยวิกฤตการณ์หนี้สาธารณะในยุโรป ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจโลกก็ไม่เคยหวนกลับมาอีกครั้ง และโลกก็จมอยู่ภายใต้วังวนเดิมมาตลอด 4 ปีว่า เมื่อไร ปัญหาเศรษฐกิจจะจบลงเสียที

รัฐบาลหลายประเทศ เชื่อว่า การค้าและการลงทุนจะเริ่มกระเตื้องขึ้นในปี 2013 ขณะที่นักลงทุนบางส่วนมองว่าปัญหาอาจลากยาวต่อเนื่องไปอีก 2 –3 ปีข้างหน้า

ทว่า สำหรับหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) แล้ว วิกฤตการณ์เศรษฐกิจทั่วทั้งโลกจะ “ซึมลึกลากยาว” ต่อเนื่องไปถึง 10 ปี!

เท่ากับว่าหากนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์การเงินในสหรัฐเมื่อปี 2008 โลกจะต้องเผชิญภาวะเศรษฐกิจซบเซาต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 6 ปี จนถึงปี 2018 หรือปี 2561 เป็นอย่างต่ำ

โอลิวิเยร์ บลองชาร์ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจโลกจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปี จึงจะสามารถฟื้นตัวกลับสู่สภาพเดิมก่อนวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2008 ได้ เพราะสิ่งที่เรียกว่าเป็นปัญหาของเศรษฐกิจโลกในวันนี้ไม่ได้มีแค่วิกฤตการณ์หนี้ยุโรป แต่ยังรวมไปถึงเสาเศรษฐกิจสำคัญทั้งในสหรัฐ จีน และญี่ปุ่น ที่ต่างก็เผชิญวิบากกรรมทางเศรษฐกิจเหมือนกันหมด

ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้โลกต้องใช้เวลานานถึง 1 ทศวรรษ กว่าจะหลุดพ้นจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจนั้น อาจเป็นเพราะการแก้วิกฤตการณ์ในยุโรป ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของปัญหาในวันนี้ เป็นกระบวนที่ต้องใช้เวลายาวนานกว่าจะเริ่มเห็นผล ในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกตั้งแต่สหรัฐไปจนถึงจีน ต่างไม่มีสัญญาณบวกที่จะช่วยหนุนให้เกิดการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้แม้แต่น้อย

ยุโรป นับเป็นความท้าทายสำคัญที่สุดอย่างไม่ต้องสงสัย โดยประเด็นสำคัญคือ ทางออกของการแก้ปัญหายุโรปไม่ใช่แนวทางระยะสั้น หรือเป็นเพียงแค่การให้เงินกู้ช่วยเหลือที่จะเห็นผลได้ในเวลาอันสั้น แต่ยุโรปได้วางแนวทางแก้ปัญหาที่ระดับพื้นฐาน ซึ่งต้องใช้เวลานานทั้งในแง่ของการเริ่มต้นให้เป็นรูปเป็นร่าง ไปจนถึงการเริ่มเห็นผลอย่างแท้จริง

กลไกแก้ปัญหาหลักๆ อยู่ที่กองทุนกลไกรักษาเสถียรภาพยุโรป (อีเอสเอ็ม) และการรวมกลุ่มสหธนาคาร (แบงก์กิง ยูเนียน) ซึ่งแนวทางหลังนั้นยังไม่ได้เริ่มแม้แต่เป็นพิมพ์เขียวออกมา เนื่องจากเป็นการท้าทายเรื่องอำนาจอธิปไตยของ 27 ประเทศในสหภาพยุโรป (อียู) ที่ต้องยอมสละอำนาจรัฐบาลบางส่วนให้กับส่วนกลางมากขึ้น เพื่อควบคุมดูระบบการธนาคารทั้งหมดไม่ให้เกิดวิกฤตการณ์ขึ้นอีก การตั้งสหธนาคารยังหมายถึงการต้องปรับแก้รัฐธรรมนูญของสหภาพยุโรป ซึ่งต้องผ่านการลงประชามติใน 27 ประเทศ กว่าจะไปถึงขั้นตอนรัฐสภายุโรป

3 เสาศก.โลกพร้อมใจทรุดทำใจวิกฤตนี้ยาวแน่ 1 ทศวรรษ

 

ส่วนทางด้านกองทุนอีเอสเอ็มขนาด 5 แสนล้านยูโร เพิ่งจะเริ่มเกิดขึ้นได้ในเดือนนี้โดยล่าช้ากว่ากำหนดเดิมไป 3 เดือนนั้น ก็มีข้อจำกัดสำคัญคือ เงื่อนไขการรัดเข็มขัดลดรายจ่ายที่สุดเข้มงวด ทำให้ประเทศที่ขอรับความช่วยเหลือเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยต่อเนื่องเป็นเวลานาน เช่น กรีซ กำลังจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน

ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วยุโรป เป็นทั้งผลจากเงื่อนไขเงินกู้ และยังเป็นนโยบายของยุโรปเองที่ต้องลดการขาดดุลงบประมาณไม่ให้เกิน 3% ของจีดีพี อาจส่งผลให้เศรษฐกิจยุโรปต้องเข้าสู่ภาวะถดถอยพร้อมกันในช่วงปลายปีนี้ และอาจกินเวลาต่อเนื่องออกไปอีก แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อการค้า และการลงทุนกับทั่วทั้งโลกไปด้วยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ปัจจุบัน หลายประเทศในยุโรปเริ่มเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยกันแล้ว อาทิ อังกฤษ มีจีดีพีหดตัว 0.2% ในไตรมาสแรก และหดตัวอีก 0.4% ในไตรมาส 2 ขณะที่กลุ่ม 17 ประเทศยูโรโซนนั้น เผชิญเศรษฐกิจหดตัว 0.5% ในไตรมาส 2 และ 0.1% ในไตรมาสแรก ท่ามกลางแนวโน้มที่ย่ำแย่ต่อเนื่อง หลังจากที่บรรยากาศทางการค้าและการลงทุนทั่วโลกล้วนซบเซาลง

นอกเหนือไปจากยุโรปแล้ว บรรดาเสาเศรษฐกิจสำคัญอื่นๆ นั้นก็ไม่มีประเทศใดเลยที่สามารถช่วยกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจของโลกในยามนี้ได้

สหรัฐ นั้นไม่เพียงแต่จะมีการฟื้นตัวที่ช้าเกินคาด จนไม่อาจเป็นแรงหนุนขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกได้ แต่สหรัฐเองยังกลายเป็นตัวปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้นมาอีกราย จากปัญหาทางด้านการคลัง (ฟิสคัล คลิฟ) บรรดานโยบายต่างๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนกำลังจะหมดอายุลงในปลายปีนี้ อาทิ การลดภาษีสำหรับผู้มีรายได้ต่ำไปจนถึงผู้มีรายได้ปานกลาง ต้องใช้งบประมาณถึง 2.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่การตัดลดงบประมาณใช้จ่ายของภาครัฐ 9.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ก็จะถึงกำหนดต้องเริ่มใช้ในปีหน้า

ความเสี่ยงที่ผู้แทนสภาคองเกรสระหว่างพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน อาจไม่สามารถเจรจางบประมาณรายจ่ายต่างๆ เหล่านี้ได้ ทำให้สหรัฐต้องเดินเข้าสู่ความเสี่ยงของหน้าผาการคลังในปี 2013 ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายระบุตรงกันว่า เป็นความเสี่ยงใหญ่ที่สุดของการเติบโตทางเศรษฐกิจสหรัฐในปีหน้า โดยอาจฉุดการเติบโตของจีดีพีลงมาถึง 0.5% ในปีหน้า ซึ่งหมายถึงความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐอาจกลับเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้ง

ส่วนทางด้าน จีน ซึ่งเป็นเสาเศรษฐกิจสำคัญในเอเชีย นอกจากจะไม่สามารถช่วยพยุงเศรษฐ กิจโลกให้ฟื้นกลับมาได้เหมือนกับเมื่อปี 2009 แล้ว จีนเองยังต้องเจอกับความเสี่ยงฟองสบู่สินทรัพย์และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ อาจกลายเป็นตัวฉุดบรรยากาศทางเศรษฐกิจโลกไปด้วย

ปัจจุบัน ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจหลายด้านของจีนล้วนขยายตัวได้ลดลงแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิตซึ่งดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (พีเอ็มไอ) ในเดือน ก.ย. ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 มาอยู่ที่ 47.9 จุด เนื่องจากยอดคำสั่งซื้อที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ดัชนีภาคการบริการในเดือน ก.ย. ก็ลดลงมาอยู่ที่ 53.7 จุด จาก 56.3 จุดในเดือนก่อนหน้า เป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2010

จึงไม่น่าแปลกใจที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) จะปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาของเอเชีย ลงมาอยู่ที่ 6.1% จาก 6.9% ในปีนี้ และ 6.7% จาก 7.3% ในปี 2013 พร้อมทั้งปรับลดคาดการณ์ของจีนในปีนี้ลงมาอยู่ที่ 7.7% จาก 8.5%

เมื่อบรรดาเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลกล้วนอยู่ในภาวะขาลงเช่นเดียวกันหมดแล้ว จึงนับเป็นเรื่องยากอย่างยิ่งที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจของโลกจะกระเตื้องไปด้วย และทำให้ภาวะการค้าและการลงทุนทั่วโลกอาจต้องซบเซายาวต่อเนื่อง

จนกว่าเสาหลักเศรษฐกิจต้นใดต้นหนึ่งจะฟื้นได้ เมื่อนั้นโลกจึงอาจจะเริ่มเห็นความหวังการฟื้นตัวอย่างเต็มรูปแบบกลับมาอีกครั้ง